SHARE

คัดลอกแล้ว

ใครไปดูมาบ้าง มาแบ่งปันกันหน่อย….

เป็นครั้งที่ 3 แล้วกับ FaraTALK ที่จัดโดย ‘ฟาโรส – ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี’ ครีเอเตอร์นักเล่าเรื่องและโฮสต์ของ FaraTALK ซึ่งรอบนี้มาในคอนเซปต์ที่น่าสนใจอย่าง “What’s in a name? ชื่อนั้นสำคัญไฉน” 

เวทีทอล์กที่เปลี่ยน “ชื่อ” ให้กลายเป็นประตูสู่ความเข้าใจเรื่องภาษา วัฒนธรรม และตัวตนของผู้คน ผ่านการเล่าเรื่องแบบมีชีวิตชีวาและเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้ง 

ระยะเวลา 4 ชั่วโมงกว่าในทอล์กโชว์ครั้งนี้ เราได้รู้อะไรบ้าง สำนักข่าวทูเดย์จะมาสรุปให้ฟัง ใครไม่ได้ไปไม่ต้องกลัวคุยกับชาวบ้านไม่เข้าใจ เพราะเราแอบสปอยด์ความสนุกแบบจัดเต็ม

[ What’s in a name? ชื่อคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว ]

ช่วงเปิดเวทีทอล์ก ฟาโรส เปิดด้วยโชว์เพลง ‘ก็ความรักไม่ใช่แกงฟัก ถ้าอยากแกงฟักต้องใส่น่องเป็ด’ ให้ชาวช่องได้แตกตื่น สนุกสนาน หลังจากนั้นก็เข้าด้วยคอนเซปต์ What’s in a name? ทอล์กโชว์ครั้งนี้ดำเนินไปด้วยความหมายของชื่อเพราะ ฟาโรส เชื่อว่าชื่อคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวต่างๆ

ส่วนที่มาของคำว่า What’s in a name? ก็มาจากประโยคในตำนานรัก โรเมโอและจูเลีย ที่ทั้งสองไม่สามารถรักกันได้ เพราะเป็นเรื่องของนามสกุล ทำให้ทั้งสองมองว่าชื่อนามสกุลสำคัญกว่ารักตรงไหน เพราะเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก่นแท้ของคนคนนั้น ก็คล้องไปกับคอนเซปต์ที่เขาอยากสื่อ

เริ่มจากความหมายของชื่อแรก คือชื่อของเขาเอง นั่นคือ ‘ณัฏฐ์’ ในตอนแรกเข้าใจว่าคำว่า ณัฏฐ์ มักแปลว่านักปราชญ์ แต่จริงๆ แล้วไม่มีความหมาย จนกระทั่ง ร.5 เองก็สงสัยเรื่องนี้ จึงส่งจดหมายไปถามหลวงประเสริฐ​อักษรนิติ์ ซึ่งเป็นผู้แต่งพจนานุกรม ได้คำอธิบายว่า ตอนที่แต่งพจนานุกรม​เห็นว่าคำที่ใช้อักษร ณ มีน้อย และเป็นอักษรที่สวย จึงแต่งคำว่า ณัฏฐ์​ขึ้นมาเพิ่มใหม่ และให้ความหมายว่า นักปราชญ์

ต่อมา ฟาโรส เล่าถึงความหมายของกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าเรามาแปลเป็นภาษาอังกฤษ คือ City of Angels เป็นความหมายที่สวยมาก เมืองแห่งเทพ เมืองแห่งนางฟ้า ซึ่งกรุงเทพฯ ก็มีความหมายคล้ายๆ กับเมืองหนึ่งในสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ Los Angeles 

พอพูดถึงเมืองนี้ ก็เชื่อมความหมายไปยังรุ่นน้องที่สนิทของ ฟาโรส ที่เขามักเป็นแขกรับเชิญในรายการไกลบ้านบ่อยๆ เขาเป็นนักล่าฝัน ฝันไกลถึงฮอลีวูดที่สร้างตำนานถ่ายคลิปตีลังกาเสาหัก นั่นคือ ‘แตงโม – กิตติพร โรจน์วณิช’ 

แตงโม มาเป็นเกสต์คนแรก โดยหยิบยกชื่อจริงของตัวเองมาเล่าให้ฟัง ‘กิตติพร’ มีความหมายว่า ผู้มีชื่อเสียงอันประเสริฐ แต่ตามหลักการตั้งชื่อ ชื่อจริงของเขามีการวางสระ อิ ที่เป็นกาลกิณีสำหรับชื่อ ทำให้มีความเหนื่อยแทรกอยู่ในชื่อ อธิบายง่ายๆ ว่าชื่อนี้ต้องเหนื่อยและสู้ชีวิต

หลังจากนั้น แตงโม ก็เล่าเรื่องราวชีวิตที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด ทั้งแคสต์การแสดงผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง บทบาทที่ได้รับ หลายสิ่งที่ได้ลองทำใน Los Angeles เขาไม่เคยย่อท้อ ทุกอย่างมีจังหวะของมัน และสิ่งหนึ่งที่แตงโมบอก แล้วสะท้อนกลับให้คนฟังได้คิดคือ เขามี Bucket list วัยเด็กเป็นของตัวเอง พอได้ย้อนกลับไปอ่าน กลับพบว่าในลิสต์เหล่านั้น เขาทำไปแล้วตั้งหลายอย่าง แต่ตัวเราคนปัจจุบันกลับลืมมันไป คิดถึงแต่สิ่งที่อยากทำในอนาคตเรื่อยๆ 

เรื่องนี้สอนให้เหล่าชาวช่องได้รู้ว่า จริงๆ แล้วความฝันหลายอย่างในวัยเด็ก เราอาจจะสำเร็จแล้วก็ได้นะ อย่ามองแค่อนาคตและหาความฝันใหม่ๆ มากเกินไป และในเรื่องของชื่อ ไม่ว่าชื่อเราจะมีกาลกิณีหรืออะไรก็ตาม แต่ชื่อไม่ใช่ตัวที่กำหนดว่าเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะมีความสุขหรือเปล่า ในทุกวันนี้ที่เราได้ทำอะไรที่ชอบ และเก็บทุกโมเมนต์ดีๆ ระหว่างทาง มันก็มีความสุขแล้วนะ

หลังจากแตงโมลาเวทีไป  ฟาโรสก็กลับมารับไม้ต่อ ด้วยคำถัดมา คือ Passion ที่แปลไทยเป็นไทยง่ายๆ ว่า ‘ใจรัก’ แน่นอนว่าถ้าเราเหน็ดเหนื่อยกับสิ่งที่ทำอยู่ ท้อกับมันมากๆ  แต่ก็ยังอยู่กับมันได้ มันก็คือใจรักแล้วล่ะ 

แล้วคุณล่ะ สิ่งที่ทำอยู่ยังมี ‘ใจรัก’ กับมันอยู่ไหม?

อย่างไรก็ตาม การดำเนินเรื่องราวของเวทีทอล์ก ยังคงผสมผสานด้านภาษา ประวัติศาสตร์ ตัวอักษร และข้อคิดรวมเข้าไป 

[ ไม่ว่าจะชื่ออะไร ตัวตนก็คือเราอยู่ดี ]

ถัดมาที่เกสต์คนต่อไป ‘ก๊อตจิ – ทัชชกร บุญลัภยานันท์’ เขาเล่าให้ฟังว่า ตัวเองเกิดในครอบครัวคนจีนจริงๆ ชื่อก็อตที่แปลว่าพระเจ้า (God) อิงจากหนังก็อดฟาเทอร์ อาอี้ตั้งให้เพราะพ่อของเขาเป็นผู้ชายที่แข็งแกร่ง จิตใจเข้มแข็ง นักเลง หวังให้เดินตามรอยพ่อ 

แต่เด็กคนนั้นก็โตมากลายเป็น ‘ก๊อตจิ’ ในวันนี้ ระหว่างทางการเติบโตเขาผ่านการเปลี่ยนชื่อจริงมาจาก ‘กรัณย์’ ที่แปลว่ากิจอันพึงกระทำ แต่เกิดวิกฤตก็เลยเปลี่ยนชื่อจริงสู่ ‘ทัชชกร’

เข้าสู่วงการก็จาก ‘ก็อต’ สู่ ‘ก็อตจิ’ แถมเขายังมีชื่อจีนเป็นของตัวเองสลับกันกับชื่อของลูกพี่ลูกน้อง

ก็อตจิ มีเรื่องราวกับชื่อมากมาย แต่ประโยคหนึ่งที่เราสะดุด เขาเล่าว่า ตั้งแต่ถ่ายเทยเที่ยวไทย ทำให้คนรู้จักเยอะขึ้น จนวันหนึ่งมีคนเรียกชื่อผิดว่า ‘ป๋อมแป๋ม’ โดยที่เขาพยายามจะบอกว่าไม่ใช่ แต่คนที่ทักก็บอกว่าใช่ จนเขาต้องยอมปล่อยให้เลยตามเลยไป 

“ในทุกชื่อมันมีความรักและความผูกพันซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ว่าวันนี้คนจะเรียกเราด้วยชื่ออะไร แต่ตัวตนที่อยู่ข้างในก็ยังเป็นเราอยู่ดี” นี่คือบทเรียนจากก็อตจิ

[ฟาโรสขายสปอนเซอร์แบบไม่น่าเบื่อ ขายตรงแบบมีคนฟัง]

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในเวทีทอล์กครั้งนี้เลยคือ การ ‘ขายตรงสปอนเซอร์’ ที่ ฟาโรส ทำให้รู้สึกอยากฟัง เช่น เขาหยิบประวัติศาสตร์สโลกแกนของ ‘L’Oréal’ ที่ผ่านการแก้มาแล้ว 2-3 ครั้ง จาก ‘Because i’m worth it’ สู่ ‘Because you’re worth it’ มาขยายคำว่า worth it สิ่งที่เราคู่ควร และคนเราก็มีสิ่งที่คู่ควรจริงๆ 

และต่อมาก็เป็นการที่มีสปอนเซอร์อุตสาหกรรมเดียวกัน 2 เจ้า ในงานเดียวกัน นั่นคือ Sc Asset และ AP ทั้งสองเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ให้เวที พวกเขาคุยกันแล้ว ไม่ได้เกิดการแข่งขัน เพียงแค่มานั่งคุยกันว่าเราจะทำอะไรให้เวทีทอล์กดี 

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความสนุกของเวทีที่ทำให้หลายแบรนด์ยอมจ่าย แม้จะมีคู่แข่งเป็นสปอนเซอร์ด้วยกัน 

มากไปกว่านั้น ฟาโรส เชื่อมไปยังคอนเทนต์ที่เขาทำเพื่อหาเงินเข้าช่อง ในช่วงเปิดไกลบ้านแรกๆ เขาบอกว่าใช้เงินไปเยอะ กับการเดินทาง และค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ต้องเริ่มหารายได้เพื่อความอยู่รอด 

จึงสร้างรายการขึ้นมารายการหนึ่ง เพื่อขายของเลยโดยเฉพาะ รายการนั่นมีชื่อว่า ‘ช่างเชื่อม’ เป็นรายการนั่งเล่าไปเรื่อยๆ และมีโปรดักส์มาตั้ง ซึ่งรายการขายของนี้ก็ประสบความสำเร็จในจุดที่ว่า “รายการขายของที่มีผู้ชมแสนยอดวิวทุกอีพี”

เวทีทอล์กดำเนินมาถึงช่วงท้ายๆ ด้วนเกสต์ 4 คนที่เหลือ ซึ่งเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ตามความถนัดของภาษา องค์เทพ และประเทศที่ตัวเองเชี่ยวชาญเลย ได้แก่ 

          • ‘อรรถ – อรรถ บุนนาค’ นักเขียน ล่าม นักแปล พิธีกร คอลัมน์นิสต์ บรรณาธิการ ฯลฯ ผู้รอบรู้ในด้านสังคม วัฒนธรรม Pop Culture ญี่ปุ่น ที่มาพร้อมลีลาการเล่าแบบหยิกแกมหยอก
          • ‘พงษ์ – อธิพงษ์ อมรวงศ์ปีติ’ นักเขียน นักแปลอิสระ และอาจารย์พิเศษประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ แห่งอักษร จุฬาฯ เนิร์ดเทพปกรณัมกรีกโรมัน ที่ทำให้ชื่อภาษาอังกฤษที่คุ้นเคย กลายเป็นเรื่องเล่าแสนมหัศจรรย์
          • ‘เก้า – ผศ.ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว’ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก แห่งอักษร จุฬาฯ ผู้พร้อมเชื่อมทุกชื่อเข้ากับศาสนา ความเชื่อ และวิถีชีวิตที่เราอาจไม่เคยสังเกต
          • ‘จี – จิระศักดิ์ อัจฉริยยศ’อาจารย์ นักเขียน และนักแปล ผู้หลงใหลความรุ่มรวยของอารยธรรมฝรั่งเศสและอียิปต์ จนได้ฉายา ‘เนเฟอร์จีจี้’!

ทั้ง 4 เป็นเกสต์ช่วงสุดท้ายของเวทีทอล์ก โดยรอบนี้จัดรายการช่างเชื่อม Live ด้วยการให้ทุกคนมาเป็นเซลล์ขายของแบบไลฟ์สด มีกริ่งกดตอบคำถาม ด้วยเริ่มจากการหยิบยกชื่อจริงของแขกผู้โชคดีในงาน แล้วมาให้พวกเขาแข่งกันเชื่อมไปยังภาษาหรือเรื่องราวของเทพองค์ที่ตัวเองถนัด 

อย่างไรก็ดี ทั้ง 4 คนนี้ก็มาปิดท้ายเวทีทอล์กด้วยการขายสปอนเซอร์แบบตามโจทย์ที่ได้รับ เช่น พงษ์ – อธิพงษ์ ออกมาขายสปอนเซอร์ Chubb ด้วยประโยคที่ว่า “วันนี้เราไปทั้งญี่ปุ่น ไปทั้งกรีก ไปทั้งอินเดีย จะเที่ยวทั้งที่ให้พี่ Chubb  ดูแล”

[ Visual สวย สื่อความหมายดี ]

เดินทางมาเรื่องสุดท้ายที่ไม่ชมไม่ได้ คือเรื่องของ Visual เวทีทอล์กของ ฟาโรส ทำออกมาได้ดีมากๆ พื้นหลังของแต่ละเกสต์ก็สื่อความหมายในตัวตนพวกเขา สีสันสวย ภาพสวย เช่นของ ก็อตจิ เป็น Visual ปลาทองมาในคอนเซปต์ที่ดูจีนๆ สีเข้ากับเกตส์ หรือตอนปิดท้ายเวทีปิดด้วย Visual ที่มีชื่อของผู้คนเข้าร่วมงานผสมอยู่เพื่อสื่อถึงการที่ชาวช่องเป็นสปอนเซอร์

หรือด้านบนเวทีมองไปจะให้ผ้าขาวม้วนเป็นตัวกุญแจฟา ที่สะท้อนถึงฟาโรส ทุกดีเทลในเวทีทอล์กล้วนมีประวัติศาสตร์ และข้อคิดเข้ามาแทรกอยู่เสมอ ทำให้เราได้ทั้งความรู้และข้อคิดไปพร้อมๆ กัน  ทุกดีเทลบนเวทีจึงแฝงไปด้วยสัญลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และแนวคิดบางอย่างที่ซ่อนอยู่ใต้ความสนุกสนาน ทำให้การฟังทอล์กโชว์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่การรับสาร แต่มันคือการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์

และคงต้องยอมรับว่า เวลากว่า 4 ชั่วโมงใน FaraTALK  ไม่ใช่แค่ทำให้คนดู “ได้อะไรกลับไป” แต่ยังทำให้รู้สึกอยากตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวมากขึ้น อยากเข้าใจอดีตเพื่อมองปัจจุบันให้ลึกขึ้น และบางครั้งก็อาจสะกิด ให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง ที่เคยมองข้ามไป มันก็คุ้มจริงๆ แหละกับการนั่งฟังอย่างไม่มีเบื่อ…

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า