SHARE

คัดลอกแล้ว

ทำไมทั่วโลกถึงให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับงาน World Expo (งานมหกรรมโลก) นั่นเพราะเป็นอีเวนต์ที่แต่ละประเทศจะมาแสดงวิสัยทัศน์ระดับโลกผ่านการจัดนิทรรศการและพาวิลเลียน (Pavilion) ซึ่งการจัดงานกินเวลานานถึง 6 เดือน

ถ้าย้อนไปที่จุดเริ่มต้นก็ตั้งแต่ปี 1851 ที่ลอนดอน เป็นการจัดแสดงนวัตกรรมระดับโลกครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียม “โชว์วิสัยทัศน์ของโลกผ่านนิทรรศการ”

ดังนั้นงาน World Expo จึงไม่ใช่งานจัดบูธธรรมดา แต่เป็นเวทีที่ประเทศต่างๆ ใช้ “เล่าเรื่องอนาคต” ผ่านเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวคิดเพื่อโลก

พูดง่ายๆ คือเป็นพื้นที่โชว์ว่าประเทศนี้คิดอย่างไรกับโลกในวันพรุ่งนี้

และที่ขาดไม่ได้ หลายประเทศใช้โอกาสนี้ในการ “โชว์ของ” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศ (Nation Branding) เช่น เทคโนโลยีระดับชาติ นโยบายด้านสังคม-สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมที่ทันสมัย นั่นก็เพราะผู้เข้าชมมีทั้งนักลงทุน ผู้กำหนดนโยบาย นักวิจัย ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชนจากทั่วโลก

ประวัติศาสตร์ของงาน World Expo มี พาวิลเลียนจากหลายประเทศที่โดดเด่นและได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าชมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรมที่ล้ำสมัย แนวคิดที่สร้างสรรค์ หรือการนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัย

ต่อไปนี้คือศาลาที่เคยถูกพูดถึงมากที่สุดในแต่ละยุค

ที่กลายเป็นตำนานเลย คือ หอไอเฟล ที่จุดกำเนิดสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของงาน World Expo ปี 1889 แม้จะถูกวิจารณ์ในช่วงแรกว่า “น่าเกลียด”  แต่สุดท้ายกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งพาวิลเลียนดัง คือ งาน World Expo 2005 ที่ นาโกย่า ญี่ปุ่น ได้นำเสนอแนวคิดความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผ่านเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น หุ่นยนต์และระบบเสียง 360 องศา

World Expo ปี 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ พาวิลเลียนจีนที่ตั้งชื่อธีมว่า “The Crown of the East” สร้างเป็นสถาปัตยกรรมทรงพีระมิดกลับหัวสีแดงเข้ม เรียกเสียงฮือฮามีผู้เข้าชมมากกว่า 17 ล้านคน ซึ่งปีเดียวกันนั้น พาวิลเลียนของสหราชอาณาจักร ที่ชื่อ “Seed Cathedral” ก็วิจิตรตระการตาจนได้รับรางวัล Best Pavilion และเป็นที่สนใจของสื่อทั่วโลก เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างจากเส้นใยโปร่งแสงกว่า 60,000 เส้น และมีการฝังเมล็ดพันธุ์พืชจริงเข้าไปด้วย

และล่าสุดในงาน World Expo ครั้งก่อนปี 2020 ที่ดูไบ (เลื่อนจัดเป็นปี 2021) พาวิลเลียนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เรียกสายตาผู้คนด้วยฝีมือของสถาปนิกดัง Santiago Calatrava ออกแบบอาคารรูปทรงเหมือนปีกเหยี่ยว เพื่อสื่อถึงความฝันของประเทศทะเลทราบที่กำลังโบยบินสู่อนาคต และภายในมีการระดมใส่เทคโนโลยีการจัดแสดงนิทรรศการแบบ immersive และยั่งยืน

รอบล่าสุดนี้งาน World Expo 2025 จัดขึ้นที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เพิ่งเปิดฉากกันไปวันที่ 13 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ภายใต้ธีม “Designing Future Society for Our Lives” มีเป้าหมายเพื่อแสดงนวัตกรรมและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของสังคมมนุษย์

แต่ระหว่างทางของอีเวนต์นี้ มีข่าวมีคราวให้ได้ยินเป็นระยะ เริ่มจากงบประมาณของงาน World Expo 2025 เพิ่มขึ้นจาก 125,000 ล้านเยน เป็น 235,000 ล้านเยน (ประมาณ 1.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้นและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้ ในญี่ปุ่นเองก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในฐานะเจ้าภาพที่สูงเกินไป เช่น ห้องน้ำที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 200 ล้านเยนต่อแห่ง

นอกจากเรื่องงบฯแล้ว ยังมีปัญหาการก่อสร้างล่าช้า มีข่าวออกมาให้ได้ยินเป็นระยะว่าการก่อสร้างพาวิลเลียนของประเทศต่างๆ ล่าช้าอย่างมาก โดยเฉพาะพาวิลเลียนประเภท A ที่ออกแบบโดยแต่ละประเทศเองทำให้เกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันเวลา ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็เป็นจริง

‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ พิธีกรและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ออกมาโพสต์ระบุว่า ได้รับฟังข้อมูลมามากมาย ทั้งข้อจำกัด ข้อล่าช้า ข้อเสียเวลา ข้อเสียเปรียบด้านค่าก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่นที่สูงกว่าปกติ 3 เท่า

และด้วยข้อกฎหมายที่ต้องใช้คนงานญี่ปุ่น จึงเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน มีการแก่งแย่งแรงงานโดยการ ‘จ่ายแรง’ เพื่อให้งานเสร็จ บางประเทศเตรียมตังค์มาไม่พอ พาวิลเลียนก็ไม่เสร็จ

“เท่าที่ตาผมเห็น มีอินเดีย อินโด ฯ เนปาล เป็นที่เล่าขานโจษจันกันในงาน ดั่งโศกนาฏกรรม ทำพาวิลเลียนไม่ทัน ก็ล้อมรั้วเอาไว้พร้อมเศษซาก จะสร้างต่อตอนกลางวัน เค้าก็ไม่ให้
ส่วน Thailand Pavilion จะดีจะร้าย แต่งานเราเสร็จ”

[ พาวิลเลียนไทย งบ 900 ล้านบาทที่ถูกตั้งคำถาม ]

มีเสียงพูดทำนองว่า ทุกครั้งที่พาวิลเลียน (ศาลาไทย) หรือจะเรียกทางการว่า “อาคารนิทรรศการประเทศไทย” ไปจัดแสดงใน World Expo จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอจากสื่อหรือคณะที่ได้ไปดูก่อนหน้าว่าไม่ประทับใจ ข้างในไม่มีอะไรน่าสนใจ ขาดนั่นนี่ ตามมาด้วยเสียงเซ็งแซ่ เรียกว่าเป็นแบบนี้ทุกรอบ

แต่มักจะหักมุมลงเอยว่าต่างชาติที่ไปชม มักจะบอกว่าชอบพาวิลเลียนไทย และดูจะเป็นหนังซ้ำวนกันอยู่แบบนี้เรื่อยไป ว่า พาวิลเลียนไทยในแต่ละคร้ังที่จัด คนไทยไม่ค่อยชอบ แต่จบที่พาวิลเลียนไทยติดอันดับต้นๆ ยอดผู้เข้าชมสูง และบางปีช่วยเพิ่มยอดให้คนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น เช่น ปีที่จัด World Expo ที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปี 2010

มารอบนี้ก็อีกเช่นกันพาวิลเลียนไทยโดนวิจารณ์หนัก และวลีดังที่ถูกพูดถึงคือ “ดีไซน์เอกชน คอนเทนต์ราชการ”

‘อัญชลิน พรรณนิภา’ ประธานบริษัท TQM Corporation ได้แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียว่า สิ่งที่เรานำเสนอส่วนใหญ่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ อาหาร และสุขภาพ พร้อมตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับธีมของงานหรือไม่?

กระแสบนโซเชียลฯ ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการก่อสร้างและจัดอาคารแสดงที่ออกแบบโดย บริษัท สถาปนิก 49 หรือ A49 ซึ่งได้นำศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณมาออกแบบหลังคาที่เป็นลักษณะ “ทรงจอมแห” ให้เป็นทรงครึ่งจั่ว โดยใช้ผนังกระจกขนาดใหญ่ขนาบข้างอาคารยาวตลอดแนว

ส่วนตัวนิทรรศการที่อยู่ภายใต้แนวคิด “ภูมิพิมาน ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” (Immunity) โดยเน้นเรื่องธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม อาหาร และสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ธีมของพาวิลเลียนไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สอดคล้องกับธีมหลักของงานที่เน้นการออกแบบสังคมอนาคต มีบางความเห็นของผู้เข้าชมเห็นว่าควรเน้นการนำเสนอนวัตกรรมด้านสุขภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่าการย้อนอดีต

‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ เขียนเล่าบนโซเชียลฯว่า Thailand Pavilion ว่า จะดีจะร้าย แต่พาวิลเลียนไทยเสร็จทันตามกำหนด และจากที่เขาเห็นคือ มีคนต่อคิวยาวอยากเข้าชม

แต่ยอมรับว่าเมื่อเข้าไปภายใน แกนๆ เพราะเสร็จตามแบบ ตรงตาม TOR ซึ่งเรื่องนี้ เขาเล่าวงในว่า มาจากคนทำงาน ‘คิดไม่ตรงกัน’ และคิดแบบคนละยุคกันกับผู้เข้าชม

ยุคนี้เป็นยุคของการทำนิทรรศการแบบ Immersive คือไม่ต้องอ่านอะไรมาก แต่มีเหตุการณ์มาห่อหุ้มให้ผู้ชม “รู้สึก” ตามเป้าหมายที่ต้องการ แต่คนทำบอก เขาอ่านผลวิจัยมาว่า “ชาวญี่ปุ่นชอบอ่าน ชอบสแกน QR เอาข้อมูลเพิ่มเติม“ ก็เลยเคาะออกมาเป็นบอร์ดนิทัศน์ตามที่เห็น

แถมสุดท้ายบอกว่ามีผู้เสนอตัวพร้อมจะควักเงิน 10 ล้านบาท ให้ได้แก้ไขงาน

[ จุดด้อยเทคโนโลยีน้อย เน้นยัดทุกอย่าง แต่เด่นตัวสถาปัตยกรรมและอาหารไทย ]

ยังมีมุมดีให้เหลือชมอยู่หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า มี เพราะมีการรีวิวตัวสถาปัตยกรรมโดยคนญี่ปุ่นบอกว่า การออกแบบพาวิลเลียนด้วยการใช้กระจกสะท้อนนั้นถือว่าเฉียบ ไปจนถึงการออกแบบเวทีใหญ่ด้านหน้าเวลามีโชว์ก็ค่อนข้างสะดุดตา อื่นๆ คือการมองว่ามีความพยายามเชื่อมการเล่าเรื่องได้ดี

ส่วนเสียงวิจารณ์ติติง คือมีการนำเสนอนวัตกรรมเทคโนโลยีน้อยเกินไป อย่างการเน้นเรื่องสุขภาพ แต่กลับไม่ค่อยมี Health Tech ไปจนถึงการยัดมาเยอะเพื่อที่จะโชว์ของดีมากเกินไปจนล้น

แต่พาวิลเลียนไทยก็ยังได้รับคำชมในเรื่องของอาหารไทยที่นำเสนอได้หลากหลายและรสชาติอร่อย ผู้เข้าชมชาวญี่ปุ่นหลายคนแสดงความประทับใจต่ออาหารไทยที่ได้ชิม

อย่างที่บอกว่า ทุกครั้งที่พาวิลเลียนไทย ถูกพูดถึงทั้งเชิงบวกและลบทั้งหมดได้กลายเป็น “กระแส” ให้หลายคนสนใจ พูดถึง และอยากไปดู ไม่ว่าจะชอบหรือชัง เรื่องนี้ก็ถือเป็นบทเรียนที่น่าคิดเพื่อมาทบทวนว่า เรานำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับธีมของงานและความคาดหวังของผู้เข้าชมในระดับนานาชาติได้แค่ไหน

การลงทุนงบประมาณควรมาพร้อมกับการสร้างความประทับใจและส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะสุดท้ายภาพตอนจบของเรื่องราวทั้งหมดคือ การนำเสนอความเป็นไทยต่อสายตาชาวโลก

ภาพรวมจะเห็นว่าคนไทยคาดหวังว่าเราจะสามารถนำเสนอไทยพาวิลเลียนที่สะท้อนถึงนวัตกรรมและวิสัยทัศน์ของประเทศในเวทีโลกได้อย่างโดดเด่นและน่าจดจำนั่นเอง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า