SHARE

คัดลอกแล้ว

เสียงเคาะประตูแห่งความหวัง

ในหมู่บ้านอันเงียบสงัดและเต็มไปด้วยแสงแดดของจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยความหวังไม่ได้มาถึงในรูปแบบของปาฏิหาริย์ หากแต่มาในรูปแบบของเสียงเคาะประตู สำหรับเด็กและเยาวชนจำนวนมากในนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางอำเภอของสงขลา เส้นทางจากโรงเรียนสู่การทำงานเต็มไปด้วยอุปสรรค ความยากจน อุปสรรคทางภาษาและค่านิยมทางสังคมมักทิ้งพวกเขาไว้กลางทางระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ หลายคนมองว่าการเรียนไม่ตอบโจทย์ชีวิตหรือช่วยให้พวกเขาหางานทำได้ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มักถูกจำกัดบทบาทการเป็นผู้ดูแลและค่านิยมวัฒนธรรมที่ไม่สนับสนุนให้พวกเขาเดินทางหรือออกไปพักค้างคืนไกลบ้าน

ภูมิภาคแห่งนี้ซึ่งมีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ มีอัตราเยาวชนที่อยู่ในสถานการณ์ NEET (ไม่ได้อยู่ระหว่างเรียนหนังสือ ไม่ได้ทำงานหรือรับการฝึกอบรม) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยโอกาสที่จำกัด การขาดการสนับสนุน และแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ความยากจนและภาระการดูแลครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง ข้อมูลองค์การแรงงานระหว่างประเทศพบว่า ในปี 2567 มีเยาวชนทั่วประเทศเกือบ 1.2 ล้านคนที่จัดอยู่ในสถานะ NEET ท่ามกลางภูมิทัศน์เช่นนี้ ความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากโครงการ Reinforced Youth Guarantee ของสหภาพยุโรป จึงได้เริ่มขึ้น

ในทางทฤษฎีแล้ว เป้าหมายของโครงการนั้นเรียบง่าย นั่นก็คือ การส่งเยาวชนกลับเข้าสู่ระบบ ผ่าน 4 ขั้นตอน นับตั้งแต่การค้นหาเยาวชนที่อยู่ในสถานการณ์ NEET, การเข้าถึงเพื่อทำความรู้จักและสร้างความไว้วางใจ, การเตรียมความพร้อม และการส่งต่อเยาวชนเพื่อให้ได้รับโอกาสในการเสริมสร้างชีวิต

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2566 ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ ตำบลนาพู่ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งร้อยละ 96 ของผู้เข้าร่วมโครงการนำร่องสามารถกลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้หรือการทำงานภายในหนึ่งปี ด้วยความสำเร็จนี้ โครงการจึงขยายมายังจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

แต่การขยายโครงการซึ่งต้องใช้ทรัพยากรมากเช่นนี้ จำเป็นต้องมีหลักยึดภายในแต่ละชุมชน และนี่เป็นที่มาของบทบาทที่สำคัญของเครือข่ายบัณฑิตแรงงานของกระทรวงแรงงาน

หนึ่งในประตูแห่งความหวังเหล่านั้น คือประตูบ้านของฟาดีรา โต๊ะซือแต วัย 22 ปี และน้องสาว มิสบะห์ วัย 19 ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า แม้สองพี่น้องจะช่วยแม่ทำงานเย็บผ้าเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำ แต่แม่ของพวกเธอไม่มีความสามารถในการถ่ายทอดฝีมืออย่างเต็มที่ เพราะไม่เคยผ่านการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ ฟาดีราเรียนจบหลักสูตรการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และเคยหวังว่าจะได้ทำงานในตัวเมืองนราธิวาสหรือหาดใหญ่ แต่โอกาสนั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้น

น้องสาวของเธอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายก็ติดอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ด้วยพี่ชายคนโตมีรายได้น้อยและน้องชายคนเล็กยังเรียนหนังสืออยู่ ทั้งสองจึงต้องอยู่บ้านเพื่อช่วยดูแลแม่ แต่ก็ยังติดอยู่ในสถานการณ์ NEET

จากนั้นโอกาสก็มาเคาะประตู นิสูนีดา ตวนแมะเร๊าะ บัณฑิตแรงงานประจำตำบลได้เข้ามาติดต่อกับพี่น้องคู่นี้ “ความจริงใจคือหัวใจสำคัญ เราดูแลเขาเหมือนน้อง เราอยากให้พวกเขามีรายได้และมีชีวิตที่ดีขึ้น” ภายใต้การดูแลของนิสูนีดา สองพี่น้องได้เข้ารับการอบรมตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นเวลา 5 วันใกล้ ๆ หมู่บ้านของพวกเขา ตามด้วยการฝึกอบรมการทำธุรกิจออนไลน์อย่างเข้มข้น ภายในระยะเวลาเพียงสองเดือน ฟาดีราก็มีรายได้วันละประมาณ 160 บาทจากการรับเย็บเสื้อที่บ้าน

“หนูเปลี่ยนไปเยอะเลย” เธอกล่าว “เมื่อก่อนหนูอยู่แต่ในห้อง ตอนนี้หนูกล้าออกมาพูดคุยกับคนอื่น กล้าแสดงออกมากขึ้น พูดคุยกับแม่ว่าเราจะทำเสื้อแบบไหน ตอนนี้หนูมีไอเดียเยอะเลย”

หลังจากผ่านการอบรมระยะสั้น 2 ครั้ง สองพี่น้องได้เปิดแบรนด์ของตัวเองชื่อ Famiiis ซึ่งเป็นการผสมชื่อของทั้งคู่ และเปิดร้านค้าออนไลน์เล็ก ๆ ที่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก เพราะตอนนี้พวกเธอกำลังเรียนรู้การถ่ายภาพสินค้าและการสื่อสารกับลูกค้า

ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2024 ถึง มกราคม 2025 บัณฑิตแรงงานสามารถระบุเยาวชนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ NEET จำนวน 2,370 คนในสี่จังหวัดชายแดนใต้ ในจำนวนนี้ 1,855 คนตกลงเข้าร่วมโครงการ และประมาณร้อยละ 76สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือ การฝึกอบรมได้สำเร็จ ในจังหวัดนราธิวาสเพียงแห่งเดียวมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการ 335 คน และมีอัตราการกลับเข้าสู่ระบบถึงร้อยละ 77

โครงการนี้ต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างสูงจากเครือข่ายบัณฑิตแรงงานที่กระจายอยู่ในทุกตำบล แต่ละตำบลจะมีบัณฑิตแรงงานหนึ่งคน หากตำบลใดมีหมู่บ้านมากกว่า 10 หมู่บ้านจะมีบัณฑิตแรงงาน 2 คน พี่ ๆ บัณฑิตแรงงานเหล่านี้จะเดินเคาะประตูบ้านในพื้นที่เพื่อค้นหาเยาวชนที่อยู่ในสถานการณ์ NEET จากนั้นจะเริ่มสร้างความสนิทสนมกับครอบครัวเพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน 

จากนั้นพี่บัณฑิตซึ่งมีฐานะไม่ต่างจากพี่เลี้ยงจะช่วยจับคู่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ให้ตรงกับความต้องการของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา การฝึกอบรม หรือการทำงาน

“เครือข่ายบัณฑิตแรงงานทำหน้าที่เป็นรากฐานที่สำคัญให้กับโครงการของเรา ทั้งในเรื่องความเชื่อใจและความเข้าใจทางวัฒนธรรม” วิลสา พงศธร เจ้าหน้าที่ด้านการพัฒนาวัยรุ่น องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าว “พี่เลี้ยงเยาวชนต่างพูดภาษาท้องถิ่นและเข้าใจพื้นฐานของแต่ละชุมชน พวกเขาจึงไม่ถูกมองเป็นคนนอกที่มาเสนอทางแก้ แต่เป็นเพื่อนบ้านที่มานำเสนอทางออกให้”

สุนทร หมัดแล ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานจังหวัดนราธิวาส เห็นด้วยว่า “การพูดภาษาท้องถิ่น เข้าใจวัฒนธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคือสิ่งสำคัญ เมื่อเขาเคาะประตูแล้ว เจ้าของบ้านจะเปิดประตูต้อนรับและรับฟัง”

ซาวาณี นิบู บัณฑิตแรงงานจากอำเภอสุไหงปาดีเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “ช่วงแรกมันยากมาก แต่เมื่อเยาวชนและครอบครัวเริ่มไว้ใจเรา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป” เธอกล่าว “ตอนนี้แม่ ๆ จะเล่าให้ฉันฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ลูกเขาทำอะไรได้บ้าง”

ในอำเภอสุไหงปาดี ลูกพี่ลูกน้องวัย 19 ปี มูฮัมหมัดริดวัน เปาะเต๊าะอู และ มูฮัมหมัดไอมาน ดอเล๊าะ เคยใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย วัน ๆ ขี่มอเตอร์ไซค์เล่นและอยู่กับเพื่อน ๆ จนพวกเขารู้สึกติดกับหาทางออกไม่ได้ เพราะไม่มีการศึกษาหรือทักษะใด ๆ แต่ก็ไม่อยากทิ้งแม่ไว้คนเดียว

“วัน ๆ ก็อยู่บ้าน เล่นกับเพื่อน หรือไม่ก็ขี่รถแข่งกัน” คือ สิ่งที่มูฮัมมัดไอมานบรรยายชีวิตในอดีตของเขา

โชคดีที่ซาวาณีได้ชักจูงทั้งคู่เข้าร่วมโครงการการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดนราธิวาสเป็นระยะเวลาสองเดือน และฝึกงานด้านไฟฟ้าอีกหนึ่งเดือน

“ช่วงแรกยากมาก” มูฮัมหมัดริดวันเล่า “ผมเริ่มจากศูนย์ ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย มันดูเหมือนจะยากเกินไป แต่ผมก็ฮึดสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง” เขาบอกว่าชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง “จากเด็กที่มีปัญหา ตอนนี้ผมโตขึ้นบ้างแล้ว”

ความพยายามของพวกเขากำลังออกดอกออกผล เมื่อสิ้นสุดการอบรมสองเดือน พวกเขาได้เข้าฝึกงานกับผู้รับเหมารายย่อยในตัวเมืองนราธิวาส ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยช่างเดินสายไฟ ได้รับทั้งประสบการณ์จริงและค่าตอบแทนเล็กน้อย หลังจบฝึกงาน ทั้งสองคนได้รับข้อเสนองานจากผู้รับเหมารายเดิม

รุษวาดี สะอิ วัย 19 ปี ออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 15 ปี และใช้ชีวิตล่องลอยมา 3 ปี เพราะเขาเด็กเกินกว่าจะหางานทำได้ จนกระทั่งบุศริน อาแว บัณฑิตแรงงานประจำตำบลชักชวนให้เขาเข้าร่วมโครงการเดียวกันและเรียนจบหลักสูตรช่างยนต์ ปัจจุบันเขาฝึกงานที่อู่ใกล้บ้าน ช่วยซ่อมรถจักรยานยนต์ทุกวัน

“เมื่อก่อนพวกเขาอยู่แต่บ้าน มีคุณภาพชีวิตย่ำแย่” นิซูนีดากล่าว “เราได้เกลี้ยกล่อมให้พวกเขากล้าออกไปเรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาตนเอง ตอนนี้พวกเขามีความมั่นใจ กล้าออกไปข้างนอก กล้าพูด กล้าคิด พัฒนาการของพวกเขาน่าทึ่งมาก”

แต่งานที่ได้รับมอบหมายชิ้นนี้ไม่ง่ายเลยโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น พี่ ๆ บัณฑิตแรงงานหลายคนในเครือข่ายรู้สึกเหนื่อยล้าจนเกือบท้อใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อพวกเขาสามารถสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ความรู้สึกภาคภูมิใจก็ได้เข้ามาแทนที่ความเหน็ดเหนื่อยอันนั้น

ซาวาณีกล่าวอย่างดีใจว่า “ฉันภูมิใจมากที่ได้ช่วยให้เยาวชนกลับมามีความมั่นใจอีกครั้งหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ยูนิเซฟมองว่าโครงการนี้ไม่ใช่แค่ความสำเร็จในระดับท้องถิ่น แต่สามารถเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปปรับใช้กับชุมชนอื่นทั่วประเทศ “เราหวังว่านี่จะกลายเป็นพิมพ์เขียวในการแก้ไขปัญหาเยาวชน NEET ทั่วประเทศไทย” วิลสากล่าว “ด้วยการทำงานร่วมกับเครือข่ายท้องถิ่นและเคารพบริบททางวัฒนธรรม เราแสดงให้เห็นว่าเยาวชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สมควรได้รับโอกาสในการเติบโต”

ในขณะที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ การลงทุนในเยาวชนไม่ใช่แค่เรื่องของความเมตตา แต่คือความจำเป็น ความสำเร็จของแต่ละคนไม่ได้เปลี่ยนแค่ชีวิตหนึ่งคน แต่มันสามารถยกระดับคนทั้งครอบครัว เสริมพลังให้ชุมชน และร้อยเรียงอนาคตด้วยความเป็นไปได้

ในตำบลมะรือโบตก เราได้ยินเสียงอนาคตของใครบางคนกึกก้องผ่านฝีถีบจักรเย็บผ้า ขณะที่สองพี่น้องกำลังช่วยแม่ตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับลูกค้า พวกเธอไม่เพียงสร้างแบบเสื้อผ้าให้ลูกค้าได้สวมใส่ แต่ยังสร้างความฝันให้กับตัวเองและครอบครัวอีกด้วย

“ความฝันของหนูคือการมีหน้าร้าน” ฟาดีรากล่าว “หนูอยากให้คนใส่เสื้อผ้าที่เราตัดเย็บ อยากเห็นผู้คนเสื้อผ้าสวย ๆ ของเรา”

 

 

เรื่องโดย สิรินยา วัฒนสุขชัย และ ณัฐพล จิตต์สุกใส

ภาพประกอบโดย อับดุลรอแม ตาเละ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า