SHARE

คัดลอกแล้ว

ในอาชีพความเป็น HR ของผมตลอดเกือบ 20 ปี ผมได้เคยผ่านงานที่เป็นด่านหน้า ของงาน HR ในฐานะ Head of Talent Acquisition มาแล้วสองครั้งสองคราด้วยกัน

ซึ่งผมถือว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เพราะงาน TA หรือ Recruitment นี้ เปิดประตูโอกาสให้ผมได้พบคนที่หลากหลาย ตั้งแต่ระดับผู้ที่ต้องดูแลลูกค้าโดยตรง ตำแหน่งงานหลังบ้านที่ต้องสนับสนุนหน้าบ้าน ขึ้นไปจนถึงงานบริหารองค์กรในภาพผู้บริหารระดับสูง

และหลายต่อหลายครั้ง ผมมักจะถามผู้สมัครเสมอว่า “ทำไมคุณถึงอยากทำงานกับเราครับ”

คำตอบที่ผมมักจะได้จากคนแทบทุกระดับ ก็คือ “องค์กรของคุณมั่นคง” หรือ ถ้าเป็นน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบก็จะตอบว่า “คุณแม่บอกว่า ทำงานองค์กรของพี่แล้วมีความมั่นคงอ่ะค่ะ”

ผมเป็นคนหนึ่งที่พอได้ยินคำตอบนี้แล้ว มันฉงนในใจ และอดคิดต่อไม่ได้ว่า “อะไรคือความมั่นคงที่เขาเหล่านี้กำลังพูดถึง”

เลยได้ลองถามเจาะต่อไปเรื่อยๆ ก็ได้พบว่า คำว่า ‘มั่นคง’ นี้ มาจากความเชื่อที่ว่า “องค์กรใหญ่ๆ จะไม่ล้ม ไม่เจ๊ง หรืออย่างน้อย ความเสี่ยงที่จะเจ๊งแล้วปิดกิจการ หรือ Lay off คนก็น่าจะไม่สูง”

ในฐานะ HR ที่อยู่ในวงการมาสักระยะ และได้เห็น Rise and Fall ของวงการธุรกิจ ผมเห็นว่า ความคิดนี้เป็นความคิดมิติเดียว ซึ่งไม่ได้ผิด แต่อาจจะไม่ได้อัพเดตตามกระแสโลกธุรกิจที่เปลี่ยนและหมุนเวียนไปแล้วมาหลายต่อหลายยุค ตั้งแต่ยุคโลกาภิวัตน์ จนมาถึงยุคดิจิทัลที่กำลังเป็นจุดขับเคลื่อนโลกอยู่ ณ ปัจจุบัน

ผมเลยอยากชวนพวกเราคิดครับ ว่า ถ้า ‘อสมการ’ ที่ผมบอกไป ว่า “องค์กรที่มั่นคง ≠ งานที่มั่นคง” มันเป็นจริง มันจะเกิดขึ้นได้ในมิติไหนบ้าง และเราต้องรับมือมันอย่างไร

มิติและโอกาสที่ “องค์กร ไม่ล้ม แต่คนล้ม” มันเกิดได้มากมายครับ เช่น เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร แล้วพบว่า งานบางงานไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว หรือ มีงานใหม่มาทดแทนที่ได้แล้ว เกิดกระบวนการใหม่ขึ้นมาทดแทน

เช่น กระบวนการบางกระบวนการที่เคยทำด้วยคน พอเมื่อดิจิทัลเข้ามาทำหน้าที่แทนได้ และทำได้ด้วยเวลาที่น้อยกว่า ต้นทุนที่ถูกกว่า และให้ผลลัพธ์ที่มากกว่า

แน่นอนครับ คนย่อมกลายเป็นต้นทุนที่ ‘เกิน’ หรือ ‘บวม’ สำหรับองค์กร กลายเป็นไขมันที่สุดท้ายแล้วถ้าองค์กรอยากแข่งขันเฉกเช่นนักกีฬาที่ร่างกายฟิต ก็ย่อมต้องลดไขมันนั้นเพื่อให้ยังแข่งขันได้ต่อ

เห็นไหมครับ องค์กรยั่งวิ่งได้ในสนามแข่ง แต่บางคนย่อมต้องไป

อีกกรณีนึงที่ชัดเจนมากก็คือ เรื่องพฤติกรรมของตัวคนทำงาน ที่ไม่ปรับพฤติกรรมไปตามแนวทางขององค์กร เช่น เมื่อการแข่งขันในตลาดรุนแรงขึ้น ความเร็วย่อมมีส่วน อย่างที่ฝรั่งหลายคนเริ่มหันมาเขียนหนังสือบูชา Speed หรือ ความเร็ว ออกมาเป็นหนังสือมากมาย

แน่นอนครับ เมื่อเป็นเช่นนั้น หลายอย่างเริ่มถูกคาดหวังให้เร็วกว่าเก่า และถ้าเราๆ ยังไม่ปรับตัวให้ตามความเร็วนั้นให้ท่าน เราย่อมตกขบวน

หรือแม้แต่พฤติกรรมบางอย่างที่องค์กรคาดหวัง เช่น การปรับตัว การรักษาวินัยและกฎของบริษัท ถ้าคุณไม่รักษามัน คุณเองก็อาจจะเดินหน้าเข้าสู่ความไม่มั่นคงทางอาชีพการงาน

อีกส่วนที่ผมเห็นการโบกมือลากันไป แบบทั้งๆ ที่องค์กรยังมั่นคงคือ การที่พนักงานไม่ได้ Perform หรือลงมือทำงานจนได้ผลงานตามที่องค์กรมุ่งหวัง

หลายครั้งเราโทษว่าเป็นเพราะเจเนอเรชั่นว่าเด็กสมัยนี้หรือคนยุคนั้นทำไม่ได้หรอก หลายครั้งเราโทษตัวบุคคลว่าไม่เก่ง ไม่เหมาะ หรือบางทีเราก็โทษองค์กรที่ดำเนินไปเพื่อผลกำไรอย่างบ้าคลั่งจนตั้งเป้าหมายไว้สูงเกินเอื้อม

ต้องยอมรับว่า เราไม่มีสูตรสำเร็จของต้นเหตุเหล่านี้ ที่ทำให้หลายคนไม่ได้ไปต่อทั้งๆ ที่องค์กรยังตั้งตระหง่าน แต่เชื่อไหมครับว่าจริงๆ แล้ว เราป้องกันได้ตั้งแต่ก่อนที่จะกระโจนเข้าไปรับงาน ไม่ว่าจะที่องค์กรไหนๆ

อย่างแรก เราต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่อะไร ตั้งแต่ DAY 0 หรือตั้งแต่วันที่เราสนใจสมัคร คือ ก่อนจะเข้าไปเป็นพนักงานด้วยซ้ำ

ถามตัวเองก่อนเลยว่า เราเข้าใจหรือยัง ว่างานนั้นคือ ทำอะไร โดยที่ไม่ใช่เพียงแค่การอ่านจากชื่อตำแหน่งหรือชื่อองค์กรที่หรูๆ แล้วก็เดินเข้าไปสมัครแบบที่ไม่รู้อะไรเลย

หลายครั้งมากครับที่ผมพบว่า ผู้สมัครเดินเข้ามาหาองค์กรหนึ่งเพียงเพราะชื่องาน แต่ไม่รู้ว่าตนเองเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้น ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่ามีความรักในตัวงานนั้นหรือไม่เลยครับ เพราะไม่น่าจะมีแน่ๆ

หรือถ้าจะหวังเดินเข้ามาในองค์กร และให้องค์กรเลี้ยงดูไปตลอดชีวิต ชั่วโมงนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจแบบนี้….ยากมากครับ

นอกจากนั้น เรารู้หรือยังว่า แม้งานนั้นอาจจะ ‘ใช่’ สำหรับเรา แต่องค์กรนั้น ‘ใช่’ สำหรับเราไหม วัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์อย่างไร มักตัดสินใจอย่างไร หรือเรากำลังเพียงแค่หนีตายจากเรือลำนึงมายังเรืออีกลำเพื่อเอาชีวิตรอดไปก่อน (เพื่อจะต้องหนีตายใหม่อีกครั้ง)

อย่างที่สอง ในกรณีที่คุณนั่งอยู่ในองค์กรอยู่แล้ว คุณต้องรู้จักลองพิจารณา Actions 5 ป. ต่อไป นี้ครับ

เปิดหูเปิดตา – เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงให้ทัน ว่ากระแสที่กำลังเกิดขึ้นในองค์กรเป็นอย่างไร ทิศทางไปทางไหน ส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร

ประเมินตนเองอยู่เสมอ – ดูศักยภาพของตนเอง โดยเทียบกับงานที่ได้รับมอบหมาย และถามตัวเองว่า หากมีการยกระดับความคาดหวังในผลงานขึ้นอีก เราจะไปต่อไหวไหม และเราสามารถไปต่อกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ไหม

ถ้าได้ต้องปรับตัวอย่างไร ถ้าไม่ได้ แล้วต่อไปเราต้องทำอย่างไร หรือจริงๆ แล้วเรายังมีความสุขมาก และ ยังสามารถลุยไปข้างหน้าได้อย่างสบาย

เปิดใจ – เพื่อปรับตัวเมื่อต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง ในวันที่สภาพแวดล้อมหลายๆ อย่างอาจจะเปลี่ยนไป หรือแม้แต่ปริมาณงานที่อาจจะต้องมากขึ้น หรือวิธีการที่เคยทำกันมา มันอาจจะไม่สามารถทำต่อได้แล้ว และมันคือเวลาที่เราต้องเปิดใจ พร้อมรับ หรือนำหน้าการเปลี่ยนแปลงนั้น

ปรับตัว – และผ่านด่าน 4 ป. มาแล้ว มันก็มาถึงการที่เราต้องลงมือปรับตัวจริงๆ และแน่นอน มันไม่การปรับแค่ตัว แต่มันคือการเริ่มต้นที่การปรับ mindset ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเราในครั้งนี้ จะนำมาสู่สิ่งที่ทำให้เราดีขึ้น เก่งขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้น โดยไม่ต้องมากังวลว่า จะกลายเป็นไขมันให้ใครต้องมาไล่จี้เผาผลาญหรือเบิร์นออกจากร่างกาย

แต่ถ้าทำทุกทางแล้วยังไม่ไหว ไม่เวิร์ก เราต้อง ปรับแผน ครับ หาทางหนีทีไล่ และมองหาเส้นทางการทำมาหากินอื่นๆ ให้กับตัวเอง

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ หาที่ที่ใช่ ตรงจริต ตอบโจทย์ชีวิต แต่ก็อย่าเผลอเรอปล่อยให้ตัวเองให้ตกโลก ไม่สร้างคุณค่าให้ตัวเอง มะงุมมะงาหรา ลืมประเมินสถานการณ์ ปล่อยให้งานที่มั่นคง ในองค์กรที่มั่นคง กลายเป็นงานที่ไม่มั่นคงกับตัวเองไป

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า