สำหรับคนที่จะซื้อบ้านทุกคนคงเคยได้ยินมาตรการ LTV (Loan to Value) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่มีผลต่อการขอสินเชื่อการซื้อที่อยู่อาศัยโดยตรง
โดยมาตรการ LTV มีขึ้นเพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิด การเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ ลดความเสี่ยงจากการก่อหนี้เกินตัวของประชาชน
ซึ่งมาตรการ LTV ถูกประกาศใช้ครั้งแรกในปี 2546 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อควบคุมความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์และป้องกันปัญหาหนี้เสีย
และถูกนำมาใช้ต่อเนื่องในช่วงหลายปีต่อมา โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 มีการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็น 100% ชั่วคราว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเกิดโรคระบาด
และล่าสุดท่ามกลางสถานการณ์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดูบอบบางจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศผ่อนเกณฑ์ LTV ชั่วคราวอีกครั้ง เพื่อช่วยประคองอสังหาฯ และกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดย ‘สมชาย เลิศลาภวศิน’ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันชะลอตัวต่อเนื่องและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากการหารือกับทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงิน
ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) จึงเห็นควรให้ผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LTV)
โดยประเมินว่าการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะช่วยประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยบรรเทาปัญหาอุปทานคงค้างที่อยู่ในระดับสูงได้บ้าง
จึงอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้จำกัด ขณะที่การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันภาวะการเงินตึงตัวและสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV เป็นการชั่วคราว เนื่องจากเกณฑ์ LTV ของไทยผ่อนคลายมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และการบังคับใช้เกณฑ์ LTV ยังมีความสำคัญเพื่อดูแลมาตรฐานการให้สินเชื่อของระบบสถาบันการเงิน ช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้กู้จะได้รับสินเชื่อที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่จะมาจากการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์
สำหรับสาระสำคัญของการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV มีดังนี้
1. กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันเป็นร้อยละ 100 สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งกรณี (1) มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และ (2) มูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป
2. การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2569