AI เก่งพอจะประเมินสีหน้าเราได้หรือไม่ว่า ตอนนี้กำลังสุข เศร้า โกรธ หรือหงุดหงิด คำตอบคือ บอกได้ เพราะตอนนี้มีความคืบหน้าอย่างมากในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ‘การจดจำอารมณ์’ ที่ใช้ AI มาประมวลผลสีหน้าเพื่อบอกอารมณ์ของเรา
แต่ตอนนี้เทคโนโลยีการจดจำอารมณ์ยังเป็นเรื่องที่ถูกมองว่า ‘เสี่ยงผิดกฎหมาย’ และผิดจริยธรรมทางสังคม โดยเฉพาะน่าห่วงว่า มีบางบริษัทเอามาใช้ในสถานที่ทำงาน
นึกภาพว่าเราจะทำงานกันอย่างไม่เป็นสุขแค่ไหน เมื่อมีเทคโนโลยีมาประเมินสีหน้าของเราจนไม่สามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงานได้เลย
ปัญหานี้ทำให้ใน พ.ร.บ.AI ของสหภาพยุโรปที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายละเอียดหนึ่งที่เขียนไว้ว่าห้ามนำ AI มาคาดการณ์อารมณ์ของบุคคลในสถานที่ทำงาน ยกเว้นด้วยเหตุผลด้าน “การแพทย์” หรือ “ความปลอดภัย”
กฎหมายนี้ในยุโรปมีผลกับสถานที่ทำงาน แต่ในระดับโลก รู้หรือไม่ว่า ธุรกิจการใช้ระบบจดจำอารมณ์ใบหน้าของบุคคลที่ใช้ AI ประมวลผลนั้นกำลังเติบโต มีมูลค่ามากถึง 34,000 ล้านเหรียญหสรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในอีก 3 ปี ข้างหน้า
ถามว่าเทคโนโลยีนี้ทำงานอะไรบ้าง ก็คือ AI สามารถทำนายสภาวะทางอารมณ์ของบุคคลจากข้อมูลไบโอเมตริกซ์ เช่น วัดจากอัตราการเต้นของหัวใจ ความชื้นของผิว น้ำเสียง ท่าทาง และการแสดงออกทางสีหน้า
[ มีบริษัทที่อยากจะใช้ AI มอนิเตอร์อารมณ์แต่ละวันของพนักงาน ]
บริษัทในต่างประเทศบางแห่งเริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใส่ในองค์กร เช่นในออสเตรเลีย ที่นำระบบนี้มาวิเคราะห์อารมณ์ การแสดงสีหน้าเพื่อประเมินความเหมาะสมของคนที่มาสมัครงาน เช่น ผู้สมัครงานจะถูกประเมินจากสีหน้าว่ามีการแสดงถึงความตื่นเต้นหรือการตอบสนองต่อลูกค้าที่โกรธอย่างไร
TODAYBizview พาไปรู้จัก บริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพในออสเตรเลียที่ชื่อ inTruth Technologies ซึ่งวางแผนจะเปิดตัวอุปกรณ์สวมข้อมือ ที่บริษัทอ้างว่า “สามารถติดตามอารมณ์” ของผู้สวมใส่ได้แบบเรียลไทม์ โดยอาศัยการวัดผ่านอัตราการเต้นของหัวใจ และข้อมูลทางสรีรวิทยาอื่นๆ
ที่น่าห่วงคือ ผู้ก่อตั้ง inTruth Technologies บอกว่าเทคโนโลยีนี้สามารถนำมาใช้ในการทำงาน โดยนายจ้าง สามารถนำมาติดตามประสิทธิภาพการทำงานเพื่อดูเอนเนอร์จี้ของคนในทีม ไปจนถึงดูสุขภาพจิตของพนักงานเพื่อคาดการณ์ปัญหาต่างๆ
บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีนี้บอกว่า ประโยชน์ของอุปกรณ์นี้สามารถเป็น ‘โค้ชอารมณ์ AI’ ที่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเรา สิ่งที่เรารู้สึกและสาเหตุที่เรารู้สึกแบบนั้น ซึ่งจะมาช่วยคาดการณ์ปัญหาต่างๆ ได้ ว่าเราเครียดมากน้อยแค่ไหน
[ หลายคนค้านว่า AI วัดแบบฉาบฉวยตัดสินอะไรไม่ได้ ]
ทาง inTruth อ้างว่าระบบการจดจำอารมณ์ที่พัฒนาขึ้นมานั้นมีความเป็นกลางและมีรากฐานมาจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่ใครได้ยินเรื่องนี้ก็ต้องกังวลว่ามันจะแม่นยำ หรือบิดเบือน ไปจนถึงเป็นการละเมิดต่อบุคคลหรือไม่
เลยมีนักวิชาการกังวลว่าระบบที่พัฒนามันดูไปพ่วงกับแนวทางศาสตร์สายมูอย่าง ‘โหวงเฮ้ง’ ที่มาดูลักษณะทางกายภาพหรือพฤติกรรมของเราเพื่อกำหนดความสามารถและลักษณะนิสัยบุคคล ซึ่งดูไม่เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์เท่าไหร่
ทั้งยังเห็นว่าเทคโนโลยีจดจำอารมณ์อาศัยทฤษฎีที่อ้างว่า ‘อารมณ์ภายในคนเรา’ สามารถวัดได้จากระบบชีวภาพและแสดงออกมาได้อย่างสากล แต่มีการท้วงว่า วิธีสื่อสารอารมณ์ของผู้คนแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละวัฒนธรรม บริบท และแต่ละบุคคล จะมาใช้แค่ วัดเหงื่อวัดความชื้นในผิวหนัง แล้วบอกได้ว่าใครโกรธมากโกรธน้อย มีอารมณ์อะไรอยู่ อาจไม่แม่นยำน่าเชื่อถือ
ที่น่าห่วงคือ อาจมีการเลือกปฏิบัติโดยไม่คำนึงเชื้อชาติ เพศ ความแตกต่างของบุคคล เช่น มีรายงานว่ามีเคสที่ระบบจดจำอารมณ์อ่านใบหน้าสีดำว่าโกรธมากกว่าใบหน้าสีขาว แม้ว่าทั้งสองจะยิ้มในระดับเดียวกันเป๊ะ ดังนั้นความแม่นยำต่างๆ ยังมีความน่าห่วงว่าการฝึก AI ให้เข้าใจความหลากหลายของใบหน้ามนุษย์ในโลกนั้นทั่วถึงพอหรือไม่
ขณะที่ inTruth Technologies ชี้แจงว่า เข้าใจถึงความกังวลว่าเทคโนโลยีนี้อาจสร้างอคติ แต่ยืนยันว่าจะแก้ไขและหาข้อมูลที่หลากหลายและครอบคลุมมาฝึก AI และบอกอีกว่าตอนนี้เทคโนโลยีนี้อาจจะกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ แต่เชื่อว่ามันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมากในหลายปีมานี้
อ่านมาถึงตรงนี้คิดยังไงกันบ้างว่าเทคโนโลยีนี้กำลังจะเป็นภัยคุกคามกับสิทธิความเป็นส่วนตัวของเราแค่ไหน และเรากำลังถูกละเมิดอยู่หรือไม่ ในบางบริษัทต่างประเทศที่เอาเทคโนโลยีนี้ไปทดลองใช้กับพนักงานยิ่งน่าห่วงว่ามีการรวบรวมข้อมูลที่ละเอียดอ่อนโดยที่เราได้รับทราบกันหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้มุมมองหลายคนไม่ได้เห็นด้วยกับการนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ในที่ทำงาน และเป็นห่วงว่าจะเกิดข้อผิดพลาดและอคติขึ้นมา
ในสหรัฐอเมริการถึงกับมีการศึกษาวิจัยประเด็นนี้ พบว่าพนักงานกังวลกับเทคโนโลยีนี้ เพราะอาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงาน ถ้ามันประมวลผลไม่แม่นยำขึ้นมาอาจไปสร้างความเข้่าใจผิดๆ ทำให้ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือขึ้นเงินเดือน ร้ายแรงอาจถึงขั้นถูกไล่ออกได้ หรือแม้กระทั่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในที่ทำงานในการจัดการพนักงานที่ไม่ชอบหน้าก็ย่อมได้