Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เสียใจ แต่ร้องไห้ไม่ได้ โกรธแทบตาย แต่ต้องฝืนยิ้ม

ถ้าคนเราสามารถเข้าใจและจัดการความคิดอันแสนซับซ้อนในหัวได้ ‘ไรลีย์’ วัยรุ่นมือใหม่จากเรื่อง Inside Out 2 คงไม่ต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกเกลียดชังตัวเอง สับสน หรือหลงทางกับชีวิต 

เวลาเราพูดถึง ‘อารมณ์และความรู้สึก’ เราอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องทางใจ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของเราเหล่านี้มันเกิดจากสมอง และมีรากฐานมาจากประสาทวิทยา ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงถูกสร้างขึ้นโดยได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสมองและอารมณ์อย่างใกล้ชิด

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Dr.Dacher Keltner ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ University of California Berkeley และผู้อำนวยการ Greater Good Science Center โดย Dr.Dacher เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาเรื่องการกำหนดอารมณ์และคาเรกเตอร์ต่างๆ ของอารมณ์ในเรื่อง Inside Out ตั้งแต่ภาคแรก 

Dr.Dacher เล่าว่าตอนแรกที่ได้รับทาบทามโปรเจ็กต์นี้ เขาคิดว่ายังไงก็ต้องยัดอารมณ์เข้าไปให้ได้ 20 อารมณ์จึงจะโอเค แต่ Pete Docter, Creative Director ของ Pixar บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้–เท่าที่พอจะทำได้คือ 5 อารมณ์เท่านั้น ทำให้ในภาคแรกเราได้เห็นเพียง ลั้ลลา (Joy), เศร้าซึม (Sadness), หยะแหยง (Disgust), กลั๊วกลัว (Fear) และฉุนเฉียว (Anger) ปรากฏตัวในฐานะอารมณ์หลักที่ควบคุมไรลีย์ในวัย 9 ขวบ

แต่ไรลีย์ในวัย 11 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเป็นเด็กหญิงไปสู่การเป็นวัยรุ่น เริ่มมีอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น Dr.Dacher อธิบายว่ามันเป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่นจะเริ่มสนใจความคิดเห็นของคนอื่นรอบตัว อารมณ์ที่กำเนิดขึ้นใน Inside Out 2 จึงเป็นอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับคนและสังคมรอบข้างนั่นคือ วิตกกังวล (Anxiety),  อิจฉา (Envy), อ๊ายอาย (Embarrassment ) และเบื่อหน่าย (Ennui) 

ว่าแต่อารมณ์มนุษย์มันมีเป็นร้อยเป็นพันอารมณ์เลยด้วยซ้ำ แล้วทำไม 4 อารมณ์นี้ถึงเป็นสิ่งที่ถูกเลือกว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไรลีย์ในวัย 11 ปี มาฟังความเห็นจาก Dr.Dacher จากบทสัมภาษณ์ใน TIME Magazine กัน

Dr.Dacher เล่าถึงตัวละครแรกที่ ‘ตก’ คนดูได้มากมายด้วยความน่ารักอย่าง ‘อ๊ายอาย’ ทำไมอ๊ายอายถึงมีความสำคัญจนได้มาปรากฏตัวใน Inside Out 2 นั่นเป็นเพราะอารมณ์อับอายคืออารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างอย่างชัดเจน มันเป็นห้วงอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าคนรอบข้างกำลังตัดสินตัวเรา 

ข้อดีของอารมณ์นี้คือมันเป็นด่านแรกที่จะป้องกันเราจากการทำผิด ทำให้เราเกิดอาการย้ำคิดย้ำทำ หากคิดจะฝ่าฝืนกฎเกณฑ์หรือบรรทัดฐานของสังคม ซึ่ง Dr.Dacher มองว่า ความอับอายในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราเจ็บปวด แต่มันช่วยสร้างเสริมทักษะที่สำคัญมากในการอยู่ในสังคม

อารมณ์ต่อมาคือ ‘อิจฉา’ Dr.Dacher อธิบายอารมณ์นี้ง่ายๆ คือ ‘เราจะเกิดความอิจฉา เมื่อคนอื่นได้รับ ในสิ่งที่เราคิดว่าตัวเองสมควรได้รับเช่นกัน’ ถึงอย่างนั้นแม้แต่อารมณ์เชิงลบอย่างความอิจฉา ถ้าเราเลือกจัดการกับมันถูก เราก็สามารถเปลี่ยนมันเป็นพลังที่ดีได้เช่นกัน 

Dr.Dacher ได้พูดถึงงานวิจัยจากยุโรปชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า ความอิจฉามีทั้งอยู่ในรูปแบบที่อันตราย เช่น หากเราควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เราอาจเผลอทำอะไรที่ทำร้ายอีกฝ่ายไปโดยไม่รู้ตัว กับความอิจฉาที่อยู่ในรูปแบบแรงผลักดัน ผลักดันให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นหรือทำงานหนักขึ้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ เมื่อความอิจฉาก่อตัวขึ้นในใจเรา จงรู้ตัว รับมือกับมันให้ดี และควบคุมให้มันอยู่ในที่ที่เราต้องการ

เบื่อหน่าย (Ennui) คืออารมณ์ที่สามที่เราจะพูดถึงกัน เวลาเราพูดถึงความ ‘เบื่อ’ เราอาจจะคิดว่าก็แค่อารมณ์ของความเฉยชากับสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ในภาพยนตร์เราจะเห็นว่าเจ้าเบื่อหน่ายทำได้มากกว่าแค่แสดงความเฉยชา มันสั่งการให้ไรลีย์แสดงอาการประชดประชัน กลอกตา เหยียดหยาม หรือแดกดันต่อสิ่งเร้าที่เข้ามา

Dr.Dacher พูดติดตลกว่าเหล่าพ่อแม่ของเด็กวัยรุ่นจะเข้าใจอารมณ์นี้เป็นอย่างนี้ เพราะนี่คือช่วยวัยที่เหล่าเด็กน้อยที่กำลังเติบโตเรียนรู้ที่จะแสดงความไม่พอใจในระดับปานกลางออกมา (อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่การตะโกนด่าแหละน่า) แล้วอีกนัยหนึ่ง อารมณ์นี้ยังช่วยให้เราสามารถระบายความคับข้องใจเล็กๆ น้อยๆ ออกมา ไม่กดไว้จนทำให้เกิดภาวะเก็บกด ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาอีกมากมายในอนาคต

สำหรับอารมณ์สุดท้ายที่เรียกได้ว่าเป็นดาวเด่นของเรื่องนี้เลยก็คือ เจ้าวิตกกังวล (Anxiety) ก่อนอื่น Dr.Dacher เปิดเผยมุมมองส่วนตัวว่า เขาเองก็เผชิญหน้า และต้องต่อสู้กับภาวะวิตกกังวลมานานหลายปี แต่ตัวเขาเชื่อว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถยอมรับได้ว่าเรากำลังวิตกกังวล ความน่ากลัวของอารมณ์นั้นจะถูกควบคุมในทันที 

สิ่งเหล่านี้เรียกว่าการรู้เท่าทันตัวเอง เมื่อไหร่ที่เริ่มมีความกังวลเกิดขึ้นในจิตใจ จงตั้งรับมัน หาสาเหตุ และรับรู้ว่าพฤติกรรมที่คุณกำลังเป็นอยู่คือการตอบสนองตามธรรมชาติของมนุษย์ 

สำหรับ Inside Out 2 ตัว Dr.Dacher มองว่าอารมณ์วิตกกังวลเป็นอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมายาก เพราะอารมณ์วิตกกังวลมีความซับซ้อนมากกว่าอารมณ์หวาดกลัว เวลาเราพูดถึง ‘ความหวาดกลัว’ มันมักจะเป็นอะไรที่เชื่อมโยงกับทางกายภาพ เช่น การถูกไฟดูด การโดนรถชน ฯลฯ

ขณะที่ความวิตกกังวล มันคือการคาดการณ์สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต เวลาเราพูดถึงอนาคต สิ่งที่มาพร้อมกันคือ ‘ความไม่รู้’, ‘ความไม่แน่นอน’ และ ‘จินตนาการ’ ซึ่งตัวละครวิตกกังวลมาพร้อมกับภารกิจพยายามปกป้องไรลีย์จากสิ่งที่ตัวมันเองก็ ‘ไม่รู้’ ว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ 

เจ้าวิตกกังวลจึงไม่ใช่ตัวร้าย 

เจ้าวิตกกังวลจึงไม่ใช่อารมณ์ที่ไม่ดี 

แต่ธรรมชาติของมันคือการจำลองภาพในหัวที่แสนธรรมดาให้กลายเป็นภัยที่พร้อมจะคุกคามได้อยู่เสมอ และมันอาจนำมาสู่พฤติกรรมอะไรก็ตามที่เตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามนั้น ซึ่งท้ายที่สุดพฤติกรรมนั้นอาจให้ผลดี หรือผลเสียก็ได้ 

ดังนั้นจึงสำคัญมากเมื่อเรารู้แล้วว่าความวิตกกังวลกำลังเกิดขึ้นในหัว ค่อยๆ พิจารณามันอย่างละเอียดและค่อยเป็นค่อยไป สิ่งนี้อาจทำให้ ‘วิตกกังวล’ เป็นเกราะปกป้องเรา มากกว่าจะทำร้ายเราโดยไม่รู้ตัว

Dr.Dacher ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ The New York Times ว่า Inside Out 2 จงใจร้อยเรียงเนื้อเรื่องให้เส้นทางที่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบของไรลีย์ต้องหยุดชะงักลง ความท้าทายใหม่ๆ ทั้งเรื่องกลิ่นตัวตอนเป็นวัยรุ่น การหวาดกลัวว่าจะไม่ถูกสังคมยอมรับ การพยายามหลีกหนีจากความโดดเดี่ยว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นความวิตกกังวลของไรลีย์ ทำให้เธอกดดันตัวเอง และหลงทาง เพราะเธอไม่รู้ว่าเธอเป็นใครกันแน่

ใช่… ไรลีย์เคยเป็นคนจิตใจดี แต่สุดท้ายเธอก็เป็นคนเห็นแก่ตัว

และถูกที่เธอกล้าหาญ แต่เธอก็หวาดกลัวเช่นกัน

สิ่งนี้บอกอะไรกับเรา? เวลาเรามองตัวเอง เรามักจะคิดว่าเราเป็นได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นคนดี เป็นคนเลว เป็นคนเข้มแข็ง เป็นคนอ่อนแอ แต่นั่นไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มีความละเอียดซับซ้อนมากกว่านั้น 

Dr.Dacher บอกว่า Inside Out 2 คือภาพยนตร์ที่ต้องการบอกให้เราเรียนรู้ที่จะยอมรับและอยู่ร่วมกับความสลับซับซ้อนนั้น เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราจะอยู่กับตัวเองได้ทั้งในเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์ที่สุด และบกพร่องที่สุด เพราะนั่นคือตัวเรา

อ้างอิงจาก

https://time.com/6987825/inside-out-2-neuroscience/ 

https://www.nytimes.com/2024/06/14/well/mind/inside-out-2-anxiety.html 

#AIMHOUR
#สำนักข่าวทูเดย์

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า