SHARE

คัดลอกแล้ว

“วันนี้ต้องเปลี่ยนแปลง เพราะผมไม่ใช่ทหาร เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร”  ประโยคนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หากยังเป็นยุคที่นักข่าวการเมืองยังตั้งฉายารัฐบาล เชื่อขนมกินได้เลยว่าต้องติดโผ “วาทะแห่งปี”

 

คำนี้ถือว่ามีความหมายอย่างยิ่ง เพราะนับแต่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นำกำลังทหารออกจากกรมกองเข้ามายึดอำนาจการบริหารประเทศ เขายืนยันมาโดยตลอดว่า เขาไม่ใช่นักการเมือง หากแต่เป็นผู้ที่เข้ามาเพราะมีภาระกิจเฉพาะหน้ารักษาความสงบ และหลายครั้งที่เขาชี้เป้าไปว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้เป็นเพราะนักการเมืองบางกลุ่ม

 

ประโยคที่เขาพยายามยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมืองมีให้ได้ยินตลอด ไม่ว่าจะเป็น

 

ผมไม่ได้มาจากการเมือง ไม่ใช่นักการเมือง ผมมาในช่วงวิกฤติด้วยวิธีพิเศษบวกปกติ”  โดยประโยคนี้กล่าวหลังการประชุมร่วม ครม. และ คสช. เมื่อวันที่  24 ก.พ. 2558

 

หรือในปลายปีเดียวกันที่กล่าวว่า “มีคนบอกว่าผมเป็นนักการเมืองแล้ว ยืนยันว่าไม่ใช่ ผมยังเป็นนักการทหาร เพียงแต่เข้ามาทำหน้าที่นักการเมืองบริหารงานของภาครัฐเท่านั้น”

 

หรือกระทั่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในวันที่ 28 พ.ย. 2560 เมื่อนายกฯ ถูกถามถึงการกระทำในช่วงที่ผ่านมา ที่ถูกตั้งคำถามว่ากำลัง “ดีล” กับกลุ่มขั้วการเมืองบางกลุ่มหรือไม่  เขาก็ยังตอบเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า “ผมไม่ได้มองหรือดีลการเมืองกับใคร เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง ผมไม่ดีลกับใครทั้งสิ้น”

 

คำถามคืออะไรที่ทำให้เขายอมรับเช่นนี้  เขาเป็นนักการเมืองจริงหรือไม่ และเป็นมาตั้งแต่เมื่อไหร่

 

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมาย “นักการเมือง” ไว้ว่า  “ผู้ฝักใฝ่ในทางการเมือง, ผู้ที่ทำหน้าที่ทางการเมือง เช่นรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา.

 

ตีความแบบตรงตัวง่ายๆ นั้น “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนักการเมืองแล้วตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เพราะเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมือง และในวันที่ 24 ส.ค. 2557 เขาก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่ง ซึ่งยิ่งชัดเจนว่าเขาเป็นนักการเมืองอย่างเต็มตัวตั้งแต่ครั้งนั้น แม้ว่าจะพยายามปฏิเสธขนาดไหนก็ตาม

 

Max Weber นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อก้องโลกได้ให้นิยามของ “การเมือง” ไว้ว่า “การเมืองเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มในสังคมเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจวาสนา” 

 

นักการเมืองจึงหมายความว่าเป็นผู้ที่ต่อสู้ระหว่างกลุ่มในสังคมเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจวาสนา

 

ขณะที่เมืองไทยนั้น ได้มีนิยามแฝงของ “นักการเมือง” ไปในทางที่ไม่ดีนัก โดยมักจะมองนักการเมืองว่าเป็นผู้ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ ที่จะสามารถนำมาซึ่งอำนาจวาสนาอื่นและผลประโยชน์ในทางอันมิควรได้

 

นี่ก็เป็นมุมมองที่ “นายกฯ ประยุทธ์” มองนักการเมือง และแน่นอนย่อมหมายถึงบทบาทของผู้ร้าย ต่างจาก “คนดี” ที่จำเป็นต้องเข้ามาสู่อำนาจการปกครองประเทศ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ต้องการ แต่ต้องทำภารกิจเพื่อชาติ ดังที่เราจะได้เห็นจากวาทะที่ว่า วันที่ทำรัฐประหาร พวกเขา “ร้องไห้กันทั้งบ้าน”

 

อย่างไรก็ตาม คำว่าเข้าสู่อำนาจการปกครองและอำนาจทางการเมือง มิจำกัดอยู่เฉพาะผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น  แต่ยังหมายรวมถึงการแต่งตั้งหรือการเข้าควบคุมอย่างการรัฐประหาร  ดังนั้นคณะผู้รัฐประหาร และผู้ที่มาทำหน้าที่ต่างๆ ในคณะรัฐประหาร เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือคณะรัฐมนตรี ล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองแล้วทั้งสิ้น

 

เอาเข้าจริงการเป็น “นักการเมือง” นั้นก็ไม่ได้น่ารังเกียจอย่างใด หากเป็นการเข้ามาสู่อำนาจเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือการแสวงหาอำนาจนั้นทำตามครรลอง ที่ผ่านมานโยบายหลายอย่างเดินหน้าได้ก็ด้วยนักการเมือง

 

แต่ที่น่าสนคืออะไรที่ทำให้ “ประยุทธ์” ยอมรับว่าเป็นนักการเมืองเสียที ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะในแนวทางไหนก็ต้องถือว่าเขาเป็นมานานแล้ว

 

สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ ปีนี้ถือเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อ หากยึดตามคำที่เขาประกาศไว้ในปีนี้ ก็น่าจะมีเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นปีที่อำนาจเต็มในฐานะคณะรัฐประหารจะถูกเปลี่ยนถ่ายไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

แน่นอนว่า “ประยุทธ์” ถูกคาดหมายตั้งแต่แรกๆ ว่าเขาอาจจะกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญที่วางเอาไว้ แต่หากเขาไม่ยอมประกาศว่าเป็นนักการเมือง นัยหนึ่งจะหมายถึงการแทงกั๊กและทำให้เขาไม่สะดวกที่จะกระทำการใดๆ ที่จะกรุยทางขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ อีกสมัยหรือไม่

 

ที่ผ่านมาหากไม่ปฏิเสธความจริงกันเกินไป สิ่งที่ “ประยุทธ์” ทำนั้นก็ไม่ต่างจากสิ่งที่ “นักการเมือง” ทำเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม การหาเสียงเรียกคะแนน หรือกระทั่งการเริ่มต่อสายหาเสียงสนับสนุนจากกลุ่มนักการเมือง

 

การเหนียมอายต่อไปอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก แต่การเปิดตัวจองที่นั่งแต่หัววันอาจเป็นผลบวกกับเขา ใครเล่าจะไม่เอื้อเฟื้อเป็นพิเศษกับอำนาจรัฐปัจจุบันที่ประกาศตัวหวังจะเป็นอำนาจรัฐต่อในอนาคต

 

ณ วันนี้วันที่เขายอมรับว่าเป็นนักการเมือง เราจะเห็นได้ว่าเขามีความได้เปรียบ “นักการเมือง” คนอื่นๆ อยู่มากโข ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ การเดินหน้าโครงการ นโยบายต่างๆ รวมถึงการเดินหน้าหาเสียงในฐานะรัฐบาล ขณะที่นักการเมืองคนอื่นยังคงถูกจับมัดมือมัดเท้าห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหากยึดตามคำสั่งง ม. 44 ฉบับที่ 53/2560 กว่าที่จะทำอะไรที่เป็นเรื่อง “การเมืองจริงๆ” ได้ นอกจากเรื่องธุรการ ก็อาจปาเข้าไปช่วงครึ่งปีหลัง

 

มีเวลาเหลือเฟือที่จะเดินหน้าทำอะไรเพื่อเรียกความนิยม ไม่รวมถึงอำนาจพิเศษที่จะคอยช่วยเหลือ

 

การที่นายกฯ ยอมรับว่าเป็นนักการเมืองอาจเป็นเรื่องดี เพราะการยอมรับความจริงถือเป็นก้าวแรกของความถูกต้องทั้งปวง และการที่เขาอยากเป็นหัวหน้ารัฐบาลในสมัยที่ 2 ก็ไม่ใช่เรื่องผิดประหลาด  หากเป็นการเข้ามาที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม มิใช่การเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

 

การเปิดตัวให้ประชาชนเลือก และได้รับความนิมจากประชาชนย่อมสง่างามกว่าการเข้ามาโดยอำนาจพิเศษยิ่งนัก

 

แต่ก็ต้องเตือนว่า ท่านอย่าติดนิสัยทหารและใช้กำลังทหารแบบที่ผ่านมาให้มากนัก เพราะนั่นไม่ใช่วิถีทางของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นวิถีทางของนักการเมืองในอีกระบอบ

 

และที่สำคัญ  เมื่อเป็นนักการเมืองแล้วก็ควรจะเท่าเทียม ไม่ควรมีใครมีอำนาจพิเศษ หรือขัดขวางคนอื่นไม่ให้ขยับได้ ไม่เช่นนั้นคนเขาจะตราหน้าว่า “เอาเปรียบ”

 

บทความโดย “อสรพิษ”

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า