SHARE

คัดลอกแล้ว

ในที่สุด ข้อตกลงแร่หายากระหว่างสหรัฐฯ กับยูเครน ก็เกิดขึ้นแล้ว หลังทั้งสองประเทศเจรจากันมาหลายเดือน 

เมื่อวันพุธ (30 เม.ย.) สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และ ยูเลีย ซิฟริเดนโก รัฐมนตรีเศรษฐกิจของยูเครน ได้บรรลุ ‘ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ’  (Economic Partnership Agreement) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าถึงแร่หายากในยูเครนได้ แลกกับการร่วมจัดตั้ง กองทุนการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูสหรัฐอเมริกายูเครน (United States-Ukraine Reconstruction Investment Fund) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของยูเครนที่เสียหายจากการทำสงครามกับรัสเซีย 

นับว่าเป็นบทสรุปที่สวยงามของการเจรจาข้อตกลงที่เต็มไปด้วยอุปสรรค ความขัดแย้ง และความไม่แน่นอนจนถึงนาทีสุดท้าย โพสต์นี้พาไปดูรายละเอียดข้อตกลง สรุปแล้วใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์ 

 

ผลลัพธ์จาก ‘ทรัมป์-เซเลนสกี’ เจอกันที่วาติกัน

การเข้าถึงแร่หายากในยูเครน เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักๆ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มุ่งมั่นจะให้เกิดขึ้น มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เพิ่งจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา 

ทรัมป์พยายามผลักดันข้อตกลงนี้มาตลอด โดยใช้ข้ออ้างว่า ยูเครนจำเป็นจะต้องให้สหรัฐฯ ได้สิทธิในการเข้าถึงแร่หายาก เพื่อตอบแทนสำหรับความช่วยเหลือมหาศาลที่มอบให้ตั้งแต่เริ่มสงครามกับรัสเซีย 

แต่ที่ผ่านมา ยูเครนพยายามโต้แย้ง และแสดงความไม่เต็มใจที่จะให้สหรัฐฯ เข้าไปมีสิทธิเหนือทรัพยากรในประเทศ จนสถานการณ์มาถึงจุดเดือด เมื่อประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันดีซี และเกิดการถกเถียงกับผู้นำสหรัฐฯ อย่างดุเดือด จนทำให้เซเลนสกีถูกไล่ออกจากทำเนียบขาว และต้องเดินทางกลับบ้านไปมือเปล่า 

ส่วนเจรจาข้อตกลงเข้าถึงแร่หายากก็ดูเหมือนจะหยุดชะงักไป จนปรากฏภาพ ทรัมป์กับเซเลนสกี นั่งคุยกับกลางมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ในนครรัฐวาติกัน ขณะไปร่วมพิธีปลงพระศพสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันเสาร์ที่ 26 เม.ย. 2568 ก่อนจะมีท่าทีจากทำเนียบขาว ออกมาเปิดเผยว่า การพูดคุยกันในวันนั้น เป็นการพูดคุยที่ “มีประสิทธิผลมาก” ขณะที่เซเลนสกีก็ออกมาระบุในทำนองเดียวกัน พร้อมกับบอกว่า การพูดคุยของเขากับผู้นำสหรัฐฯ “มีแนวโน้มจะสร้างประวัติศาสตร์”

ส่งผลให้การพูดคุยกันในวันนั้น ถูกจับตาและตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นความเคลื่อนไหวที่จะมาเปลี่ยนทิศทางสงครามในยูเครน และข้อสังเกตดังกล่าวก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อทรัมป์เริ่มแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย พร้อมกับแสดงออกว่าเขากำลังแคลงใจว่า “จริงๆ แล้ว ปูตินต้องการสันติภาพจริงหรือไม่” 

และในที่สุด คำตอบก็ปรากฏชัด หลังจากที่ผ่านมาไม่ถึงสัปดาห์ สหรัฐฯ และยูเครน ก็สามารถตกลงกันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ร่วมกันในทรัพยากรแร่หายากของยูเครน ด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย 

 

เปิดรายละเอียดข้อตกลงแร่หายาก

จากแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ข้อตกลงที่ รัฐมนตรีสกอตต์ เบสเซนต์ และ ยูเลีย ซิฟริเดนโก รัฐมนตรีเศรษฐกิจของยูเครน ลงนามร่วมกันไปเมื่อวันพุธ (30 เม.ย.) เป็นข้อตกลงที่จะนำไปสู่จัดตั้งกองทุนการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของยูเครน ผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรแร่หายากที่อยู่ในดินแดนยูเครน 

ซึ่งถือเป็นข้อตกลงทางยุทธศาสตร์ที่จะเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงทรัพยากรแร่หายากในยูเครนได้ และจะได้ประโยชน์จากการลงทุน ร่วมพัฒนาโครงการแร่หายากในยูเครนด้วย 

โดยที่ทรัพยากรทั้งหมดยังถือว่าเป็นของยูเครน และอยู่ภายใต้การควบคุมของยูเครนโดยสมบูรณ์ แต่ยูเครนจะอนุญาตให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในประเทศได้บางส่วน เพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านการทหาร และการสนับสนุนยูเครนในระยะยาว 

ภายใต้ข้อตกลงนี้ ทั้งสองฝ่ายจะลงทุนในสัดส่วนเท่ากัน 50:50 ในการบริหารจัดการ ฟื้นฟู รวบรวม และหารายได้จากทรัพยากรของยูเครน โดยยูเครนจะต้องนำรายได้ที่ได้มาจากทรัพยากรในยูเครน 50% หลังหักค่าดำเนินการแล้ว เข้าไปไว้ในสมทบในกองทุนดังกล่าวเรื่อยๆ 

ในขณะที่สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการเงินระยะยาว เพื่อความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของยูเครนหลังจบสงครามกับรัสเซีย 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรับปากว่าสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนยูเครนในระยะยาว แต่ข้อตกลงฉบับนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้มีการระบุถึงหลักประกันความมั่นคงให้กับยูเครนอย่างชัดเจน ตามที่เซเลนสกีเรียกร้องกับสหรัฐฯ มาตลอด 

 

ข้อตกลงนี้เป็นประโยชน์กับฝ่ายไหน

รายละเอียดของข้อตกลงแร่หายากระหว่างสหรัฐฯ กับยูเครน ทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า ตกลงใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้ เพราะหากลงลึกไปที่รายละเอียดจริงๆ แล้ว เนื้อหาในข้อตกลงที่เพิ่งมีการลงนามกันไป มีหลายประเด็นที่ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปจากเดิมของทั้งสองฝ่าย 

ประเด็นแรกคือ เรื่องเงินช่วยเหลือ 350,000 ล้านดอลลาร์ ที่ผู้นำสหรัฐฯ ยืนกรานมาตลอดว่ายูเครนจะต้องใช้คืนเงินก้อนนี้ที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งไปช่วยยูเครนตั้งแต่เริ่มสงครามกลับมาให้สหรัฐฯ แต่ปรากฏว่าในข้อตกลงสุดท้ายที่ผู้แทนของทั้งฝ่ายเพิ่งจะลงนามร่วมกันไป ไม่ได้มีการกำหนดถึงการใช้คืนเงิน 350,000 ล้านดอลลาร์ 

ซึ่งเป็นไปตามที่ยูเครนออกมาเปิดเผยหลังบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ว่า “ข้อตกลงนี้มุ่งเน้นไปที่ความช่วยเหลือในอนาคต ไม่ใช่ความช่วยเหลือในอดีต ซึ่งหมายความว่ายูเครนไม่ได้มีภาระหนี้ใดๆ ต่อสหรัฐฯ จากความช่วยเหลือก่อนหน้านี้” 

โรซิแลนด์ จอร์แดน ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Aljazeera ตั้งข้อสังเกตประเด็นนี้ว่า ข้อตกลงนี้ ถือเป็น “ชัยชนะทางการทูต” ของยูเครนอย่างแท้จริง เพราะผลที่ออกมาเป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้นำยูเครน 

แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น ก็ยังคงต้องไม่ลืมว่า ภายใต้ข้อตกลงนี้ สหรัฐฯ ไม่ให้การรับประกันความมั่นคงของยูเครนอย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้ ก็มีนักวิเคราะห์หลายคน ให้มุมมองว่า ถึงจะเป็นแบบนั้น อย่างน้อยข้อตกลงที่ให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการพัฒนาทรัพยากรในยูเครน ก็ทำให้สหรัฐฯ รู้สึกว่าตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียในยูเครน อย่างน้อยจึงอาจมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยปกป้องยูเครน 

ส่วนประโยชน์ของสหรัฐฯ แน่นอนว่า สหรัฐฯ ก็ได้ประโยชน์ในการเข้าถึงทรัพยากรยูเครนที่มีอยู่มหาศาล ก่อนหน้านี้ สหภาพยุโรปเคยประเมินประเมินไว้ว่า ยูเครนมีแร่มากถึง 22 ชนิด จาก 32 ชนิดที่เป็นแร่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นแร่เฟอร์โรอัลลอย โลหะ และอโลหะมีค่า และแร่หายากบางชนิด รวมถึงแร่แกรไฟต์ซึ่งใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ยูเครนมีแหล่งแร่แกรไฟต์อยู่ถึง 20% ของแหล่งแร่แกรไฟต์ทั่วโลก และยังมีแหล่งไทเทเนียม ซึ่งเป็นโลหะเบาที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

สิ่งที่จะต้องจับตาต่อไปคือ หลังสหรัฐฯ และยูเครน บรรลุข้อตกลงเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันแล้ว ทิศทางสงครามในยูเครนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หนึ่งในผลลัพธ์ที่หลายมองว่าปรากฏออกมาแล้วตอนนี้ คือการแสดงให้รัสเซียเห็นว่าสหรัฐฯ มุ่งมั่นในการผลักดันให้เกิดสันติภาพ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า