SHARE

คัดลอกแล้ว

เจ้าสัว CP ขึ้นพูดบนเวทีจุฬาฯ มั่นใจเศรษฐกิจไทยยังมีอนาคต พร้อมแนะแนวทางประเทศหลายเรื่อง ทั้งกฎหมายรองรับพลังงานนิวเคลียร์ การตั้งงบประมาณท่องเที่ยว การทำชลประทาน ดันไทยเป็นศูนย์การเรียนโลก ดึงคนเก่งเข้าประเทศ ฯลฯ

‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ในฐานะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี 2563 เปิดเผยในงาน CHULA THAILAND PRESIDENTS SUMMIT 2025 ภายใต้หัวข้อ FUTURE THAILAND: NEXT GROWTH ว่า

โดยเท้าความว่า ประเทศไทย เพราะเรามีพระมหากษัตริย์ที่เริ่มสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นมา ถือ ว่ามีวิสัยทัศน์ไกล ในการยกสถานที่ ซึ่งในวันนี้เป็นใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ และจุฬาฯ ก็เป็นเบอร์ 1 ของประเทศไทย เราสร้างนิสิตที่ออกมาเก่ง

ยกตัวอย่างเช่น ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ที่ตนนับถือ ก็เป็นคนเก่ง อายุก็ยังน้อย และเข้าสู่ธุรกิจที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งก็คือ ‘พลังงาน’ เพราะทั้งหมดที่ (ผู้พูด) พูดมาในวันนี้ ทั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) รถยนต์ไฟฟ้า (EV) หุ่นยนต์ โดรน ฯลฯ ยังไงก็หนีไม้พ้นเรื่องไฟฟ้า

ซึ่งพลังงานไฟฟ้าในวันนี้ มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ แต่สิ่งที่เห็นชัดว่าโลกกำลังจะไป คือ พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ อันนี้เป็นธุรกิจในอนาคตที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งพลังงานดังกล่าวก็สะอาดและปลอดภัย

วันนี้ อินโดนีเซียและมาเลเซียก็มีกฎหมายรองรับการสร้างพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุดแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มี แต่ถ้าเราพูดถึง AI ทำไมเราจึงขาดไฟฟ้าที่สะอาดและถูก เพราะวันนี้ แม้จะมีพลังงานลม แต่ก็ยังไม่พอ ต้องเสริมด้วยพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์

Dhanin Chearavanont

ส่วนเรื่องที่อยากพูดในวันนี้ เป็นเรื่องใกล้ตัวก่อน คือ เรื่องเศรษฐกิจ โดยตนมองว่า ประเทศไทย เศรษฐกิจมีอนาคต ตนยืนยัน แต่พอดีเราอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งเรื่องดินฟ้าอากาศปั่นป่วน การเมืองปั่นป่วน และเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนอย่างรวดเร็ว

ต่อไปเราต้องสร้างนิสิตที่มี ‘ปัญญา’ ซึ่งตนคงไม่พูดซ้ำ แต่ก่อนอื่นต้องยกย่องพระมหากษัตริย์ที่สร้างมหาวิทยาลัย มีวิสัยทัศน์ที่ไกล ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้นิสิตจากจุฬาฯ ไปหลายคน ซึ่งสร้างให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เจริญ ก็หนีไม่พ้นทุกมหาวิทยาลัย อันนี้ต้องขอขอบคุณสถาบันการศึกษาของประเทศไทย

ตนไปประเทศไหน ไปลงทุน ก็เอาคนไทยนำไปด้วย และการลงทุนในทุกประเทศ ตนถือว่าต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน 3 ประโยชน์ ประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ ประชาชนต้องได้ประโยชน์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ถึงจะได้ประโยชน์ เพราะเราผลิตสินค้าไปขายให้ประชาชน ถ้าประชาชนไม่นิยม เราจะผลิตสินค้าของเราออกมาขายได้อย่างไร

กลับมาสู่เศรษฐกิจ ตนมองว่า เต็มไปด้วยอนาคต อนาคตดี แจ่มใส ถึงโลกจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ทุกวิกฤตก็มีโอกาส เมื่อตนเจอวิกฤต ก็จะคิดถึงโอกาส แต่ตอนมีโอกาส ได้โอกาสแล้ว เราก็ต้องคิดถึงวิกฤตที่จะมา ไม่มีว่าจะราบรื่นไปนาน ต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น ชีวิตของตน ซึ่งได้รับการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง และรู้ว่า ทุกวิกฤตก็ตามมาด้วยโอกาส แต่ทุกโอกาสก็ตามมาด้วยวิกฤต สลับกันไปแบบนี้

วันนี้ ‘การท่องเที่ยว’ รัฐบาลทำได้ถูกต้องแล้ว คือ ไม่ต้องมีวีซ่า เพราะการท่องเที่ยวเป็นวิธีที่จะทำให้ได้มาซึ่งเงินแบบเร็วที่สุด เราพร้อม ประเทศไทยพร้อม แต่ถามว่าเราพร้อมจริงหรือเปล่าในยุคนี้ ต้องตอบว่า ยังไม่ใช่

คนก็พูดแล้ว แต่ตนขอเสริมว่า เราต้องมี ‘งบประมาณ’ แม้เรารู้ว่า การท่องเที่ยวจะได้เงินเร็วที่สุด และใกล้ตัวที่สุด แต่เรามีงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการท่องเที่ยวหรือเปล่า

เรามีการตั้งเป้าหมายหรือเปล่าว่า การท่องเที่ยวจะต้องไปถึงระดับไหน และเรามีการเจาะจงคนที่จะมาเที่ยวเมืองไทยในกลุ่มไหน ในประเทศไหน เรามีเป้าหมายหรือยัง เป้าหมายเราชัดหรือยัง

เมื่อครู่ตนฟัง ‘วิเลิศ ภูริวัชร’ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมืองไทยควรจะเป็น ‘ศูนย์การเรียน’ ของโลก เพราะคนไม่ได้คิดว่าจะมามหาวิทยาลัยก่อน แต่คิดว่า ประเทศไทยน่ามาอยู่ แค่นี้ ถ้าเรามีมหาวิทยาลัยก้าวทันกับโลก

ซึ่งทั้ง 2 ท่าน (สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และวิเลิศ ภูริวัชร) ได้กล่าวไปเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่จะปฏิบัติอย่างไรเท่านั้น ให้มันเกิดความเป็นจริง คนมาเรียนเมืองไทยแน่นอน

หากมีคนเข้ามาเรียนเมืองไทย เราจะได้ทั้งคนเก่ง ได้ทั้งสมองเข้ามาเมืองไทย และยังได้เงินเข้าประเทศไทยอีกมหาศาล ไม่แพ้ท่องเที่ยวในระยะยาว

ฉะนั้น เรื่องท่องเที่ยว ตนก็ฝากทุกคน คณะอาจารย์ และรัฐบาล ต้องมาตั้งงบประมาณ มีเป้าหมายอะไร และสุดท้ายเราจะได้อะไร ต้องชัด ซึ่งยังไม่ชัด แต่ตอนนี้เรื่อง ‘ความปลอดภัย’ สำคัญยิ่ง เพียงแต่ว่า ต้องมีงบประมาณ ซึ่งงบประมาณตนยังไม่เห็น

อีกเรื่องหนึ่งที่เราได้เปรียบ คือ ‘เกษตร’ เพราะโลกปั่นป่วน แต่เราไม่มีแผ่นดินไหว เรามีแต่เจอน้ำท่วมกับแล้ง หรือพายุไต้ฝุ่น พอพัดไปพัดมา ปลายไต้ฝุ่นก็มาฝนตกที่เมืองไทย ไม่ได้ผ่านเมืองไทย แต่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน เจอบ่อย

แต่ส่วนน้ำท่วมกับแล้ง ตนอยากจะแนะนำว่า ควรเอางบประมาณที่ทำถนน มาทำถนนเข้าไร่นา มาจัดรูปที่ดิน มาปรับรูปที่ดิน และทำเรื่องชลประทาน พร้อมกับถนน เหมือนรัชกาลที่ 5 ที่สร้างแปดริ้วล้อมถนนสุขุมวิท ล้อมทะเล เกิดที่เพาะปลูกขึ้นมาอย่างมหาศาล วันนี้เราทำหรือยัง ตนยังไม่เห็นว่าเราจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องชลประทาน

ถ้าเรามีชลประทานแล้ว เราก็ไม่ต้องกลัวน้ำท่วมกับแล้งแล้ว น้ำท่วมก็ไม่เกิด แล้งก็ไม่เกิด เพราะเราจัดการเรื่องน้ำ และตนเชื่อมั่นว่า ตามมหาวิทยาลัยกับราชการ มีคนเก่งในเรื่องน้ำ แต่เราให้ความสนใจหรือไม่ เรามีนโยบาย ให้งบประมาณหรือไม่

ตนว่าเอางบประมาณที่สร้างถนน มาสร้างเขื่อน สร้างชลประทาน สร้างถนนเข้าไร่นา ถ้าเราทำแบบนี้ ผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า

ร้อนเราไม่กลัว แต่กลัวไม่มีน้ำ กลัวน้ำท่วม ไม่ได้กลัวร้อน เราก็มีพืชที่ทนความร้อนได้ ลองคิดดูว่า พืชไร่ ถ้าเรามีน้ำ เราเพิ่ม 3 เท่า ผลไม้ก็ต้องมีน้ำ ที่สูงหน่อยก็ปลูกผลไม้ ที่ราบ ที่ต่ำ ก็ทำเป็นบึง ขายน้ำ ปั่นไฟ รอบๆ บึงก็เป็นที่ท่องเที่ยว ที่ตากอากาศ ที่อยู่อาศัย ตนมองว่า เมืองไทยเต็มไปด้วยโอกาสเรื่องการเกษตร

เรื่องการเกษตร เอาตั้งแต่พันธุ์ พันธุ์พืช พันธุ์สวน พันธุ์สัตว์ พอเกี่ยวถึงเรื่องพันธุ์ เทคโนโลยีสูงมาก ต้องอาศัยนักวิชาการ ของเรามีหรือไม่ ต้องบอกว่า พร้อม ถ้าไม่พร้อมวันนี้ก็มี AI หรือเอาคนเก่งทั่วโลกมาใช้ก็ได้ ฉะนั้น เรื่องพันธุ์ก็ต้องใช้เทคโนโลยีสูง ต้องใช้คนเก่ง

พอมีพันธุ์แล้ว ก็ต้องตามมาด้วยปุ๋ย เพราะต้องมีอาหาร เราอยากได้ผลผลิตสูง เราต้องตามด้วยอาหาร สัตว์ก็เหมือนกัน พอเรามีพันธุ์สัตว์ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีสูง พอมีพันธุ์สัตว์ก็ต้องมีอาหารที่สอดคล้องกับพันธุ์สัตว์ที่โตเร็ว มีคุณภาพ ปลอดภัย ไขมันหมูเป็นโอเมก้า 3 นี่มันเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องไบโอเทคโนโลยี

พอพูดถึงเกษตร อย่างรถแทรกเตอร์กลายเป็นหุ่นยนต์ไปแล้ว ไม่ต้องมีคนขับ วันนี้เขาทำกันอย่างนี้ แล้วรถแทรกเตอร์คันเก่า ใส่สมองหุ่นยนต์เข้าไป รถแทรกเตอร์คันเก่าก็กลายเป็นหุ่นยนต์ไปเลย ไม่ต้องมีคนขับ ไร้คนขับ วิ่งได้สบายตามที่เราสั่ง นี่คือเทคโนโลยี

ตนมองว่า การเกษตรใช้เทคโนโลยีมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น โดรน ซึ่งบริษัทของตนก็ใช้อยู่ ทั้งในพื้นที่ที่เขมร 40,000 ไร่ จีน 100,000 กว่าไร่ และรัสเซีย 700,000 กว่าไร่ ซึ่งต้องใช้โดรนทั้งหมด เพราะถ้าไม่ใช้โดรน เราจะไปตรวจเช็คได้อย่างไร เพราะพื้นที่หมื่นไร่ก็สุดลูกหูลูกตาแล้ว

ดังนั้น ต้องใช้โดรนไปดูว่ามีแมลงเข้ามาหรือยัง ใช้โดรนไปพ่น ใช้โดรนไปฆ่าศัตรูพืช ไม่ต้องใช้เรือบิน (เครื่องบิน) ไปพ่นยาแล้ว เซฟเงินด้วย เห็นภาพหรือไม่ว่า เกษตรมันมาถึงเรื่องไฮเทค เรื่องหุ่นยนต์ แทรกเตอร์กลายเป็นหุ่นยนต์ มันเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งวันนี้ใช้อยู่ด้วยแล้ว

เมื่อพูดถึงเกษตรก็ต้องมียาฆ่าแมลง มีปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยก็คืออาหารของเกษตร สัตว์ก็เหมือนกัน ก็ต้องมีอาหารของสัตว์ ต้องมีพันธุ์ของสัตว์ มันเกี่ยวข้องกับไบโอเทคโนโลยี เกี่ยวกับพันธุกรรม นอกจากนี้ การเลี้ยงสัตว์ต้องมี AI อุปกรณ์ทันสมัย IoT วัดความชื้น อุณหภูมิ ออกซิเจน แอมโมเนีย

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรนั้นมีอีกเยอะ เรื่องสัตว์ก็ต้องดูแล ติดโรคก็เหมือนคน ต้องมีสัตวแพทย์ ต้องมาศึกษาป้องกัน ยังไม่พอ ยังเกี่ยวข้องกับลองธาตุ ลองแปรสภาพ ซึ่งต้องใช้หุ่นยนต์ทั้งนั้น ยิ่งอาหารยิ่งต้องใช้หุ่นยนต์ ไม่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัย ความแม่นยำ เรื่องคุณภาพ

ไปจนถึงเรื่องโลจิสติกส์ เรื่อง DC การผลิตมีตั้งกี่ขั้นตอน ห่วงโซ่นี้ยาวที่สุด ไปถึงค้าปลีก ไปถึงภัตตาคาร ไปถึงโต๊ะอาหารของมนุษย์ทุกคน ฉะนั้น CP นี่ทำตั้งแต่ต้นน้ำ คนอาจจะมองว่าผูกขาด แต่ไม่ใช่ เราเป็นแนวดิ่ง ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ทุกขั้นตอนมันสอดคล้องกัน

ถ้าเราผลิตมาก ขายไม่หมดก็เสียหาย ถ้าเราผลิตน้อย ไม่มีของขายก็เสียหาย ฉะนั้น มันจำเป็น ซึ่งเรื่องนี้จนฝากคณาจารย์ที่นี่ (จุฬาฯ) ด้วย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งเป็น ‘น้ำมันบนดิน’ ใช้ไม่หมด พืชพันธุ์นี้เก็บเกี่ยวไปก็ปลูกใหม่ไปเรื่อยๆ เป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของประเทศไทย

อย่างอื่นเรายังต้องซื้อวัตถุดิบเขา ชิ้นส่วนเขา มาประกอบ และเราอาจจะกำไรส่วนหนึ่ง แต่สินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นเงินของประเทศ

ฉะนั้น ทำไมตนถึงชี้ตรงนี้ เพราะ AI เอย เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในวันนี้ ใครเป็นคนใช้ คำตอบคือ ประชาชน แล้วประชาชนถ้าไม่มีเงินจะใช้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เราต้องสร้างประชาชนที่มีรายได้ ถ้าเราอยากจะสร้างประชาชนที่มีรายได้ ก็หนีไม่พ้นการศึกษา ต้องมีความรู้ ความชาญฉลาด

ทั้งนี้ การศึกษาไม่ใช่แค่ใบปริญญา แต่หมายถึง ‘ปัญญา’ ต้องเรียนไป ทำงานไป พอจบแล้วทำงานได้เลย ซึ่งตนเคยไปพูดที่ศูนย์การเรียนของยุโรป โดยบอกว่า ประชากรเราน้อยลงทุกปี เราเรียนเหลืออายุ 18 ก็จบมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ เราเรียนไปทำงานไป พอจบมาก็รับงานและตำแหน่งได้เลย มีเป้าหมายการเรียน

อีกตัวหนึ่งที่เราไม่ทัน คือ คน เราต้องหาคนเก่งสัก 5 ล้านคน แต่เราไม่มี ประชาชนของเราไม่ได้เรียนมา เพราะโลกมันเปลี่ยน เราสร้างคนไม่ทันแล้ว สิงคโปร์มี 2.5 ล้านคน เขานำคนเก่งเข้ามา 2.5 ล้านคน เกือบเท่าตัว 1:1 ถ้าเราเอาคนเก่ง 5 ล้านคนมาทำงานทันที มาเสียภาษีทันที มาช่วยดึงคนเก่ง นักศึกษาที่จบมา หรือที่จบมาแล้ว 5 ล้านคน

แต่วันนี้ประเทศไทยผลิตนิสิตประมาณ 300,000 คน ถ้าจะผลิตคน 5 ล้านคน ใช้เวลาตั้ง 10 กว่าปี เราถึงจะมีคนพอที่จะเป็น 1:1 เหมือนสิงคโปร์ เข้ามา 1 คน จ้าง 1 คน แต่ถ้าจ้าง 2 คน จ้าง 4 คน เราจะพอที่ไหน เพราะฉะนั้น การว่างงาน ถ้าจะไม่ให้ห่วง ภาษี รายได้ก็จะมาก ก็อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล

ตัวนี้ (เกษตร) เกี่ยวข้องกับไฮเทคมาก เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนมาก ทำอย่างไรให้คนมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งอาจารย์ทั้ง 2 ท่านได้พูดมาแล้ว ตนคงไม่พูดซ้ำ

Dhanin Chearavanont

สำหรับนักธุรกิจ ก็มีหน้าที่เหมือนกัน ทำธุรกิจจะอยู่รอดได้ เราต้องคิดถึง ‘ประชาชน’ เพราะเรากำไรจากประชาชน เราขายสินค้าให้ประชาชน ถ้าคนไทยไม่รวยขึ้น จะเอาเงินที่ไหนมาใช้ไฮเทค ใช้อาหารตน ฉะนั้น ตนต้องคิดถึงลูกค้าของตนก่อนว่า ทำอย่างไรให้เขามีรายได้ ทำอย่างไรให้เขามีกำลังซื้อ

ถ้าประชาชนไม่มีกำลังซื้อ ตนจะผลิตสินค้าออกมาขายให้ใคร เพราะฉะนั้น มันเป็นหน้าที่ของนักธุรกิจ แต่พื้นฐานจริงๆ ต้องมาจากมหาวิทยาลัย เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศ

วันนี้ตนมองว่า เต็มไปด้วยโอกาส ถ้าเรารู้แล้วว่าโลกเปลี่ยนแปลง แต่เรารู้ว่า ทั่วโลกชอบมาเที่ยวเมืองไทย ชอบอยู่เมืองไทย แต่กฎหมายเราไม่ค่อยเอื้อ กฎหมายเรายังกีดขวางการมาแย่งอาชีพคนไทย

เราต้องหาอาชีพที่คนไทยยังไม่มี ประเทศไทยยังต้องการมาสัก 5 ล้านคน เพียง 7-8% สิงคโปร์เอามาตั้งเท่าตัว 100% เราเอามาแค่ 7-8% ไม่ได้มาก แต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจทันที

เพราะเรื่องไฮเทคก็ต้องคน เพราะสุดท้ายไฮเทคทุกอย่างคือคนเป็นคนสร้าง และคนเป็นคนใช้ แต่ถ้าคนไม่มีความรู้ นั่นเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยแล้ว แล้วจะไปใช้อย่างไร

ถ้าไม่มีความรู้จะไปสร้างหุ่นยนต์ สร้าง AI สร้าง ChatGPT ก็ต้องคนสร้าง แล้วคนเหล่านี้ไม่ได้น้อยลง มีแต่จะมากขึ้นๆ ทุกวัน เพราะของใหม่ๆ จะเกิดขึ้นทุกวัน และเร็วขึ้นทุกวัน เพราะโลก ทุกอย่าง เทคโนโลยีมันเร็วขึ้น

อย่างบริษัทค้าปลีก อย่าไปกำไรจากการขึ้นราคาเลย เพราะวันนี้ถาม ChatGPT ก็รู้แล้วว่า ราคาสินค้าตัวนี้ในโลกราคาเท่าไหร่ สมัยโบราณ เวลาจะซื้อของก็ไปหา 3 แห่งว่า ราคาแห่งไหนถูกที่สุด เราซื้อ แต่วันนี้ ราคาที่ถูกที่สุด มันดูได้ทั่วโลก

เพราะฉะนั้น CP มีทำแล้ว นักธุรกิจต้องคิดอย่างเดียวเท่านั้น ทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกลง ฉะนั้น เครื่องจักรของ CP ที่จะลงทุนต่อ ต้องมีพลังเท่ากับ 5 เท่าจากของเดิม หุ่นยนต์หรือ AI ทำให้คนเราฉลาดขึ้น ทำน้อยได้มาก และกลายเป็นว่า ทำมาก ยิ่งได้มาก

ในเรื่องของค่าแรง ตนมองว่า 600 บาทมาถึงแน่นอน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องสร้างคน สร้างพนักงานของบริษัทให้เก่งขึ้น เท่าทันกับโลก เราไม่กลัวว่าเงินเดือนจะสูง เพราะประสิทธิภาพยิ่งสูง เพราะเรารู้จักใช้ AI ใช้ไฮเทคเข้ามา ทำให้คนเราเก่งขึ้น ทำให้การผลิต การทำงาน มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สุดท้าย ตนมีข้อเสนอแนะว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยร่ำรวย ให้คนไทยร่ำรวย ถ้าคนไทยร่ำรวย ประเทศไทยถึงจะแข็งแรง ก็ต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยเป็นหลัก

และนักธุรกิจ เป็นส่วนที่สำคัญมาก ทำทุกอย่างต้องเพื่อประชาชนให้ร่ำรวยขึ้น รัฐบาลก็ต้องออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ประเทศชาติถึงจะมั่นคง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า