ผ่านมาแล้วมากกว่า 1 สัปดาห์กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของไทย (28 มี.ค. 68) ที่ไม่ได้สร้างแค่ความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง แต่ยังทิ้งร่องรอยไว้ในจิตใจ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความสูญเสีย
เพราะแผ่นดินอาจไหวเพียงไม่กี่วินาที แต่ผลสะเทือนในจิตใจอาจยาวนานกว่าที่คิด การพูดถึง PTSD จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตพอๆ กับการฟื้นฟูอาคาร
และบางครั้งหลายคนอาจดูเหมือนฟื้นตัวได้เร็วกับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่แท้จริงแล้วอาจกำลังเผชิญกับภาวะ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญอยู่ก็ได้
ลองมาดูอาการแล้วเช็คไปพร้อมกัน
– ฝันร้ายซ้ำๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์
– สะดุ้งตกใจง่าย หรือไวต่อเสียงสั่นของโทรศัพท์ เสียงรถวิ่ง หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของตึก
– รู้สึกวิตกกังวลตลอดเวลา กลัวว่าจะเกิดเหตุซ้ำ
– พยายามเลี่ยงสถานที่หรือสิ่งที่กระตุ้นให้นึกถึงแผ่นดินไหว
– รู้สึกชา ไม่อยากเข้าสังคม หรือมีอารมณ์แปรปรวน
มีผลการศึกษาในปี 2567 จากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO พบว่าประชากรโลกประมาณ 3.9% เคยมีภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) และโดยสถิติผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย
แต่ TODAY Bizview ไม่ได้แค่จะมาอธิบายถึงลักษณะอาการเท่านั้น แต่ยังจะพูดถึงผลกระทบของ PTSD ต่อธุรกิจด้วย เพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่ทุกคนทำงาน บางคนอยู่ในออฟฟิศ อยู่ในโรงงานและต้องวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอด
หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ไป หลายธุรกิจเร่งฟื้นฟูความเสียหายทางกายภาพ อย่างตัวอาคารที่พัง ทรัพย์สินที่สูญหาย หรือยอดขายที่หดตัว แต่สิ่งที่มักถูกมองข้ามคือ ‘จิตใจของคนทำงาน’ โดยผลกระทบอาจเป็น
– ประสิทธิภาพการทำงานลดลง พนักงานอาจมีปัญหาในการจดจ่อ มีภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรัง หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่างที่เคยทำเป็นประจำ
– อัตราการลาออกหรือขอลางานเพิ่มขึ้น ความเครียดสะสมอาจทำให้พนักงานตัดสินใจพักงาน หรือแม้แต่เปลี่ยนงานเพื่อหนีจากสิ่งกระตุ้น
– บรรยากาศในองค์กรดูแย่ลง ความวิตกกังวล ความหวาดกลัว และความเงียบอาจแพร่กระจายเหมือนไฟลาม หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม
ดังนั้น องค์กรที่เข้าใจเรื่องใจ = องค์กรที่ยั่งยืน เพราะองค์กรในยุคใหม่ต้องไม่เพียงแค่คิดเรื่องความสามารถในการแข่งขัน แต่ต้องคิดถึงความสามารถในการดูแลคนด้วย โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์รุนแรงอย่างแผ่นดินไหว
และยิ่งในปัจจุบันปัญหาเรื่องของสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญมาก จึงควรเน้นย้ำถึงบทบาทเชิงรุกให้ธุรกิจต่างๆ ในการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานหลังจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เพื่อให้พนักงานฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
แนวทางสำหรับธุรกิจที่ควรนำมาใช้ ได้แก่
– จัดพื้นที่ปลอดภัยทางใจ เปิดโอกาสให้พนักงานพูดคุย แสดงความรู้สึก หรือขอคำปรึกษาโดยไม่ถูกตัดสิน
– สื่อสารอย่างมีสติ ผู้นำควรแสดงความเข้าใจ ไม่เร่งรัดให้ทุกคนกลับมาเหมือนเดิม แต่เดินไปด้วยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป
– ลงทุนกับ mental wellness มีการจัดเวิร์กช็อป ฝึก mindfulness หรือมีนักจิตวิทยาประจำบริษัทให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
– ยืดหยุ่นกับการทำงาน โดยอนุญาตให้พนักงานทำงานแบบ hybrid หรือ remote ได้หากพนักงานรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือยังไม่พร้อมทางใจ
อย่าลืมว่า ‘คน’ คือทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของธุรกิจและใจของคน ก็ต้องการการเยียวยาไม่แพ้อาคารหรือยอดขาย แม้ว่าภาวะ PTSD อาจเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ผลกระทบไม่เคยจำกัดอยู่แค่ตัวบุคคลมันขยายผลถึงทีม วัฒนธรรมองค์กร และกำไรของธุรกิจในระยะยาว ดังนั้นธุรกิจที่มองเห็นถึงใจคน คือ ธุรกิจที่มองไกลและยั่งยืน