SHARE

คัดลอกแล้ว

เป็นอีกครั้งที่กองทัพไทย ใช้ภาษีประชาชนอย่างเสียเปล่า นับหมื่นล้านบาท ในกรณีของเรือดำน้ำ มีโอกาสที่ไทยจะต้อง “เสียเงินฟรีๆ ให้จีน” โดยไม่ได้ของที่สั่งซื้อ เรื่องราวเป็นอย่างไร สำนักข่าว TODAY จะสรุปสถานการณ์ให้เข้าใจง่ายที่สุด

 

ในอดีต ทหารไทยได้ขึ้นชื่อว่า เป็นหน่วยงานที่ใช้เงินละลายน้ำมากที่สุดในประเทศ เพราะซื้อสินค้าแต่ละอย่าง ทั้งไม่มีคุณภาพ และไม่สามารถใช้งานได้จริง

ในปี 2552 กองทัพบกจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ในราคา 350 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ราคาซื้อขายจริงอยู่ที่ราคา 30-50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในเวลานั้น กองทัพบกยืนยันมาตลอดว่าสามารถใช้งานได้จริง บทสรุปคือไม่สามารถใช้งานได้ สุดท้ายปลดประจำการหลังซื้อมา 8 ปี โดยยังไม่ได้ใช้งานเป็นชิ้นเป็นอัน สูญเงินสามร้อยล้านฟรีๆ ไปง่ายๆ

หรือย้อนกลับไปไกลกว่านั้นเล็กน้อย เมื่อกองทัพอากาศ และกองทัพบก จัดซื้อเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 เครื่องละ 950,000 บาท เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 794 ล้านบาท แต่พอซื้อเสร็จ จ่ายเงินแล้ว เอามาทดสอบจริง ปรากฏว่า ในการตรวจหาระเบิด 20 ครั้ง ตรวจเจอแค่ 4 ครั้ง และภายหลังก็มีการเปิดเผยว่า แก๊งคนที่ขาย GT200 คือกลุ่มต้มตุ๋นลวงโลก ซึ่งกองทัพไทยก็เสียรู้ และสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ คือกองทัพเรือไทย ประกาศยืนยันว่า ต้องการซื้อเรือดำน้ำเพิ่ม 2 ลำ เพื่อการทำงานที่ครอบคลุมท้องทะเล ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย เพราะในขณะที่ชาติอื่นๆ รอบอาเซียน มีเรือดำน้ำกันแล้ว แต่ไทยไม่มีเรือดำน้ำที่ใช้การได้เลย ควรจะซื้อเอาไว้เพื่อคานอำนาจเพื่อนบ้านด้วย

ปี 2560 รัฐบาลยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติเห็นชอบ ในการซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำจากประเทศจีน ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท โดยไทยจะผ่อนชำระภายใน 6 ปี โดยเรือดำน้ำจะจัดส่ง ในปี พ.ศ.2566

แม้จะมีเสียงคัดค้านจำนวนมาก ว่าถ้าจะซื้อเรือดำน้ำทั้งที ทำไมไม่เลือกของประเทศอื่น โดยเฉพาะฝั่งยุโรป ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยกว่า แต่รัฐบาลยุคคสช. ตัดสินใจเลือกของจีน เพราะ “ทำราคาได้ถูกกว่า” นอกจากนั้นยังมีโปรโมชั่นหลากหลาย ทั้งผ่อนระยะยาวได้ รวมถึงจะช่วยสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเรือดำน้ำให้อีกด้วย

เว็บไซต์ thaiarmedforce เว็บการทหารชื่อดัง ระบุว่ากองทัพตัดสินใจเลือกโปรโมชั่นของจีน จนยอมมองข้ามปัจจัยคุณภาพเรือไปทุกๆ อย่าง

เนื้อหาระบุว่า “ผู้ผลิตในยุโรปเสนอเรือดำน้ำ 2 ลำ ตอร์ปิโดจำนวน 14 ลูก พร้อมข้อเสนอในการมอบอุปกรณ์การฝึกและคลังเก็บ มีการปรับปรุงท่าเรือ ปรับปรุง Simulator ปราบเรือดำน้ำให้ฟรี รวมถึงทำโรงซ่อมให้ใหม่ รวมถึงผู้ผลิตจากเกาหลีใต้ที่ได้รับเทคโนโลยีจากยุโรป ก็เสนอตอร์ปิโดให้ 8 ลูก และยินดีถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือให้บางส่วนด้วย”

“ขณะที่ข้อเสนอของจีน ให้ตอร์ปิโดเพียง 6 ลูกเท่านั้น นอกจากนั้น ในอดีตไทยเคยซื้อเรือจากจีนมาหลายครั้งแล้ว ปรากฏว่าต้องเสียเงินมาซ่อมแซมเพิ่มเติมทุกครั้ง เพราะอุปกรณ์จากจีนอายุสั้น หมดสภาพเร็วมาก ดัดแปลงลำบาก”

อย่างไรก็ตาม ดีลก็เดินต่อไป ในสัญญา กองทัพเรือไทย ตกลงกับบริษัท CSOC รัฐวิสาหกิจของจีน ที่ทำการต่อเรือ ระบุชัดเจนว่า ไทยจะซื้อเรือดำน้ำรุ่น S26T ที่ผลิตในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่เครื่องยนต์ จะใช้รุ่น MTU396 ที่ผลิตจากบริษัทชื่อ มอเตอร์ แอนด์ เทอร์ไบน์ ยูเนียน (MTU) ของประเทศเยอรมนี

ทุกอย่างตกลงกันเรียบร้อย ทางฝั่งจีนยืนยันตามนั้น โครงสร้างเรือ จีนจะผลิตเอง จากนั้นทาง CSOC จะซื้อเครื่องยนต์จากเยอรมนีมาใส่ให้เรียบร้อย ก่อนจะจัดส่งมาให้ไทยในปี พ.ศ. 2566

สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงของฝั่งไทย เกี่ยวกับการซื้อขายครั้งนี้ คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ ณ ขณะนั้น ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แต่ปัญหาที่ทำให้ทุกอย่างผิดแผน คือ รัฐบาลเยอรมนี สั่งบริษัท MTU ว่าห้ามขายเครื่องยนต์รุ่น MTU396 ให้กับจีน โดยไม่สนใจว่าลูกค้าที่รอซื้อต่อจะเป็นไทย

ที่สหภาพยุโรป (อียู) มีกฎที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1989 คือห้ามสมาชิกชาติยุโรป ขายอาวุธให้จีน หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่ก่อนหน้านี้ บริษัท MTU หลบเลี่ยงมาได้ตลอด โดยมองว่าเรือดำน้ำ เป็นอุปกรณ์การเดินเรือ เพื่อผลประโยชน์ในการสำรวจ ไม่ใช่อาวุธ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความสัมพันธ์ของจีน ที่เริ่มแตกร้าวกับ สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป ทำให้ รัฐบาลเยอรมนี ตีความว่า เรือดำน้ำคืออาวุธอย่างหนึ่ง และสั่งห้ามส่งเครื่องยนต์สำหรับใส่เรือดำน้ำให้จีนอย่างเด็ดขาด

นั่นทำให้ เรือดำน้ำที่จีนซื้อจากไทย มีแต่โครง ไม่มีเครื่อง กลายเป็นเรือดำน้ำแต่รูปทรง เดินเรือไม่ได้ ซึ่งจุดนี้ ปัญหาหลักคือกองทัพไทย ไม่เข้าใจสถานการณ์การเมืองโลก จ่ายเงินให้จีน คิดว่าจะได้ของ แต่สุดท้าย ไม่ได้อะไรเลย

รัฐบาลไทย ต้องการยกเลิกสัญญา เพราะจีนผิดสัญญา ไม่สามารถส่งมอบสินค้าตามสเปกที่สั่งซื้อได้ (โครงจีน + เครื่องเยอรมัน) แต่จีนที่รับเงินมัดจำไปแล้ว 7 พันล้านบาท ไม่ต้องการคืนเงิน และแจ้งไทยว่า จะขอใช้เครื่องยนต์รุ่น CHD620 ที่ผลิตในจีนแทน ฝั่งจีนบอกว่า “ใช้การได้” แต่ในข้อเท็จจริงคือ CHD620 ยังไม่เคยถูกใช้นอกน่านน้ำจีน แม้แต่ครั้งเดียว ถ้าเกิดไทยรับมา ก็จะกลายเป็นหนูทดลองตัวแรก

เท่ากับว่าประเทศไทย กลืนไม่เข้า คายไม่ออก สินค้าก็ไม่ได้ ขอคืนเงิน จีนก็ไม่ให้ และรัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่มีพาวเวอร์ในการทวงเงินคืนจากจีนด้วย สุดท้าย ไทยก็เลยมีแต่เรือดำน้ำ มีแต่โครง อยู่เช่นเดิม

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า “โอกาสที่จะได้เงินคืนเป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจการต่อรองเราไม่ได้มากขนาดนั้น”

สรุปแล้ว จากกำหนดการแรก ที่ต้องได้เรือดำน้ำมาใช้งานในปี 2566 จนถึงปัจจุบันปี 2568 ก็ยังไม่ได้ใช้เช่นเดิม

ความน่าสนใจคือ ไม่ใช่แค่ตัวเงิน 13,500 ล้านบาท ที่ต้องซื้อเรือดำน้ำเท่านั้น แต่รัฐบาล ยังมีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกันอีก 11,000 ล้านบาท เช่น การสร้างท่าจอดเรือ, งบฝึกอบรมการใช้เรือดำน้ำ, งบอำนวยการ ซึ่งตัวเลขก็ยังไม่มีการเปิดเผยว่า ได้เบิกจ่ายอะไรออกมาแล้วหรือไม่

เข้าสู่ยุคสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตัดสินใจเข้าไปเจรจา โดยตรงกับทางเยอรมนี โดยระบุว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่รัฐบาลไทยจะซื้อเครื่องยนต์โดยตรงจากเยอรมนีแล้วเอามาประกอบเอง เพราะไทยไม่ได้มีความขัดแย้งกับอียู และนาโต้ แต่เยอรมนีก็ไม่ขายอยู่ดี เพราะรู้ว่าไทยจะเอาไปใส่เรือดำน้ำที่ผลิตจากจีน

ในเมื่อเยอรมนีไม่ยอมขายเครื่องยนต์ให้ ทำให้ทางเลือกของประเทศไทยตอนนี้ มีอยู่ 2 อย่าง

อย่างแรก คือ รับเรือดำน้ำจากจีน ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ CHD620 ไว้ แล้วจ่ายเงินส่วนที่เหลือให้ครบ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า ผิดสเป็กทุกอย่าง ไม่ตรงกับที่สั่งของแต่แรก และไม่มีอะไรการันตีว่าเครื่องยนต์จีนจะใช้การได้ดีแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็จะได้เรือดำน้ำ 1 ลำมาใช้งาน

ถ้าคิดในแง่ดีคือ ณ เวลานี้ ไทยไม่ใช่ประเทศแรกอีกแล้ว เพราะมีปากีสถาน ที่เอา CHD620 ไปใช้ก่อนหน้านี้ และยังไม่มีปัญหาอะไร แต่คิดในแง่ร้าย คือ ทำไมไทยต้องโดนมัดมือชก ยอมรับของที่ไม่ได้สั่งด้วย

อย่างที่สอง คือ ยกเลิกไปเลย ล่มดีลแค่นี้ แต่เงินมัดจำที่จ่ายไปแล้ว 7,000 ล้านบาท ก็จะหายไปเลยเช่นกัน ไม่เหลือเลยแม้แต่บาทเดียว เข้ากระเป๋าจีนทั้งหมด และถ้านับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีการประเมินว่า ค่าโง่ครั้งนี้ของไทยสูงกว่า หมื่นล้านบาท

นี่คือสถานการณ์สุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งไม่ว่าไทยจะเลือกทางไหน ก็ถือว่าเป็นดีลที่ล้มเหลวสุดๆ อยู่ดี ถ้าไม่เป็นหนูทดลองตัวใหม่ ได้เรือดำน้ำที่มีความเสี่ยง ก็ต้องยอมรับสภาพสูญเงินไปอย่างเสียเปล่า นับพันล้าน หมื่นล้าน

เหตุการณ์เรือดำน้ำ ที่ถูกจัดซื้อในรัฐบาล คสช. คือหนึ่งในความวิบัติของประเทศไทย กับการใช้จ่ายเงินที่ไม่คิดถึงภาษีของประชาชน โดยภาษีจำนวนมหาศาล ถูกเอาไปใช้อย่างเสียเปล่า แต่ไม่ได้อะไรตอบแทนคืนกลับมาเลยแม้แต่นิดเดียว

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า