SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อ 26 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง (KBank Private Banking) ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ Sustainability Revolution: A Call for Action ตามเป้าหมายขับเคลื่อนภาคการลงทุนไทยสู่ความยั่งยืนทั้ง

โดยหนึ่งในไฮไลท์ของงานนี้คือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระหว่าง มร.อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2007 กับอเล็กซ์ เรนเดล นักแสดงชื่อดัง และผู้ก่อตั้งองค์กร EEC Thailand ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เพื่อช่วยสร้างความตระหนักและจุดประกายการลงทุนอย่างยั่งยืน

อเล็กซ์ เรนเดลล์ : สวัสดียามค่ำนะครับ มร. กอร์ ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านในค่ำคืนนี้ ผมได้ฟังท่านเมื่อสักครู่ และรู้สึกมีแรงบันดาลใจมากว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ คือประเด็นสำคัญที่คนรุ่นเราจำเป็นจะต้องจัดการต่อไปอีกหลายปี แต่ในปัจจุบัน เราก็กำลังเผชิญกับโรคระบาดและความไม่เท่าเทียม คำถามคือ ท่านยังคงเชื่อมั่นอยู่ไหมครับว่าปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับโลกของเราอยู่ครับ

อัล กอร์ : ผมเชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดสำหรับมนุษยชาติ ถ้าเราไม่สามารถร่วมมือกันเพื่อลดมลพิษจากการภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นและหยุดวิกฤติการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศได้ มนุษยชาติอาจล่มสลายได้

ในช่วงเวลานี้ ผมคิดว่ามันคงดูแปลกๆ ถ้าจะบอกว่าโควิด-19 ไม่ได้สร้างความกังวลให้กับเรา แน่นอนว่าเรายังคงต้องจัดการกับโรคระบาดในครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ จะมาแย่งชิงความสนใจของเรานะครับ กลับกันครับ ทั้ง 2 ประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกันชัดเจนมาก

มีข้อเท็จจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากนักวิทยาศาสตร์และแพทย์นะครับคุณอเล็กซ์ อย่างแรกเลย การที่เราเผาพลังงานเชื้อเพลิง ไม่ได้ส่งผลให้ภาวะโลกร้อนเพียงเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ในหลายเมืองที่มีระดับมลพิษสูงและเราทราบกันดีครับว่า มลพิษเหล่านี้คือปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นในช่วงโรคระบาด งานวิจัยหลายฉบับในประเทศจีน, อิตาลี, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และที่อื่นๆ พบว่า มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบาดที่สูงในกลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับมลพิษสูงในระบบทางเดินหายใจ

อย่างที่สอง มนุษย์ได้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่า ซึ่งมีไวรัสเป็นล้านชนิดที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อน ปัจจุบันเรากำลังเผชิญและต้องรับมือกับ 5 โรคติดต่อร้ายแรงชนิดใหม่ในทุกๆ ปี ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดจากสัตว์เป็นพาหะมาสู่มนุษย์ ไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 อย่างที่เรารู้กัน มาจากค้างคาวสู่มนุษย์

ดังนั้นทั้ง 2 วิกฤตินี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน ข้อสุดท้าย เมื่อสถานการณ์โรคระบาดสิ้นสุดลง เราจะต้องการการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นับว่าโชคดีมากที่การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มาพร้อมกับโอกาสครั้งสำคัญในการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ ในประเทศของผม อาชีพที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดตั้งแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ อาชีพที่มีการเติบโตรวดเร็วเป็นอันดับ 2 คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านกังหันลม

นอกจากนี้ การปรับปรุงอาคารให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ยังสร้างโอกาสในการจ้างงานหลายสิบล้านตำแหน่ง ในประเทศไทย สหรัฐฯ และอีกหลายแห่งทั่วโลก ผมอยากเล่ารายละเอียดให้ฟังมากกว่านี้ แต่อาจต้องจบการตอบคำถามแรกไว้เพียงเท่านี้ก่อน และรอคำถามถัดไปครับ

อเล็กซ์ เรนเดลล์ : ขอบคุณมากครับ มร. กอร์ ณ ที่นี้ เรามีผู้นำธุรกิจมากมายมาร่วมงานในค่ำคืนนี้ พวกเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรครับ จากที่ได้ฟังเมื่อสักครู่ ท่านกล่าวว่า เราสามารถช่วยสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจกได้ แต่บางคนอาจมองว่ามันเป็นเรื่องยากและไกลตัวเหลือเกิน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริงใช่ไหมครับ ผู้นำธุรกิจแต่ละท่าน จะสามารถมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้อย่างไรครับ

อัล กอร์ : อย่างแรกนะครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สามารถทำได้จริงครับคุณอเล็กซ์ และผมต้องขอขอบคุณคุณด้วยในฐานะที่คุณเป็นทูตสันถวไมตรีที่ร่วมผลักดันการทำงานในด้านนี้ ผมขอยืนยันครับว่าผู้นำด้านธุรกิจมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก ผู้นำธุรกิจในปัจจุบันไม่น้อยเลยพบว่า เมื่อพวกเขาต้องสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพที่เพิ่งเรียนจบเข้าทำงาน คนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับเป็นผู้ที่สัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจในขณะเดียวกันด้วย คนรุ่นใหม่เช่นคุณ มีความสนใจเรื่องอนาคตและความยั่งยืนเป็นอย่างมาก และอยากร่วมงานกับหน่วยงานที่ไม่ได้เพียงมอบรายได้ที่ดีแก่ลูกจ้างเท่านั้น แต่ต้องเป็นเจ้าของกิจการที่มีค่านิยมตรงกัน และทำให้พวกเขาสามารถบอกกับเพื่อนและครอบครัวได้ว่า พวกเขาหาเลี้ยงชีพได้ แต่พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าแค่ตัวเงิน

ศาสตราจารย์ รัทแทน ลาล (คนซ้าย) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ดินประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ถ่ายภาพร่วมกับอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มร.อัล กอร์ ที่ฟาร์มของเขาในเมืองคาร์เธจ รัฐเทนเนสซี Photo by Courtesy Gabrielle Hathaway

พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ช่วยสร้างอนาคตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจก็ได้รับความเห็นจากลูกค้าว่า พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมกับธุรกิจที่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เป็นผู้สร้างปัญหานั้นเสียเอง แต่ที่สำคัญครับคุณอเล็กซ์ เราได้เห็นว่า การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืนสามารถช่วยประหยัดต้นทุน และลดค่าใช้จ่าย ไปพร้อมๆ กับ ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้แก่แบรนด์ของธุรกิจนั้นๆ ทำให้บุคลากรคุณภาพสนใจที่จะร่วมงานและอยู่กับบริษัทในระยะยาว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันสำหรับธุรกิจนั้นๆ ด้วยนั่นเองครับ

อเล็กซ์ เรนเดลล์ : ขอบคุณมากครับ มร. กอร์ สำหรับตัวผมเอง ผมได้มีโอกาสในการอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมมาไม่ถึง 10 ปี ด้วยซ้ำ ผมได้เห็นและสัมผัสกับความท้าทายของการต่อสู้เพื่อเรื่องๆ หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ตัวท่านเอง ได้ต่อสู้เพื่อประเด็นนี้มายาวนานกว่า 40 ปี ที่ผมทราบก็คือ ท่านเป็นคนแรกๆ ที่ปลุกกระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลยก็ว่าได้ 40 ปีผ่านมา ท่านก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้จนถึงทุกวันนี้ อะไรที่ทำให้ท่านยังคงมีไฟในการต่อสู้ และยังคงมีความหวัง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมามากมายก็ตามครับ

อัล กอร์ : ย้อนกลับไปเมื่อตอนผมยังเด็ก ผมไม่เคยคิดเลยว่า ประเด็นนี้จะสามารถกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของผม ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่โชคดีมากที่ผมได้ทำงานที่ช่างคุ้มค่ากับทุกๆ ความทุ่มเท แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องบังเอิญที่ผมมาสนใจเรื่องนี้ เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผมได้ลงเรียนวิชากับนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิกาศคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก ท่านคือผู้ที่สามารถวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกได้เป็นคนแรก การเรียนรู้จากท่านในครั้งนั้นได้เปิดโลกทัศน์ของผมเป็นอย่างมาก ในเวลาต่อมา เมื่อผมเริ่มทำงานการเมือง ผมก็เกิดคำถามขึ้นมาว่าพวกเรามีแผนรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างไรบ้าง และคำตอบก็คือไม่มีครับ ผมจึงเริ่มหาแนวทางในการแก้ไขประเด็นนี้

อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ อัล กอร์ ขณะบรรยายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2016

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมผมยังคงต่อสู้จนถึงตอนนี้ คำตอบก็คือ ผมไม่สามารถล้มเลิกได้ ผมใส่ใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และผมก็เห็นว่า สิ่งที่เราทำมันเริ่มเกิดผลจริงๆ วิกฤตยังคงทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่เราจะหาทางแก้ไขได้ทัน แต่เราเริ่มมีแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งขึ้นและในอีกไม่นาน ผมเชื่อว่า เราจะสามารถเอาชนะวิกฤตนี้ได้ ด้วยการลดมลพิษที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและฟื้นสมดุลระหว่างมนุษยชาติและระบบนิเวศของโลกกลับมาได้ครับ

อเล็กซ์ เรนเดลล์ : สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านช่วยกล่าวทิ้งท้ายสั้นๆ แก่คนรุ่นใหม่และสังคมไทยครับ

อัล กอร์ : อย่างแรกนะครับ สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมขอขอบคุณจริงๆ สำหรับความใส่ใจ ขอบคุณที่ทุกคนตั้งใจศึกษาเกี่ยวกับวิกฤตินี้ รวมถึงแนวทางการแก้ไขด้วย ขอบคุณที่เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อน และกระตุ้นให้คนอื่นออกมาต่อสู้ไปด้วยกัน เมื่อตอนที่ผมอายุประมาณ 11-13 ปี และอาศัยอยู่ทางใต้ของสหรัฐอเมริกา ผมได้เห็นการปฏิวัติด้านสิทธิพลเมือง ซึ่งมีเป้าหมายในการต่อต้านการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นประเด็นที่กลุ่มคนรุ่นผม ซึ่งตอนนั้นยังเป็นเด็กอยู่ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทุกๆ ครั้งที่มีการปฏิวัติทางสังคม เราจะเห็นคนรุ่นใหม่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ครั้งนี้เองก็ไม่ต่างกันเลยสิ่งที่ผมอยากบอกคนรุ่นใหม่ก็คือ ไม่ใช่เพียงแค่ขอบคุณเท่านั้น แต่เราต้องทำให้มากกว่าเดิม เพราะยังมีเรื่องให้ต่อสู้อีกมาก

และสำหรับประเทศไทย ทั่วโลกให้ความนับถือประเทศไทยและคนไทยเป็นอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้พวกคุณและโลกเห็นแล้วว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเปราะบางสูงที่สุด จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดมาก่อนหน้านี้แล้ว พายุที่รุนแรงขึ้น ฝนที่ตกหนักขึ้น และภัยแล้งที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นตัวอย่างของปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เช่นเดียวกับทั่วโลก แต่ประเทศไทยก็มีโอกาสเช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในการเป็นผู้นำ ประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงปารีส และตั้งเป้าหมายระดับประเทศไว้ เราจะมีโอกาสในอีก 1 ปีข้างหน้านับจากเดือนตุลาคมนี้ที่ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย จะสามารถยกระดับของเป้าหมายภายใต้ข้อตกลงปารีส และผมหวังว่าคนไทยจะร่วมผลักดันให้ผู้นำยกระดับเป้าหมายของประเทศเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

อเล็กซ์ เรนเดลล์ : มร. กอร์ครับ ในฐานะตัวแทนของคนไทย ขอขอบคุณท่านเป็นอย่างสูงครับที่สละเวลามาร่วมพูดคยกับเราวันนี้ ขอบคุณมากครับ ผมเชื่อว่าทุกท่านคงได้รับแรงบันดาลใจมากมาย พวกเราสัญญาว่าจะร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป ขอบคุณมากครับ

อัล กอร์ : ขอบคุณคุณอเล็กซ์ ขอบคุณครับ

นายอเล็กซ์ เรนเดล ถ่ายภาพร่วมกับ นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย และนายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย พร้อมด้วยผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า