SHARE

คัดลอกแล้ว

โครงการเส้นทางรถไฟเชื่อมชายฝั่งตะวันออก (East Coast Rail Link – ECRL) ที่ตัดเชื่อมระหว่างชายฝั่งทางตะวันออกไปยังฝากตะวันตกของมาเลเซีย อาจไม่ใช่เพียงยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของมาเลเซีย แต่ยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงที่มีนัยสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เส้นทางสายนี้เริ่มจากเมืองโกตาบารู ในรัฐกลันตัน ทางตะวันออกของมาเลเซีย ผ่านรัฐตรังกานู รัฐปะหัง และรัฐสลังงอร์ ตัดเข้าสู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวง และไปสิ้นสุดที่เมืองกลัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือกลัง ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและหนึ่งในศูนย์กลางขนส่งของอาเซียน ระยะทางรวมกว่า 665 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนสูงถึง 50,000 ล้านริงกิต หรือคิดเป็นเงินไทยราว 385,000 ล้านบาท

นี่ไม่ใช่แค่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังสะท้อนความทะเยอทะยานของรัฐบาลมาเลเซียในการวางตำแหน่งประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางฝั่งตะวันออกซึ่งเคยถูกมองข้าม และเผชิญข้อจำกัดด้านการเข้าถึงแหล่งทุน ตลาด และโอกาสทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างทะเลอันดามันกับมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเผชิญความท้าทายจากความแออัดคับคั่ง จนถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่ง ‘จุดคอขวด’ ที่สร้างอุปสรรคให้กับการขนส่งทางทะเล 

ECRL จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่มาเลเซียหวังใช้คว้าโอกาสด้านการขนส่งไว้ในมือ และแน่นอนว่า เรื่องนี้ไทยไม่ควรมองข้าม เพราะเบื้องหลังเส้นทางรถไฟสายนี้ คือเกมใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่เงียบๆ 

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน โครงการนี้จะแล้วเสร็จในปี 2026 และเมื่อถึงตอนนั้น ภูมิทัศน์โลจิสติกส์ของมาเลเซียจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญ แรงสะเทือนจะไม่หยุดอยู่แค่ที่มาเลเซียเท่านั้น แต่ไทยซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมต่อของภูมิภาคจะสะเทือนไปด้วย นี่คือเรื่องใหญ่ที่ไทยต้องจับตาและเตรียมพร้อมรับมืออย่างจริงจัง

 

ยุทธศาสตร์ BRI กับบทบาทของ ECRL

เหตุผลที่สำคัญคือ ECRL ไม่ใช่แค่เส้นทางเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝากฝั่งของมาเลเซีย แต่โครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative – BRI) หรือที่เคยรู้จักกันในชื่อโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (One Belt One Road) “ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญของจีนในการขยายอิทธิพลผ่านเครือข่ายคมนาคมบกและทะเลในสามทวีป”

นั่นหมายความว่า ECRL ไม่ใช่แค่โครงการในประเทศ แต่คือ ‘ข้อต่อ’ ระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงเส้นทางยุทธศาสตร์จากจีนตอนใต้ ผ่านลาวหรือเวียดนาม ลงใต้สู่คาบสมุทรมลายู โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือการเปิด ‘ทางเบี่ยง’ ช่องแคบมะละกา

และสิ่งที่ตอกย้ำบทบาทระดับภูมิรัฐศาสตร์ของโครงการนี้ คือการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีจากจีนโดยตรง ผ่านการลงทุนจากบริษัท China Communications Construction Company (CCCC) ซึ่งไม่เพียงเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก แต่ยังมีบทบาทในฐานะผู้ผลักดันนโยบาย BRI ในหลายประเทศ จึงอาจบอกได้ว่าโครงการ ECRL เป็นการผนวกมาเลเซียเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ BRI อย่างสมบูรณ์

 

ผลกระทบต่อแลนด์บริดจ์ไทย

คำถามที่ตามมาคือ ไทยจะได้รับผลกระทบอะไรจากโครงการนี้ ถ้าลองพิจารณาดีๆ การที่ ECRL ถูกออกแบบให้เชื่อมชายฝั่งด้านตะวันออกและตะวันตกของมาเลเซียเข้าด้วยกัน เพื่อลดการแออัดของการขนส่งสินค้าทางเรือบริเวณช่องแคบมะละกา เป็นวัตถุประสงค์เดียวกับข้อเสนอโครงการสะพานเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ 

แต่ในขณะที่ ECRLกำลังก่อสร้างคืบหน้าไปไกล  พร้อมแรงหนุนจากจีนทั้งเงินทุน เทคโนโลยี และเครือข่ายผลประโยชน์ระดับภูมิภาค แลนด์บริดจ์ของไทยกลับยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาและแสวงหาความชัดเจนจากทั้งภาครัฐและเอกชน

ความท้าทายที่สำคัญจึงไม่ใช่แค่ขอบเขตของโครงการ แต่คือ  “จังหวะเวลา” และ “ระดับความแน่วแน่” ของแต่ละประเทศ เพราะต้องไม่ลืมว่า หาก ECRL สำเร็จตามแผนภายในปี 2026 และสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟจีน-ลาว หรือแม้แต่เส้นทางของเวียดนามได้จริง มีโอกาสที่มาเลเซียจะกลายเป็นจุดขนถ่ายสินค้าหลักของจีนในอาเซียน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่ง ‘เส้นตัดผ่านภาคใต้ของไทย’ อย่างที่เคยวางแผนไว้ในอดีต

นั่นหมายความว่าแลนด์บริดจ์ของไทยอาจถูกลดบทบาทลงจาก ‘จุดเปลี่ยนเกม’ กลายเป็นแค่ ‘ทางเลือกสำรอง’ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อโอกาสการลงทุน การจ้างงาน และศักยภาพเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว

 

ไทยต้องเดินเกมอย่างไร?

แม้ว่าโครงการ ECRL จะถูกมองเป็นความท้าทายของแลนด์บริดจ์โดยตรง แต่หากไทยยังมอง ECRL แค่ในมุม ‘คู่แข่ง’ ของแลนด์บริดจ์ คงจะเท่ากับเสียทั้งโอกาสและพื้นที่ต่อรองในคราวเดียว สิ่งที่เราควรทำในเวลานี้ไม่ใช่แค่ “เร่งเดินหน้า” โครงการของตัวเองให้เป็นรูปธรรม แต่คือ “ปรับเกม” ให้ทันกับโครงสร้างอำนาจใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นรอบตัว

ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามจากรัฐบาลไทยในการเสนอให้เชื่อมต่อ ECRL จากเมืองโกตาบารูไปยังชายแดนที่สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ข้อเสนอนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งสองฝ่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างสองประเทศ และเชื่อมต่อกับเครือข่ายรถไฟแพนอาเซียน (Pan-Asia Railway Network) ที่ครอบคลุมจีน ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

การเชื่อมต่อ ECRL ไปยังสุไหงโกลกจะเปิดโอกาสให้ไทยสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายรถไฟของมาเลเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของภาคใต้ (ดูแผนที่ประกอบเพื่อเข้าใจตำแหน่งและเส้นทางเชื่อมต่อ)

นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมฮาลาล โดยไทยสามารถเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบและส่วนผสม ในขณะที่มาเลเซียมีความเชี่ยวชาญด้านการรับรองฮาลาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดประเทศอ่าวอาหรับและจีน

เพียงแต่โครงการนี้ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ชายแดน การจัดการด้านศุลกากรและตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ 

คำถามสุดท้ายแต่สำคัญที่สุด อาจอยู่ที่ วันนี้ไทยขยับเร็วพอแล้วหรือยัง ในวันนี้เพื่อนบ้านกำลังเดินหน้าต่อไม่หยุด อย่าลืมว่า “ถ้าจีนสามารถขนถ่ายสินค้าผ่านมาเลเซียได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องผ่านไทย อะไรจะเกิดขึ้นกับบทบาททางภูมิรัฐศาสตร์ของเรา? 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า