SHARE

คัดลอกแล้ว

“กฎหมายและศรัทธาของคน ทำให้เจ้าอาวาสมีอำนาจเบ็ดเสร็จเต็มที่ จนทำให้ฉ้อฉล เกิดคอร์รัปชันได้…กลายเป็นว่า เจ้าอาวาสที่ดี คือเจ้าอาวาสที่ยังตรวจไม่พบ จับไม่ได้ ก็ยังเป็นพระดีต่อไป”

 

กับดักกฎหมายและศรัทธาคน นับเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่ รศ. สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา เจ้าของนามปากกานักปรัชญาชายขอบ ใช้อธิบายที่มาของปัญหาความผิดปกติในวงการสงฆ์ ที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน 

เช่นที่ยังไล่เรียงไม่จบ ว่าตกลงแล้วความเสียหายอยู่ที่หลักกี่ร้อยล้าน หรือมากกว่านั้นกันแน่ กับการยักยอกเงินของอดีตเจ้าอาวาสวันไร่ขิง หรือแม้แต่กรณีดิไอคอน ก่อนหน้า  

พระไม่ดี สีกาไม่ดี… บ่อยครั้งเรื่องที่เกิด ถูกชี้ให้เป็นความผิดส่วนบุคคล แต่นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนารายนี้ กำลังฉายภาพปัญหาศาสนจักรไทยที่ใหญ่กว่านั้น ตามแนวคิด ‘พุทธราชาชาตินิยาม’ ที่พูดกี่ครั้งก็ไม่เคยเป็นเรื่องเก่าเลย ผ่านรายการ TODAY LIVE

[ศรัทธาคน บรรจบกับ ‘ขอบเขตวินัยสงฆ์’ ที่ไม่ชัดเจน]

“พระให้สีกายืมเงินได้ยังไงครั้งแรก 45 ล้านบาท ถ้าบอกเป็นเงินส่วนตัว วินัยสงฆ์ก็ห้ามพระรับเงิน ขณะที่พระบอกว่าจำเป็นต่อการใช้ชีวิต คำถามคือ ขอบเขตความจำเป็นอยู่ตรงไหน”

อ.สุรพศ เล่าว่า ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ให้อำนาจ ‘พระสังฆาธิการ’ หรือ ผู้ปกครองคณะสงฆ์ ที่ประกอบไปด้วย เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ ไล่เรียงไปถึงเจ้าคณะปกครองลำดับสูงอื่นๆ ให้ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ

นั่นทำให้ ‘เจ้าอาวาส’ มีอำนาจตัดสินใจในทุกเรื่อง จะแบ่งให้ใครร่วมรับผิดชอบ ก็ยังอยู่ในขอบเขตตัวเอง “ให้อำนาจสิทธิขาดกับเจ้าอาวาสเหมือนพระราชาในวัด ให้อำนาจตัดสินใจ จัดการปกครอง จะไล่พระเณรออกจากวัดก็ไม่ต้องพิจารณาสอบสวน ไล่ออกได้เลย”

นี่เองทำให้ ‘ขอบเขตวินัยสงฆ์’ กลายเป็นประเด็นลำดับต้นๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมาในทุกครั้งที่เกิดปัญหา ตามความเห็นของ อ.สุรพศ

“ในประเทศที่แยกศาสนากับรัฐ จะมีการตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่าย ขององค์กรทางศาสนา ทุกศาสนา ทุกนิกาย…มีองค์กรตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน รายรับรายจ่าย ทุก 6 เดือน ยังมีแบ่งเงินว่าบุญการกุศลใด รายได้ไหนเสียภาษีด้วย เพราะฉะนั้นนักบวชที่มีรายได้ตามเกณฑ์เสียภาษี ก็ต้องเสียด้วย”

นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ยกแนวคิด ‘พุทธราชาชาตินิยาม’ กลับมาเปรียบมหาเถรสมาคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นระบบที่ทำให้ ‘พระ’ มีอภิสิทธิ์ทางศาสนา

สืบเนื่องจากองค์กรคณะสงฆ์ มีงบประมาณจากรัฐที่อุปถัมภ์ศาสนา จ่ายผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปีละราว 5,000 ล้านบาท แล้วบรรดาพระที่มีสมณศักดิ์ เรียกง่ายๆ ว่ามียศก็จะมีเงินเดือนลดหลั่นกันไป ซึ่งมาจากเงินภาษีประชาชน ประกอบกับ เงินบริจาคเงินทำบุญที่หมุนเวียนในวัดทั่วประเทศ หลักแสนล้านบาท ‘ช่องว่าง’ เช่นนี้เอง ที่ทำให้เกิดเหตุทุจริตตามมา

ทั้งที่ ‘ช่องว่าง’ เหล่านี้ขยายกว้างขึ้น แต่ ‘วัฒนธรรม’ กลับยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้ ตีแผ่ออกมาได้ยาก หรือบ่อยครั้งก็ช้าขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น 

“ความเชื่อของชาวพุทธ ลูกศิษย์ลูกหาที่เชื่อกัน อย่างกรณีวัดธรรมกาย ถ้าเขาเชื่อว่าหลวงพ่อเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ในห้องฝึกสมาธิกับผู้หญิงสองต่อสอง ลูกศิษย์ก็ไม่คิดสงสัย เพราะเชื่อว่าหลวงพ่อเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ดังนั้นการใช้จ่ายเงิน หลวงพ่อซื้อที่ชื่อตัวเอง ท่านก็ไม่เอาเป็นของตัวเองหรอก”

กรณีของอดีตหลวงพ่อแย้ม วัดไร่ขิงจึงไม่ต่างกัน เมื่อเจ้าอดีตเจ้าอาวาสถูกยอมรับจากญาติโยม ว่าสร้างความเจริญให้วัด เป็นพระนักบริหารที่ใจถึงพึ่งได้ การยิ่งทำให้สามารถใช้จ่ายเงินของวัดได้อย่างสะดวกไปด้วย

“กฎหมายให้อำนาจเจ้าอาวาสจ่ายเงินผู้เดียวได้ และศรัทธาของคน ทำให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเต็มที่ จนทำให้ฉ้อฉล เกิดคอร์รัปชันได้…ก็เลยกลายเป็นว่า เจ้าอาวาสที่ดี คือเจ้าอาวาสที่ยังตรวจไม่พบ จับไม่ได้ ก็ยังเป็นพระดี”

[ทำความเข้าใจ ‘พุทธราชาชาตินิยาม’]

อ.สุรพศ เท้าความตามประวัติศาสตร์ว่า ‘พุทธ’ เข้ามาในประเทศไทยใน 2 ช่วง เวลาและก็ทำให้เกิดปรัชญาการเมืองที่ต่างกันไป คือ

  • พุทธศักดินา: เข้ามาตั้งแต่สุโขทัย จนถึงช่วง รัชกาลที่ 3 ทำให้เกิด ‘การปกครองโดยธรรม’ ซึ่งตอนนั้นมีการแบ่งชนชั้นปกครอง และชนชั้นใต้การปกครอง รวมกับแนวคิดในไตรภูมิพระร่วง เรื่อง ‘กฎแห่งกรรม’ สนับสนุน

“คนที่เกิดมาเป็นชนชั้นสูง ก็เพราะมีบุญญาธิการ มีอำนาจบารมี คือชนชั้นสูง ส่วนไพร่ทาส ที่ต้องเป็นอย่างนั้นก็เพราะทำกรรมมา”

เราถึงได้เห็นชื่อของชนชั้นปกครองตั้งแต่กษัตริย์ ไปจนถึงพระที่มีสมณศักดิ์ ล้วนแต่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต แปลความหมายออกมาก็มีเชื่อมโยงกัน ระหว่างอำนาจและบารมี “มีบุญมาก ก็มีอำนาจมาก สัญลักษณ์วัดกับวังก็จำลองมาจากภาพจิตรกรรมของสวรรค์”

  • พุทธราชาชาตินิยม: ภายหลังรัชกาลที่ 4 มีคำว่า ‘ชาติ’ เข้ามาพร้อมความรู้สมัยใหม่ พุทธศาสนาก็ถูกตีความให้สนับสนุนชาติ จนเกิด ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ จนเกิดการตั้ง ‘มหาเถรสมาคม’ มีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์นี้ ที่ถือว่า พระราชาคือผู้นำ ความเจริญรุ่งเรือง ความมั่งคงสถาพรสู่ประเทศชาติ

“ร. 6 พูดชัดเจนว่า สีขาวในธงไตรรงค์ หมายถึงพระรัตนตรัย และยังบอกว่าฝรั่งก็มีศานาของชาติ คนไทยก็คือพุทธเป็นศาสนาประจำชาติติไทย”

โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ณ ปัจจุบัน คือ การก่อสร้างและออกแบบ ‘สัปปายะสภาสถาน’ หรือ รัฐสภา ที่ อ.สุรพศ อธิบายว่า เป็นการสร้างปรัชญาการเมืองแบบที่ผสมผสานทั้ง 2 ช่วงเวลาเอาไว้ 

“เพราะฉะนั้น ระบบการปกครองโดยธรรมที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ปกครองทั้งฝ่ายบ้านเมืองและศาสนจักร อำนาจของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ก็อยู่ภายใต้อำนาจพระมหากษัตริย์ที่ปกครองโดยธรรม ซึ่งการปกครองโดยธรรม ‘ตรวจสอบไม่ได้’ ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจน”

ทั้งหมดนี้ คือ ‘หัวใจของพุทธไทย’ ตามคำอธิบายของ อ.สุรพศ จนนำมาสู่ข้อเสนอที่ว่า หากต้องการให้วงการสงฆ์ไทยโปร่งใส จำเป็นต้องแยกศาสนาออกจากรัฐให้ได้

[ข้อเสนอแยกศาสนา จะก่อปัญหาลัทธิใหม่หรือไม่]

อ.สุรพศ ยกตัวอย่าง ประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น ที่มีการแบ่งแยกรัฐออกจากศาสนาได้ ซึ่งพื้นฐานก็มีสถาบันฯ เช่นเดียวกับไทย แต่มีอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ ที่เป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ประชาชนให้ความเคารพ โดยมีการจำกัดขอบเขตผ่านกฎหมาย

ในขณะที่ไทย กฎหมายมีการบัญญัติให้ สถาบันฯ มีความศักดิ์สิทธิ์โดยอิงศาสนา ให้เป็นที่เคารพสักการะ เป็นพุทธมามกะ ฉายให้เห็นชัดในพิธีราชาภิเษกที่อิงพุทธปรัชญาเถรวาท  โดยมีศาสนจักรเป็นองค์กรหนึ่งที่ขึ้นตรง 

นั่นเองก่อให้เกิดปัญหาว่า “ศีลธรรมแบบพุทธจริงๆ ทำงานไม่ได้ ทำให้พระมีหน้าที่อวยชนชั้นสูงอย่างเดียว สนับสนุนอำนาจให้ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้พัฒนาการของคณะสงฆ์และพุทธศาสนา ไม่ไปด้วยกันกับพัฒนาของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน”

อ.สุรพศ ยกตัวอย่าง วัดพระธรรมกาย ที่เติบโตด้วยการบริหารแบบเอกชน สันติอโศก ที่ได้รับการยอมรับเรื่องบริหารชุมชนได้ดี รวมถึงสวนโมกขพลาราม ที่ก็พยายามบริหารจัดการตนเอง “ถ้าแยกจากรัฐ เท่ากับเราไม่ต้องจ่ายภาษีอุปถัมภ์ให้ศาสนาไหนเลย ศาสนาต่างๆ อยู่ด้วยความสามารถของตัวเอง อยู่ด้วยเงินบริจาคจากศรัทธาประชาชน” 

ข้อดีของแนวคิดนี้ตามความเห็น อ.สุรพศ คือ การบริหารจัดการจะตอบโจทย์ความต้องการชุมชน และคนในพื้นที่เอง “ความโปร่งใส จะเกิดขึ้นเมื่อชุมชนตรวจสอบกันเอง”

หากเกิดปัญหาทุจริตขึ้น ก็จะจำกัดพื้นที่ไว้เพียงภายในองค์กรนั้นๆ เท่ากับเมื่อพบเหตุผิดปกติก็จะเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาด หละหลวมภายใน ซึ่งองค์กรที่ตั้งขึ้นมาลักษณะนี้ ระหว่างทางย่อมต้องมีการดำเนินการตรวจสอบภายใน อย่างที่กล่าวไปข้างต้น 

“เหมือนเรามีบริษัทเอกชนในประเทศ เขาโกงกันไหม โกงกันมากเท่าหน่วยงานรัฐไหม…ถ้าโกงเกิดขึ้นก็ผิดกฎหมายอยู่ดี”

ไม่ก่อให้เกิด ปัญหาลิทธิใหม่หลอมรวมคน? นับเป็นคำถามที่ตามมาทันที โดย อ.สุรพศ อธิบายว่า ลักษณะเช่นนี้เคยเป็นข้อกังวลในยุคกลางของยุโรป ที่เคยกลัวการสอนผิดเชื่อผิด ถึงได้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

ทว่า จนถึงตอนนี้ในตะวันตก คริสตจักรเองก็มีการแบ่งแยกนิกายย่อยมากมาย มีผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำศาสนาในหลายพื้นที่ 

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราปล่อยให้หลากหลายจริง มีเสรีภาพจริง มันไม่ได้แปลว่าไปด้านลบอย่างเดียว เราต้องเชื่อว่าประชาชนเขามีสมอง ตรวจสอบกันได้ รู้ได้ว่าอะไรจะพาเข้ารกเข้าพง แต่กฎหมายก็คุมอยู่ไง ในแง่ที่ว่า ถ้าเกิดลัทธิหลอกลวงต้มตุ๋น ละเมิดสิทธิเสรีภาพ พาคนไปฆ่าตัวตายหมู่ แบบนี้กฎหมายเข้าไปจัดการได้”

“ศาสนาจะมีชีวิตชีวา มีความหลากหลาย ตอบสนองความเชื่อของคนที่ไม่มีวันเหมือนกันอยู่แล้ว”

[ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?]

“ทำไมจะเป็นไปไม่ได้เฉพาะประเทศไทย ในขณะที่ประเทศอื่นเขาเปลี่ยนแปลงกันทั่วโลกแล้ว” เป็นคำตอบสั้นๆ อย่างตรงไปตรงมาในฐานะผู้ที่ติดตามพัฒนาการทางศาสนาของไทยมาตลอด ของ อ.สุรพศ เมื่อถูกถามว่า ไทยจะแยกศาสนาออกจากรัฐได้จริงหรือไม่

โดยเปรียบเทียบว่า ความเชื่อว่า ‘ไม่มีทางเกิดขึ้น’ ในประเทศไทยดูจะสุดโต่งเกินไป ไม่ต่างกับเวลาถูกถามว่า ไทยจะเป็นประชาธิปไตยเหมือนนานาประเทศได้หรือไม่

“ประชาธิปไตยมีลักษณะฆราวาส คืออำนาจรัฐบาลตัวแทนของเรา เป็นอำนาจทางโลก ไม่มีความเชื่ออะไรอิงกับศาสนาเลย ถ้ามีอะไรอิงก็จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างในอังกฤษ ไม่มีอะไรอยู่เหนือรัฐบาลได้ ทำไมคนอื่นเขาเป็นไปได้ (แยกศาสนาออกจากรัฐ) เราจะเป็นไม่ได้”

อ.สุรพศ ได้ยกตัวอย่างประเทศสวีเดน ที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงเป็น Secular State รัฐโลกวิสัย หรือ รัฐฆราวาส ซึ่งหมายถึงประเทศที่เป็นกลางในประเด็นศาสนา เคารพทุกคนอย่างเท่าเทียม ก็ไม่ได้เกิดการต่อสู้หรือปฏิวัติอย่างเช่นฝรั่งเศส 

“เกิดขึ้นจากคน ‘หันหลังให้โบสถ์’ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าโบสถ์ แต่ไม่ได้แปลว่าเขาทิ้งศาสนา ไบเบิลยังอยู่ที่หัวเตียง หรือในกลุ่มที่มานั่งศึกษาด้วยกัน”

ไม่ต่างกับพื้นที่ทำกิจกรรมทางศาสนาของไทย ที่บรรยากาศเงียบเหงาไม่ต่างกัน สืบเนื่องจากคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับศาสนามากขึ้น ไม่นิยมที่จะนิยามตัวเอง แต่หันไปสนใจศึกษาทุกแนวคิดเพื่อปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

ย้อนไปกรณีของปมทุจริตเงินวัดไร่ขิงที่กำลังถูกจับตา อ.สุรพศ มองว่า ภาพรวมของสถาบันอนุรักษนิยมของไทย “กำลังทำลายตัวเอง” ทำให้ตนเองเสื่อมศรัทธา ทั้งที่สถาบันศาสนาของไทย เคยถูกมองว่าเป็นต้นทุนทางสังคม ที่จะนำคำสอนมาพัฒนาจิตใจ ไม่แน่ เมื่อผู้คนหันหลังให้ศาสนาอาจแยกจากรัฐโดยปริยาย

“ศาสนาถ้าไม่แยกจากรัฐเลย ควรจะผ่อนปรนมากขึ้น…อย่างแก้รัฐธรรมนูญใหม่ให้พระเณรมีสิทธิเลือกตั้ง ปรับตัวเข้ากับโลกวิสัยและประชาธิปไตยมากขึ้น เพื่อให้เขาสนใจ แล้วมันจะมีไอเดียเรื่องสิทธิเสรีภาพเข้าไปในวัด เข้าไปสู่การบริหารจัดการวัดที่โปร่งใส ลดความเป็นเผด็จการของเจ้าอาวาส ของระบบการปกครองของสงฆ์”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า