SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 5 พ.ค.63 รายการ Workpoint Today ทางเฟซบุ๊ก Workpoint News คุยกับนายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS , นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี DTAC และนายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G True 3 ตัวแทนจากผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของประเทศในประเด็นที่เรื่อง “เทคโนโลยีช่วยคนไทยได้อย่างไรบ้างในวิกฤต”

โดยทางนายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มแรกของวิกฤตโควิด-19 บริษัทโทรคมนาคมหลายแห่ง รวมถึง AIS ได้เริ่มเตรียมการหรือที่เรียกว่า BCP (Business continuity planning) ซึ่งทางองค์กรก็จะมีการวางแผนกันตั้งแต่ต้นว่าใครจะรับผิดชอบอะไร เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทั้งนี้หน้าที่หลักๆ ของ  AIS ดูแลโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศในเรื่องโทรคมนาคม เรายังคงต้องวิ่งเข้าไปซ่อมแซมเครือข่ายโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นหลัก

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS

ในด้านของการดูแลลูกค้า อย่างช่วงล็อกดาวน์จากตอนแรกที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองทางก็กลายเป็นอยู่ในพื้นที่ residential area (โซนอยู่อาศัย) มากขึ้น AIS ได้มีการขยายเครือข่ายในพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นงานหลักในช่วงแรกๆ ของโควิด-19 เลย เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสบายใจและความเชื่อมั่นว่าจะได้รับการดูแลเหมือนเดิม เราต้องทำงานอย่างเต็มที่

จริงๆ แล้วเรื่องของการรับมือโควิด-19 หลายๆ คนพูดถึง next normal เรื่องของสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด-19 แต่สิ่งที่เราควรกังวลไว้เนิ่นๆ คือ เราต้องเตรียมตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีอย่างที่เราเห็นวาหลังจากที่มีโควิดมาเนี่ย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคนใช้อีคอมเมิร์ซเยอะขึ้น จริงๆ อีคอมเมิร์ซไม่ใช่เรื่องใหม่ถูกมั้ยครับ มันถูกใช้มานานแล้ว แล้วอยู่ๆ มีกลุ่มคนที่ไม่เคยซื้อไม่เคยใช้ก็หันมาซื้อมาใช้มากขึ้น มีการปรับตัวมากขึ้นกับเทคโนโลยี

อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นคือการยอมรับการเปลี่ยนของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่นเรื่อง telemedicine ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเหมือนกัน ซึ่งทาง AIS ได้ร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เข้าไปทำเรื่องระบบ telemedicine จริงๆ แล้วคือพอเริ่มมีวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนไม่กล้าไปโรงพยาบาล ซึ่งระบบ telemedicine จะช่วยให้คนปรึกษาคุณหมอได้ แต่ก่อนคนไม่ค่อยอยากจะใช้ระบบ telemedicine เท่าไหร่ เพราะอยากที่จะไปหาหมอมากกว่า แต่พอเกิดโควิด-19 ขึ้น ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาใช้ telemedicine มากขึ้น นอกจากนี้กลุ่มคนไข้ที่ต้องตรวจเช็คอาการของโรคต่างๆ กับหมอทุกๆ 3-6 เดือนก็สามารถใช้ระบบ telemedicine ได้อีกด้วย

ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลก เช่นระบบ telemedicine หรือการผ่าตัดทางไกล ฟังดูมันอาจะเหมือนไกลตัว แต่พอโควิด-19มา มันเปรียบเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาอย่างหนึ่งที่ทำให้ โดยทาง AIS เราได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลืองานด้านการแพทย์ โดยนำหุ่นยนต์เหล่านี้ไปไว้ในห้องของผู้ป่วย

โดยหุ่นยนต์เหล่านี้ก็ปฏิบัติงานตั้งแต่ขั้นตอนทั่วไปอย่าง vdo conference ระหว่างคุณหมอกับคนไข้ อย่างในช่วงที่โควิดระบาดแรกๆ ก็พบผู้ป่วยชาวต่างชาติด้วยส่งผลอีกหนึ่งบุคลากรที่สำคัญไม่แพ้หมอก็คือล่าม ซึ่งล่ามเนี่ยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องความดันลบหรอกครับ ดังนั้น vdo conference จะเข้ามาช่วยเรื่องแบบนี้โดยเฉพาะ

อีกสิ่งหนึ่งที่เรากำลังทำอยู่ก็คือ CT Scan ซึ่งตัว CT Scan นี้สามารถที่จะวิเคราะห์ได้ว่าใครติดเชื้อโควิดหรือไม่ภายในเวลา 30 วินาที แต่โจทย์ของมันก็คือการ CT Scan ส่ง cloud ไปให้ AI วิเคราะห์เนี่ยมันต้องใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพราะฟิลม์ที่เราเอ็กซ์เรย์มันใหญ่มาก จึงจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อส่งได้รวดเร็ว

ต่อมาทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เสนอเข้ามาว่า ทำไมเราไม่เชื่อมระบบ CT Scan นี้ไปที่จ.น่านล่ะ นั้นแปลว่าเราสามารถขยายความสามารถนี้ไปให้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดได้ด้วย มันก้เป็นสร้างความเท่าเทียมทางสาธารณสุขให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ก่อนหน้าที่โควิด-19 จะระบาด ในปี 2561 ทาง ais  เราก็พยายามหาว่า 5G ที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทยยังมี use case ด้านอะไรบ้าง โดยหนึ่งใน use case ที่เราโชว์อยู่บ่อยครั้งจะเป็น use case ด้านสาธารณสุข โดยเราได้ศึกษาถึงเรื่องเครื่องเจาะกระดู เรื่องหุ่นยนต์กายภาพ รวมถึงพัฒนาหุ่นยนต์ที่ช่วยวิเคราะห์ดวงตาของผู้ป่วยว่าเป็นโรคหิตในสมองหรือเปล่า แต่พอโควิด-19 มา เราก็นำหุ่นยนต์เหล่านี้มาแปลงเป็นหุ่นยนต์ช่วยคุณหมอในโรงพยาบาล

ในส่วนของ New normal หลังโควิด-19 หลายๆ อย่างเราอาจมองไม่ค่อยออกเท่าไหร่นัก เพราะมันเป็นช่วงที่ผู้คนเริ่มปรับตัวอยู่แต่ที่เห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงอยู่ชัดเจนก็คืออย่างเมื่อกี้ที่เราเล่าเรื่องอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจเหล่านี้จะโตมากขึ้น ระบบออโต้เมติกจะพัฒนามากขึ้น อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในช่วงนี้คือเรื่องของการเรียนทางไกล ตอนแรกเราก็คิดว่าเด็กๆ จะเรียนกันได้หรือป่าว แต่ตอนนี้เด็กๆ ก็เริ่มปรับตัว โรงเรียนหลายๆ แห่งก็เริ่มทดลอง e learning คำถามก็คืออันนี้มันคือ New normal หรือยัง ซึ่งยังตอบได้ยากนะครับ แต่ทางเราพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเป็นพื้นฐานรองรับในหลายๆ เรื่อง

ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี DTAC

ด้านนายประเทศ ตันกุรานันท์ เผยว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาทาง DTAC ได้ปรับรูปแบบการทำงานหลายอย่าง ณ วันนี้พวกเราเกือบ 100% ทำงานจากที่บ้าน ซึ่งเราก็แบ่งทีมทำงานคล้ายๆ กับที่ทาง AIS ทำ โดยเฉพาะทีมมอนิเตอร์เครือข่าย ที่แต่ก่อนต้องทำงานในห้องควบคุมตลอดเวลา แต่ปัจจุบันก็สามารถนั่งทำจากที่บ้านกันได้ ซึ่งถ้าถามผมเมื่อ 4-5 เดือนที่แล้วว่าเราจะทำงานในลักษณะนี้กันได้ไหม ผมจะตอบในตอนนั้นเลยว่าไม่ได้ แต่ด้วยสถานการปัจจุบันทำให้เรากล้าที่จะทำในสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะทำได้มาก่อนแล้วก็ทำได้สำเร็จ ก็อย่างที่เราพูดกันว่า New normal ก็น่าสนในว่าชีวิตเราหลังจากนี้จะเป็นยังไงต่อไป

อย่างที่คุณวสิษฐ์ได้พูดไปหลายๆ เรื่อง เช่นเรื่อง telemedicine ผมว่าก็เป็นเรื่องที่ดีพวกเราในภาคธุรกิจโทรคมนาคมช่วยเหลือในเรื่องสาธารณสุข ซึ่งทาง DTAC เราก็ทำเหมือนกันนะครับ เพราะเราถือว่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เราร่วมมือกับทางโรงพยาบาลศิริราชทำแอปพลิเคชันเกี่ยวกับ telemedicine คล้ายๆ กับที่คุณวสิษฐ์เล่าให้ฟัง คือให้พูดคุยกับคุณหมอทางออนไลน์ รวมถึงการรับยา-จ่ายยาด้วย ก็ถือเป็น use case ที่ดี

คือพอในอนาคตต่อไปพวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครแม้กรทั่งแม่ค้าขายข้าวแกงก็ต้องรู้จักโลกออนไลน์แล้ว เพราะตอนนี้การสั่งข้าวแกงก็มีการสั่งผ่านแกร็บฟู้ดหรือฟู้ดแพนด้ากันแล้ว ทำให้เราต้องรู้จักการใช้งานโลกออนไลน์

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับประชาชนทั่วไปคือเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ซึ่งทาง DTAC เราก็พยายามผลักดันเรื่องนี้มาพอสมควรในระดับหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันพอโลกออนไลน์มันขยายวงกว้างไปถึงประชนชนในทุกระดับ ผมว่าความรู้ในเรื่องความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ

ผมยกตัวอย่างหนึ่งในกรณีรัฐบาลแจกเงิน 5,000 บาทก็ปรากฏว่าภายในเวลาไม่เกิน 1 อาทิตย์ มีเว็บไซต์ขึ้นมาประมาณ 50 เว็บไซต์ ใช้ชื่อเดียวกันเลย แต่เปลี่ยนนามสกุลไป หลายคนก็ส่งข้อมูลกันทางออนไลน์ว่านี่ไปลงทะเบียนรับเงินในเว็บกันนะ ทำให้ผู้ไม่หวังดีเหล่านี้ได้ข้อมูลของประชาชนไปเยอะมาก เพราะคนที่ไม่เคยใช้งานออนไลน์มาก่อนพอได้ข่าวว่าจะมีการแจกเงิน ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวเขาส่งลิงค์มาก็ไปกดกรอกข้อมูล ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ากลัว ผมว่าเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่สำคัญ ในอนาคตผมว่าเราต้องช่วยกันทำให้ประชาชนเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

เมื่อก่อนเวลาเราไปช็อปปิ้งไปซื้อของเราก็ต้องไปห้างไปนั้นนู้นนี่แต่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว หลังช่วงล็อกดาวน์มาเนี่ยช่องทางของเราที่โตขึ้นมากคือออนไลน์อีคอมเมิร์ซ โตขึ้นเป็นหลัก 100% เดี๋ยวนี้ซื้อมาม่า ซื้อปลากระป๋องก็สั่งทางออนไลน์แล้ว ทุกอย่างสั่งออนไลน์หมด อีกอย่างหนึ่งคือในสมัยนี้หน้าร้านอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ สมัยก่อนพ่อค้า-แม่ค้าอาจต้องมองหาทำเลที่ตั้ง เป็นหนึ่งในหลักการทำการค้า

แต่ว่าในปัจจุบันหน้าร้านอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเราจะเปิดร้านสิ่งแรกที่ต้องคิดตอนนี้คือ จะทำยังไงให้ร้านของเราติดเสิร์ชเอนจิน (search engine) มากที่สุด สมมติผมขายเสื้อผ้า จะทำยังไงให้ลูกค้าที่ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ใดๆ ก็แล้วแต่ พิมพ์คำว่าเสื้อ แล้วให้ร้านของเรามันขึ้นมาอยู่บนบรรทัดแรกๆ นี้คือสิ่งที่ร้านค้าจะต้องเปลี่ยน เพราะฉะนั้นคนที่ทำธุรกิจการค้าในยุคถัดไปต้องเก่งเรื่องพวกนี้

ณ วันนี้เราก็พยายามจะคิดกันอยู่ว่า New normal ของเราคืออะไร โดยเฉพาะในบริษัทเราเอง เราก็มาคิดกันว่าต่อไปในอนาคตหลังจากที่โควิด-19 จบแล้ว เราจะเป็นอย่างไรกันต่อไป เราก็เริ่มคิดกันแล้ว นอกจากนี้พวกเราควรจะต้องเตรียมตัวว่าชีวิตในโลกออนไลน์จะกลายเป็นชีวิตประจำวันของพวกเรา คือไม่ว่าเราจะทำอะไร เช่นทำงานเราก็ทำผ่านออนไลน์ ต่อไปเราจะไม่มีออฟฟิศเลย หรือว่ามีออฟฟิศแต่ว่าไม่มีโต๊ะทำงานประจำ เราจะต้องคุยเคยกับการทำงานและเทคโนโลยีแบบนี้ให้ได้ ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวให้ได้

ยกตัวอย่างเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เราเคยอ่านหนังสือพิมพ์ตอนเช้าที่บ้าน พอมี 3G เข้ามา เราก็คุยกันว่าสิ่งพิมพ์มันจะเริ่มหายตัวไป ถ้าเกิดว่าสำนักพิมพ์ไหนปรับตัวไม่ทันก็จะต้องล้มไปอย่างที่พวกเราเห็นกันอยู่ อันนี้ก็เช่นกัน บริษัทที่มีตึกใหญ่ๆ มีออฟฟิศใหญ่ๆ อันนี้ผมว่าในอนาคตน่าจะมีจำนวนน้อยลง

ผมขอให้มุมมองในด้านโครงข่าย ในวันนี้เราพูดถึงเรื่องว่า 5G จะเป้นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด disruption ในสังคม ยกตัวอย่างว่าเมื่อก่อนเรามีโครงข่ายที่ว่าอยู่บ้านเราใช้ Wifi แต่ในอนาคตโลกออนไลน์ที่เราจะสร้างกันขึ้นจะเป็น 5G หรืออะไรก็แล้วแต่คราวนี้มันจะรวมเป็นสิ่งเดียวกัน ต่อไปเวลาเราพูดถึงเรื่องออนไลน์ปั๊บ คราวนี้มันจะออนไลน์ทุกอย่างแล้ว ไม่ใช่แค่มือถือแต่ต่อไปทุกอย่างจะเป็นออนไลน์หมด

นอกจากนี้ในอนาคตเกษตรกรเราก็มีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น อาจใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำ หรือระดับอุณหภูมิ แต่ระดับน้ำไม่พอก็เปิดสปริงเกอร์เติมน้ำเข้าไปที่ไร่ของเรา ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรของไทยสามารถสู้กับลมฟ้าอากาศได้

พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G True

นายพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ เผยว่าหลังเกิดวิกฤติโควิดการทำงานต้องมีการปรับตัว Work from home เป็นหลัก TRUE เองมีการเตรียมการไว้ก่อน แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสใช้รวดเร็วเต็มรูปแบบขนาดนี้ สิ่งที่ไม่คุ้นเคยก็มีการปรับกันเมื่อผ่านหนึ่งเดือนก็เริ่มคุ้นเคยเป็น New Normal จริงๆ ในแง่ขององค์กร ได้ทำให้บริษัทคิดหลายเรื่อง  การ Work from home  จะเป็น New Normal   ทำงานที่บ้านก็มีประสิทธิภาพได้ ทั้งในส่วน back office หรือ call center

สำหรับเทคโนโลยีหลังโควิด มองไปที่ เรื่องการค้าอนนไลน์  ที่เดิมหลายคนคิดว่าไกลตัว แต่ขณะนี้เปลี่ยนไปแล้ว  ทุกๆ คนต้องเรียนรู้ อย่าง เช่น ร้านข้าวแกงเดิมที่ร้านที่ใช้คิวอาร์โค้ดจ่ายเงินไม่กี่ร้าน แต่ขณะนี้มีจำนวนมากหรืออย่างน้อยก็เขียนเลขบัญชีไว้ให้โอนเงิน นี่คือสิ่งที่เห็นชัดเจน ถ้ามองภาพใหญ่กว่านั้น เทคโนโลยีหลายตัวที่เราเคยทดลองในระบบ 5G แล้วมองว่าวันหนึ่งต้องได้ใช้ แต่เมื่อโควิดมาก็ได้ใช้เลย เช่น เทคโนโนลียีการแพทย์ทางไกล การศึกษาทางไกล

ประชาชนทั่วไปชีวิตหลังจากนี้จะไม่เหมือนเดิมจะเป็น New Normal เพราะเรื่องนี้จะไม่ได้จบเร็ว ขณะนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เรียนรู้ ประชาชนปรับตัวได้เยอะเพราะคุ้นเคย ผ่านไปอีก 4-5 เดือน จะเป็น New Normal จริง หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับชีวิตแบบเก่าอีก

ธุรกิจ SMEs ครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญ จากเดิมที่มองไม่เห็นภาพว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งเมื่อมองไม่ออกเวลาเทคโนโลยีมามัน disrupt บริษัทนั้นจะไม่มีโอกาสได้อยู่ต่อ แต่ครั้งนี้มีเวลาเตรียมตัวได้ปรับตัว เมื่อผ่านไปได้พวกเขาจะรู้ว่าการรับมือ digital economy  ดีกว่าถูก disrupt โดยไม่รู้จะเปลี่ยนอย่างไร

มีกรณีตัวอย่างจากธุรกิจกาแฟที่ประสบความสำเร็จในต่างจังหวัด ก่อนขยายมา กทม. แต่เมื่อเกิดโควิด ทำให้เกิดการทบทวนแนวทางการขยายธุรกิจ เมื่อร้านกาแฟไม่มีหน้าร้านจะทำอย่างไร จึงเริ่มปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร ปรับเปลี่ยน Business Model เป็นเดลิเวอรี่ จากเดิมที่ยอกขายสัปดาห์แรกหลังโควิดยอดขายตกฮวบ แต่พอปรับเปลี่ยนกลับขึ้นมา 80-90% ที่เคยทำได้ ถ้ามองเห็นการเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ปรับตัวได้เร็วจะไเด้แนวทางธุรกิจใหม่ ไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาเพื่อเพิ่มยอดขาย ตอนนี้สามารถก้าวกระโดดโดยไม่มีข้อจำกัดหน้าร้าน

โลกหลังจากนี้ Big Data จะมีความสำคัญ เมื่ออยู่บนโลกดิจิทัลข้อมูลจะมหาศาล ใครที่สามารถเรียนรู้นำข้อมูลมาเป็นประโยชน์ได้มากกว่ากัน สามารถหามุมชนะในโลก New Normal ได้ขณะที่ AI จะเข้ามามีบทบาทมาก รวมทั้ง cloud technology  โลกจากนี้จะเปลี่ยนไปอย่างมาก

วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการที่ทุกคนปรับตัว เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลเวลามามาเร็ว โควิดให้โอกาสเราได้ปรับตัวพร้อมๆ กัน อยากให้มองในทางบวก เป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงประเทศเป็น Digital Hub  เพราะคนไทยเรียนรู้เร็ว หากสามารถจะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างถูกต้อง

 

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า