ไม่ใช่ดาราทุกคนจะทำธุรกิจเก่ง แต่เคสดาราที่ประสบความสำเร็จในการปั้นแบรนด์ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ไม่กี่วันก่อนหลายคนอาจเห็นวิดีโอที่กำลังเป็นไวรัลอยู่บนโลกโซเชียล ถึงการเปิดร้านป๊อปอัพสโตร์แบรนด์แฟชั่นน้องใหม่ มีคนรอตั้งแต่ห้างสยามพารากอนยังไม่เปิด ทันทีที่ประตูห้างเปิด ผู้คนนับร้อยวิ่งเข้าไปซื้อสินค้ากันมากมาย ยอดซื้อต่อคนมีตั้งแต่หลักแสนไปจนเกือบหลักล้าน
แบรนด์ที่ถูกพูดถึงนั้นก็คือ ‘AlwaysWonder’ ที่มีเจ้าของคือ ‘หลิงหลิง คอง’ นักแสดงสาวที่เข้าวงการมานานกว่า 5 ปี แต่เพิ่งมาดังพลุแตกในช่วง 1 ปีมานี้จากการรับบทซีรีส์หญิงรักหญิง หรือแซฟฟิกทางช่อง 3 ในละครเรื่อง ‘ใจซ่อนรัก‘
ทำไมกระแสของแบรนด์แฟชั่น AlwaysWonder ถึงดังเปรี้ยงปร้างไวรัลในโซเชียล แบบที่เปลี่ยนจากกระแสมาเป็นเม็ดเงินได้
และดูท่านี่ไม่ใช่แค่กระแสวูบเดียว เมื่อหลายคนมองว่า ‘หลิงหลิง คอง’ ที่แฟนคลับมักจะเรียกเธอว่า ‘ซีอีโอ’ มีวิธีทำธุรกิจที่น่าสนใจ และมีสกิลแบบผู้ประกอบการ-นักธุรกิจแบบติดตัวมาโดยธรรมชาติ
TODAY Bizview ชวนแกะสูตรทำแบรนด์แบบ ‘หลิงหลิง คอง’ ว่าทำยังไงให้มีคนมารอซื้อตั้งแต่เช้ามืด ไปจนถึงมียอดใช้จ่ายหลักแสนเกือบล้านต่อคนก็มี
[ จดทะเบียนตั้งบริษัท ปั้น AlwaysWonder หลังละครใจซ่อนรักจบ ]
หลังความสำเร็จที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นเป็นกราฟพุ่ง ตั้งแต่ละคร ใจซ่อนรัก ออนแอร์ จนแม้แต่ละครจบแล้ว ดันให้กระแสคู่จิ้น ‘หลิงออม‘ ที่มีคู่พาร์ทเนอร์นักแสดงนำหญิง ‘ออม กรณ์นภัส’ พากันโด่งดังแบบหยุดไม่อยู่ มีแฟนด้อมเกิดขึ้นในไทยและต่างประเทศ
ความแรงและความปังที่หลายคนเปรียบว่า ช่องสามเหมือนถูกหวย ส่งผลให้ดาราหญิงทั้ง 2 คน ควงคู่กันเดินสายงานแฟนมีทในหลายประเทศ และเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้หลายแบรนด์มากมาย เม็ดเงินไหลเข้าสู่ช่อง 3 เพิ่มขึ้น
ระหว่างความโด่งดังนี้นี่เอง ‘หลิงหลิง คอง’ ได้เริ่มจดทะเบียนตั้งบริษัททำธุรกิจสินค้าแฟชั่น ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 1,000,000 บาท
จนช่วงต้นเดือนตุลาคม ปี 2567 แบรนด์ ที่ชื่อ AlwaysWonder จากไอเดียของหลิงหลิง คอง ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ไลน์สินค้าที่เปิดมาในช่วงแรก คือเสื้อยืด สกรีนชื่อแบรนด์ AlwaysWonder หมวก กระเป๋า กระติกน้ำ โดยให้แฟนคลับได้ซื้อผ่านการพรีออเดอร์ รอสินค้าประมาณ 45 – 60 วัน สั่งสินค้าผ่านระบบ Line Shopping
ในช่วงนั้นเคสกรณีศึกษาของแบรนด์คือ ‘การพรีออเดอร์’ ที่รอค่อนข้างนาน บางคนรอสินค้ากันเกือบ 3 เดือน
แต่อีกด้านหนึ่งในเชิงธุรกิจการทำสินค้าแบบพรีออเดอร์จะทำให้ธุรกิจนั้นสามารถวัด Demand Validation & Product-market Fit Testing หรือพูดง่ายๆ ว่าเหมือนเป็นการ “ทดสอบตลาดแบบมีรายได้จริง”
ก่อนจะผลิตสินค้าจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้แบรนด์รู้ว่า สินค้าแบบไหน สีไหน ที่แฟนๆ ต้องการจริง ปริมาณความต้องการอยู่ในระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุนผลิตหรือไม่ และที่สำคัญจะช่วยให้รู้ว่าลูกค้ากลุ่มหลักของแบรนด์อยู่ตรงไหน เช่น วัยรุ่น คนทำงาน ฯลฯ
[ แบรนด์ที่แจ้งเกิดจาก Personal Branding ]
ความสำเร็จของ AlwaysWonder ยังเป็นการใช้กระแสจากตัวบุคคล (Personal Branding) ให้เกิดรายได้จริง ทำให้ ‘หลิงหลิง คอง’ ไม่ได้ใช้เพียงแค่ชื่อเสียงจากการเป็นนักแสดง แต่ยังสามารถเปลี่ยนพลังของฐานแฟนคลับให้กลายเป็น “ยอดขายจริง” โดยไม่ต้องไปแข่งกับแบรนด์ fast fashion หรือแบรนด์ใหญ่อื่นๆ
ในแง่จิตวิทยา การได้พรีออเดอร์สินค้าแบรนด์ที่มี หลิงหลิง คอง เป็น Founder ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าได้สนับสนุนซัพพอร์ตนักแสดง/ศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบได้โดยตรง และยังได้ฟีลลิ่งการเป็นเจ้าของสินค้าที่มีคุณค่าทางใจ
ดังนั้นแม้ช่วงแรก ทุกคนที่สั่งซื้อจะต้องรอสินค้านาน แต่ลูกค้าหรืออีกนัยหนี่งคือแฟนคลับที่ได้รับสินค้าไปส่วนใหญ่ก็มีฟีดแบ็คที่ดีว่า ‘คุ้มค่ากับการรอคอย’
[ แก้ปัญหาเรื่อง ‘เวลา’ จากสินค้าที่พรีออเดอร์นาน ทำเว็บไซต์รองรับการเติบโต ]
เส้นทางของแบรนด์ AlwaysWonder ยังเดินหน้าต่อไปพร้อมกับกระแสที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ของ ‘หลิงหลิง คอง’
ช่วงต้นมกราคมที่ผ่านมา แบรนด์ได้ออกคอลเลกชันที่ชื่อว่า ‘Roll With Love’ สินค้าออกมาในแนวต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์ มีทั้งผ้าคลุม พวงกุญแจตุ๊กตาน้องหมาที่ชื่อ Goldie กระจก ถุงเท้า
ภาพรวมคือสินค้าที่เน้นเจาะกลุ่มตลาดผู้หญิง และฐานแฟนคลับ วัยตั้งแต่มัธยมปลาย จนถึงวัยทำงาน
รอบนี้ใครที่กดสั่งทันเป็นออเดอร์แรกๆ ก็ไม่ต้องรอสินค้านาน เพราะมีสินค้าพร้อมส่งทันที เป็นการแก้เรื่องของพรีออเดอร์ที่ค่อนข้างนาน และยังทำให้เป็นระบบมากขึ้นไปอีกด้วยการเปิดเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
อีกจุดที่น่าสนใจ คือ การที่ หลิงหลิง คอง มักจะใส่เสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเองตามที่สาธารณะในช่วงที่เหมาะสม วิธีนี้ ยิ่งดึงสายตาจากฐานแฟนคลับให้รีบอยากเป็นเจ้าของ ตามไปซื้อมารีวิว ส่งเสริมแบรนด์
แบรนด์ที่มีฐานลูกค้าเป็นแฟนคลับในเชิงธุรกิจมักใช้โมเดลสร้าง Community ระหว่างคนซื้อ (แฟนคลับ) กับ ตัวดาราที่ชื่นชอบ ทำให้เกิดความผูกพันระยะยาวเข้าไปด้วย
[ ใส่ความเป็นตัวเองลงไปในแบรนด์ สร้างความอยากได้แบบเข้าถึงได้ ]
ช่วงเวลาความดังจากตัวหลิงหลิง ทำให้ล่าสุดแบรนด์ของเธอเปิดคอลเลคชั่นใหม่ รอบนี้ไม่มีพรีออเดอร์ทุกคนต้องแย่งกันกดซื้อ ชื่อคอลเลกชัน ‘A Digital Heartbeart’ มีสินค้าหลากหลายมากขึ้นเน้นตามเทรนด์ fast fashion ทั้งเสื้อผ้า เสื้อไหมพรม กางเกงยีน เข็มขัด หมวก ซึ่งคนที่อยากได้ก็ต้องแย่งกันกดซื้อให้ทัน
หลิงหลิงได้ใส่ความเป็นตัวเองลงในแบรนด์ ดีไซน์สินค้าให้ สอดคล้องกับตัวตนหลิงหลิง เช่น เสื้อ หมวก กระเป๋า ที่ดูเรียบง่ายแต่มีความน่ารัก เขาใส่สินค้าของตัวเองไปตามที่ต่างๆ เพื่อสร้างความอยากได้ตามแบบ “influencer ที่เข้าถึงได้”
และแน่นอนว่าไม่ว่าคอลเลกชันไหนกระแสตอบรับดีเหมือนเคย กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นแฟนๆ ของ ‘หลิงหลิง คอง’ แต่ต้องยอมรับว่าระหว่างทางหลังละครจบ ยังมีอีเวนต์และงานโฆษณาที่ตกแฟนคลับเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยอดซัพพอร์ตจากแฟนๆ ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเข้าไปใหญ่
[ หยั่งกระแส เปิด Pop-Up Store 4 วัน ร้านแทบแตก ]
ใครอยากได้ AlwaysWonder รู้กันดีว่า ต้องซื้อให้ไวก่อนขึ้น sold out และซื้อได้แค่ช่องทางออนไลน์เท่านััน
มาถึงคอลเลกชัน ฉลองวันครบรอบวันเกิดในเดือนพฤษภาคม กับ ‘AlwaysWonder x Lingling Kwong’ นี่เป็นคอลเลกชัน ที่จุดกระแสให้คนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับได้เห็นและรู้จักแบรนด์ AlwaysWonder มากขึ้น
โดยทางแบรนด์ประกาศออกมาว่าจะมีร้าน Pop-Up Store เป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-4 พฤษภาคม ที่ชั้น 5 สยามพารากอน เพื่อขายสินค้าหลายคอลเลกชั่นของแบรนด์ รวมทั้งคอลเลคชั่นวันเกิด
ความที่แฟนคลับรู้กันดีถึงปรากฏการณ์ที่แบรนด์ของหลิงหลิง ควอง มักจะขายดีจน sold out ในออนไลน์ ทำให้ฐานลูกค้าฝั่งแฟนคลับ กลัวว่าสินค้าจะหมด หรือมีไม่พอขาย จึงตัดสินใจไปรอตั้งแต่เช้ามืด อย่างที่เราได้เห็นวิดีโอไวรัลว่าตอนห้างเปิดผู้คนร่วมร้อยรีบวิ่งเข้าห้างเพื่อไปแย่งซื้อสินค้า
ยอดขายวันแรกมีคนมารอต่อแถวจ่ายเงินยาวเหยียด บางคนออเดอร์ครั้งละ 2-3 แสนบาท ไปจนถึงเกือบล้านบาท
จากจุดอ่อนวันแรกที่ลูกค้ามาช้อปปิ้ง และต่อคิวแน่นขนัด ใช้เวลากว่าจะซื้อเสร็จครึ่งค่อนวัน วันที่ 2 แบรนด์ปรับทำระบบใหม่ ให้ทุกคนรับบัตรคิวและกำหนดจำนวนสินค้าที่ซื้อได้ไม่เกิน 5 ชิ้น ทำให้คิวรันออกไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งยังคอยอัปเดตว่าสินค้าที่เหลือมีอะไรบ้าง ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี
[ Pop-Up Store ช่วยสร้าง Community แฟนคลับ-แบรนด์ ]
จนวันที่ 4 มีกำหนดการว่า ‘หลิงหลิง คอง’ เจ้าของแบรนด์จะมาที่ร้าน ทำให้แฟนๆ มารอกันมากมาย จนห้างแตก เป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลกโซเชียล
และถ้ามองในมุมธุรกิจก็เหมือนการสร้าง Community แฟนคลับ-แบรนด์ สื่อสารกับแฟนคลับเหมือนเพื่อน พาแฟนคลับรู้สึกว่าเป็น “ส่วนหนึ่งของแบรนด์” จัด Pop-Up Store เป็นเหมือน “พื้นที่ของคนรักแบรนด์” ที่ได้เจอกัน และเจอเจ้าของตัวจริง
มาแกะสูตรทำแบรนด์ AlwaysWonder ของ ‘หลิงหลิง คอง’ สรุปได้ว่าทั้งหมดเริ่มต้นจากกระแสความนิยมในตัว “นักแสดง” ที่มีความดังส่งความปัง ต่อยอดสู่แบรนด์เสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์ โดยอาศัยพลังแฟนคลับและ Personal Branding เป็นหัวใจหลัก
จากนั้นมีการเริ่มต้นด้วยพรีออเดอร์ช่วยทดสอบตลาด ขณะเดียวกัน หลิงหลิงที่มักจะโปรโมทใส่สินค้าของตัวเองเสมอได้สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมให้กับแฟนคลับและลูกค้า จนทุกคนเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์จนอยากจะอุดหนุนสนับสนุนศิลปินที่พวกเขารัก
ต่อยอดจากแฟนคลับสู่ตลาดกว้าง จากแบรนด์แฟนคลับ เริ่มมีคนทั่วไปที่ไม่รู้จักหลิงหลิงเข้ามาซื้อ กลายเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่มีพลังไวรัล
จากกรณีศึกษา AlwaysWonder “ถ้ามีตัวตนที่ชัดเจนและคนเชื่อใจ แบรนด์ที่เราสร้างจะไม่ได้ขายแค่สินค้า แต่ขายความผูกพันและความหมาย”