Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นปัญหา ‘สุรากับเยาวชน’ นับเป็นอีกหัวข้อที่น่ากังวล เมื่อเริ่มมีการศึกษาพฤติกรรมการดื่มสุราในกลุ่มเยาวชนอย่างเจาะลึก ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีคนดื่ม จะเริ่มดื่มเร็วกว่าครอบครัวที่ไม่ดื่ม เนื่องจากผู้ปกครองเป็นคนหยิบยื่น ‘น้ำเมาแก้วแรก’ ให้กับเด็ก

“หลายคนอาจเข้าใจว่า ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนเริ่มต้นดื่มแอลกอฮอล์จนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ มาจากเพื่อน หรือสื่อที่ทำให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็นจนกระทั่งทดลองดื่ม แต่จากการศึกษาเราพบว่า สัดส่วนของผู้ที่ชักชวนให้เด็กดื่มสุราเป็นครั้งแรก มักมาจากญาติผู้ใหญ่ และผู้ปกครอง คนในครอบครัวที่อาจมีความเชื่อว่า การทำให้เด็กคุ้นชินกับการดื่มแอลกอฮอล์ ตอนที่มีครอบครัวคอยดูแลอยู่ จะเป็นการป้องกันการติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคต” รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุรา และการเสพติดทางโทรศัพท์ 1413 กล่าวใน งานเสวนาออนไลน์เนื่องในวันเข้าพรรษา ปี 2564โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ภายใต้แนวคิด “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” เพื่อขับเคลื่อนสังคมแห่งการปลอดเหล้าและอบายมุข

แต่ความเชื่อดังกล่าวกลับขัดแย้งกับผลการวิจัยที่ในประเทศออสเตรเลีย ที่ค้นพบว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวซึ่งหยิบยื่นสุราให้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมดื่มหนักในคราวเดียว (Binge Drinking) และมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคติดสุรามากกว่าเด็กทั่วไปถึง 2.5 เท่า ข้อมูลนี้สอดคล้องกับผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า การมีผู้ใหญ่ในบ้านที่ดื่มสุรา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีแนวโน้มเริ่มต้นดื่มสุราไปจนถึงดื่มหนัก รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเข้าถึงบุหรี่และสารเสพติดชนิดอื่นมากขึ้น

เมื่อย้อนกลับมาที่การศึกษาของประเทศไทย งานวิจัยกลุ่มเยาวชนที่เริ่มต้นดื่มสุราในปี 2562 กลับให้ผลการศึกษาที่น่ากังวลกว่าเก่า เพราะตัวเลขจากการสำรวจเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากหลายภูมิภาคทั่วประเทศไทย อายุเฉลี่ย 12 ปีจำนวนกว่า 6,067 ราย พบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งเคยดื่มสุรา โดย 32.8% เคยจิบหรือทดลอง 4.5% เคยดื่มหนัก และ 8.2 % เคยดื่มเต็มแก้ว ส่วนอีก 54.4% ยังไม่เคยจิบหรือทดลองมาก่อน

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้า งานวิจัยยังศึกษาต่อในช่วงเวลา 12 เดือนต่อมา และพบว่า กลุ่มเด็กที่เคยจิบหรือดื่มสุรา ซึ่งมีทั้งหมด 2,765 คน ในช่วงเวลา 1 ปีเคยประสบเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายและเกิดความต้องการสุราสูง ข้อมูลนี้สะท้อนว่าสุราได้กลายเป็นสิ่งที่เด็กวัยนี้นึกถึงเป็นทางออกเมื่อเจอกับปัญหาหรือความเครียด

รศ.พญ.รัศมน ชี้ว่า ผู้ปกครองมีอิทธิพลไม่น้อยต่อพฤติกรรมและทัศนคติที่มีต่อการดื่มสุราของเด็ก เมื่อบวกเข้ากับอิทธิพลของสื่อและการโฆษณาต่างๆ ที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการเริ่มต้นดื่มในระดับกลาง ก็จะยิ่งส่งผลมีโอกาสติดสุรามากขึ้นในระดับรุนแรง

“การเห็นผู้ปกครองดื่มทำให้เด็กรู้สึกว่าการดื่มเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าเด็กจะอาศัยอยู่ในบ้านก็สามารถรับความเสี่ยงได้ ผลกระทบและโอกาสการเกิดโรคและพฤติกรรมผิดปกติของเด็กที่ดื่มสุราตั้งแต่อายุยังน้อย มีตั้งแต่การความเสี่ยงของการเกิดโรคติดสุรา การดื่มหนัก โอกาสที่จะใช้สารเสพติดประเภทอื่น การบาดเจ็บและเกิดอุบัติเหตุ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผู้ที่อยู่ในวัยเรียนก็เป็นที่แน่นอนว่าการดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้ผลการเรียนและการทำงานต่าง ๆ มีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น การส่งเสริมให้เด็กปฏิเสธที่จะดื่มในบ้านจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ” รศ.พญ.รัศมน กล่าว

ในปี 2564 นี้ แม้กิจกรรมรณรงค์ งดเหล้าเข้าพรรษา อยู่ในช่วงเวลาแห่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ เพราะกิจกรรมในปีนี้ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” ซึ่งเป็นแนวคิดที่บูรณาการต่อยอดมาจากโครงการ “โพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า” โครงการนี้เล็งเห็นความสำคัญของ ‘พลังสีขาว’ จากเด็กและเยาวชน ที่สามารถชักจูงพ่อแม่ให้เลิกเหล้าได้

กิจกรรมรณรงค์เน้นหนักไปที่การเปลี่ยนบทบาทของเด็ก ซึ่งเคยเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่มสุราให้กลายมาเป็นฝ่ายรุกที่หันมาเผชิญหน้าและแก้ปัญหาไปพร้อมกับคนอื่นในสังคมเพราะ เยาวชน คือ คลื่นลูกใหม่ ที่เต็มไปด้วยแรงและพลังใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม รวมถึงความคิด ความเชื่อต่าง ๆ สสส. เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานร่วมกับคนรุ่นนี้ เพื่อปลูกฝังค่านิยมทางวัฒนธรรมที่จะส่งผลต่อพฤติกรรม ตลอดจนเสริมสร้างเกราะป้องกันในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เพียงปัญหาสุขภาพกาย แต่ยังรวมถึงมิติอื่นๆ 

“กิจกรรมในปีนี้ เราเบนเข็มความสนใจมาที่ผลของเหล้าที่มีต่อครอบครัว เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ ต้องอยู่บ้านในสถานการณ์โควิด-19 เราเกิดแนวคิดการรณรงค์ที่ว่า ถ้าเปลี่ยนบทบาทของเด็ก จากคนที่เป็นเหยื่อหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้กลายมาเป็นฝ่ายที่จะขอให้ผู้ปกครองลด ละ เลิกเหล้า นอกจากจะลดปัจจัยเสี่ยงในครอบครัวได้แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ และเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้เด็กเมื่อโตขึ้น” ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว

โครงการ “สื่อรักให้พักเหล้า ลดเสี่ยง เลี่ยงโควิด” ใช้วิธีสื่อสารผ่านความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องในโรงเรียน โดยให้เด็กโตทำหน้าที่เป็นสะพานส่งต่อข้อมูลไปยังเด็กเล็ก ก่อนจะส่งเสริมให้เด็กทำหน้าที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้พ่อแม่เลิกเหล้า ผ่านกิจกรรมอย่าง ท่องความดี, จดหมายสื่อรักขอพ่อแม่เลิกเหล้า, ปลูกผัก…ของขวัญจากใจให้พ่อแม่ เป็นต้น

ผลจากการดำเนินงาน ผศ.ดร.มนตา ตุลย์เมธาการ ภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครรินทรวิโรฒ เผยว่า เด็กนักเรียนมีท่าทีปกป้องตัวเองจากการถูกชักจูงให้ดื่มเหล้ามากขึ้น รู้จักปฏิเสธ หลีกเลี่ยง และปลีกตัวออกห่างการเชิญชวนอย่างชัดเจน ส่วนผู้ปกครอง มีความตระหนักรู้ในโทษภัยของสุรา ตลอดจนมีพฤติกรรมลดไปจนถึงงดดื่มถึง 83.4% 

กาญจนา สิริรัตน์ชัยกุล ครูผู้สอนโครงการโพธิสัตว์น้อย ลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า จากโรงเรียนวัดโสมนัส กรุงเทพฯ บอกเล่าความประทับใจหลังจากดำเนินกิจกรรมว่า

“เราให้เด็กชั้น ป.5 และ ป.6 ไปสอนน้อง ป.1 เกี่ยวกับโทษของการดื่มเหล้า น้อง ๆ ที่ไม่เคยรู้เขาก็จะเริ่มกลัว ที่นี้พี่ก็จะสอนให้น้องเขียนจดหมายชวนผู้ปกครองเลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา สำหรับพ่อแม่ที่ตัดสินใจไม่ดื่มเหล้าวันเข้าพรรษา พี่จะสอนน้องเขียนจดหมายขอบคุณที่พ่อแม่ไม่ดื่ม ผลของกิจกรรม เราเห็นชัดว่าความสัมพันธ์ของเด็ก ๆ ดีขึ้น จากการที่พี่ชวนน้องไปปลูกผัก รดน้ำต้นไม้ ทั้งที่ปกติเขาก็เล่นแยกกัน ส่วนเรื่องของครอบครัว เราเห็นชัดว่าเด็กมีความสุขมากขึ้น ตอนครูไปเยี่ยมบ้าน พอเด็กส่งจดหมายให้พ่อ พ่อเขาก็ก้มลงกอดลูกบอกว่าจะเลิกให้ ซึ่งพอผ่านช่วงเปิดเทอมไป ครูก็ถามเด็ก เขาก็บอกว่าหลังจากนั้นพ่อก็เลิกจริง ๆ

ผลลัพธ์จากการดำเนินกิจกรรมสื่อรักให้พักเหล้าฯ สะท้อนให้เห็นว่า ความรัก ความผูกพันธุ์ในครอบครัว เป็นพลังที่ทำให้ผู้ปกครองตัดสินใจเลิกเหล้า ความเห็นจาก ‘คุณหนุ่ม‘ พ่อของ ดญ.อัญจิรา บุนดี หรือ น้องแอปเปิ้ล บอกว่า หลังจากได้รับจดหมายจากลูก ก็ตัดสินใจว่าจะเลิกเหล้าทันที แม้ตอนแรกจะทำไปเพราะสงสารลูก แต่ก็พบว่าหลังจากเลิกแล้ว ได้อะไรกลับมาเยอะมาก ทั้งสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่หอบไม่เหนื่อย เงินเก็บที่เคยเสียไปก็มีมากขึ้น เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเหล้าครั้งละหลายบาท ตอนนี้เลิกมาได้ 4 เดือนแล้ว รู้สึกมีความสุขมาก ด้านครอบครัวก็ดีใจไปกับเรา รู้สึกอยากขอบคุณทางคุณครู โรงเรียน ที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมามาก ๆ และอยากแนะนำผู้ปกครองคนอื่น ๆ ว่าเลิกเถอะ เพื่อลูกของเรา

สามเณรธน ยุทธ์ คุณยศยิ่ง เล่าว่า ย้อนกลับไปตอนอยู่ชั้นประถม 3 ครอบครัวเคยมีปัญหาการเงิน และปัญหาครอบครัวเนื่องจากพ่อติดเหล้ามาก ทุกครั้งที่กลับมาบ้านจะเห็นพ่อกับแม่ทะเลาะกันตลอด พอทางโรงเรียนจัดกิจกรรมเขียนจดหมายสื่อรักขอพ่อแม่เลิกเหล้าขึ้นมา เณรจึงตัดสินใจเข้าร่วม เณรเล่าว่า ไม่รู้ว่าจดหมายถูกส่งไปที่บ้านตอนไหน แต่วันหนึ่งเห็นพ่อนั่งรออยู่แล้วถามเณรว่าอยากให้พ่อเลิกเหล้าเหรอ เณรบอกว่าอยาก เขาจึงรับปากว่าจะเลิกให้ จนถึงตอนนี้พ่อของเณรเลิกเหล้าได้แล้ว เณรรู้สึกดีใจมาก ทั้งยังฝากความขอบคุณมาถึงหน่วยงานที่จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา

ด้านคุณตาของ ดญ.เกณิกา อุ่นอุบล หรือ น้องข้าวฟ่าง ที่ได้รับจดหมายขอให้เลิกเหล้า จนตัดสินใจเลิกอย่างเด็ดขาด ก็พูดถึงความรู้สึกที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ว่า เหมือนกับเสียงเล็ก ๆ ที่แสดงความห่วงใยในตัวเขา เหมือนกับการเตือนสติว่าเขายังมีใครรออยู่ และทำให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ ซึ่งความรู้สึกหลังจากนั้นก็เหมือนกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างแท้จริง

สำหรับความสำเร็จของโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. พบว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีคนไทยร่วมงดดื่มเหล้าในช่วงเข้าพรรษามากถึง 12.05 ล้านคน แบ่งเป็น งดตลอด 3 เดือนเข้าพรรษา 6.95 ล้านคน งดบางช่วง 2.3 ล้านคน และไม่งดแต่ลดการดื่มลง 2.8 ล้านคน สามารถประหยัดเงินค่าซื้อเหล้าได้ 6,326 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1,885 บาท/คน ซึ่งผลของการลด ละ เลิกดื่มเหล้า พบว่าประชาชนมีสภาพร่างกายดีขึ้น ร้อยละ 40.7 สุขภาพจิตดีขึ้น ร้อยละ 24.0 และสะท้อนให้เห็นว่าการหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลดีกับคุณภาพชีวิตทุกมิติ

ความเห็นจาก ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เผยว่า การดำเนินกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์ค่อนข้างดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นที่น่าพอใจ สำหรับในปีนี้ สถานการณ์โควิด-19 เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยให้ทางเครือข่ายงดเหล้าสามารถเชิญชวนคนให้งดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา เพราะมันทั้งช่วย ลดเสี่ยง ลดกระจาย และลดรายจ่าย ให้คนไทย ลดเสี่ยง เพราะแอลกอฮอล์ทำลายภูมิต้านทานของมนุษย์ และทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง ลดกระจาย เพราะอย่างที่ทราบดีว่าวงเหล้าถือเป็นอีกสถานที่ที่สามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้ สุดท้าย ลดค่าใช้จ่าย เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ไม่แน่นอน ควรออมเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมากกว่า

“วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพของไทยอย่างหนักหนา ในช่วงเวลานี้ แม้ว่าผู้คนอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องอื่นมาก แต่ปัญหาที่มีอยู่กลับไม่ได้หายไปไหน ประเทศไทยยังคงมีผู้ป่วย NCDs (กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) จำนวนมหาศาลที่กำลังได้รับผลกระทบด้านการรักษา เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 บทบาทของสสส. สคล. ตลอดจนภาคีเครือข่าย ที่ริเริ่มโครงการ งดเหล้าเข้าพรรษา เราเปรียบเสมือนต้นน้ำที่จะช่วยบรรเทาความสาหัสของปัญหาปลายน้ำ หรือก็คือระบบบริการสุขภาพที่ต้องรับภาระหนัก ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรง ปีนี้ นับเป็นปีที่ 19 แล้วที่เรายังคงดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าการจัดรณรงค์งดดื่ม จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยลดความเสี่ยง และช่วยลดภาระของระบบบริการทางการแพทย์ได้อีกทางดร.สุปรีดา ผู้จัดการสสส. กล่าว

ในสถานการณ์โควิด-19 เด็ก ๆ ต้องอยู่บ้านเรียนออนไลน์ สสส. ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนใช้ช่วงเวลานี้สานสัมพันธ์ในครอบครัว โดยงดเหล้าและงดอบายมุขทุกชนิดในช่วงเข้าพรรษา เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่ดี เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจนแล้ว ทั้งความรุนแรงในครอบครัว เศรษฐกิจครัวเรือนที่ย่ำแย่ จะยิ่งมีส่วนที่ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคต

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า