‘รัฐล้มเหลว’ และ ‘รัฐพันลึก’ เป็นคำที่วนกลับมาถกเถียงกันอีกครั้งว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะเหล่านี้หรือไม่ รายการ HEADLINE สำนักข่าว TODAY ชวนพูดคุยกับ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ถึงนิยามของศัพท์สองคำนี้และวิเคราะห์ว่ารัฐไทยเข้าข่ายหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ถาโถม
[ไทยมีเชื้อ ‘รัฐล้มเหลว’?]
ก่อนการลงลึกเข้าสู่คำนิยามของคำว่า ‘รัฐล้มเหลว’ และ ‘รัฐพันลึก’ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เริ่มต้นด้วยการปูพื้นฐานคำว่า ‘รัฐศาสตร์’ (State) ซึ่งยึดคำนิยามตามอนุสัญญากรุงมอนเตวิเดโอว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ จากการประชุมภาคีชาติอเมริกาครั้งที่ 7 ที่ประเทศอุรุกวัย ทวีปอเมริกาใต้ ในปี พ.ศ. 2476 หนึ่งปีหลังจากไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยได้ระบุคุณสมบัติของรัฐชาติไว้ 4 อย่าง คือ
1.มีดินแดนที่แน่นอน คือมีขอบเขตของอาณาบริเวณที่แน่นอนจะมีเนื้อที่ใหญ่หรือเล็กก็ได้
2.มีประชากร คือต้องมีประชากรที่เป็นมนุษย์อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น จำนวนกี่คนก็ได้ แต่ต้องมีสภาพเป็นสังคมในดินแดนนั้น
3.มีรัฐบาล คือต้องมีรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารและจัดการดินแดนที่แน่นอนในพื้นที่นั้นๆ ให้มีประสิทธิภาพ
4.มีอำนาจอธิปไตย คืออำนาจในการปกครองตนเองโดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐอื่นใดและอำนาจอธิปไตยนี้รวมถึงอำนาจในการสัมพันธ์กับรัฐอื่นๆ อย่างเสรีด้วย
ดังนั้นหากจะพูดถึงนิยามคำว่า ‘รัฐล้มเหลว’ ก็คือการที่รัฐบาล “ไม่มีปัญญาใช้อำนาจอธิปไตย” ในการปกครองบ้านเมืองให้สงบสุข โดยในสายตาของ รศ.ดร.โกวิท มองว่า หากเทียบกับความหมายดังกล่าว สถานการณ์ไทยตอนนี้ก็ยังถึงว่าห่างไกล แต่ก็ถือว่า ‘มีเชื้อ’ ซึ่งแท้จริงแล้วก็มีอยู่ตลอด เปรียบเหมือนร่างกายของมนุษย์ที่มีแบคทีเรียแต่อาจยังไม่ส่งผลให้หนักหนาสาหัส
นักวิชาการรัฐศาสตร์รายนี้ยังได้เล่าย้อนไปว่าในช่วงสงครามเย็น การที่จะเกิดภาวะ ‘รัฐล้มเหลว’ อาจจะเห็นได้ยาก เนื่องจากมหาอำนาจในขณะนั้นอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็มักจะเข้าไปช่วงประคองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หลังจากที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในราวปี พ.ศ. 2534 แล้ว ก็เริ่มเห็นการเกิดภาวะรัฐล้มเหลวในประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น
รศ.ดร.โกวิท ยกตัวอย่างถึงประเทศที่เข้าสู่ภาวะ ‘รัฐล้มเหลว’ ในระยะหลังมานี้ เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ถูกรวันดายึดครองดินแดนเสียเยอะ และไม่สามารถปกครองดินแดนของตนเองได้ หรือสาธารณรัฐเฮติก็ถือเป็นรัฐล้มเหลวเช่นกัน หรือหากมองประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ที่อำนาจอธิปไตยที่สามารถปกครองได้น้อยกว่าครึ่งของประเทศ ก็ถือว่ามีคุณสมบัติเป็นรัฐล้มเหลวแล้วเช่นกัน
“(ประเทศไทย) ยังไกล (จากภาวะรัฐล้มเหลว) อยู่ แต่ว่ามันก็นอนใจไม่ได้นะครับว่าคงจะไม่เกิด เพราะว่า เมื่อมันเกิด บางประเทศที่เราไม่นึกว่ามันจะเกิดมันก็เกิดนะครับ เพราะว่าถ้าแนวโน้มมันไปอย่างนี้เรื่อยๆ หรือว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ ไม่สงสัยอะไรกัน เรื่องทุจริต เรื่องตำรวจ หรือว่าทำตัวเป็นมาเฟีย หรือว่า อะไรต่อมิอะไรต่างๆ หรือว่าทหารก็จ้องที่จะยึดอำนาจ มันก็เป็นไปได้นะครับ” รศ.ดร.โกวิท กล่าว
[รัฐพันลึกไทย ยิ่งทำให้ใกล้รัฐล้มเหลว]
แม้ว่าไทยยังไม่ใกล้ ‘รัฐล้มเหลว’ แต่ในสายตาของ รศ.ดร.โกวิท มองว่ารัฐไทยมีลักษณะเป็น ‘รัฐพันลึก’ มากพอสมควร โดยหากอธิบายง่ายๆ รัฐพันลึก คือการที่มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังผู้ที่ใช้อำนาจอธิปไตย
“ไอ้รัฐพันลึก ในอดีตหรือปัจจุบันมันก็มีอยู่ แต่มันไม่ถึงขนาดที่เรียกว่าสามารถควบคุมได้จนกระทั่งกลายเป็นรัฐล้มเหลว แต่มันแทรกแซงอิทธิพลอะไรต่ออะไรต่างๆ ดูกันง่ายๆ เอาชัดๆ เลยนะ เรื่องค่าไฟฟ้าบ้านเรา มันต้องมันต้องมีกลุ่มอิทธิพลแน่ๆ แหละ ที่มันออกมาเป็นอย่างนี้ได้ เพราะฉะนั้นรัฐพันลึกเนี่ยมันไม่หมายถึงตัวละครสูงสุดเพียงอย่างเดียวแต่อาจจะหมายถึงตัวละครอื่นๆ ที่มีกลไกสามารถชักใยได้…รัฐพันลึกนี่แหละมันจะนำไปสู่รัฐล้มเหลว…ตอนนี้ถ้าเกิดว่าเป็นรัฐพันลึกเราก็เป็นรัฐพันลึกไปครึ่งตัวแล้วล่ะ” รศ.ดร.โกวิท อธิบาย
หากรัฐพันลึกเป็นเชื้อสู่รัฐล้มเหลว รศ.ดร.โกวิท มองว่าการบิดเบี้ยวออกจากสังคมประชาธิปไตยนี้ยิ่งทำให้เดินเข้าสู่เส้นทางรัฐล้มเหลวมากยิ่งขึ้น โดยยกตัวอย่างว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็น “รัฐธรรมนูญที่บิดเบี้ยวมากที่สุด” หากยังคงไม่แก้รัฐธรรมนูญก็จะเดินไปทางรัฐล้มเหลวแน่นอน และสิ่งที่สำคัญมากคืออำนาจอธิปไตยที่ประกอบด้วย อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ นั้น รศ.ดร.โกวิท มองว่า “บิดเบี้ยวไปแทบทั้งสามเสา”
อีกหนึ่งเรื่องที่เข้าข่ายเป็น ‘รัฐพันลึก’ ในความเห็นของ รศ.ดร.โกวิท คือความเป็น ‘รัฐราชการ’ ของไทย ที่ฝ่ายการเมืองก็คือรัฐบาลยอมสงบแบบ “หมอบราบคาบแก้ว” ซึ่งตรงกันข้ามกับกลไกปกติที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล
“ถ้าพูดไปจริงๆ นี่นะครับ ผมขอใช้แค่ว่า (รัฐบาลไทย) Impotent ก็คือ ไม่มีน้ำยา ก็คือทำอะไรไม่ได้ ถ้าทำอะไรไม่ได้เนี่ยมันก็พูดง่ายๆ ก้าวย่างเข้าไปในประตูของรัฐล้มเหลวแล้วนะครับ” รศ.ดร.โกวิท กล่าวทิ้งท้าย