SHARE

คัดลอกแล้ว

ภายหลังการเปิดเผยผลตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดคนขับเบนท์ลีย์ ที่ขับรถแซงซ้ายพุ่งชนพัง 3 คัน บาดเจ็บ 8 ราย บนทางด่วน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกินที่กฎหมายกำหนด คือ ประมาณ 10 กว่ามิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะการตรวจครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเป่า ณ เวลาเกิดเหตุ แต่เป็นการตรวจเลือดที่ยื้อเวลาไปกว่า 4 ชั่วโมง

สำนักข่าว TODAY ได้พูดคุยกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ถึงความเห็นในประเด็นนี้

ตรวจเลือดช้าหลัง 4 ชั่วโมง ทำคนเมาเป็นไม่เมาได้

นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ กล่าวว่า เรื่องนี้มีกฎหมายเมาแล้วขับ การบังคับเป่าปริมาณแอลกอฮอล์ ในหลักการถ้าตำรวจขอให้ผู้ขับขี่วัดแอลกอฮอล์ด้วยการเป่าแล้วเขาปฏิเสธการเป่า ตำรวจถึงจะใช้วิธีเก็บหลักฐานอย่างอื่นมาประกอบสำนวนที่เชื่อว่าเขาน่าจะเมา เช่น พบขวดเหล้าในรถ ถ่ายคลิปดูลักษณะคนขับน่าจะเมา ยืนไม่ตรง เป็นต้น

หรือถ้าคนขับให้ความยินยอมตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์นอกจากการเป่า หรือยินยอมให้ตรวจเลือด ตำรวจก็จะส่งให้ตรวจเลือด โดยระยะเวลาไม่ควรเกิน 4 ชั่วโมง 

ทนายรณณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า การตรวจเลือดจะมีความแม่นยำกว่า แต่การตรวจเลือดที่มีความล่าช้าอาจทำให้คนที่เมากลายเป็นไม่เมาได้ เพราะการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในแต่ละคนแตกต่างกัน

“เรื่องนี้แพทยสภาเคยมีความเห็นไปยัง คปภ. เกี่ยวกับเรื่องเมาแล้วขับ แล้วมีการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด โดยถามว่ามีการคำนวณอย่างไร ซึ่งแพทยสภามีหนังสือออกมาฉบับหนึ่งว่า แต่ละคนมีอัตราการลดปริมาณแอลกอฮอล์แตกต่างกัน ถ้าเป็นคนที่ดื่มเป็นประจำจะลด 30-40 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ถ้าคนที่ไม่ดื่มจะลดประมาณ 15-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ซึ่งต่างกันเท่าตัว กรณีนี้ผลอยู่ที่ประมาณ 10 กว่ามิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ต้องดูว่าเขามีการดื่มประจำหรือไม่ เพราะอัตราการลดปริมาณแอลกอฮอล์แตกต่างกัน” ทนายรณณรงค์ กล่าว 

ส่วนกรณีที่ตำรวจระบุว่า เขาไม่เป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์แต่ยินยอมให้ตรวจเลือดนั้น มองว่าตำรวจทำตามขั้นตอนการสอบสวนในคดีจราจรตรงเป๊ะเกินไป เกินกว่าที่คนทั่วไปจะรู้ขนาดนั้น คือ เขาขอไม่เป่าแต่ขอไปตรวจเลือด ซึ่งการตรวจเลือดก็ยื้อเวลาไป 4 ชั่วโมงกว่า ดังนั้นผลการตรวจก็ไม่แน่นอน ถ้ามีการตรวจเลือดต้องตรวจทันที

โดยยกตัวอย่างคำสั่งของอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อย่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา กรณีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์โดยการตรวจเลือดว่ามีคำสั่งให้ตรวจภายใน 45 นาที ไม่เกิน 1.30 ชม.  ซึ่งกรณีนี้ที่เกินเวลาไปมากถือว่าทำไม่ได้ด้วยซ้ำ

ทนายรณณรงค์ มองว่าคดีนี้ไม่สามารถแจ้งเมาแล้วขับได้ เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกไว้ว่ามีการปฏิเสธการเป่าโดยระบุว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธ แต่บอกว่าไม่มีแรงเป่า ซึ่งปฏิเสธไม่เป่า กับเป่าไม่ได้ ไม่เหมือนกัน ตนมองว่ากรณีนี้ตนเชื่อว่าน่าจะมีคนมากดดันร้อยเวรทำให้เกิดการไม่เป่าเกิดขึ้น

ควรฟ้องเรื่อง ‘เมาแล้วขับ’ ส่วนข้อเท็จจริงให้ไปพิสูจน์ในชั้นศาล

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า เคยมีการศึกษาไว้ว่า ทุกๆ 1 ชั่วโมง แอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย เฉลี่ย 15-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง คือผ่านไปนานเท่าไหร่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดก็จะลดลงเรื่อยๆ เช่น หากมีค่าแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผ่านไป 4 ชั่วโมง แอลกอฮอล์ในเลือดจะถูกขับออก ประมาณ 60-80 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเหลือประมาณ 20-40 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าไม่เกินค่ามาตรฐาน

“ตนมองว่าสิ่งที่ควรจะต้องทำคือพนักงานสอบสวนหรืออัยการควรฟ้องเรื่องเมาแล้วขับต่อ เพราะถ้าปล่อยให้เกิดกรณีนี้เกิดขึ้นมาในสังคม จะกลายเป็นแบบอย่างให้คนอื่นนำมาใช้เป็นตัวอย่าง และต่อไปคนก็มองว่าสามารถปฏิเสธหรือยื้อเป่าแอลกอฮอล์ได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเรื่องเมาแล้วขับล้มเหลว” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามถ้ามีการฟ้องก็สามารถสืบพยานในศาลได้ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา ด้านนิติวิทยาศาสตร์มาให้ข้อมูลประกอบได้ เช่น การไม่ได้เจาะเลือดทันที มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ส่งผลต่อปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ซึ่งตนมองว่าสามารถใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่ทำเรื่องนี้มาประกอบเพื่อพิสูจน์ได้ 

ส่วนกรณีที่ตำรวจระบุว่า ที่ไม่เป่าแอลกอฮอล์ ณ จุดเกิดเหตุโดยอ้างว่าเพราะเจ็บหน้าอก แต่ยินยอมให้ตรวจเลือดนั้น นพ.ธนะพงศ์ มองว่าถ้าเจ็บหน้าอกควรรีบไปโรงพยาบาลทันที ไม่ควรมานั่งรออยู่ที่สถานีตำรวจ

ย้อนที่มาคดี

สำหรับกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา นายสุทัศน์ สิวาภิรมย์รัตน์ นักธุรกิจ ขับรถเบนท์ลีย์ชนท้ายรถยนต์ ยี่ห้อมิตซูบิชิ ปาเจโร่ เสียหลักไปชนรถดับเพลิง อปพร.เขตบางรัก เสียหาย 3 คัน มีผู้บาดเจ็บ 6 คน บนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ขึ้นจากถนนสุขสวัสดิ์มา 9-10 กิโลเมตร มุ่งหน้าดินแดง โดยมีกล้องหน้ารถ ของพลเมืองดีจับภาพไว้ได้

นายอิทธิพล ประสงทรัพย์ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยมัสยิดฮารูณ อปพร.เขตบางรัก หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ในที่เกิดเหตุเขาไม่ได้ลงมาช่วย ทีมอาสาดับเพลิงเห็นว่าเขาจะหนีเลยไปตามมา ตนคิดว่าเขาอาจจะเมา 

เช่นเดียวกับนายอานนท์ ศรีสุวรรณากุล เจ้าหน้าที่อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยหน่วยฐานพระยาตาก กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุสังเกตอาการของคนขับรถเก๋งมีอาการมึนเมาและได้เดินลงจากทางด่วนไปเรียกรถแท็กซี่ เพื่อจะหนี แต่มีอาสาที่รู้เหตุการณ์ได้ขับรถตามรถแท็กซี่ไป จากนั้นก็ไปที่ สน. เขาพยายามเดินบ่ายเบี่ยงเข้าห้องน้ำ แล้วเดินหลีกเลี่ยงออกหลังห้องน้ำเพื่อจะหนีอีกรอบหนึ่ง เมื่อถึงร้อยเวรแล้วเขาบอกว่าจะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดกับรถดับเพลิงและรถปาเจโร่

บช.น. เผยเหตุคนขับเบนท์ลีย์ ขอไม่ตรวจแอลกอฮอล์ เพราะเจ็บหน้าอก

ต่อมา พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ดูแลงานจราจร เปิดเผยว่าเนื่องจากผู้ขับขี่ ได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอก อาจจะทำให้แรงลมการเป่าไม่เพียงพอทำให้เครื่องวัดไม่เสถียร ทางพนักงานสอบสวนจึงใช้วิธีการตรวจเลือดดังกล่าว กฎหมายมีการพิจารณาการตรวจวัดแอลกอฮอล์ไม่ยินยอมให้ตรวจให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ที่ขับขี่รถในขณะเมาสุรา แต่กรณีดังกล่าวเป็นการยินยอมให้ตรวจ 

สั่งตั้งกรรมการสอบ ตร.เจ้าของคดีทำไมไม่เป่าแอลกอฮอล์

พอเกิดการตั้งคำถามจากสังคม พล.ต.ต.สุวิชชา จินดาคำ ผู้บังคับการตำรวจจราจรกลาง (ผบก.จร.) เผยว่า บก.จร.สั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับร้อยเวรเจ้าของคดีดังกล่าว จากประเด็นที่ว่า เหตุใดจึงไม่ตรวจวัดหาปริมาณแอลกอฮอล์ทันที เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนหรือไม่ ซึ่ง สน.ทางด่วน 1 กำลังเร่งรัดผลสรุปข้อมูลอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า