SHARE

คัดลอกแล้ว

‘ปลาติดเชื้อเกิดตุ่มพอง’ ‘งดสัมผัสน้ำโดยตรงไม่มีกำหนด’ ‘ห้ามใช้น้ำทำกิจกรรมเกษตร’ กรณีตรวจพบสารหนูในแม่น้ำกก สูงเกินค่ามาตรฐานเท่าตัว นำไปสู่ความเชื่อมโยงกับการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำ ประเทศเมียนมา และจนถึงตอนนี้กระทบผู้คนหลายหมื่นชีวิต ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพ ไปจนถึงสุขภาพประชาชน

 

เช่นทุกครั้ง เมื่อเกิดปัญหา ‘ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่’ ซึ่งครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และซับซ้อนไปอีกขั้น เมื่อดูเหมือนต้นเรื่องจะอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งฝั่งเมียนมา และอาจเกี่ยวพันกับกลุ่มทุนสร้างเหมือง ที่อาจเป็นทุนจีน หรือชาติอื่นๆ

เงียบเกินไปไหม? คำถามตัวโต เกิดขึ้นทั้งในและนอกพื้นที่ นับตั้งแต่ปัญหานี้ถูกฉายภาพผ่านภาพปลามีตุ่ม และเนื้องอก คล้ายกับปลาติดเชื้อ ที่ต่อมากรมประมงชี้แจงว่า ไม่ใช่ภาพที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ปัดตกหรือปฏิเสธ ข้อสันนิษฐานที่ว่า การที่ปลามีรูปร่างผิดแปลกไป มีความเกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนสารหนู – ตะกั่วในแม่น้ำกกหรือไม่

นับตั้งแต่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ หรือ สคพ.1 เผยผลตรวจพบสารหนู ในแม่น้ำกก จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย สูงเกินค่ามาตรฐานเท่าตัว และรัฐบาลรับรู้ถึงความเชื่อมโยงกับการทำเหมือง

และปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแม่น้ำกก ยังรวมถึงแม่สาย นั่นจึงเท่ากับปัญหานี้กำลังขยายกว้าง ไม่ต่างกับเส้นทางน้ำสองสายนี้ที่ไปไหลร่วมสู่แม่น้ำโขง รัฐบาลมีความสามารถในการจัดการเรื่องนี้ทั้งระบบ อย่างเป็นรูปธรรมมาน้อยแค่ใน รายการ TODAY LIVE โดยสำนักข่าวทูเดย์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร. สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม ม.แม่ฟ้าหลวง

[ตั้งต้นรู้จักเส้นทาง แม่น้ำกก-แม่น้ำสาย สู่แม่น้ำโขง]

อ.สืบสกุล เริ่มต้นอธิบายถึงเส้นทางของแม่น้ำกก ที่มีต้นน้ำอยู่ในเขตรัฐฉาน ของเมียนมา ซึ่งเป็นรัฐที่มีเนื้อที่มากที่สุดของเขตการปกครอง เทียบเท่าประเทศกัมพูชาเลย โดยแม่น้ำกก เข้าสู่ประเทศไทย ที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ก่อนจะไหลผ่านกลางเมืองเชียงราย และอีกหลายอำเภอ ก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง ที่ชุมชนบ้านสบกก

ด้วยความยาว ราว 289 กม. ตามเส้นทางน้ำในเขตประเทศไทยนี้เอง ที่ทำให้แม่น้ำสายนี้เกี่ยวข้องกับผู้คนหลายหมื่นชีวิต

ขณะที่ แม่น้ำสาย ก็มีต้นน้ำอยู่ที่รัฐฉานเช่นกัน แต่อยู่คนละพื้นที่ โดยไหลเข้าสู่ไทย บริเวณถ้ำผาจม ตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย จ.เชียงราย จนกลายเป็นเส้นเขตแดนแบ่งพื้นที่สองประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแม่น้ำรวก ที่ไหลมาบรรจบกับเส้นทางน้ำสายนี้ ก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง ที่หมู่บ้านสบรวก ซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่เรารู้จักกัน

เมื่อสายน้ำไหลรวมกัน จนกลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจของสามประเทศ คือ ไทย เมียนมา ลาว  ในทางกลับกัน สารพิษที่ปนเปื้อนในน้ำครั้งนี้ จึงกลายเป็นปัญหาข้ามพรมแดนอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะหากข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจน อ.สืบสกุล มองว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะสารอันตรายได้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์แล้ว

[ข้อสังเกตโคลนมหาศาลและน้ำเปลี่ยนสี]

อ.สืบสกุล เล่าย้อนไปว่า กรณีแม้น้ำกกสีน้ำขุ่นข้น พบเห็นได้ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ ปี 2567 แล้ว เพียงแต่ประชาชนยังไม่เริ่มเอะใจ ทำให้กิจกรรมริมฝั่ง ทั้งการลงเล่นน้ำ และใช้บริการร้านอาหารริมแพ ยังเป็นที่นิยมเรื่อยมา

ก่อนที่ช่วงเดือน ก.ย. เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มวลน้ำที่มาพร้อม ‘โคลนมหาศาล’ จึงสร้างความแปลกใจ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นยังไม่มีข้อมูลของพื้นที่ป่าต้นน้ำแต่อย่างใด เมื่อเกิดข้อสงสัยและร้องเรียนจากชุมชน ฟากความมั่นคงจึงได้ทำหนังสือสอบถามไปที่รัฐฉาน แต่ได้คำตอบเบื้องต้นในตอนนั้น ว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง

อย่างไรก็ดี ด้วยวิถีชีวิตที่ผู้คนสองประเทศต่างไปมาหาสู่กันเป็นเรื่องปกติ ชาวบ้านในพื้นที่จึงรับทราบข่าวการเปิดพื้นที่ทำเหมือง บริเวณติดกับแม่น้ำกก ระยะทางราว 30 กม. จากเขตแดนไทย โดยไม่มีระบบการควบคุมสารพิษใดๆ จากชาวบ้านรัฐฉานต่อเนื่อง และนั่นเองที่ทำให้เกิดการขยับตัวจากรัฐอย่างเป็นรูปธรรม

เป็นที่มาของเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำตั้งแต่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จนถึง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย จนพบการปนเปื้อนสารโลหะหนักหลายชนิด เกินค่ามาตรฐาน และนับว่าโชคยังดีที่การตรวจสอบเกิดขึ้นก่อนช่วงเทศกาลปีนี้ ทำให้ผู้ว่าราชการของทั้งสองจังหวัด ออกประกาศห้ามประชาชนลงเล่นน้ำ และใช้น้ำทำกิจกรรมได้พอดิบพอดี

แต่ปัญหา คือ ประกาศนี้จะยาวนานถึงตอนไหน เพราะไม่ใช้เพียงกิจกรรมสันทนาการที่กระทบ แต่น้ำเหล่านี้ยังใช้เพื่อการเกษตรอีกด้วย

อ.สืบสกุล ระบุว่า การตรวจสอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลพิษที่ 1 ช่วยยืนยันข้อสันนิษฐานเบื้องต้นได้อย่างหนึ่งว่า สารโลหะหนักที่พบมีความเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำต้นทาง ไม่ใช่กิจกรรมในไทย เพราะไม่พบการปนเปื้อนในบริเวณที่แม่น้ำสายย่อยมาบรรจบกัน 

อีกทั้งในช่วงการลงพื้นที่ อ.แม่สาย ของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ นายกฯ ก็ยังกล่าวถึงปัญหาที่เกิดจากการทำเหมือง อยู่ระหว่างการเจรจาความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่เป็นกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงกับจีน

[เอาไงต่อกับเหมืองแร่บริเวณต้นน้ำ?]

แม้ว่ากรณีสารพิษข้ามพรมแดน จะถูกยกขึ้นมาในวงกว้างไม่นานนี้ แต่ อ.สืบสกุล กล่าวถึงข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม ที่เกาะติดมากว่า 4-5 ปี จนพบที่ตั้งเหมืองแร่หลากชนิด กระจายอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ใต้การดูแลของทั้งกองทัพสหรัฐว้า กลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐบาลเมียนมา

“มีเหมืองจำนวนมากเปิดหน้าดินมหาศาล และพื้นที่ทั้งหมดลงสู่แม่น้ำโขงโดยตรง”

อ.สืบสกุล กล่าวว่า หากแม่น้ำโขงมีปัญหาน้ำขึ้นน้ำลง เกิดจากเขื่อนรัฐบาลจีน ไทยยังสามารถทำหนังสือต่อรองได้ แต่เรื่องเหมืองทับซ้อนกับเขตปกครองของกองกำลังติดอาวุธ จึงทำให้ปัญหานี้ซับซ้อนหนัก

ทั้งนี้ การเปิดเผยรายชื่อบริษัทผู้รับสัมปทานทำเหมือง ปรากฏชื่อว่าเป็นบริษัทจากเมียนมาเกือบทั้งหมด โดยมีกลุ่มทุนจีนร่วมอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่ผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีน จึงหันไปหาประเทศที่มีความหละหลวม

ข้อสังเกตอีกประการ คือ ข้อมูลศุลกากรไทย มีรายงานตัวเลขการนำเข้าแร่ตะกั่ว และแมงกานีส อย่างสม่ำเสมอจนติด TOP10 สินค้านำเข้าจากเมียนมา อ.สืบสกุล จึงตั้งคำถามต่อว่า บริษัทใดนำเข้าแร่ ปลายทางอยู่ในไทย หรือส่งต่อไปประเทศที่ 3 กันแน่

อ.สืบสกุล กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องรู้ที่มาที่ไป และความเกี่ยวข้องของเหตุการณ์ปนเปื้อนทั้งหมด เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต้นทาง ไปจนถึงตามหาผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด อย่างที่ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง เคยยกตัวอย่างการฟ้องร้อง ที่ใช้เป็นเครื่องมือให้สามารถยุติการทำเหมือง และเพื่อการเจรจาฟื้นฟูความเสียหาย

“อาจต้องคุยกับจีน เพราะมีอิทธิพลต่อกองทัพสหรัฐว้า เขามีความสัมพันธ์ดีกับรัฐบาลเมียนมา และสำคัญที่สุดเป็นผู้ทำเหมือง และซื้อแร่ในลำดับสุดท้าย แถมจีนยังมีกลไกความร่วมมือ แม่น้ำโขง-ล้านช้าง เขาเป็นหัวเรือใหญ่ เขาสำคัญมากถ้าต้องการเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เป็นโอกาสของเขาด้วย”

ถึงตอนนี้ อ.สืบสกุล มองว่า ไทยคงเลี่ยงที่จะเจรจาผ่านจีนได้ยาก หากต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง “ครั้งนี้ท้าทายมาก เพราะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ทางวิชาการเรียกว่าเป็นปัญหากับ ‘ความมั่นคงแบบใหม่’ ซึ่งไม่ใช่รูปแบบเดิม ก็ต้องใช้กลไกเพิ่มเติมในการคุย คำถามคือ รัฐบาลไทยจะมีท่าทีในการคุยกับชาติพันธุ์เหล่านี้อย่างไร”

“ถ้าเราพิสูจน์ได้ว่า เหมืองทั้งหลายที่เข้าไปลงทุนเป็นบริษัทจากจีน จะถูกหรือไม่ถูกกฎหมาย รัฐบาลจีนก็ต้องรับผิดชอบ ยิ่งถ้าแร่เหล่านี้ถูกส่งกลับไปจีน ไม่ว่าจะผ่านเมียนมาหรือใช้ไทยเป็นทางผ่าน จีนก็ต้องรับผิดชอบอยู่ดี”

ในอนาคต อ.สืบสกุล มองว่า การปนเปื้อนของสารโลหะหนักในเส้นทางน้ำ จะกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาค เพราะถ้าพบสารหนูสะสมในแม่น้ำโขง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในลุ่มแม่น้ำโขง บริโภคสัตว์น้ำจากแหล่งนี้ ทั้ง ลาว กัมพูชา เวียดนาม ต่างก็กลายเป็นผู้ได้รับความเสียหาย

เช่นนี้แล้ว ข้อเสนอว่าควรปิดและปรับปรุงเหมือง อาจไม่ได้แก้ปัญหาได้ เพราะบริษัทที่ลงทุนก็อาจไม่มีมาตรฐานตั้งแต่ต้น ดังนั้น การปิดเหมืองจึงเป็นทางออก

รัฐบาลยังคงใช้กลไกของรัฐปกติ ในการแก้ปัญหาขาดองค์กรที่มาดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษโดยตรง เห็น รมช.มหาดไทยลงมาเองแล้ว แต่ยังขาดหัวหอกเจรจา คนในพื้นที่ก็ไม่มั่นใจว่า ตกลงปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไร

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า