SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลอดปี 2567 จีนต้องเผชิญกับปัญหาภาวะอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ วิกฤตเงินทุนของรัฐบาลท้องถิ่น และตลาดแรงงานที่ซบเซา ที่ว่ามาเป็นส่วนที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจที่เปราะบางอยู่แล้วเพิ่มความน่าห่วงขึ้นไปอีกในปีนี้

ตอนนี้มีความเป็นห่วงว่า จีนกำลังเผชิญแรงกดดันด้านภาวะเงินฝืดที่อาจจะกินเวลายาวนาน

เพราะการลงทุนด้านการผลิตของจีนนั้นสูงกว่าการบริโภคในประเทศ พูดง่ายๆ คือผลิตมาล้นเกิน และก็จะส่งออกล้นเกินด้วยเช่นกัน

พออุปทานที่มีมากเกินไปภายในประเทศจีน ทำให้ผู้ส่งออกต้องลดราคาสินค้า แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรและทำให้เกิดข้อพิพาททางการค้ากับประเทศอื่นมากขึ้น

ยิ่งเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมา สัญญาณความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นเดิมพันการเติบโตของจีนด้วย

แม้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศว่าจีนบรรลุเป้าหมายการเติบโต แต่แนวโน้มกลับไม่สดใสนัก การสำรวจมุมมองนักวิเคราะห์ที่สำรวจโดย Nikkei Asia คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของจีนจะอยู่ที่ 4.4% ในปี 2025 ขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 4.5%

[ ประเด็นที่ต้องจับตามองเศรษฐกิจจีนปีนี้ ]

1.ภาษีของทรัมป์จะกระทบต่อจีนขนาดไหน?

คำตอบขึ้นอยู่กับระยะเวลาและขอบเขตของแผนการของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่า จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ากว่า 500,000 ล้านดอลลาร์จริงหรือไม่ ถ้าคิดจากที่ทรัมป์พูดตอนหาเสียงว่าจะจัดเก็บภาษีจีนเพิ่มอีก 10%

ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ไว้หลากหลาย โดยในกรณีร้ายแรง สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 60% เร็วที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ส่งผลให้ GDP ของจีนตลอดทั้งปีขยายตัวชะลอลงเหลือ 3.9% แต่อีกกรณีหากอเมริกาขึ้นภาษีสินค้าจีน 20% จะทำให้ GDP ของจีนเติบโตลดลง 0.7% เหลือ 4.5% ในปีนี้

มีการวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า จีนอาจรับมือประเด็นเศรษฐกิจด้วยการลดค่าเงินของตนเอง ส่วนธุรกิจส่งออกจีนก็ให้ผู้ผลิตยังคงใช้วิธีเลี่ยงการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาด้วยการเปลี่ยนเส้นทางการส่งออกผ่านประเทศที่สาม

Capital Economics คาดการณ์ว่า หากสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 60% อาจทำให้ GDP ของจีนลดลง “เกือบ 1%” ขณะที่ความต้องการสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% ของ GDP ของจีน

สรุปในประเด็นนี้สถานการณ์การขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐ ตอนนี้ยังยากที่จะบอกได้ว่าจะออกทรงไหน

2.ปัญหา “กำลังการผลิตเกิน” ของจีนจะแย่ลงอีกหรือไม่?

เมื่อปีที่แล้ว สินค้าส่งออกราคาถูกของจีนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นของเล่น เครื่องชงกาแฟ ไปจนถึงแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้พันธมิตรทางการค้าตั้งแต่อินเดียไปจนถึงสหภาพยุโรปเสนอหรือกำหนดภาษีศุลกากรกับสินค้าจีนบางรายการเพื่อปกป้องธุรกิจและแรงงานของตนเอง

รวมถึงการที่อุปทานสินค้าที่มากเกินไปทำให้ผู้ส่งออกจากจีนต้องลดราคาสินค้า ทำให้กำไรลดลง และทำให้มีข้อพิพาททางการค้าแรงขึ้น

สิ่งนี้ยังมีแนวโน้มที่จะมีต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปีนี้ แม้จะมีความพยายามของสี จิ้นผิงที่จะเปลี่ยนจีนให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับไฮเอนด์ภายในปี 2035 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สินค้าส่วนเกินกำลังการผลิต กำลังทำให้ผลกำไรของผู้ผลิตจีนลดลง และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานในประเทศจีนเองด้วย

3.จีนจะหลีกเลี่ยงกับดักภาวะเงินฝืดแบบญี่ปุ่นได้หรือไม่

ตลอดปี 2024 จีนต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อผู้บริโภคต่ำและภาวะเงินฝืดด้านสินค้า เป็นสัญญาณเตือนถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอเมื่อเทียบกับอุปทานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางแรงกดดัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนอายุ 10 ปีตกลงมาต่ำกว่า 2% เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1990

ตอนนี้ในจีนกำลังเผชิญปัญหาทั้งการบริโภคใช้จ่ายในประเทศลดลง การว่างงานในกลุ่มคนจบใหม่เพิ่มขึ้น บริษัทเอกชนชะลอการกู้ยืมเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจ เพราะกังวลกำลังการผลิตที่มากเกินไปทำให้กำไรน้อยลง

4.ความไม่มั่นคงทางสังคมมากขึ้น?

เศรษฐกิจที่ตกต่ำอาจทำให้ความตึงเครียดทางสังคมมากขึ้น ตามรายงานของ China Dissent Monitor พบว่ามีการประท้วงมากกว่า 900 ครั้งเกิดขึ้นในประเทศจีนช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้น 27% จากปีก่อนหน้า

ในจีนตอนนี้ค่านิยมทำงานหนักเพื่อความมั่งคั่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเริ่มถูกตั้งคำถามและผู้คนเริ่มปฏิเสธแนวทางนี้มากขึ้น ทำให้เริ่มมีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลงอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางสังคมมากขึ้น และอาจนำไปสู่การต่อต้าน เช่น การปฏิเสธที่จะทำงานหนัก การย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ รวมถึงการโอนย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ

5.แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเป็นยังไง ?

ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเน้นไปที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยการลดอัตราดอกเบี้ย คงนโยบายการเงินแบบ “ผ่อนคลายในระดับปานกลาง” พูดง่ายๆ คือการลดดอกเบี้ยไปอีก

นักวิเคราะห์จาก Societe Generale ประเมินว่า รัฐบาลจีนอาจปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าลงเพื่อตอบโต้ภาษีศุลกากร แต่คาดว่าคงไม่เร่งให้ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเกินไป เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน

นักลงทุนคาดหวังว่ารัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการออกพันธบัตร 3 ล้านล้านหยวนในปีนี้ โดยคาดว่าส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการเพิ่มทุนให้กับธนาคาร ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และโครงการสวัสดิการสังคม รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง

ปีนี้ถือเป็นปีเดิมพันเศรษฐกิจจีน หลังต้องเผชิญกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ วิกฤตเงินทุนของรัฐบาลท้องถิ่น และตลาดแรงงานที่ซบเซา ปัญหาการบริโภคในประเทศ ปัญหาเงินฝืดและกำลังการผลิตล้นเกิน รวมทั้งข้อพิพาททางการค้ากับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ

และนี่คือสรุปภาพรวมที่พอจะทำให้เราเห็นว่ามีความน่ากังวลอะไรกับเศรษฐกิจจีนที่รออยู่ในปีนี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า