SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ฟอร์ทน็อกซ์’ (Fort Knox) คือหนึ่งในสถานที่ลึกลับและปลอดภัยที่สุดในโลก มีทองคำสำรองของรัฐบาลสหรัฐฯ เก็บไว้กว่า 147 ล้านออนซ์ แต่ไม่มีใครเคยเห็นทองทั้งหมดด้วยตาตัวเองมานานหลายทศวรรษ จนเกิดคำถามว่า ‘ทองยังอยู่หรือไม่’

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เองก็ออกมาพูดว่า อยากเข้าไปตรวจสอบทองใน Fort Knox ด้วยตัวเอง เพื่อดูว่าทองยังอยู่ครบหรือไม่เช่นกัน แนวคิดนี้จึงจุดกระแสสงสัยขึ้นอีกครั้ง พร้อมปลุกความสนใจต่อความโปร่งใสของระบบการเงินสหรัฐฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ยังเสนอแนวคิดที่ท้าทายยิ่งกว่าเดิม นั่นคือการใช้บิตคอยน์แทนทองคำเป็นสินทรัพย์สำรองของชาติ ด้วยเหตุผลว่าโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีใหม่อาจตอบโจทย์มากกว่าการเก็บโลหะหนักๆ ไว้ในคลังใต้ดิน

คำถามจึงไม่ได้มีแค่ ‘ทองยังอยู่หรือไม่’ แต่กำลังกลายเป็น ‘โลกจำเป็นต้องพึ่งทองคำอีกหรือเปล่า’ เพราะหากแนวคิดของทรัมป์ได้รับแรงหนุนมากพอ เราอาจกำลังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนระบบการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษก็เป็นได้…

[ Fort Knox คืออะไร ]

Fort Knox ออกเสียงว่า ‘ฟอร์ทน็อกซ์’ แปลตรงตัวว่า ‘ป้อมน็อกซ์’ เป็นชื่อเล่นของ The United States Bullion Depository หรือคลังเก็บทองคำแท่งแห่งสหรัฐอเมริกา สถานที่เก็บรักษาทองคำสำรองของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งอยู่ใกล้กับฐานทัพ Fort Knox ในรัฐเคนทักกี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1936 (2479) หรือเมื่อประมาณ 90 ปีก่อน

Fort Knox อยู่ภายใต้การดูแลของ Department of the Treasury หรือกรมธนารักษ์ของสหรัฐฯ ผ่าน United States Mint คล้ายๆ กับโรงกษาปณ์บ้านเรา ปัจจุบันมีทองคำสำรองประมาณ 147.3 ล้านออนซ์ มูลค่าเกือบ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 16 ล้านล้านบาท เกือบเท่ามูลค่าจีดีพีไทยปีก่อน (2567)

ด้วยความที่ Fort Knox เก็บรักษาทองคำไว้มากถึง 56.35% ของทองคำสำรองทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้สถานที่แห่งนี้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่สูงมาก ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ด้วยผนังเสริมคอนกรีตหนา 21 นิ้ว ประตูตู้นิรภัยที่ทนต่อการระเบิด การเจาะ และการตัดด้วยไฟเชื่อม ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 20 ตัน

ไปจนถึงกฎเกณฑ์ในการเข้าออก กล่าวคือ ไม่มีใครสามารถเข้าออกคนเดียวได้ การเปิดตู้นิรภัยหลักต้องใช้เจ้าหน้าที่หลายคน แต่ละคนรู้แค่รหัสของตัวเองเท่านั้น ไม่มีใครรู้รหัสทั้งหมด แม้แต่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมชม (อัปเดต ณ วันที่ 13 พ.ค. 2568)

Fort Knox

[ ทองใน Fort Knox มาจากไหน ]

ทองคำใน Ford Knox ส่วนใหญ่ มาจากพระราชบัญญัติทองคำปี 1934 (2477) (Gold Reserve Act) ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ ประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)

ในตอนนั้น ประธานาธิบดี ‘แฟรงคลิน ดี. โรเซอเวลต์’ (Franklin D. Roosevelt) ได้ลงนามในพระราชบัญญัติทองคำ ซึ่งมีผลบังคับให้บุคคลและสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ต้องส่งมอบทองคำทั้งหมดให้กับกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ

การขนส่งทองคำชุดแรกไปยัง Fort Knox เริ่มขึ้นในปี 1937 (2480) โดยใช้รถไฟหุ้มเกราะและมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทองคำถูกขนส่งจากสำนักงานทดสอบโลหะมีค่าแห่งนิวยอร์ก (New York Assay Office) และโรงกษาปณ์ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia Mint) ไปยังคลังเก็บทองคำที่ Fort Knox

นอกจากนี้ การปรับราคาทองคำและความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้มีการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศมายังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ภายในปี 1940 (2483) Fort Knox มีทองคำสำรองมูลค่ากว่า 13,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.38 แสนล้านบาท) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการชำระเงินจากยุโรปสำหรับวัสดุสงคราม

[ Fort Knox อาจไม่มีทองเหลืออยู่ ]

หลายปีที่ผ่านมา มีกระแสสงสัยว่า ทองคำใน Fort Knox อาจ ‘ไม่อยู่แล้ว’ หรือ ‘ไม่มีอยู่จริง’ สาเหตุก็เพราะว่า ทองคำใน Fort Knox ไม่เคยถูกตรวจสอบแบบเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ช่วงปี 1950 (2493)

แม้จะมีบางคณะกรรมการเข้าไปดูในปี 1974 (2517) รวมถึงสมาชิกสภาคองเกรสและสื่อบางเจ้า แต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้เปิดดูทั้งหมด นอกจากนี้ ยังไม่มีการตรวจนับและวิเคราะห์แบบอิสระให้ประชาชนตรวจสอบได้

หลายคนตั้งคำถามว่า ถ้ามีทองจริงๆ ทำไมต้องปิดขนาดนั้น คนที่อยากให้เปิดให้ตรวจสอบ เช่น ‘รอน พอล’ (Ron Paul) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝั่งรีพับลิกัน เคยเรียกร้องเรื่องนี้ในสภา แต่อย่างที่รู้ ไม่มีใครได้ไฟเขียว

บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ อาจเอาทองไปขายหรือลักลอบใช้ในช่วงเศรษฐกิจตึงตัวแล้วปิดข่าวไว้ หรืออาจเอาไปใช้เป็นหลักประกันในดีลลับๆ กับต่างชาติหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ยังยืนยันว่า ทองยังอยู่ โดยมีรายงานการตรวจสอบบางส่วนจากผู้ตรวจราชการ (Inspector General) ในช่วงปี 2010 (2553) แต่ก็ยังไม่มีเปิดตู้นับทุกแท่งให้เห็นกันจะจะ

[ ทรัมป์อยากตรวจ Fort Knox ]

‘เรากำลังจะไปฟอร์ทน็อกซ์จริงๆ เพื่อดูว่าทองคำยังอยู่หรือไม่ เพราะบางทีอาจมีใครขโมยทองไปก็ได้ ทองเป็นตันๆ เลยนะ’ เป็นคำกล่าวของทรัมป์เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

Trump Fort Knox

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เป็นคนที่มีบุคลิกไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีหลักฐาน เขาไม่ไว้ใจแค่รายงานหรือคำพูดของใครง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศอย่างทองคำสำรองของสหรัฐฯ เขาจึงแสดงความต้องการที่จะเข้าไปตรวจสอบ Fort Knox ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ในช่วงที่เขาอยู่ในกระแส มีข่าวลือต่างๆ ว่าทองใน Fort Knox อาจจะไม่ได้อยู่ครบตามที่รัฐบาลรายงาน หรือบางคนก็ถึงขั้นสงสัยว่าทองทั้งหมดอาจไม่มีอยู่จริง ทรัมป์จึงใช้โอกาสนี้สร้างความโปร่งใส โดยการเสนอให้เข้าไปดูทองคำเหล่านั้นจริงๆ

แม้หลายฝ่ายอาจมองว่าเป็นเพียงการสร้างกระแส แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะการตรวจสอบทองใน Fort Knox ถือเป็นการยืนยันความโปร่งใสทางการเงินของประเทศ ซึ่งในยุคที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลมีความเปราะบาง การกระทำแบบนี้ยิ่งสร้างความสนใจและข้อถกเถียงอย่างมากในสังคม

[ เสนอใช้บิตคอยน์แทนทองคำ ]

ทรัมป์เคยแสดงจุดยืนเรื่องคริปโตหลายครั้ง และหนึ่งในแนวคิดที่สร้างแรงสั่นสะเทือนคือการเสนอให้ใช้ ‘บิตคอยน์’ แทน ‘ทองคำ’ ในการเป็นสินทรัพย์สำรองของประเทศ เพราะเขามองว่าโลกกำลังเปลี่ยน ทองคำอาจไม่ใช่คำตอบตลอดไป และเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนกำลังมาแรง

ทองคำต้องเก็บ ต้องขน ต้องดูแล แต่บิตคอยน์อยู่ในระบบดิจิทัลที่ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรมตลอดเวลา ไม่ต้องพึ่งคลังขนาดยักษ์อย่าง Fort Knox และไม่ต้องกังวลเรื่องของหาย ความคิดนี้ของทรัมป์เลยสร้างภาพลักษณ์ว่าเขาพร้อมพาประเทศเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคต

แน่นอนว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วย ฝ่ายสนับสนุนมองว่าเป็นการปฏิวัติระบบการเงินที่น่าตื่นเต้นและทันสมัย แต่ฝ่ายต่อต้านก็มองว่าบิตคอยน์ผันผวนเกินไป ไม่น่าใช้แทนทองคำได้จริงในระยะยาว การออกมาพูดของทรัมป์จึงกลายเป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงทั่วโลก

หลายคนยังสงสัยว่าทรัมป์จริงจังแค่ไหนกับเรื่องนี้ หรือแค่ใช้เป็นหมากทางการเมืองเพื่อดึงความสนใจ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ การพูดถึงบิตคอยน์ในระดับผู้นำประเทศ ทำให้วงการการเงินโลกต้องหันมามองคริปโตเคอร์เรนซีอย่างจริงจังมากขึ้นกว่าเดิม

คำถามสุดท้าย Fort Knox ยังมีทองอยู่หรือไม่ หรือคำถามที่ใหญ่กว่า โลกยังจำเป็นต้องมีทองคำอีกต่อไปหรือเปล่า คำตอบนั้นอาจกำลังเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การเงินไปตลอดกาล…

ที่มา:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า