SHARE

คัดลอกแล้ว

ชีวิตในเขตปลอดฝุ่น UNICEF Thailand ชวนคุยกับเด็กในวันที่สนามเด็กเล่น ใกล้กลายเป็นความฝัน เมื่อความป่วยที่เกิดจากฝุ่น ทำให้ต้องอยู่บ้านในห้องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้ห่างไกลจากฝุ่น

“ผมอยากให้ฝุ่นน้อยลง จะได้ไม่ต้องป่วยอีก” เด็กชายสุรกฤช เกียรติชัยพิพัฒน์ หรือ ดาวิ้น กล่าวด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น “แล้วจะได้ไปโรงเรียน ไปเล่นข้างนอกได้ด้วย”

ดาวิ้น เด็กชายวัย 5 ขวบมีบุคลิกร่าเริง กำลังพูดคุยจากห้องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งติดตั้งระบบกรองอากาศผ้าม่านกันไรฝุ่น และอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นอย่างครบครันภายบ้านในเขตบางบอน แม้กระทั่งของเล่นที่เขาเล่นส่วนใหญ่ก็เป็นของที่มีผิวเรียบเพื่อช่วยลดการสะสมฝุ่นเช่นเดียวกับของเล่นที่จัดเรียงเป็นระเบียบในตู้

ภาพที่ 1 เด็กชายสุรกฤช เกียรติชัยพิพัฒน์ วัย 5 ขวบ นั่งอ่านหนังสือกับแม่ ภายในบ้านซึ่งมีการปรับสภาพแวดล้อมให้รองรับกับอาการแพ้ฝุ่น

‘ดาวิ้น’ เป็นเด็กอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุประมาณ 2-3 ขวบ ก่อนแพทย์จะวินิจฉัยว่าอาการ ‘แพ้ฝุ่น’ และมีอาการต่อเนื่องหลายอย่างจนต้องทำการผ่าตัดถึง 2 ครั้ง 

ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ กรุงเทพมหานครและหลายพื้นที่ของประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีประชากรไทยกว่า 38 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 

ฝุ่น PM2.5 ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อผู้ใหญ่ แต่ยังส่งผลร้ายแรงต่อเด็กโดยเฉพาะ เนื่องจากอนุภาคขนาดจิ๋วสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายและทำลายระบบอวัยวะต่าง ๆ องค์การอนามัยโลกจัดให้ฝุ่น PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด เพราะฝุ่นชนิดนี้สามารถนำพาสารอันตราย เช่น โลหะหนักอย่างปรอทและแคดเมียมเข้าสู่ปอดได้ อีกทั้งเด็กมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากมีอัตราการหายใจถี่กว่า ทำให้สูดรับมลพิษเข้าสู่ร่างกายมากกว่า

รายงานสภาวะอากาศโลกฉบับที่ 5 (State of Global Air -SoGA) โดย Health Effects Institute (HEI) องค์กรวิจัยอิสระไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ เปิดเผยว่าในปี 2564 มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกถึง 8.1 ล้านคน ส่วนใหญ่เกิดจาก PM 2.5 และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ของการเสียชีวิตทั่วโลกรองจากโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ประชากรอีกหลายล้านคนต้องเผชิญกับโรคเรื้อรัง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม

รายงานยังระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีความเปราะบางเป็นพิเศษ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายด้าน ตั้งแต่การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย โรคหอบหืด และโรคปอด ในปี 2564 มีเด็กเล็กมากกว่า 700,000 คน เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศและ PM2.5 หรือคิดเป็นวันละ 2,000 คน และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองของการเสียชีวิตของเด็กเล็กทั่วโลก รองจากภาวะทุพโภชนาการ

ดาวิ้นเป็นหนึ่งในเด็กที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เขาเริ่มแสดงอาการผิดปกติตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ โดยเริ่มจากอาการหายใจลำบาก ใบหน้าและดวงตาบวม นอนไม่หลับ และมีอาการกรนรุนแรง จนครอบครัวต้องพาไปพบแพทย์หลายครั้งก่อนจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคภูมิแพ้ฝุ่น

อาการแพ้ฝุ่นของดาวิ้นลุกลามจนเกิดการอักเสบที่ต่อมอะดีนอยด์ ซึ่งเป็นต่อมสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของระบบทางเดินหายใจ จนต้องเข้ารับการผ่าตัดครั้งแรก แต่เพียง 8 เดือนต่อมา แพทย์พบว่าดาวิ้นมีอาการต่อเนื่องไปยังต่อมทอนซิลรวมถึงอาการท่อน้ำในหูตันทำให้น้ำไหลออกไม่ได้ หากไม่ผ่าตัดมีสิทธิที่หูจะอักเสบติดเชื้อจนอาจจะนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน

ภาพที่ 2 ของเล่นส่วนใหญ่ของเด็กชายสุรกฤช เกียรติชัยพิพัฒน์เป็นของที่มีผิวเรียบเพื่อช่วยลดการสะสมฝุ่น

“เขาเรียนว่ายน้ำไม่ได้ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ว่ายน้ำ” สิรีกานต์ สกุลเอี่ยมไพบูลย์ ผู้เป็นแม่เล่าด้วยความเป็นห่วง แม้ว่าเด็กวัยนี้จะชอบเล่นน้ำ แต่ลูกชายของเธอกลับต้องระมัดระวังแม้แต่การอาบน้ำ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ “วันสงกรานต์เขาก็เล่นไม่ได้ เรียนว่ายน้ำก็ต้องนั่งข้างสระ”

ปัจจุบัน บ้านของดาวิ้นได้รับการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ปลอดฝุ่น ด้วยการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศทุกห้อง เครื่องตรวจวัดความชื้น และอุปกรณ์ป้องกันไรฝุ่นอย่างผ้าปูที่นอนและผ้าม่าน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ช่วยให้น้องชายคนเล็กของดาวิ้นได้รับผลกระทบน้อยกว่า

สิรีกานต์หวังว่าภาครัฐจะจริงจังกับการแก้ปัญหาฝุ่นมากขึ้น เพราะมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ถูกจำกัดการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ ปัจจุบัน สิรีกานต์ยังมองไม่เห็นทางออกอื่นนอกเหนือจากปกป้องลูกจากฝุ่นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้  หากแต่เด็กทุกคนไม่อาจได้รับการจัดหาในแบบเดียวกับดาวิ้นได้ 

“ถ้าเราอยู่ในประเทศที่มีอากาศดีกว่านี้ ดาวิ้นก็คงเป็นเด็กธรรมดา ได้ไปเรียนปกติ เล่นกลางแจ้งได้ตามปกติ ไม่ต้องอยู่ในบับเบิลที่เราต้องสร้างให้เขา” เธอกล่าว 

ปัจจุบัน ดาวิ้นเข้าเรียนในโรงเรียนอนุบาลเอกชนใกล้บ้านที่มีห้องเรียนปรับอากาศ เขาร่วมชั้นเรียนว่ายน้ำไม่ได้และบางครั้งต้องลาป่วยเมื่อสุขภาพไม่เอื้ออำนวย สิรีกานต์กล่าวว่าการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทำให้เด็กไม่สามารถมองเห็นและเรียนรู้การแสดงออกทางสีหน้าของคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการทางสังคม นอกจากนี้ โอกาสในการทำกิจกรรมนอกบ้านที่จำกัดในช่วงฤดูหนาวซึ่งมลพิษอยู่ในระดับสูงสุดยังเป็นอีกปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาการในวัยเด็ก

ภาพที่ 3 บางส่วนของยาของเด็กชายสุรกฤช เกียรติชัยพิพัฒน์

แม้โรงเรียนอนุบาลหรือโรงเรียนจะไม่ได้ถูกบังคับให้มีห้องเรียนปรับอากาศ แต่โรงเรียนเอกชนหลายแห่งมีการจัดห้องเรียนติดเครื่องปรับอากาศให้นักเรียนเพื่อรับมือวิกฤตมลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงในช่วงฤดูหนาว กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เปิดตัวโครงการนำร่อง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยและให้ความรู้เกี่ยวกับมลพิษ PM2.5 แก่นักเรียน เพื่อให้พวกเขาสามารถป้องกันตัวเองและแชร์ข้อมูลกับครอบครัว ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการในโรงเรียนสังกัดกทม.จำนวน 32 แห่ง และมีแผนจะขยายไปยังโรงเรียนในสังกัดทั้ง 437 แห่งในอนาคตอันใกล้

ในปี 2567 องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้เปิดตัวแคมเปญ #CountMeIn โลกรวน เด็กเดือดร้อน รับฟังเสียงเด็ก เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความท้าทายที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งผลักดันเสียงและความต้องการของพวกเขา ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ และผู้มีอำนาจตัดสินใจ ดำเนินมาตรการปกป้องเด็กจากวิกฤตภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นและผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ ด้วยการปรับปรุงคุณภาพอากาศ โดยมาตรการสำคัญประกอบด้วย การสนับสนุนพลังงานสะอาด การสร้างเขตปลอดมลพิษรอบโรงเรียนและสถานพยาบาล การจัดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ และการทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศสามารถเข้าถึงได้สำหรับประชาชน

“ลูกคนโตของเราคงไม่ทันแล้ว แต่ลูกคนอื่นหรือเด็กรุ่นต่อไปยังพอมีทางออก เรายังคิดว่าทำได้เพราะอากาศเป็นของทุกคน” สิรีกานต์กล่าวด้วยความหวัง พร้อมเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาฝุ่นอย่างจริงจัง “เพราะเด็กไม่เพียงเป็นอนาคตของชาติ แต่คุณภาพชีวิตและพัฒนาการที่ดีในวันนี้จะหล่อหลอมให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในวันข้างหน้า”

ภาพที่ 4 เด็กนักเรียน โรงเรียนวัดวิมุตยาราม ปักธงสีส้มบริเวณประตูทางเข้าโรงเรียน แจ้งเตือนค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตราการป้องกันฝุ่นของโรงเรียน

 ล้อมกรอบ

โรงเรียนวัดวิมุตยาราม: ‘ห้องเรียนสู้ฝุ่น’ เพื่อปกป้องอนาคตเยาวชน

โรงเรียนวัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ผู้ได้รับรางวัล “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เป็นตัวอย่างของสถานศึกษาที่ริเริ่มการให้ความรู้เรื่องปัญหาฝุ่น PM2.5 แก่นักเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจในการปกป้องตนเองและขยายความรู้สู่ครอบครัว

โรงเรียนวัดวิมุตยารามเป็นหนึ่งใน 32 โรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายห้องเรียนปลอดฝุ่นไปยังโรงเรียนทั้ง 437 แห่งในสังกัดกรุงเทพมหานคร

จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วมโครงการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” เกิดจากปัญหาการก่อสร้างรอบโรงเรียนที่ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก แอปพลิเคชันตรวจวัดคุณภาพอากาศแสดงผลในระดับสีแดงหรือส้มแทบทุกวัน ในช่วงแรกโรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการให้นักเรียนอยู่แต่ในห้องเรียน แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการ โรงเรียนได้พัฒนาระบบการจัดการอย่างครอบคลุม

ทุกเช้า โรงเรียนจะมีการตรวจวัดค่าฝุ่นจากเครื่องที่ติดตั้งภายในโรงเรียน รวมถึงแต่ละชั้นบนตึกเรียน เพื่อให้นักเรียนทราบและระมัดระวังตัว นอกจากนี้ยังมีการติดธงแสดงค่าฝุ่นตามจุดต่าง ๆ ของโรงเรียนและชุมชนโดยรอบ เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบสถานการณ์

ภาพที่ 5 เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนวัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ดูรายการให้ความรู้เรื่องอันตรายจากฝุ่น PM2.5 ส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายในโรงเรียนที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนตระหนักและป้องกันตนเองจากปัญหาฝุ่น PM2.5

มาตรการป้องกันฝุ่นของโรงเรียนครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การเปลี่ยนกระดานชอล์กเป็นไวท์บอร์ดทั้งหมด การทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้อย่างสม่ำเสมอ การปลูกต้นไม้ดักฝุ่น และการรณรงค์ให้ครูและผู้ปกครองดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลโรงเรียนได้จัดห้องเรียนติดเครื่องปรับอากาศ ส่วนระดับประถมศึกษามีการติดธงบอกสถานะคุณภาพอากาศ เพื่อให้นักเรียนปรับพฤติกรรมการป้องกันตนเองได้อย่างเหมาะสม เช่น การสวมหน้ากากอนามัย หรือการงดกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่ค่าฝุ่นสูง

นอกจากมาตรการด้านกายภาพ โรงเรียนยังให้ความสำคัญกับการให้ความรู้แก่นักเรียน โดยจัดให้มีการให้ความรู้ในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน และจัดกิจกรรมพูดคุยหมุนเวียนตามชั้นเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ซักถามพร้อมทั้งสอดแทรกความรู้เรื่องฝุ่นในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อสร้างความตระหนักรู้อย่างยั่งยืน

ภาพและเรื่อง : ปฏิภัทร จันทร์ทอง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า