เมื่อไม่นานมานี้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ต้นแบบนักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor) ได้เขียนเล่าประสบการณ์น่าคิดสำหรับนักลงทุนในช่วงนี้ โดยโพสต์ลงบนเว็บบอร์ดใน thaivi.org
เรื่อง “โปสเตอร์ 2 ใบกับข้อคิดในวิกฤติหุ้น”
ดร.นิเวศน์ เล่าถึงทริปไปเที่ยวลอนดอนและหลายเมืองในสหราชอาณาจักร และได้ซื้อของที่ระลึกเป็นโปสเตอร์เก่า 2 ใบ ซึ่งมีเรื่องเล่าที่สามารถเชื่อมโยงกับ “วิกฤตตลาดหุ้น” ปัจจุบันนี้
แต่ละโปสเตอร์ที่ ดร.นิเวศน์ นำมาสื่อสาร ได้ซ่อน “บทเรียนการลงทุน” ที่ขอนำมาถ่ายทอดต่อเผื่อนักลงทุนและใครที่ตอนนี้กำลังสับสน วุ่นวาย หาทิศทางไม่เจอในภาวะหุ้นผันผวนจะได้มีหลักยึด
ดร.นิเวศน์ เล่าว่า ได้ซื้อโปสเตอร์เก่ามา 2 ใบ คือ
1.โปสเตอร์ “Keep Calm and Carry On” ที่แปลว่าให้ใจเย็นและสู้ต่อ
โปสเตอร์นี้เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษออกแบบโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ปกป้องขวัญกำลังใจประชาชน พิมพ์ออกไปกว่า 2.4 ล้านใบแล้ว แต่เก็บไว้ไม่ใช้งาน เพราะคิดว่าถ้าเผยแพร่ไปจะยังเร็วไป จนเวลาผ่านไป มีการนำคำในโปสเตอร์นี้ กลับมาใช้อีกครั้งช่วงวิกฤตซับไพร์มปี 2009 ที่วอลล์สตรีทสั่นสะเทือน ทำให้โปสเตอร์นี้กลับมาโดดเด่นจนกลายเป็นมีมระดับตำนาน
ดร.นิเวศน์ บอกว่าขอเอาแนวคิดมาแปลงเป็น “Keep Calm, Keep Cash” เตือนนักลงทุนว่าเมื่อหุ้นตก อย่าตื่นตระหนกแต่ควรหยุดตั้งหลัก รักษาสมดุลระหว่างเงินสดและหุ้น
“Keep Calm, Keep Cash คือ ใจเย็นๆ มีสติ เก็บเงินสด นั่นก็คือ ผมไม่ได้ขายหุ้นอย่างตกใจ ผมถือเงินสดที่มีและอาจจะขายหุ้นเพิ่มบ้าง และรอว่าเมื่อหุ้นตกลงไปอีก ผมถึงจะนำเงินสดออกมาเก็บหุ้นที่มีราคาถูกหรือสมเหตุผลในกรณีของหุ้นที่ดีสุดยอดแบบซุปเปอร์สต็อกที่ราคาลงมามาก”ดร.นิเวศน์อธิบาย
2.โปสเตอร์ “Titanic” ชวนเชื่อว่าเรือไม่จม
โปสเตอร์โฆษณาก่อนการเดินทางเที่ยวแรกซึ่งเป็น “ครั้งประวัติศาสตร์” มีภาพเรือไททานิคที่ใหญ่โตพร้อมกับข้อความเขียนว่า “ไททานิค ขนาด 45,000 ตัน เรือกลไฟขนาดใหญ่ที่สุด และปลอดภัยที่สุดในโลก”
ดร.นิเวศน์ สะท้อนว่า การที่โปสเตอร์โปรโมทเรือไททานิกในยุคนั้นว่า นี่คือเรือที่ปลอดภัยที่สุดในโลก แต่เราก็ได้รู้โศกนาฎกรรมของเรือลำนี้ เป็นเรื่องเตือนใจว่า “ไม่มีพอร์ตลงทุนไหนปลอดภัย 100%”
เมื่อวิกฤติระดับตลาดเกิดขึ้น ระบบการกระจายความเสี่ยงช่วยได้แค่หุ้นรายตัว ไม่ช่วยต้านแรงถล่มทั้งตลาด
ดังนั้นนักลงทุนที่ถือหุ้นจดทะเบียนเพียงไม่กี่ตัว หรือใช้มาร์จิ้นเต็มสูบเสี่ยงถึงขั้นจมทั้งลำเหมือนไททานิคนั่นเอง
ดร.นิเวศน์ เขียนไว้ว่า “ข้อเตือนใจสำหรับผมก็คือ หายนะนั้น เกิดขึ้นได้เสมอแม้จะคิดว่าเราอยู่ในที่ที่ปลอดภัยที่สุด ใครจะไปคิดว่าเรือที่ออกแบบมาอย่างดีสุดยอด ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของอังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเรืออันดับหนึ่งของโลกในช่วงนั้น พร้อมๆ กับกัปตันเรือหมายเลข 1 ในยุคนั้น ซึ่งคงจะทำให้คนเชื่อว่านี่คือเรือที่ไม่มีวันจมจะจมลงตั้งแต่การเตินทางเที่ยวแรก!
หุ้นก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าเราจะเชื่อมั่นแค่ไหนว่าพอร์ตของเราปลอดภัย หรือด้วยการออกแบบที่ลดความเสี่ยงโดยการกระจายความเสี่ยงเป็นอย่างดี ถือหุ้นกระจายไปทั่วทุกตลาดหรือทั่วโลก หุ้นที่ถือก็เป็นหุ้นที่ดีมีส่วนเผื่อความปลอดภัยสูง ไม่มีการใช้มาร์จินในการลงทุน และเราคิดว่า ยังไงเสีย การขาดทุนก็ไม่น่าจะเกิน 20-30% ในกรณีเลวร้ายที่สุด
เราก็ยังจะต้องระมัดระวังอยู่ดีว่า ยังมีโอกาสที่พอร์ตจะเกิด “หายนะ” ระดับ “ไททานิค” ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การ “กระจายความเสี่ยง” โดยการถือหุ้นหลายๆ ตัวนั้น จริงๆ สามารถลดความเสี่ยงได้เฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากหุ้นแต่ละตัวเท่านั้น กรณีที่เราเลือกหุ้นผิด มันจะไม่สามารถลดความเสี่ยงได้ถ้า “ทั้งตลาดล่มสลาย” ซึ่งกรณีแบบนั้น “ไม่มีหุ้นตัวไหนหรือใครรอด”
สำหรับคนที่ลงทุนแบบ Focus หรือทั้งพอร์ตและเงินแทบทั้งหมดนั้น อยู่ในหุ้นเพียงไม่กี่ตัว หรือเพียงตัวเดียวอย่างเช่น เจ้าของธุรกิจที่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดส่วนใหญ่ ความเสี่ยงของเงินลงทุนก็จะสูงมาก และในความเห็นของผมก็คือ “รับไม่ไหว” โดยเฉพาะในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่เกิดสงครามการระหว่างมหาอำนาจสองขั้วระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่อาจจะเปลี่ยนเกมการค้าของโลกไปอย่างสิ้นเชิง และธุรกิจที่น่าเป็นห่วงที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ คนที่ขายสินค้าส่งออกเป็นหลัก
กล่าวโดยสรุปก็คือ “วิกฤติ” รอบนี้ ถ้าเกิดขึ้นเต็มรูปแบบจริง ซึ่งก็อาจจะในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ผมยังไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วหุ้นจะตกลงมาแค่ไหน และเมื่อตกลงมาแล้ว ราคาหุ้นจะฟื้นกลับคืนมาเมื่อไรในเวลากี่ปีหรือกี่เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับวิกฤติรอบก่อน ๆ ที่เราพบว่าหุ้น เมื่อวัดจากดัชนีจะตกลงมาประมาณ 50% และใช้เวลา อาจจะซัก 2-3 ปีที่จะกลับมาที่เดิม
ดังนั้น สิ่งที่ผมทำก็คือ ใจเย็น ตั้งสติ เก็บเงินสดไว้ระดับหนึ่งและทยอยเก็บเพิ่มโดยการขายหุ้นที่ยังไม่ได้ตกลงมามากนักในช่วงนี้ เพื่อเตรียมตัวซื้อหุ้นดีที่ตกลงมามากเกินไปเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลงเนื่องจากสงครามการค้า
อย่างไรก็ตาม ผมไม่คิดและไม่หวังว่าผมจะได้กำไรงดงามในยามวิกฤติครั้งนี้ เพราะผมกลัวว่า วิกฤติอาจจะไม่ฟื้นง่ายและอาจจะลากยาวเป็นหลาย ๆ ปีมากโดยเฉพาะถ้าโลกเปลี่ยนจากการค้าเสรีเป็นการค้าแบบปิดกั้นซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งโลกเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น หุ้นก็อาจจะมีแต่ดำดิ่งคล้ายเรือไททานิค ในกรณีแบบนั้น กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
TODAYBizview สรุปจากมุมมอง ดร.นิเวศน์ ออกมาเป็น 4 แง่คิดสำหรับตอนนี้ได้ว่า
1.ใจเย็น รักษาสมดุล ระหว่างหุ้น–เงินสด ไม่ขายหุ้นอย่างหวาดกลัว
2.เตรียมเงินสดสำรองเพื่อทยอยสะสมซื้อ “ซุปเปอร์สต็อก” เมื่อราคาดิ่งลงหนัก
3.ลดความเสี่ยงเชิงระบบ ด้วยการไม่ถือหุ้นกระจุกตัว ใช้เงินสดมากกว่ามาร์จิ้น
4.ยอมรับว่ากำไรอาจไม่หวือหวา แต่ต้องมุ่งบริหารความเสี่ยงให้พอร์ตอยู่รอดจนหมดพายุ
ถือเป็นเกร็ดกำลังใจ ที่ดร.นิเวศน์ นำมาถ่ายทอดวิธีรับมือพายุตลาดที่ไม่มองหาโชค แต่ต้องใช้วินัยและการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ