SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในหลายประเทศแถบเอเซียตะวันออกที่รับเอาแนวคิดขงจื๊อมาปรับใช้กับวิถีการดำเนินชีวิต โดยแนวคิดขงจื๊อถูกเผยแพร่เข้ามาในประเทศเกาหลีตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 พร้อมๆกับศาสนาพุทธแม้เวลาผ่านไปศาสนาพุทธเสื่อมความนิยมลงแต่แนวคิดขงจื๊อก็ยังอยู่คู่กับสังคมเกาหลีมาจนถึงปัจจุบัน 

แก่นสำคัญของแนวคิดขงจื๊อคือความเชื่อที่ว่า สังคมคือตัวแปรสำคัญของทุกสิ่ง สังคมจะดำรงได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกในทุกหน่วยของสังคมรู้จักหน้าที่ของตัวเองและปฏิบัติตามหน้าที่ที่มีอย่างเคร่งครัด โดยขงจื๊อได้จัดความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 5 ประเภทรวมถึงกำหนดหน้าที่ที่บุคคลประเภทต่างๆพึงปฏิบัติต่อกันดังนี้

  1. ผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง โดยผู้ปกครองต้องปกครองผู้ใต้ปกครองอย่างเป็นธรรมและให้เกียรติ ในขณะที่ผู้ใต้ปกครองต้องจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง
  2. บิดามารดากับบุตรและธิดา โดยบิดามารดาต้องให้ความเมตตากรุณา ส่วนบุตรธิดาต้องเชื่อฟัง และมีความกตัญญูกตเวที
  3. สามีกับภรรยา โดยสามีต้องมีคุณธรรม ขณะที่ภรรยาก็ต้องเชื่อฟังสามี
  4. พี่กับน้อง โดยพี่ต้องประพฤติตัวให้สมกับความเป็นพี่ ส่วนน้องก็ต้องเคารพเชื่อฟังพี่
  5. เพื่อนกับเพื่อน โดยเพื่อนต้องสร้างความไว้วางใจให้แก่กันและต้องสร้างความเชื่อใจกันได้

แม้เวลาผ่านไป พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง แต่แนวคิดขงจื๊อยังคงฝังรากลึกในสังคมเกาหลี หลายคนพยายามตั้งคำถามถึงความร่วมสมัยของแนวคิดที่ดูเหมือนจะไม่เข้ากันไม่ได้กับสภาพสังคมเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบทบาทสตรีที่ถูกกำหนดให้เป็น แม่ เมีย และลูกสาวที่ดี หรือ ผู้บทของน้อยต้องเคารพและเชื่อฟังของผู้ที่อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่ดูเหมือนว่า เสียงส่วนใหญ่ของสังคมยังเชื่อว่าแนวคิดขงจื๊อเป็นแนวคิดที่มีความจำเป็นต่อสังคม และไม่ควรเปลี่ยนแปลง

นอกจากวิถีการดำเนินชีวิตแล้ว แนวคิดขงจื๊อได้ถูกสอดแทรกเข้าไปในงานศิลปะประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ วรรณกรรม หรือแม้แต่ภาพยนตร์และซีรีส์ทางโทรทัศน์ สำหรับภาพยนตร์ และซีรี่ส์ แนวคิดขงจื๊อถูกนำเสนอ 2 ลักษณะ ได้แก่ การเชิดชู และ การวิพากษ์

Train to Busan กับแนวคิดขงจื๊อเรื่องการทำหน้าที่

 

ภาพยนตร์ที่เชิดชูแนวคิดขงจื๊อส่วนใหญ่มักเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของ ตัวละคร (ชายเสียส่วนใหญ่) ที่ต้องถูกทดสอบบทบาทและหน้าที่พึงกระทำ ไม่ว่าจะในฐานะของ คนรักที่ต้องปกป้องคนที่รัก พ่อที่ต้องปกป้องลูก หรือ ลูกที่ต้องตอบแทนพระคุณของพ่อแม่  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan (2016) ที่เป็นเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่ง ทีต้องโดยสารรถไฟจากเมืองหลวง โดยมีจุดหมายคือเมืองบูซานที่อยู่ทางใต้สุดของประเทศ โดยในเวลาเดียวกันได้เกิดเชื้อไวรัสระบาดส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากกลายเป็นซอมบี้ออกเข่นฆ่าคนปกติ  

หากเปรียบรถไฟขบวนดังกล่าวเป็นสังคมเกาหลี ผู้โดยสารที่อยู่ในรถไฟขบวนนั้น ซึ่งประกอบด้วย พ่อที่บ้างานจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัวแต่ต้องพาลูกสาวไปส่งให้ภรรยาที่เมืองบูซาน  สามีที่ต้องดูแลภรรยาท้องแก่ใกล้คลอด  คู่รักนักเรียน พี่สาวและน้องสาวสูงอายุ นายสถานีผู้เห็นแก่ตัว และคนบ้าที่เสียสละ คือตัวแทนของสมาชิกในสังคม  ขณะที่เหล่าซอมบี้ที่ออกไล่ล่ามนุษย์อย่างบ้าคลั่ง ก็เปรียบได้กับวิกฤตการณ์ที่สังคมต้องเผชิญ

 สิ่งที่ภาพยนตร์ได้สื่อสารกับผู้ชม นอกเหนือจากเนื้อเรื่องที่น่าตื่นเต้นแล้ว ก็คือ การย้ำเตือนว่า ในภาวะที่สังคมเผชิญวิกฤต ตัวแปรที่จะทำให้สังคมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้ คือปัจเจกที่รู้จักหน้าที่ตนเอง  หน้าที่ที่ว่าคือ การตระหนักต่อบทบาทที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นพ่อที่ต้องปกป้องลูกสาว  สามีที่ต้องปกป้องภรรยา พี่สาวที่ยืนยันว่าจะอยู่ข้างน้องสาวตลอดเวลา หรือคนบ้าที่แม้ว่าคนอื่นเห็นว่าไม่มีค่า แต่กลับยอมเสียสละชีวิตเพื่อช่วยคนที่เหลือให้มีชีวิตต่อไป    ขณะที่ตัวละครที่ไม่ตระหนักถึงหน้าที่ตัวเองอย่าง นายสถานีผู้เห็นแก่ตัว  ก็ต้องพบจุดจบอย่างน่าเวทนา 

แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ตัวละครหลักเกือบทั้งหมดต้องเสียชีวิต แต่ผลจากการที่พวกเขาได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ก็ทำให้อย่างน้อย ผู้ที่ที่รอดชีวิตยังคงทำหน้าที่ที่พึงกระทำต่อไป โดยลูกสาวที่รอดชีวิตก็จะทำหน้าที่ลูกที่ดีให้แม่ ส่วนภรรยาที่ตั้งครรภ์ ก็จะทำหน้าที่บ่มเพาะลูกที่เกิดมาให้เป็นคนดีเหมือนกับสามีที่ยอมสละชีวิตเพื่อเธอ  แต่ที่สำคัญกว่านั้น ตัวละครที่รอดชีวิตมาได้ทั้งสองคน ได้สร้างความหวังให้กับคนดูว่า ในความมืดหม่นยังมีแสงสว่างให้เห็นบ้าง

แนวคิดขงจื๊อยังคงถูกถ่ายทอดส่งต่อในยุคสมัยใหม่

นอกจากภาพยนตร์เรื่อง Train to Busan แล้ว ภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่เชิดชูแนวคิดขงจื๊ออย่างชัดเจนคือ Along With the God : The Two World ซึ่งเป็นเรื่องราวของจาฮองนักผจญเพลิงที่เสียชีวิตในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ดวงวิญญาณของเขาได้ถูกยมฑูตสามตน พาไปยังขุมนรกเพื่อรับการไต่สวนทั้งหมด 7 ด่านภายในเวลา 49 วัน  หากเขาสามารถผ่านด่านการไต่สวนทั้งหมดได้ เขาก็จะได้รับโอกาสไปเกิดใหม่ และยมฑูตทั้งสามก็จะมีโอกาสได้ไปเกิดใหม่ด้วย โดยแต่ละด่านที่ จาฮองถูกไต่สวนนั้น ล้วนแต่เกี่ยวพันกับสิ่งที่เขาได้กระทำระหว่างมีชีวิต ไล่ตั้งแต่  การมีส่วนในการตายของหัวหน้างานอย่างไม่ตั้งใจระหว่างปฏิบัติหน้าที่  การเห็นแก่เงินโดยไม่สนใจอย่างอื่น  รวมไปถึงปมในอดีตที่เขาเคยเกือบฆ่าแม่ที่ป่วยของเขามาแล้ว 

สิ่งที่สะท้อนถึงการเชิดชูแนวคิดขงจื๊อในหนังเรื่องนี้ คือ เงื่อนไขของการผ่านด่านนรกแต่ละขุมที่จาฮองจะต้องเคลียร์ตัวเองให้ได้ผ่านคำให้การที่อธิบายถึง บทบาทและหน้าที่ของเขาทั้งในฐานะ ลูกน้อง หัวหน้า พี่ชาย และลูกชาย  โดยในฐานะลูกน้อง แม้ว่าเขาจะมีส่วนทำให้หัวหน้างานของเขาตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แต่เขาก็ได้ช่วยชีวิตเพื่อนร่วมงานอีก 8 คนจากเหตุการณ์เดียวกัน   ส่วนในฐานะพี่ชาย และลูกชาย แม้ว่าเขาจะเห็นแก่เงินโดยไม่คิดแต่อย่างอื่น แต่เงินที่หาได้เขาก็ส่งให้แม่ที่ป่วยและน้องชายของเขาจนหมด 

สำหรับปมที่เกือบจะทำให้เขาไม่ผ่านการตัดสินในขุมนรกด่านสุดท้าย  คือเหตุการณ์ที่เขาเกือบฆ่าแม่ที่ป่วยจนทำให้ต้องหนีออกจากบ้านมาใช้ชีวิตตัวคนเดียวถึง 15 ปี  ปมดังกล่าวได้รับการคลี่คลาย เมื่อเขาได้รับการให้อภัยจากแม่ สะท้อนถึงบทบาทของแม่ที่ให้ความกรุณาต่อลูกอย่างไม่มีเงื่อนไขตามแนวทางขงจื๊อ

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ Along With God : The Two Worlds คือ แม้ว่าฉากหลังของหนังคือ นรกภูมิตามตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่เงื่อนไขที่ตัวละครต้องแก้ไขปมปัญหากลับแสดงถึงแนวคิดแบบขงจื๊อ สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดแบบขงจื๊อได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นค่านิยมของคนเกาหลีไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม 

Parasite กับการวิพากษ์แนวคิดขงจื๊อ

ภาพยนตร์ประเภทนี้ส่วนใหญ่มักเป็นภาพยนตร์สะท้อนสังคมที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของปัจเจกบุคคลที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดขงจื๊อเช่นปัญหาเรื่องความเลื่อมล้ำปัญหาช่องว่างระหว่างคนสองรุ่นและปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ  ตัวอย่างของภาพยนตร์ประเภทนี้ได้แก่ Parasite ของผู้กำกับบองจุนโฮ ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้ 

บอง จุน โฮ ผู้กำกับ Parasite หนังที่ซ่อนความคิดวิพากษ์สังคมเอาไว้หลายจุด

Parasite เป็นเรื่องราวของครอบครัวชนชั้นล่างครอบครัวหนึ่งซึ่งชีวิตต้องเปลี่ยนไปหลังจากที่ลูกชายได้รับว่าจ้างไปสอนวิชาภาษาอังกฤษให้กับลูกสาวของครอบครัวชนชั้นสูงของสังคมหลังจากนั้นลูกชายก็แพ้วทางให้สมาชิกคนอื่นๆ ของครอบครัวได้ย้ายเข้ามาทำงานที่บ้านของครอบครัวชนชั้นสูงจนในที่สุดก็มีโอกาสได้ครอบครองบ้านของชนชั้นสูงในช่วงเวลาสั้นๆ  อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่รู้ว่าในบ้านหลังนั้นมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ เป็นความลับที่นำมาซึ่งความรุนแรงและโศกนาฏกรรมในตอนท้าย

แม้ว่าโดยแก่นของเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนเป็นหลักแต่หนังก็วิพากษ์แนวคิดขงจื๊ออย่างชัดเจน  โดยเฉพาะ บทบาทของพ่อที่ควรเป็นผู้นำครอบครัว และสามารถแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่พ่อในภาพยนตร์เรื่อง Parasite ไม่ว่าจะเป็นพ่อจากครอบครัวชนชั้นล่าง หรือพ่อจากครอบครัวชนชั้นสูง ต่างไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงได้ โดยบทสนทนาที่อธิบายบทบาทของตัวละคร “พ่อ” ได้ดีที่สุดเกิดขึ้นตอนที่คีวู ลูกชายถามผู้เป็นพ่อถึงแผนการแก้ปัญหาหลังจากสถานการณ์ที่บ้านเศรษฐีเริ่มบานปลาย  พ่อตอบลูกชายว่า คีวู ลูกรู้ไหมว่าแผนแบบไหนที่ไม่เคยผิดพลาด   ก็ไม่มีแผนไงล่ะ เพราะอะไรรู้ไหม  เพราะถ้าเราวางแผน ชีวิตก็ไม่มีทางเป็นไปตามแผนหรอก 

คำพูดดังกล่าวเสียดสีแก่นหลักของความเป็นพ่อในแนวทางขงจื๊ออย่างเจ็บแสบ เพราะการที่พ่อไม่มีคำตอบให้ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเกาหลียึดมั่นในโครงสร้างตามลำดับชั้น (Hierarchy) มากเกินไป และเมื่อผู้ที่อยู่จุดสูงสุดของโครงสร้างของสังคม (ในหนังหมายถึงครอบครัว) ไม่สามารถแก้ปัญหาที่กองอยู่ตรงหน้าได้   ก็เท่ากับว่าคนที่อยู่ลำดับชั้นถัดไปก็เตรียมตัวพบกับหายนะได้ 

นอกจากวิพากษ์สังคมตามลำดับชั้นแล้ว  Parasite ยังเย้ยหยันอีกด้วยว่า แนวคิดแบบขงจื๊อไม่มีวันสูญสลายไปได้  เพราะมันยังคงถูกส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่อง โดยบองจุนโฮผู้กำกับได้ใช้ ก้อนหินแห่งภูมิปัญญา (Stone of Wisdom) ซึ่งซังวูตัวเอกได้รับมอบจากเพื่อนก่อนที่จะบินไปเรียนต่อเมืองนอก เป็นสัญลักษณ์เพื่อเสียดสี (แนวคิดขงจื๊อเชื่อในการแสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ) และการที่ซังวูปกป้องหินก้อนนี้จากการจมอยู่ใต้น้ำที่ท่วมบ้าน แถมพามันไปทุกที่ เปรียบได้กับคนรุ่นใหม่ที่มีภาระต้องสานต่อค่านิยมแบบขงจื๊อต่อไป โดยที่ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร

A World of Married Couple เรทติ้งกระฉูดสะท้อนแนวคิดคนเกาหลี

A World of Married Couple แม้จะดัดแปลงมาจากซีรี่ส์ตะวันตก แต่ก็นำมาปรับเข้าบริบทโลกตะวันออกได้ดี

นอกจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite แล้ว  ซีรีส์ทางโทรทัศน์ที่กำลังโด่งดังในขณะนี้เรื่อง A World of Married Couple ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่วิพากษ์แนวคิดขงจื๊อได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นสถานภาพทางเพศของหญิงชาย A World of Married Couple เป็นเรื่องราวของจีซุนวู แพทย์หญิงที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและครอบครัว แต่แล้วโลกที่สวยงามของเธอก็พังทลาย เมื่อพบว่า อีแทโอ สามีผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์คบชู้กับหญิงสาวผู้เป็นลูกสาวของคนไข้ที่เธอดูแล  เท่านั้นยังไม่พอ ซุนวูยังไพบว่าคนรอบข้างที่เธอไว้ใจล้วนแต่รู้เห็นเป็นใจกับความสัมพันธ์ของสามีเธอ  ซุนวูไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินหน้าแก้แค้นคนที่ทำให้เธอเจ็บ

ตัวละครจีซุนวูเป็นตัวแทนของผู้หญิงเกาหลีในอุดมคติตามแนวคิดขงจื๊อกล่าวคือเธอเป็นภรรยาที่ดูแลปรนนิบัตสามีเป็นอย่างดี เป็นแม่ที่รักลูกแม้ว่าหน้าที่การงานจะทำให้เธอมีภาระเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่แล้วเมื่อเธอเจอบททดสอบที่สำคัญแห่งชีวิตแทนที่จะเลือกอยู่นิ่งเฉยแล้วยอมรับชะตากรรมตามสภาพที่ถูกกำหนด เธอกลับเลือกที่จะไม่ทนและลุกขึ้นทวงสิทธิ์โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม

สิ่งที่น่าสนใจพอๆกับซีรีส์ชุดนี้คือบริบททางสังคมของประเทศเกาหลีใต้ในช่วงเวลาที่ซีรีส์ชุดนี้ถูกสร้างและออกอากาศซีรีส์ชุดนี้ถูกสร้างระหว่างปี 2018-2019 และออกอากาศในต้นเดือนมกราคมปี 2020 จากการสำรวจเชิงสถิติพบว่าตลอดช่วง 12 ปีระหว่างปี 2008-2019  อัตราการหย่าร้างในประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 2.1 คู่ต่อคู่แต่งงานหนึ่งพันคู่ โดยมีเหตุผลสำคัญมาจาก ความรุนแรงในครอบครัว สถานะทางการเงิน  ความไม่ซื่อสัตย์ระหว่างกัน และชีวิตคู่ที่ไร้สุข  

ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ซีรี่ส์ A World of Married Couple ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายด้วยการทำเรทติ้งสูงสุดหลังจากฉายตอนสุดท้ายถึง 28.3 % ขณะที่เรทติ้งโดยเฉลี่ยของซีรีส์ชุดนี้อยู่ที่ 18.8%  แน่นอนว่ากลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้หญิง จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าซีรี่ส์เรื่อง A World of Married Couple จะถูกดัดแปลงมาจากซีรีส์ตะวันตก (ต้นฉบับเดิมมีชื่อว่า Doctor Foster) แต่การปรับเนื้อหาให้เข้ากับบริบทเกาหลีอย่างลงตัว ทำให้ผู้ชมอดตระหนักถึงภาวะที่เป็นอยู่ในสังคมไม่ได้ และนั่นได้ทำให้ซีรีส์ชุดนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่แรกออกอากาศ 

สื่อบันเทิงกับบทบาทการเปลี่ยนแปลงสังคม

กล่าวกันว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยากประการหนึ่งของสังคมคือค่านิยมที่ฝังรากลึก และถูกส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นตัวแปรที่จะส่งผลให้ค่านิยมนั้นจะยังคงอยู่ต่อไปหรือเสื่อมสลายคือแรงผลักดันของคนในสังคมถ้าพวกเขารู้สึกว่าค่านิยมนั้นยังมีคุณค่าอยู่พวกเขาก็จะยังคงส่งเสริมให้อยู่คู่สังคมต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเมื่อใดที่พบว่าค่านิยมนั้นไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกแล้วพวกเขาก็คงต้องหาทางปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงต่อไป 

และหนึ่งในเครื่องมือชี้วัดความรู้สึกของคนที่มีต่อค่านิยมในสังคมได้ดีอันหนึ่ง ก็คือ สื่อบันเทิงอย่างภาพยนตร์และซีรีส์นั่นเอง

บทความโดย ภาณุ อารี ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า