SHARE

คัดลอกแล้ว

ความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมของสังคมไทยมาตลอด แม้ว่าในระยะหลังจะมีกลไกทางกฎหมาย แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย และมีอุปสรรคอีกมาก โดยเฉพาะเมื่อประเด็นนี้ ดันไปเกี่ยวโยงกับทัศนคติของภาครัฐ

 

รายการ HEADLINE ขีดเส้นใต้ประเด็นใหญ่ โดยสำนักข่าวทูเดย์ ถือโอกาสหยิบยกรายงานการศึกษาชิ้นหนึ่ง ที่ฉายให้เห็นภาพปัญหาว่า ผู้หญิงไทยที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวจำนวนไม่น้อย กลับเข้าไม่ถึงการเยียวยา

และสถานการณ์เหล่านี้ไปกันใหญ่ เมื่อประกอบกับที่ รัฐบาลซึ่งไม่ได้มาจากประชาชนชุดก่อนหน้านี้ ได้ออกกฎหมายที่ไม่ผ่านการคิดให้รอบคอบ ทำให้เกิดช่องโหว่ ไม่เอื้อต่อการปกป้องสิทธิเหยื่อความรุนแรง

นี่อาจเป็นสิ่งที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่า โครงสร้างประเทศภาพใหญ่อย่างรัฐบาล สำคัญและส่งผลมากมาย ขนาดที่กระทบถึงเรื่องในบ้านของใครหลายคนได้เลย ผ่านการพูดคุยกับ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 

[1 ใน 6 ของหญิงไทย เคยประสบความรุนแรงในครอบครัว]

คงไม่มีใครยืนยันได้ ว่าวันหนึ่งเราจะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์ ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อรายงาน เรื่อง “เงียบไว้เถอะ” ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาที่เป็นผล สำหรับผู้หญิงที่ประสบความรุนแรง ยกตัวเลขว่า 1 ใน 6 ของหญิงไทย เคยเผชิญเรื่องนี้มาแล้ว

สำหรับ รายงานชิ้นนี้เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง โดยหน่วยงานสิทธิมนุษยชน ‘ฟอร์ตี้ฟายไรต์’ ซึ่งใช้เวลาถึงสองปี ศึกษาความบกพร่องของระบบยุติธรรมไทย พร้อมๆ กับการสัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัว และผู้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง ศึกษาเอกสารของศาล เอกสารทางกฎหมาย และขอข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นั่นเลยทำให้เอกสารชิ้นนี้ค่อนข้างครอบคลุม มีทั้งท่าทีของฝ่ายต่างๆ บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานประชาสังคม พร้อมยกตัวอย่างเคสความรุนแรง ที่บรรดาเหยื่อออกมาเปิดเผย และเล่าประสบการณ์ตัวเองไว้อย่างน่าเศร้าใจ ทั้งกรณีถูกทำร้ายโดย แฟน พ่อเลี้ยง หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ของตัวเอง ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามเรื่องราวผ่านรายงานฉบับเต็มได้

อย่างไรก็ดี เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของ “เงียบไว้เถอะ” คือเรื่องกฎหมายสำหรับคุ้มครองเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ที่ HEADLINE  เลือกนำมาขยายความเพิ่มเติม เพราะจากการศึกษา นำไปสู่ข้อสังเกตที่ว่า กฎหมายสำหรับการคุ้มครองเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวนั้น จะมีเนื้อหาสอดคล้องไปกับรัฐบาลในแต่ละยุค

คือถ้าเป็นรัฐบาลทหาร ที่ไม่ได้มาจากประชาชน มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนจากการเลือกตั้ง พ่วงด้วยการเป็นรัฐบาลที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมเข้าไปด้วย ก็จะส่งผลให้เกิดช่องโหว่ในการคุ้มครองเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ไปโดยปริยายด้วย

[จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว]

รายงาน “เงียบไว้เถอะ” เริ่มตั้งต้นในปี 2550 ซึ่งมีพรรคพลังประชาชน ที่ต่อมาเป็นพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 2549 ภายใต้การนำของ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นับเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ประเทศไทย ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ฉบับปี 2550

ตามรายงานชิ้นนี้ ชี้เอาไว้ว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการดำเนินงานอย่างชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลที่ใกล้ชิดและมีความซับซ้อน โดยมีคุณลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากการล่วงละเมิดทางกายระหว่างบุคคลโดยทั่วไป

นั่นเอง ทำให้กฎหมายฉบับนี้ ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ คือ เดิมที่ความรุนแรงในครอบครัว ถูกมองเป็นเพียงปัญหาส่วนตัว และมีการยอมรับว่าเป็นข้อกังวลของสาธารณะ และเป็นประเด็นด้านกฎหมาย

โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ของ พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2550 คือ

  1. เสนอมาตรการ ‘คุ้มครองผู้ประสบความรุนแรง’  คือ ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ศาลออกคำสั่งให้ผู้ละเมิดต้องเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ การจ่ายค่าเสียหาย การไม่เข้าใกล้ที่อยู่อาศัยของครอบครัวหรือการห้ามติดต่อสมาชิกในครอบครัว และการปฏิบัติตามคำสั่งเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรเป็นการเฉพาะ

2.  ‘กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิด’ รวมทั้งโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน และ/หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท

3. เน้นย้ำบทบาทของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ที่จะป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

ยกตัวอย่าง การกำหนดให้เจ้าหน้าที่อาจมีอำนาจออกคำสั่ง กำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่บุคคลผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวเป็นการชั่วคราว ไม่ว่าจะมีคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่ และหากศาลเห็นชอบก็ให้มีผลต่อไป

ทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ กฎหมายครั้งปี 2550 ไม่เพียงถูกมองว่าเป็นหมุดหมาย แต่ยังนับเป็นความก้าวหน้า อย่างน้อยๆ ก็ช่วยเอาความรุนแรงในบ้านออกมาจากมุมมืด เพื่อแก้ปัญหาผ่านกลไกทางกฎหมาย

[จุดเปลี่ยนที่ทำให้เหยื่อความรุนแรง ‘ถูกกดทับ’?]

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ถูกเปลี่ยนแปลง จากพระราชบัญญัติปี 2550 เป็นร่างพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2562

โดยถูกตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนั้นคณะรัฐมนตรีอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอนุรักษนิยม ได้เสนอกฎหมายชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. …” เพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2550 ตามที่กล่าวไปข้างต้น เป็นที่มาของเสียงวิพากษ์ว่า ร่างพระราชบัญญัติของคณะรัฐมนตรี ที่เสนอในปี 2562 นั้น มีแนวคิดอนุรักษนิยม สนับสนุนสิ่งที่เรียกว่า ‘คุณค่าของครอบครัว’ ของขบวนการฝ่ายขวาทั่วโลก

โดยกฎหมายฉบับนี้พยายามที่จะยกเลิกความผิดอาญาของความรุนแรงในครอบครัว และส่งเสริมมาตรการที่เหมาะสมมากขึ้นเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในครอบครัว

ทั้งนี้ รัฐบาลในตอนนั้น ยังมีข้อกังวลต่อกฎหมายที่มีอยู่เดิมว่า มาตรการลงโทษในกฎหมาย ขัดแย้งกับเป้าประสงค์ที่จะลดความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้ผู้กระทำความรุนแรงได้มีโอกาสกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ

นั่นเองทำให้ ในรายงาน “เงียบไว้เถอะ” ประเมินไว้ว่า พระราชบัญญัติที่ออกมาเมื่อปี 2562 มีแนวโน้มที่จะผลักให้ประเด็นความรุนแรงในครอบครัว กลับไปเป็นเรื่องส่วนตัวอีกครั้ง พูดง่ายๆ คล้ายกับนำเรื่องคุณค่าของครอบครัว มากดทับประเด็นความรุนแรงในครอบครัวอีกชั้นหนึ่ง ส่งผลให้ความรุนแรงในบ้านไม่ถูกมองเห็น และไม่ถูกแก้ปัญหา

ข้อสังเกตหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติที่บังคับใช้ปี 2562 นั้น ร่างโดยคณะกรรมการจัดทำร่าง ซึ่งมีแต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล ที่ได้รับอิทธิพลจากทหาร

โดยทันทีที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ในเดือน พ.ค. 2562 ก็ตามมาด้วยเสียงวิจารณ์จากภาคประชาสังคม ด้วยมองว่า นี่เป็นการจำกัดการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเป็นทางการ ของผู้ประสบความรุนแรง ขณะเดียวกัน ก็มีข้อกังวลต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอม ว่าอาจขาดการอบรม ไม่มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน และอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ประสบเหตุรุนแรง

ผ่านไปไม่กี่เดือน รัฐบาลขณะนั้นซึ่งนำโดยพรรคพลังประชารัฐ เห็นช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย และนำไปสู่การระงับใช้กฎหมายในเดือนสิงหาคม ในปีเดียวกัน โดยมีการประกาศ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 โดยรัฐบาลยอมรับผ่านการออกกฎหมายนี้ว่า จำเป็นต้องวางแผนที่ครอบคลุมมากขึ้น และขยายทรัพยากรเพื่อจัดการกับความรุนแรงในครอบครัวในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิผล

[คุ้มครอง และ ป้องกัน ควรแยกจากกัน]

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ถึงผลการศึกษานี้ กล่าวถึง การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัญหาสำคัญ คือ การร่างกฎหมายที่ไม่มีประชาชนมีส่วนร่วม และผู้ร่างกฎหมายยังนำเรื่องสถาบันครอบครัว ไปปะปนกับประเด็นผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง จนกลายเป็นเนื้อเดียวกันด้วย

“ทางหน่วยงานรัฐ มองว่า พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว ควรมีการป้องกันอยู่ด้วย ถึงต้องมีประเด็นครอบครัวเข้ามา ถึงสับสนกันไปใหญ่ เพราะจริงๆ แล้ว พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว คือเรื่องคุ้มครอง ส่วนการป้องกันและแก้ปัญหา มันเป็นอีกมิติหนึ่ง ไม่ควรนำมารวมกัน”

“การคุ้มครองผู้ถูกกระทำกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ” ด้วยความไม่เห็นด้วยในประเด็นลักษณะนี้ อย่างที่ จะเด็จ แสดงความเห็นไว้ จึงเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญ ที่ทำให้ร่างกฎหมาย เมื่อปี 2562 ถูกระงับไป 

นั่นเท่ากับว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับกรณีความรุนแรงในครอบครัว จะยังยึดโยง พ.ร.บ. ความรุนแรงในครอบครัว ฉบับปี 2550 ซึ่งถูกมองว่าเป็นหมุดหมายให้สังคมยื่นมือช่วยจัดการความรุนแรงในบ้านได้

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความพยายามปรับปรุงกฎหมาย เห็นได้จากในปี 2565 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา และดึงเอาผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชา ร่วมถึงภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำร่างกฎหมายที่อุดช่องโหว่เดิม 

อย่างเช่น การขยายนิยามความรุนแรงในครอบครัว ให้ครอบคลุมถึงความรุนแรงทางเพศ และการกระทำที่มีเจตนาดูหมิ่นหรือทำลายชื่อเสียงผู้อื่น การขยายอายุความกำหนดบทลงโทษที่เคร่งครัด ไปจนถึงการจัดระเบียบกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้จัดการกับคดีความรุนแรงในครอบครัวได้ดีขึ้น

[ปัญหาไม่ใช่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นเรื่องทัศนคติ]

จากการติดตามประเด็นความรุนแรงในครอบครัว จะเด็จ เล่าถึงกรณีหนึ่ง ที่นำไปสู่การหย่าร้าง โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเป็นคนกลาง แต่กลับพบปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ที่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การเข้าช่วยเหลือลักษณะนี้ไม่ประสบความสำเร็จ 

“หนึ่งถ้าเกิดจะเลิกกัน ลูกจะอยู่ยังไงละ เขา (เจ้าหน้าที่) ตั้งคำถามอย่างนี้ สองคุณจะเอาสามีเขาคุกหรอ นำไปสู่ เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายก็ไม่ได้ผล เพราะกลไกรัฐเชื่อว่า ความรุนแรงในครอบครัว ยังต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ถ้าแก้ให้ผู้หญิงเลิกกับสามี ยิ่งทำให้ครอบครัวพังทลาย”

จนถึงตอนนี้ กฎหมายที่ใช้ในคดีความรุนแรงในครอบครัว ยังคงเป็นฉบับปี 2550 อยู่ แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ยังคงมีความพยายามเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย ทดแทนกฎหมายฉบับปี 2562 ที่ถูกระงับไป

ตามรายงาน “เงียบไว้เถอะ” ให้ข้อมูลไว้ว่า เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว กรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ รวบรวม และนำข้อเสนอแนะจากการรับฟังความเห็นมาปรับใช้กับร่างกฎหมายฉบับล่าสุด เมื่อร่างกฎหมายแล้วเสร็จ คณะกรรมการจะเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หากผ่านความเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งไปยังรัฐสภาเพื่อพิจารณา และอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

เชื่อว่าหลายคนเห็นตรงกันว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว มีความซับซ้อนมากกว่าความรุนแรงทั่วไปในหลายมิติ ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ และมากกว่านั้น คือ ‘ทัศนคติ’ ที่นับแต่อดีตถูกสอนต่อกันเป็นทอดๆ ว่าเรื่องผัวเมียเขา คนนอกว่าอย่าไปแทรก

“ตำรวจจำนวนไม่น้อย ยังเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว นี่เป็นจุดที่ต้องปรับความคิดกันไปเรื่อยๆ ส่วน สธ. เขาก็ทำหน้าที่เขา แต่สิ่งที่น่าห่วง คือเขามองว่าเป็นงานของ พม. เหมือนเป็นงานฝาก” จะเด็จ กล่าว

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แสดงความเห็นต่อว่า เมื่อของเขตการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังมีความทับซ้อนกันบางส่วน จนสร้างความรู้สึกว่าเป็น ‘งานฝาก’ ตามมาด้วยการทำงานที่เข้มข้นมากน้อย ขึ้นอยู่กับ ‘ความอิน’ 

เช่นที่ กระทรวงสาธารณสุข มีการจัดทำฐานข้อมูลไว้อย่างดี และมีศูนย์ที่คอยให้บริการประชาชน แต่ยังติดขัดในแง่ของงบประมาณ “กฎหมายเลยต้องแก้ เพื่อให้กลายเป็นเรื่องบูรณาการ ว่าเขา (เจ้าหน้าที่) จะมีงบประมาณไว้ทำงาน” จะเด็จ กล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า