SHARE

คัดลอกแล้ว

‘เขาเป็นผู้ร้าย จะไปคุยด้วยทำไม?’ คอมเมนต์ในโซเชียลมิเดียลักษณะนี้ ปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อมีการพูดถึงการตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์ในพื้นที่ไม่น่าวางใจ ท่ามกลางเสียงนักวิชาการ ยืนยันว่า ไม่มีวิธีการไหน ดีไปกว่าการเปิดหน้าคุย

 

คงปฏิเสธไม่ได้ ว่านับแต่ปลายเดือนรอมฎอน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เหตุความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน ไม่เพียงเจ้าหน้าที่ซึ่งดูจะเป็นเป้าหลัก แต่กลับมีเด็กเล็กที่ได้รับบาดเจ็บมาแล้ว อย่างวานนี้ (21 พ.ค.) อส.ชุดคุ้มครองครู ถูกซุ่มยิงบาดเจ็บหน้าโรงเรียน ใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา จนสพท.สั่งหยุดเรียนชั่วคราว เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่อาจตัดปัจจัยของ ‘การเมืองท้องถิ่น’ ออกไปจากสมการความขัดแย้งได้ เพราะมีข้อสังเกตว่านำมาซึ่งเหตุรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก ช่วงเวลาดังกล่าวใกล้เคียงกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่มีการแข่งขันสูง

ณ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี วงเสวนาสาธารณะ “20 ปี ทำไมต้องพูดคุยสันติภาพ?” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ชวนไปดูกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ที่มีการร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง สะท้อนบทเรียน และเสนออนาคตของสันติภาพในพื้นที่ สำนักข่าว TODAY สรุปสาระสำคัญให้

[ปัญหาการเมือง ต้องแก้ด้วยการเมือง]

เริ่มต้น ดร.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ได้ไล่เรียงไทม์ไลน์กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีว่า ว่าเราควรจะเดินต่ออย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ดร.รุ่งรวี มองว่า ทุกฝ่ายควรจะต้องหยุดโจมตีพลเรือน ด้านขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN – Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี) ก็ควรเคารพในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อย่างที่ BRN ได้แสดงเจตจำนงว่า ยังคงเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอยู่ และการต่อสู้ไม่ควรมีพลเรือนที่ตกเป็นเหยื่อ

นักวิชาการสันติศึกษารายนี้ จึงมองว่า การพูดคุยยังคงมีความสำคัญ และสร้างผลลัพธ์ต่อความรุนแรงในพื้นที่ที่ชัดเจน ทำให้เหตุการณ์ลดระดับลง การปะทะกันด้วยอาวุธก็คลี่คลายลง พร้อมยืนยันว่า การต่อสู้ในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นการต่อสู้ในทางการเมือง เป็นเรื่องดินแดน ชาติพันธุ์ และศาสนา ซึ่งเป็นการต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานี “เมื่อเป็นปัญหาการเมืองก็ควรจะถูกแก้ไขด้วยกระบวนการทางการเมือง”

ดร.รุ่งรวี กล่าวต่อว่า  กระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการหนึ่งที่ถูกใช้ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับดินแดนทั่วโลก ซึ่งผลการวิจัยในหลายพื้นที่ แสดงให้เห็นแล้วว่า การสร้างกระบวนการสันติภาพ ย่อมดีกว่าการใช้กระบวนการปราบปรามทางการทหาร

ปัจจุบันกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ หยุดชะงัก ส่งผลให้ความเสี่ยงของความรุนแรงจะพุ่งสูงขึ้น ฉายภาพผ่านความรุนแรงตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา “ถ้ายังยื้อ การพูดคุยยังคงชะงักต่อไป และยิ่งนานเท่าไหร่ การที่จะรื้อฟื้นความเชื่อมั่นระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายก็จะยิ่งยากมากขึ้นเท่านั้น”

ที่มา: CSCD – PSU Pattani

สำหรับ การยุติการต่อต้านรัฐด้วยการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ซึ่งรวมถึงแนวทางการเปิดทาง ถอยให้ผู้เห็นต่างกลับคืนสู่สังคมนั้น ดร.รุ่งรวี เชื่อว่า ไม่อาจสร้างสันติภาพ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างได้

อย่างไรก็ดี นโยบายจะเป็นอย่างไร ยุทธศาสตร์ทางการเมืองใดที่รัฐบาลกำลังมองหา ล้วนขึ้นอยู่กับรัฐบาล รวมถึงเจตจำนงของรัฐบาลเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง “ยุทธศาสตร์ทางการมืองจะเป็นจุดเริ่มตันที่สำคัญในการรับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพไปอย่างมีพลัง” ดร.รุ่งรวี กล่าว

[ความรุนแรงลดลงจากการเจรจา แม้แต่ในสมัยรัฐบาลทหาร?]

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  กล่าวถึงประเด็นที่มีการเผยแพร่งานวิจัยว่าด้วย BRN หรือขบวนการปลดปล่อยรัฐปาตานี มีเงินหมุนเวียนกว่าพันล้านบาทนั้น

นักวิชาการรายนี้ เห็นว่า เป็นวิจัยและมุมมองหนึ่งในทางวิชาการที่มีการศึกษา แต่ไม่อาจรู้ได้ว่า ผู้จัดทำได้ตัวเลขมาได้อย่างไร และถูกต้องหรือไม่ และ BRN ได้เก็บภาษีจากสวนยางของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่

ในฐานะการเป็นนักวิจัยเช่นกัน ผศ.ดร.ศรีสมภพ มองว่า BRN ไม่น่าจะมีเงินมากมายถึงขนาดนั้น แต่ข้อจุดแข็งของ BRN คือ มีพื้นฐานการสนับสนุนของพี่น้องประชาชน แต่ก็มีต้นทุนต่ำ ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะหาเงินทุนได้มากมายขนาดนี้ เพราะหาก BRN มีเงินตามนั้นจริง ก็ไม่น่าจะต้องมาต่อสู้ใต้ดิน เพื่อเป้าหมายทางการเมือง น่าจะไปทำธุรกิจการเมืองมากกว่า เพราะเสียเวลาที่จะรวย

“BRN ไม่น่าจะมีเงินถึงขนาดนั้น เพราะต้นทุนในแง่ของขบวนการในการต่อสู้แบบนี้ ไม่มุ่งเน้นการแสวงหากำไรหรือผลประโยชน์มากขนาดนั้น  BRN เป็นขบวนการหนึ่งที่มีอุดมการณ์เป็นเป้าหมายหลักในการต่อสู้มากกว่า”

ในโอกาสที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ จะครบ 12 ปี ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่มีการพูดคุยสันติภาพในปี พ.ศ.2556 เมื่อเปรียบเทียบสถิติของศูนย์เฝ้าระวังชายแดนภาคใต้ DSW พบว่า เหตุการณ์ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ 

สถิติเหตุการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ มีความรุนแรงขึ้น-ลง  แต่เมื่อปี 2556 เหตุการณ์เหมือนเดินลงบันไดอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับข้อมูลของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พบว่า เหตุการณ์ในปีเดียวกันลดลงเช่นกัน

“การเปิดหน้าคุยอย่างเป็นระบบจากฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์จากรัฐ มีส่วนทำให้เหตุการณ์ในพื้นที่ลดลง”

ด้วยประสบการณ์ที่เข้าร่วมวงพูดคุย ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ในปี 2556 เป็นการนั่งคุยระหว่างฝ่ายรัฐบาล นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร  และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ขณะที่ อีกฝั่งหนึ่งเป็นขบวนการ BRN นั้น นับเป็นเรื่องดี และสามารถแก้ปัญหาได้ ตามทฤษฎีการพูดคุยสันติภาพ บรรยากาศการพูดคุยอย่างชัดเจน เปิดเผย และทุกฝ่ายสามารถแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ถึงความคับแค้นในอดีตผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ทำให้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ รับรู้ความรู้สึกนั้นเป็นครั้งแรก

“เราเห็นได้ชัดว่า คนที่ถึงขนาดทะเลาะกัน ฆ่ากันได้ จับปืนมาสู้กัน สามารถมานั่งพูดคุย และเปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง แม้ความคิดเห็นอาจไม่ตรงกัน แต่ก็มาพูดคุยกัน”

ที่มา: CSCD – PSU Pattani

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การมาพูดคุยกับฝ่ายปฏิบัติการระดับบน ไม่ได้เป็นผลดีเฉพาะในระดับผู้นำเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อฝ่ายปฏิบัติการข้างล่าง ที่หมายถึง กองกำลังทั้งฝ่ายขบวนการและฝ่ายรัฐในทุกระดับด้วย

ยิ่งกว่านั้น ยังมองเห็นถึงข้อดีจากการพูดคุยอย่างเปิดเผย และการทำข้อตกลงร่วมกัน แม้ประเด็นการพูดคุยจะไม่ถูกเห็นด้วย แต่ทำให้เห็นการคลี่คลายของความรุนแรง และการส่งเสริมกระบวนการสันติภาพอย่างมีขั้นตอน

อย่างไรก็ดี การพูดคุยสันติภาพในการขณะนั้น ก็ต้องเจอกับเหตุการณ์ทางการเมือง โดยการรัฐประหารในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กระบวนการพูดคุยสันติภาพกลับดำเนินอยู่ เนื่องจากฝ่ายทหารก็เห็นด้วย ทำให้ช่วง 7-9 ปี ในสมัยรัฐบาลทหาร มีการพูดคุย  20-23 ครั้ง โดยประมาณ และเป็นการพูดคุยที่เกิดขึ้น ระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและขบวนการมาราปาตานี

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงที่ลดลงเป็นผลลัพธ์มาจากกระบวนการพูดคุย ตามความเห็นของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ในฐานะผู้ที่อยู่ในพื้นที่จริง ไม่เว้นแม้แต่ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 แต่แล้ว ในปี พ.ศ.2567 เหตุการณ์กลับมารุนแรงขึ้น เนื่องจากขณะนั้นในเดือน ส.ค. มีการยุติการพูดคุย และรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้การพูดคุยยุติลง และไม่มีการแต่งตั้งหัวหน้าพูดคุยนับตั้งแต่นั้น

“มันชัดเจนเลยว่าการพูดคุยจำเป็น มันต้องมีการพูดคุยสันติภาพ เพราะทำให้เหตุการณ์ลดลง คนตายลดน้อยลง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

[‘แยกประเทศ’ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ]

อีกคนหนึ่งที่มองว่า ช่วงการเจรจาสันติภาพเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เหตุการณ์ในพื้นที่ลดลง คือ อัญชนา หีมมิหน๊ะ สมาคมด้วยใจเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

อัญชนา กล่าว่า สิ่งที่นำไปสู่ความกังวลใจของรัฐบาลไทยคือ กระบวนการเจรจาสันติภาพจะนำไปสู่การแยกเป็นประเทศ ซึ่งการแยกประเทศที่สำเร็จและมองเห็นได้ชัดคือ ติมอร์ตะวันออก และประเทศซูดาน แต่สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ ยังคงต้องใช้เวลา

สำหรับ การเจรจาสันติภาพในประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน  เช่น อาเจะห์ อินโดนีเซีย เขตปกครองตนเองบาสก์ สเปน มินดาเนาฟิลิปปินส์ หรือ นอร์ทไอสแลนด์ อัญชนา เล่าว่า ประเทศเหล่านี้ผ่านการต่อสู้ไม่ต่ำกว่า 30 ปี ผ่านการเจรจา และจัดการปกครองรูปแบบพิเศษ ควบคู่ไปกับ การแก้ปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น การจัดสรรทรัพยากร แก้ปัญหาการปกครอง ความไม่เข้าใจเรื่องชาติพันธุ์  เป็นต้น

อัญชนา เล่าต่อว่า วิธีการเจรจาของประเทศเหล่านี้ กลายเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาในภูมิภาคยุโรป เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ลดความขัดแย้งทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ มองกลับมาที่บ้านเรา การเจรจาสันติภาพ ก็ควรเพิ่มการมีส่วนร่วม รับข้อเสนอของประชาชน และออกแบบกฎหมายให้เหมาะสม

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังคงมีการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมจัดการคนเห็นต่าง ทว่า อัญชนา เชื่อมั่นว่า การเจรจาพูดคุยสันติภาพ จะทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลง ประชาชนจะกล้าพูดถึงความต้องการของตัวเอง ไม่กังวลว่าจะต้องเป็นเหยื่อ อย่างที่เคยเกิดขึ้น

“ถ้าเมื่อไหร่พื้นที่การเมืองเปิด มีการเจรจา มีการทำฉันทามติร่วมกัน ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อนั้นก็ไม่มีการใช้อาวุธ ลดความสูญเสีย ไม่มีคนต้องตาย เราสามารถรักษาชีวิตชาวพุทธ และชาวมุสลิมในพื้นที่ แต่ถ้าเราใช้กำลังแบบศรีลังกาเราต่างสูญเสีย ไม่ควรมีใครต้องมาเอาชีวิตมาแลก เพื่อปกป้องสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างดินแดน ประเทศ”

อัญชนา กล่าวต่อว่า การเจรจาและการพูดคุยสันติภาพสามารถนำไปสู่การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น และเป็นการช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน “ทำไมการเจรจาสันติภาพถึงสำคัญ มันไม่ใช่เพียงการรักษาชีวิตคนใดคนหนึ่ง แต่มันสามารถรักษาชีวิตของคนทั้งหมดได้ รวมถึงประเทศ”

ที่มา: CSCD – PSU Pattani

[5 ข้อเสนอของ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้]

ช่วงหนึ่งของเวทีสาธารณะ ได้เปิดข้อเสนอภาคประชาสังคมชายแดนใต้ โดย ผู้แทนเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ทั้งจากกลุ่มต้นกล้าพันธุ์ใหม่ องค์การเยาวชนเมืองสาย Persatuan Pemuda/Pemudi Sai – (Persai) เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ The Patani และมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สาระสำคัญ 5 ข้อ คือ

1) ท่ามกลางสถานการณ์ของความรุนแรงชายแดนใต้/ปาตานีที่เข้มข้นขึ้นในเวลานี้ เราขอให้พี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือไม่ได้มีศาสนาได้โปรดอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ที่มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความหวาดระแวงและแตกแยกระหว่างกัน สถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ยิ่งต้องทำให้เราเห็นอกเห็นใจกัน เป็นกำลังใจให้กัน

2) ขอให้สื่อมวลชน โปรดใช้ความระมัดระวังในการรายงานข่าวสารที่อาจจะกลายเป็นการเลือกปฏิบัติ ตีตรา เหมารวม หรือทำให้เป็นอื่น สร้างอคติ ความเกลียดชังระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์

3) “เสียงจากคนใน” เสียงจากคนในพื้นที่ทั้งพุทธ มุสลิมและศาสนาอื่น พวกเราไม่เอาความรุนแรงและต้องการให้ใช้สันติวิธี เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน ต่อกระบวนการสันติภาพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบทบาทในการใช้ความรุนแรง ต้องยุติการกระทำที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และร่วมออกแบบอนาคต ด้วยความรับผิดชอบและเกียรติภูมิ

4) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม รัฐบาลต้องเดินหน้าการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง ไปให้พ้นจากวาทกรรมทางการเมืองคุยกับโจร หรือวาทกรรมเรื่องตัวจริง-ตัวปลอม วาทกรรมเหล่านี้ คือตัวถ่วงทำลายกระบวนการพูดคุยสันติภาพ อันเป็นกระบวนการหลักสากลในพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก

5) สันติวิธีคือทางออกเดียวของปัญหาความขัดแย้ง  กระบวนการสันติภาพไม่ใช่เครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์แต่คือการเปลี่ยนผ่านอย่างลึกซึ้งและซื่อตรง ไม่มีพื้นที่ขัดแย้งใดในโลกที่ความขัดแย้งจบลงด้วยปลายกระบอกปืน ความขัดแย้งจบลงด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า