เป็นที่ฮือฮาไม่น้อยเลยหลังรัฐบาลประกาศเตรียมออก G-Token หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งนับได้ว่าเป็นประเทศแรกในโลกเลยก็ว่าได้ที่รัฐบาลสามารถกู้เงินผ่านโทเคนดิจิทัลได้
สาเหตุหลักๆ ของการออก G-Token มาจากความต้องการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องและนำไปใช้จ่ายตามแผนงบประมาณ และเป็นการนำเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology) มาประยุกต์ใช้กับการบริหารหนี้ภาครัฐ
ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลจะใช้วิธีกู้เงินผ่านการออก Saving Bond หรือ พันธบัตรออมทรัพย์ ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปซื้อได้อยู่แล้ว เป็นการลงทุนแบบคลาสสิกที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนคงที่ รัฐบาลจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยตามกำหนด
ส่วนการออก G-Token จะเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย โปร่งใส เข้าถึงประชาชนโดยตรงได้ง่ายกว่า และยังมีความเหมาะกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น
โดยรัฐบาลไฟเขียวเตรียมที่จะเปิดให้ประชาชนสามารถจองซื้อได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 แต่ก่อนที่จะตัดสินใจ TODAY Bizview พามาเทียบความแตกต่างระหว่าง G-Token กับ Saving Bond
ซึ่งทั้งสองแบบเป็นของรัฐบาลทั้งคู่ แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่ต่างกันก็คือวัตถุประสงค์ในการออก นั้นก็คือ เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ขณะเดียวกันในแง่ของผลตอบแทน ความเสี่ยง สภาพคล่อง และช่องทางการลงทุน กลับไม่เหมือนกันแต่จะแตกต่างกันอย่างไรไปดู