SHARE

คัดลอกแล้ว

กลุ่มแบงก์โชว์กำไรไตรมาส 1 ปี 2568 ไตรมาสนี้กวาดไปกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท โตเด่นทั้ง QoQ และ YoY แต่นักวิเคราะห์กลับเตือนว่า ตัวเลข ‘บรรทัดสุดท้าย’ อาจดูดี แต่ไส้ใน ‘สินเชื่อ-รายได้ดอกเบี้ย-NPL’ ยังน่าเป็นห่วง

‘ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ’ รองผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า กลุ่มธนาคาร (8 ธนาคารหลัก ได้แก่ BAY BBL KBANK KTB SCB TTB KKP และ TISCO) กำไร 6.6 หมื่นล้านบาท เติบโต 13% QoQ และเติบโต 4% YoY ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์

ทั้งนี้ การเติบโต QoQ เป็นผลจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงตามฤดูกาล ส่วนการเติบโต YoY เป็นผลจากการควบคุมค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไรจากเงินลงทุน

โดย BBL เป็นธนาคารที่มีการเติบโตของกำไรมากที่สุด +20% YoY ส่วน KKP เป็นธนาคารที่มีการเติบโตของกำไรน้อยที่สุด -30% YoY

เมื่อดูไส้ใน พบว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของกลุ่มลดลง 4% YoY และลดลง 6% YoY ถูกกดดันจากสินเชื่อที่ไม่เติบโต จำนวนวันที่ต่ำกว่าไตรมาสก่อน และการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมา

สวนทางกับ NPL ที่เพิ่มขึ้น 3.7% จากสิ้นปี 2567 ที่ 3.6% ถูกกดดันจากมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่ไม่เติบโต (ตัวหารเท่าเดิม) แม้สินเชื่อรายย่อย เช่น รถ และบ้าน จะขยับขึ้นก็ตาม

แนวโน้มไตรมาส 2 และไตรมาส 3 คาดว่า กนง.อาจลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.นี้ จากแรงกดดันของสงครามการค้า ซึ่งคาดว่าจะกดดันให้รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารลดลง ส่วนต้นทุนการตั้งสำรอง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

สำหรับการลงทุน แม้การเติบโตของกำไรจะยังท้าทาย แต่ปันผลยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยเฉพาะหุ้นที่มีนโยบายปันผลต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ได้แก่ KTB BBL และ KBANK (ไม่รวมปันผลพิเศษ) อนาคตมีโอกาสปันผลเพิ่มขึ้นได้

กำไรธนาคาร 2568

‘วิจิตร อารยะพิศิษฐ’ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มธนาคาร (7 ธนาคารหลัก BBL KBANK SCB KTB TTB TISCO และ KKP) กำไร 5.8 หมื่นล้านบาท ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ 5% ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท

โดยธนาคารที่งบออกมาดีกว่าคาด ได้แก่ BBL และ KBANK ส่วนธนาคารที่งบออกมาแย่กว่าคาด คือ KKP

แม้กำไรจะโตดีกว่าคาด แต่ไส้ในกลับไม่ค่อยดีนัก โดยรายได้ดอกเบี้ยลดลงทุกธนาคาร ผลจากพอร์ตสินเชื่อที่ลดลง QoQ และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ที่ลดลง ทั้งนี้ ถูกกดดันจากการลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ และนโยบาย ‘คุณสู้ เราช่วย’ ของภาครัฐ

ขณะที่ในไตรมาส 2 คาดว่ามีความเสี่ยงที่ NIM จะลงต่อเนื่อง เพราะจะเป็นไตรมาสที่รับรู้ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยของ กนง.เต็มไตรมาส อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่แบงก์ชาติอาจลดดอกเบี้ยเพิ่มในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จากความเสี่ยงขาลง (Downside) ของเศรษฐกิจ

ในส่วนของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย พบว่าเติบโต QoQ ส่งผลบวกให้กำไรบางธนาคารออกมามากกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ทั้งนี้ เป็นผลจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการซื้อประกัน หลังมีปัจจัยเร่งจากการเข้ามาของนโยบาย C0payment

เมื่อถามถึงการลงทุน แนะนำรอความชัดเจนของผลประชุม กนง.ก่อนค่อยพิจารณาเข้าลงทุน เพราะหากผลออกมาเป็นลดดอกเบี้ย จะส่งผลเสียต่อกลุ่มธนาคาร แต่หาก กนง.ไม่ลดดอกเบี้ย คาดว่ากลุ่มธนาคารจะฟื้นตัวกลับขึ้นมา

ทั้งนี้ เลือก KBANK เป็นหุ้นเด่น แนะนำรอย่อค่อยเข้าสะสม แม้โทนการประชุมนักวิเคราะห์จะไม่ค่อยดีนัก แต่ KBANK มีแผนจะออกโครงการซื้อหุ้นคืน รวมถึงมีปันผล 2 ขยัก ได้แก่ วันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา และ 15 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ส่งผลให้ Yield เพิ่มขึ้นสูงถึง 7%

‘กรกช เสวตร์ครุตมัต’ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้กลุ่มแบงก์ (BAY BBL KKP KTB SCB TISCO และ TTB) จะกำไร 4.2 หมื่นล้านบาท ดีกว่าที่คาด 4% แต่เป็นผลจากกำไรเงินลงทุน

เมื่อดูไส้ใน พบว่า รายได้ดอกเบี้ย สินเชื่อ และ NPL ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ค่อยดีนัก

โดยสินเชื่อลดลง 0.2% QoQ เดิมคาดการณ์ 0% หรือทรงตัว แต่จากตัวเลขที่ออกมานั้น ธนาคารเริ่มส่งสัญญาณสินเชื่อแผ่วตัวลง แม้สินเชื่อธุรกิจจะโต แต่สินเชื่อรายย่อยปรับตัวลงทั้งบ้านและรถ สะท้อนถึงการปล่อยกู้ที่ไม่ค่อยดีนัก จากเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมา

ขณะที่นโยบายภาษีของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลกดดันภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และ 3 ต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคเอกชนไม่กล้าลงทุน และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังการเติบโตของสินเชื่อภาคธุรกิจ

ในส่วนของ NIM ลดลง 16 เบสิสพอยท์ (bps) แม้ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลงเพียง 10 bps ก็ตาม ทั้งนี้ เป็นผลจาก Loan Mix ที่ค่อนข้างแย่ โดยสินเชื่อดอกเบี้ยสูงอย่าง SMEs และรายย่อยโตต่ำ แต่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่างสินเชื่อภาคธุรกิจ ยังเติบโตได้

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.37 แสนล้านบาท ลดลง 6% YoY จากปีก่อนที่ 1.45 แสนล้านบาท ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2 คาดว่าจะลดลงอีกที่ 1.34 แสนล้านบาท (ตัวเลขอาจมีการปรับลงอีก) จากปีก่อนที่ 1.47 แสนล้านบาท ยังไม่รวมผลกระทบจากที่ กนง.อาจลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมครั้งที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี โดย OPEX เพิ่มขึ้นเพียง 1% YoY ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ ขณะที่ Cost to Income อยู่ที่ 43% พอช่วยกำไรสุทธิให้เติบโตได้

ตัวสุดท้ายอย่าง Credit Cost เพิ่มขึ้นจาก 142% มาอยู่ที่ 149% จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โดยจะเห็นว่าตลาดปรับลดคาดการณ์ GDP จาก 2% กว่าๆ มาอยู่ที่ 1% กว่าๆ ขณะที่ไตรมาส 2 และ 3 ยังมีความเสี่ยงต่อเนื่องจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ แนะนำ ‘ลดน้ำหนัก’ (Underweight) กลุ่มธนาคาร แม้กำไรสุทธิจะออกมาดี แต่ในรายละเอียดยังค่อนข้างแย่ พร้อมกับเตือนระวังคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL และ KKP โดยไม่มีหุ้นเด่นแนะนำ ณ ขณะนี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า