SHARE

คัดลอกแล้ว

เรื่องไกลตัวที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด อีกเรื่องหนึ่งคงไม่พ้น กรณี โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เฟสสอง รอบ 3,600 เมกะวัตต์ ที่ยังคงรอความชัดเจน ว่าการชะลอโครงการคราวนี้ จะไปจบที่ไปต่อ หรือพอเท่านี้ 

 

คลายข้อสงสัย ‘ขบวนการค่าไฟแพง’ จี้รัฐบาลแพทองธาร หยุดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ หวั่นซ้ำเติมภาระประชาชนยาว 25 ปี ชี้มีพิรุธเอื้อประโยชน์เอกชน ผ่านการพูดคุยกับ วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในรายการ TODAY LIVE เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไป และผลลัพธ์ที่ประชาชนอาจต้องแบกรับในอนาคต

[จุดเริ่มต้น โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน]

โครงการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน เป็นโครงการที่เริ่มวางแผนมา ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2565 แบ่งออก 2 เฟสด้วยกัน โดยเฟสแรกมีการประกาศซื้อ อยู่ที่ 5,200 เมกะวัตต์ คิดเป็นเกือบ 15% ของจำนวนไฟที่ประเทศใช้ต่อปี ซึ่งอยู่ราวๆ 36,000 เมกะวัตต์ จึงนับว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก และจะมีตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฟฟ้าบวกแบตเตอรี่ พลังงานลม พลังงานก๊าซชีวภาพ

อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลยุคปัจจุบัน มีการตกลงจะลงนามสัญญาเพิ่มเติม ซึ่งหากมีการลงนามสัญญาใหม่เพิ่มไป อาจทำให้การแก้ไขสัญญาในภายหลังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเป็นสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน ที่มีผลต่อเนื่องไปอีก 25 ปี จึงมีการเรียกร้องให้ชะลอ หรือยกเลิกการลงนามสัญญาเพิ่มเติมในครั้งนี้ออกไปก่อน เพราะหากรัฐบาลเซ็นสัญญาเพิ่มในตอนนี้ อาจทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นไปอีก 25 ปี

 

[ทำไมการลงนามสัญญาเพิ่มเติม ถึงทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น?]

เรามีโรงไฟฟ้าเยอะอยู่แล้ว ในโรงไฟฟ้าจำนวน 13 แห่ง มีอยู่ 7 แห่ง ที่ไม่ได้เดินเครื่องทำงานเลย แต่คนไทยต้องจ่ายเงินไปให้กับโรงไฟฟ้า ที่รัฐเซ็นสัญญาอนุมัติให้เอกชนสร้าง แม้ว่าจะไม่ได้เดินเครื่อง แต่ก็ได้เงินจากคนไทยในบิลค่าไฟ และหากมีการซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนเข้ามาเพิ่มอีก ก็ยิ่งทำให้ไฟฟ้าที่เกินมาอยู่แล้ว ราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้ การซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนในครั้งนี้ ไม่มีการเปิดประมูล ซึ่งเป็นราคาที่ค่อนข้างแพง ทำให้ราคาไฟฟ้าที่รัฐซื้อมาโดยไม่มีการเปิดประมูล จะเป็นต้นทุนของค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งหมด

 

[ผลิตเหลือใช้ แล้วทำไมรัฐถึงต้องซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนมาเพิ่ม?]

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยให้เหตุผลที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่ม ว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงทางพลังงาน หากมีโรงไฟฟ้าล้น หรือเกินความจำเป็นเล็กน้อย จะทำให้ไฟฟ้าไม่ตก ไม่มีปัญหาไฟฟ้าขาดแคลน ทว่า เมื่อมีโรงไฟฟ้าที่ล้นและมีเกินความจำเป็นอยู่แล้วเกินครึ่ง จึงทำให้คนไทยทุกคน ต้องแบกรับต้นทุนหารเฉลี่ยในการสร้างโรงไฟฟ้า ที่ล้นเกินความจำเป็น คนที่ได้ผลประโยชน์ ได้กำไร คือเอกชนที่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าส่วนเกิน ซึ่งไม่ต้องเดินเครื่องก็ได้เงินจากคนไทยไป

ปัจจุบัน จึงหันเหมาซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยให้เหตุผลว่า ทางภาคเอกชนต้องการ รัฐเลยรับซื้อเพิ่ม แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นการซ่อนทุจริตเชิงนโยบาย เพราะเป็นการซื้อพลังงานไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น และเป็นการซื้อโดยไม่เปิดประมูล

 

[ขบวนการค่าไฟฟ้าแพง มาจากกระบวนการที่ไม่โปร่งใส?]

โรงไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า 60% มาจากก๊าซธรรมชาติ (ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาจากฟอสซิล) แต่ภาคเอกชน ต้องการพลังงานสะอาดที่เป็นพลังงานหมุนเวียน 100% ที่ต้องนำมาใช้ 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน รัฐเลยจะซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนจากเอกชนแล้วนำมาขายต่อ 

ทั้งหมดเป็นเรื่องปกติไม่ได้ผิดอะไร เพราะเป็นเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับยุโรป เพียงแต่กระบวนการซื้อพลังงาน ต้องมีความไม่โปร่งใส เพราะไม่มีการเปิดประมูล และเมื่อได้ราคาดี การคัดเลือกเอกชนจึงเลือกกันที่คะแนนเทคนิค เอกชนรายไหนยื่นโครงการมาแล้วคะแนนเทคนิคเยอะที่สุด ก็จะได้รับเลือก 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ไม่มีการระบุว่าคำนวณคะแนนเทคนิคจากปัจจัยอะไร ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า การประกาศรับซื้อไฟฟ้าในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้มีดุลพินิจใจการจิ้มเลือกเอกชนเองได้ โรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ มีการตั้งราคารับซื้อที่ 2.2 บาทต่อหน่วย โรงงานพลังงานลมรับซื้อที่ 3.1 บาทต่อหน่วย โดยเป็นราคาคงที่ไปตลอด 25 ปี

โครงการไฟฟ้าหมุนเวียน ทยอยมาตั้งแต่ ปี 2567 ถึง ปี 2573 แต่โรงไฟฟ้าเหล่านี้รวบยอดมาคัดเลือกกันภายในวันเดียว โดยไม่เปิดประมูล และไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิค จึงเป็นการเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจในการเลือกเองที่อาจสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าส่อแววพิรุธ

นอกจากนี้ เอกชนจะได้ราคาขายไฟฟ้าหมุนเวียนให้รัฐบาลเป็นราคาเดิม ที่จะคงที่ไปตลอด 25 ปี ทั้งที่ในวงการไฟฟ้าหมุนเวียน เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า พลังงานสะอาด อย่าง แสงอาทิตย์และพลังงานลม มีแนวโน้มว่าจะราคาถูกลงในทุกปี ดังนั้น ภาคเอกชนก็จะได้กำไรมากขึ้นในทุกปีเช่นกัน

 

[ทำไมรัฐไม่เปิดประมูล?]

รัฐให้เหตุผลที่ไม่เปิดประมูลราคาไฟฟ้าหมุนเวียนว่า ถ้าเปิดประมูลอาจเกิดการทิ้งงาน เอกชนอาจแข่งขันราคากัน และสุดท้ายอาจจะไม่ได้สร้างโรงไฟฟ้าอย่างที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเหตุผลที่ไม่หนักแน่นมากพอ และคิดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากต้องการให้เอกชนรายใดรายหนึ่งได้กำไรแน่นอน ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการคัดเลือกหน่วยงานเอกชน ในการขายพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนให้กับรัฐบาล คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

โดยกำหนดนโยบายออกมาว่าจะรับซื้อด้วยราคาที่เท่าไหร่ ซึ่งอนุมัติแล้วว่าไม่เปิดประมูล จากนั้นเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะคัดเลือกหน่วยงานเอกชนจากคะแนนเทคนิค ซึ่งไม่ได้มีการระบุหลักเกณฑ์ในการให้คะแนนเทคนิคอย่างชัดเจน จึงอาจมองได้ว่าเป็นการเปิดช่องให้ใช้ดุลพินิจได้

 

[ไม่เปิดประมูล ไม่ประกาศเกณฑ์ให้คะแนน เพื่อเอื้อหน่วยงานเอกชน?]

ข้อสังเกตพบว่า ในปี 2566 ก่อนเลือกตั้งเพียงหนึ่งเดือน ช่วงเดือนเมษายน มีการประกาศผู้ชนะ มีหน่วยงานเอกชนรายหนึ่งที่ได้โครงการไปมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของที่ประกาศ จากที่ประกาศออกมา 4,800 เมกะวัตต์ หน่วยงานเอกชนรายเดียวได้ไปทั้งหมด 2,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้หน่วยงานเอกชนรายแรกยื่นไปทั้งหมด 35 โครงการ และได้รับการคัดเลือกทั้งหมดทุกโครงการ ทำให้เกิดเป็นคำถามจากหน่วยงานเอกชนอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกว่า โครงการนี้มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ชนะอย่างไร ในเมื่อรัฐบาลไม่เปิดประมูลราคา และไม่ชี้แจกเกณฑ์ของคะแนนเทคนิคอย่างชัดเจนนั่นเอง

หลังจากได้หน่วยงานเอกชนที่เป็นผู้ชนะ จึงมีการเซ็นสัญญากันในรัฐบาลช่วงที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ที่มีเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนตุลาคม 2566 จากนั้นก็ทยอยเซ็นสัญญาจนมาถึงโครงการพลังงานหมุนเวียนล่าสุด ที่เพิ่งลงนามสัญญากันไป เมื่อวันที่ 18 เมษายน โดยมีแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

[ราคารับซื้อสูง = ต้นทุนไฟฟ้าของประเทศสูง = ค่าไฟแพง อีก 25 ปี]

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลกำหนดราคาในการซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนโดยไม่มีการเปิดประมูล จึงเป็นราคาที่ไม่ได้มีการแข่งขันกันจากภาคเอกชน ทำให้เป็นราคาที่ค่อนข้างสูง 

เมื่อในอนาคตมีแนวโน้มว่า พลังงานหมุนเวียน อย่าง พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม จริงๆ แล้วน่าจะลดลงในอนาคต หากรัฐบาลยังต้องซื้อไฟฟ้าจากหน่วยงานเอกชนในราคาเดิมไปอีก 25 ปีตามข้อสัญญาที่ตกลงกัน จึงเป็นสาเหตุว่า ประชาชนจะต้องแบกรับภาระต้นทุนไฟฟ้าที่สูงเกินไป ด้วยการจ่ายค่าไฟแพงไปตลอด 25 ปีจากนี้

ยกตัวอย่าง รัฐบาลอินเดีย เปิดประมูลราคาจากภาคเอกชน จึงมีการแข่งขันราคากัน และสุดท้ายก็ได้อยู่ที่ราคาเพียง 1.06 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าไทยเกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ เป็นที่รู้กันของคนในวงการว่าต้นทุนของพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ราวๆ 1.80 บาทต่อหน่วยเท่านั้น การที่รัฐบาลไทยรับซื้อในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย จึงเป็นราคาที่สูงเกินไป

 

[ความหวังในการเปลี่ยนแปลงสัญญา ยังมีอยู่หรือไม่?]

มาถึงตรงนี้แล้ว คำถามคือ เราสามารถแก้ไขอะไรได้บ้างหรือไม่ คำตอบคือ ถึงแม้จะเป็นไปได้ยาก เพราะมีการเซ็นสัญญาตกลงซื้อขายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย 

เพราะหากมีการตรวจพบว่า มีความผิดปกติ มีส่วนไหนที่ผิดกฎหมาย สัญญาฉบับนี้อาจถูกยกเลิกได้ ตามข้อสัญญาข้อที่ 39 ที่ระบุว่า “สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานขอสงวนสิทธิ์ยกเลิกโครงการได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติก่อนลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า”

โดยผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ว่าควรยกเลิกสัญญาหรือไม่ อยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะประฐานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รวมถึงต้องมีมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติด้วย

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาอีกหลายฉบับจากโครงการพลังงานลมจากหน่วยงานเอกชน อีก 13 ราย ที่กำลังทยอยเซ็นสัญญาภายในอีก 2 ปีข้างหน้าจนถึงปี 2569 และยังมีเฟสสองที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญา จึงยังเป็นโอกาสที่ประชาชนชาวไทยสามารถติดตามกันต่อไป และช่วยกันหยุดยั้งให้มีการทบทวนใหม่ได้

 

[เฟสแรกยังตีกันไม่จบ เฟสสองส่อเค้าพิรุธต่ออีก?]

นอกจากเฟสแรก ที่มีการซื้อพลังงานไฟฟ้า จำนวน 5,200 เมกะวัตต์แล้ว ยังมีเฟสสองที่รัฐบาลรอซื้อจากเอกชน อีก 3,600 เมกะวัตต์ เพื่อตอบสนองต่อความสนใจจำนวนมาก ของหน่วยงานเอกชนจากเฟสแรก แต่ส่อเค้าพิรุธที่ชวนคนไทยจับตามองกันอีกครั้ง

ด้วยเหตุผลมีการกำหนดจากรัฐบาลว่า ในเฟสสองนี้ หน่วยงานเอกชนที่เคยยื่นโครงการในเฟสแรกไปแล้ว จะได้รับพิจารณาก่อน และหน่วยงานที่จะเข้าร่วมในเฟสสองได้ ต้องไม่เคยยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐมาก่อน 

จึงทำให้หน่วยงานเอกชน ที่แม้ว่าจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเฟสแรก แต่ก็ไม่สามารถยื่นฟ้องรัฐบาลได้ เพราะจะเสียสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการเฟสสองนั่นเอง แม้ว่า ล่าสุดรัฐบาลจะยกเลิกเงื่อนไขที่ว่านี้ไปแล้ว แต่ก็ไม่ทัน มีผลไปเรียบร้อยแล้ว วัตถุประสงค์ได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว เพราะด้วยเงื่อนไขนี้ทำให้ไม่มีหน่วยงานเอกชนใดจากฝั่งพลังงานแสงอาทิตย์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐบาลเลย และได้เซ็นสัญญากันไปครบหมดแล้ว เหลือแต่ฝั่งพลังงานลมที่ยังอยู่ในช่วงชะลอไว้อยู่

สำหรับเฟสสอง กับการซื้อพลังงานหมุนเวียนอีก 3,600 เมกะวัตต์ เป็นนโยบายเปิดเสรีพลังงานหมุนเวียน (Direct PPA) โดยหน่วยงานเอกชนที่ต้องการพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด 100% ได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า รัฐบาลของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อนุมัติมาแล้ว 2,000 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่ออกหลักเกณฑ์ในการซื้อพลังงานไฟฟ้าออกมา ทำให้หน่วยงานเอกชนในปัจจุบันยังไม่สามารถซื้อได้ ซึ่งในกรณีนี้มีความเร่งรีบมากกว่า และไม่กระทบค่าไฟฟ้าของประชาชน เพราะหน่วยงานเอกชนจะไปแข่งขันเรื่องราคากันเอง 

แต่สิ่งที่รัฐบาลทำ คืออนุมัติและเร่งเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเพื่อนำมาขายต่อ ซึ่งเป็นส่วนของสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น ในขณะที่หน่วยงานเอกชนที่ต้องการพลังงานสะอาด ก็รอซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากผู้ผลิต แต่ยังไม่สามารถทำได้

 

[ชะลอการเซ็นสัญญา ความหวังอีกครั้งของคนไทย]

แม้ว่าสัญญาส่วนใหญ่จะเซ็นไปแล้ว และมีความหวังริบหรี่มากที่จะยกเลิกสัญญาในส่วนที่เซ็นไป แต่ยังมีอีกราวๆ 700 เมกะวัตต์ จากเฟสแรก และเฟสสองอีก 3,600 เมกะวัตต์ ที่ยังชะลอการเซ็นสัญญาอยู่ เพื่อตรวจสอบว่าผิดข้อกฎหมายใดหรือไม่ 

ถ้าตรวจสอบพบทุจริตอาจมีความหวังที่จะยกเลิกได้ อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้ว แม้ว่าจะมีการชะลอเพื่อทบทวน แต่มีความเป็นไปได้สูงว่า สัญญาทุกฉบับไม่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นนโยบายประเทศไปแล้ว 

ดังนั้น สิ่งที่ควรพิจารณาจึงไม่ใช่เรื่องที่ว่า ผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ควรเป็น “มันเหมาะสมหรือไม่ ควรเดินหน้าต่อหรือไม่” มากกว่า เพราะว่า เราต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า รัฐบาลกำลังโฟกัสที่ผลประโยชน์ของภาคเอกชน หรือผลประโยชน์ของประชาชนชาวไทยมากกว่ากัน

 

[ฝากประชาชนชาวไทยติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด]

เมื่อเรื่องของค่าไฟฟ้าเป็นเรื่องของคนไทยทุกครัวเรือน จึงอยากเชิญชนให้ทุกคนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสียงดังๆ ไปถึงรัฐบาล กดดันรัฐบาลให้พิจารณา ชะลอ เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกสัญญาที่เหลือทั้งหมด อีก 13 สัญญา (จากทั้งหมด 83 สัญญา เซ็นไปแล้ว 70 สัญญา)

ด้านฝ่ายค้านเองก็กำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นกระแสสังคม ให้เป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่า กระบวนการคัดเลือกหน่วยงานเอกชนในการเป็นผู้ชนะ ในการขายพลังงานไฟฟ้าให้รัฐบาลนั้นมีความผิดปกติจริงหรือไม่ เพื่อที่จะเป็นช่องทางให้สามารถยกเลิกสัญญาที่เซ็นไปแล้วได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า