SHARE

คัดลอกแล้ว

ครบปีแล้วที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเติมจากห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง หลังจากมีการยื่นเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันชาวไทยก็ยังไม่เห็นการดำเนินงานที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง นอกจากบางองค์กร สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานเอกชนบางแห่งจะจัดทำขึ้นเอง

หลังจากประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รองรับกฎหมายเพื่อการสมรสเท่าเทียม รับรองการแต่งงานบุคคลเพศเดียวกัน ประเด็นต่อไปที่สังคมไทยน่าจะผลักดันและปรึกษาหารือกันต่อได้ ก็น่าจะเป็นเรื่อง “ห้องน้ำ” สำหรับทุกเพศ

ทำไม “ห้องน้ำ” ต้องแบ่งเพศ

ก่อนจะไปถึงห้องน้ำสำหรับเพศ LGBTQIA+ เรามาดูที่จุดเริ่มต้นของห้องน้ำกันก่อนว่าทำไมถึงต้องแยกสำหรับเพศชายและหญิง

ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 ปารีสเป็นแห่งแรกที่เริ่มมีห้องน้ำที่แบ่งแยกกันใช้ระหว่างเพศชายและเพศหญิง ตามมาด้วยรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ออกกฎหมายบังคับให้ผู้ชายและผู้หญิงที่ทำงานด้วยกันในสถานที่ทำงานแห่งเดียวกันใช้ห้องน้ำ อ่างล้างมือ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ในห้องน้ำแยกกันในปี 1887 และกฎหมายนี้ก็เริ่มถูกนำไปใช้ในรัฐอื่นๆ ทั่วประเทศ และกลายเป็นกฎหมายทั่วไปที่กำหนดใช้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา

เทอร์รี่ โคแกน อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยยูทาห์ ให้ข้อมูลกับนิตยสาร TIME ว่า จริงๆ แล้วสมัยก่อนที่มีความคิดริเริ่มที่จะแยกห้องน้ำตามเพศสภาพ มาจากการที่ผู้หญิงในสมัยนั้นเพิ่งจะเริ่มปรับตัวเข้ากับสังคมนอกบ้าน จากที่มีชีวิตอยู่แต่ในบ้านมาตลอด ผู้หญิงเริ่มได้รับโอกาสในการเข้ามาทำงาน ได้ใช้ชีวิตเป็นพนักงานหรือคนงานในโรงงาน และสังคมสมัยนั้นยังมองว่าผู้หญิงยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องจากโลกภายนอก เริ่มจากการมีห้องอ่านหนังสือสำหรับผู้หญิงแยกออกมาจากห้องสมุด ห้องโดยสารในรถไฟที่แยกเฉพาะผู้หญิงมาไว้ที่ห้องสุดท้าย เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุที่หัวขบวน ผู้หญิงจะได้ปลอดภัย จนมาถึงการสร้างห้องน้ำผู้หญิงแยกออกไป โดยเริ่มที่ห้องน้ำหญิงที่แยกออกไปจากตัวอาคาร มาจนถึงการสร้างห้องน้ำแยกในอาคารเดียวกัน โดยออกแบบให้ห้องน้ำหญิงมีลักษณะคล้ายกับห้องน้ำที่บ้าน

ดังนั้น ในสมัยก่อน ห้องน้ำสำหรับเพศหญิงถูกสร้างแยกออกมา เพื่อเป็นเสมือนพื้นที่หลบภัย เป็นพื้นที่สบายใจ ปกป้องอันตรายจากโลกภายนอกให้กับพวกเธอ

ในปัจจุบัน แม้ว่าบทบาทและภาพจำของผู้หญิงจะไม่ดูอ่อนแอและต้องการการปกป้องมากเท่าสมัยก่อน แต่ก็ยังมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังคงเกื้อหนุนให้ผู้หญิงพึงได้รับความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐาน รวมถึงเหตุผลในเรื่องของความปลอดภัยที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมอย่างการทำร้ายร่างกาย ชิงทรัพย์ หรือข่มขืน ดังนั้นห้องน้ำที่แยกชายหญิงจึงยังคงมีอยู่ และใช้กันอย่างแพร่หลายจวบจนถึงปัจจุบัน

แล้วกลุ่ม LGBTQIA+ ควรเข้าห้องน้ำของเพศไหน?

ในปี 2016 รัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรัฐแรกที่ออกกฎหมาย House Bill 2 (HB2) ที่กีดกันการใช้ห้องน้ำของเพศทางเลือก โดยบังคับให้คนข้ามเพศต้องใช้ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ และห้องแต่งตัวในอาคารที่เป็นของรัฐตามเพศที่ระบุในสูติบัตรของตัวเองเท่านั้น รวมถึงยกเลิกมาตรการต่อต้านการกีดกันคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ และปฏิเสธการเยียวยาทางกฎหมายใดๆ ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการถูกเลือกปฏิบัติอีกด้วย 

แต่หลังจากการต่อสู้ของกลุ่ม LGBTQIA+ รวมถึงการต่อต้านจากหลายๆ ภาคส่วนทั้งรัฐบาลและเอกชนตลอดระยะเวลา 3 ปี สุดท้ายรัฐนอร์ทแคโรไลนาก็ยอมให้กลุ่มคนข้ามเพศสามารถใช้ห้องน้ำสาธารณะตามเพศที่ตัวเองเลือกได้อย่างอิสระในปี 2019 ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการได้รับความคุ้มครอง และความเป็นส่วนตัวที่เท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา

ทีนี้กลับมาสู่คำถามที่ว่า กลุ่มคนข้ามเพศจำเป็นต้องมีห้องน้ำแยกหรือไม่ 

การแยกห้องน้ำเพียงเพศหญิงและเพศชายอาจดูเหมือนเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงสำหรับกลุ่มเพศทางเลือกมักมีปัญหา หรือมีความกังวลใจในการใช้ห้องน้ำสาธารณะว่าจะเลือกเข้าห้องไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง สาวประเภทสองที่ต้องทนต่อสายตาของผู้ชาย หรือหญิงที่แปลงเพศเป็นชายที่อาจลำบากใจที่ต้องเดินเข้าห้องน้ำหญิง

ขนาดในประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่มเพศทางเลือกมากประเทศหนึ่ง ยังมีข้อถกเถียงไม่จบไม่สิ้นเกี่ยวกับการใช้ห้องน้ำของกลุ่มเพศทางเลือกว่าควรให้ใช้ห้องน้ำของเพศไหน ยกตัวอย่างเช่น ข่าวที่เด็กฝึกงานสาวประเภทสองในบริษัทชื่อดัง ถูกหัวหน้าเรียกไปดุแล้วบังคับให้ใช้ห้องน้ำชายเท่านั้น ทั้งๆ ที่เธอคนนั้นแปลงเพศแล้ว หรือข่าวที่สาวประเภทสองถูกตำรวจเข้าชาร์จที่หน้าห้องน้ำหญิงในปั้มน้ำมัน และไล่ให้ไปใช้ห้องน้ำชาย เพื่อป้องกันการปลอมตัวเป็นผู้หญิงแล้วอาจเข้าไปก่อเหตุอันตรายในห้องน้ำหญิง แต่สาวประเภทสองก็ยืนยันความบริสุทธิ์ใจ แม้เพศสภาพจะเป็นชาย แต่จิตใจและร่างกายภายนอกเป็นผู้หญิง จะให้เข้าห้องน้ำชายได้อย่างไร

เมื่อหลายๆ สื่อถามคำนี้กับชาวเน็ต คำตอบก็ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ให้สาวประเภทสองใช้ห้องน้ำชายตามเพศสภาพตั้งแต่เกิด อีกฝั่งก็ให้ใช้ห้องน้ำหญิงหากแปลงเพศแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงการแบ่งแยกใครว่า “แปลงเพศแล้ว” ก็ไม่อาจทราบและรับรู้ได้จากภายนอกเสมอไป ผู้ชายที่ตั้งใจปลอมตัวใส่วิกผมใส่ชุดผู้หญิงก็แอบเข้าห้องน้ำหญิงได้เช่นกัน ยังไม่รวมถึงกลุ่มหญิงที่แปลงเพศเป็นชาย ที่กระอักกระอ่วนใจไม่แพ้กันที่ต้องใช้บริการในห้องน้ำหญิง ทั้งๆ ที่ตัวเองผมสั้นเกรียน กล้ามใหญ่ ไม่มีหน้าอก และถูกมองจากผู้หญิงในห้องน้ำว่าเป็นผู้ชายมาใช้ห้องน้ำหญิง

จากผลสำรวจของศูนย์เพื่อความเท่าเทียมทางเพศแห่งชาติ (National Center for Transgender Equality) ของสหรัฐอเมริกา พบว่า 59% ของคนข้ามเพศยอมหลีกเลี่ยงที่จะใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ เพราะพวกเขากลัวที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการเลือกว่าจะต้องเข้าห้องน้ำชายหรือหญิง นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของสถาบันวิลเลียมส์ในสหรัฐอเมริกา พบว่ากว่า 70% ของคนข้ามเพศถูกปฏิเสธไม่ให้ใช้บริการห้องน้ำตามเพศที่ตัวเองเลือก ถูกคุกคามทางวาจา รวมถึงถูกทำร้ายร่างกายเมื่อพยายามใช้ห้องน้ำ

ดังนั้น คำถามที่ยังไม่เคยมีใครให้คำตอบได้ว่า เพศทางเลือก ควรใช้ห้องน้ำของเพศไหน จึงยังคงมีปัญหากันมาอย่างยาวนานหลายปี ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่มีปัญหากันทั่วโลก

ห้องน้ำ LGBTQIA+ vs ห้องน้ำ All Gender

Sukha Thesis (สุขา ธีสิส) อดีตกลุ่มนักศึกษาที่เคยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับห้องน้ำสำหรับ LGBTQIA+ เคยสำรวจความคิดเห็นในเฟซบุ๊กเพจว่า “ห้องน้ำแบบไหนที่คุณคิดว่า ตอบโจทย์สภาพสังคม ณ ปัจจุบัน มากที่สุด” โดยแบ่งตัวเลือกออกเป็น 4 ตัวเลือก

  1. เข้าห้องน้ำตามเพศสภาพ ผู้ชายเข้าห้องน้ำชาย ผู้หญิงเข้าห้องน้ำหญิง กลุ่มคน LGBTQIA+ เข้าห้องน้ำตามเพศสภาพที่ตัวเองเลือกเอง เช่น ถ้าผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้หญิงแล้ว ก็เข้าห้องน้ำหญิง เป็นต้น
  2. เพิ่มห้องน้ำที่ 3 สำหรับกลุ่ม LGBTQIA+ โดยเฉพาะ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ในขณะที่กระบวนการสังคมยังไม่สามารถทำให้เกิดห้องน้ำแบบ All Gender ได้
  3. ห้องน้ำที่แบ่งเพศหลากหลายย่อยออกมาอย่างชัดเจน เช่น ห้องน้ำสำหรับหญิงแปลงเพศ ชายแปลงเพศ หรืออาจจะมีห้องน้ำห้องอื่นๆที่ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความหลากหลายทางเพศ เช่น ห้องน้ำสำหรับกลุ่มนอนไบนารี่ ฯลฯ
  4. ห้องน้ำ All Gender ที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อให้ทุกเพศทุกวัยสามารถใช้ห้องน้ำได้อย่างปลอดภัย สบายใจ และไม่กังวลเรื่องสุขอนามัย ซึ่งยังคงอยู่ในการพัฒนาการออกแบบจากจากนักออกแบบและสถาปนิกในไทยและทั่วโลก

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจมองว่าห้องน้ำเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศอาจเป็นวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ ซึ่งหากภาครัฐสนับสนุนและดำเนินการตามแผนอย่างจริงจัง อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศไทยที่ช่วยให้กลุ่มคนข้ามเพศได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้บริการสาธารณูปโภคสาธารณะได้อย่างสบายใจมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางสุขา ธีสิสระบุว่า การมีห้องน้ำสำหรับเพศที่ 3 ทางสุขา ธีสิส ก็มีข้อถกเถียงกันว่า อาจเป็นการบังคับให้คนข้ามเพศที่มีสำนึกทางเพศและมองตนเองเป็น ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’ ให้ใช้ห้องน้ำที่ 3 โดยที่พวกเขาไม่ต้องการหรือไม่ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มองว่าการสร้างห้องน้ำเฉพาะเพศเป็นการแสดงถึงการยอมรับตัวตนที่หลากหลาย ว่าในสังคมความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริงเช่นกัน 

ถึงกระนั้น หากว่ากันไปถึงต้นตอของปัญหาจริงๆ หากคนในสังคมเปิดกว้าง ยอมรับในเพศทางเลือกอันหลากหลายของมนุษย์ และใช้ข้อกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วในการจัดการปัญหาอาชญากรรมและความขัดแย้งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเลือกใช้ห้องน้ำตามเพศทางเลือกของทุกคน ห้องน้ำ LGBTQIA+ อาจจะไม่จำเป็นเลยก็ได้

โฆษกจากศูนย์กฎหมายบุคคลข้ามเพศ ในโครงการรณรงค์สิทธิมนุษยชน และสหภาพเสรีภาพของพลเมืองอเมริกัน ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกายังไม่เคยมีรายงานการถูกทำร้ายหรือการก่ออาชญากรรมจากคนข้ามเพศในพื้นที่ของห้องน้ำสาธารณะ นอกจากนี้ตามหลักแล้ว กฎหมายที่ลงโทษผู้ที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ และอื่นๆ ก็สามารถเอาผิดได้ไม่ว่าผู้ที่กระทำจะเป็นเพศใด ดังนั้นการปล่อยให้กลุ่มเพศทางเลือกได้ “เลือก” ห้องน้ำที่อยากเข้าได้อย่างอิสระตามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง อาจเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้ ขอเพียงแค่สังคมเข้าใจ เปิดใจ ไม่ส่งสายตา ไม่เพ่งเล็ง และไม่ตัดสินเพศของใครจากรูปลักษณ์ภายนอก

นอกจากนี้ การออกแบบห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศทุกวัย (All Gender) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเพศ เพียงแต่ออกแบบให้คนทุกเพศทุกวัย เด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา ผู้หญิง ผู้ชาย และคนข้ามเพศ ใช้ห้องน้ำร่วมกันได้อย่างสบายใจ มีความปลอดภัยมากพอ มีพื้นที่ในการทำธุระส่วนตัว และใช้พื้นที่ส่วนรวมได้ หากเราใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ภายใต้กฎหมาย มารยาททางสังคม ค่านิยม และทัศนคติที่มีต่อเพศทางเลือกเดียวกัน นี่อาจจะเป็นห้องน้ำในฝันของคนทั่วโลกที่แก้ปัญหานี้ได้อย่างตรงจุดที่สุดก็เป็นได้

…ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลแล้ว ว่าจะเลือกซื้อไอเดียไหนมากกว่ากัน เพื่อตอบโจทย์ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมให้ได้มากที่สุด

อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจ, ข่าวช่อง 8, อีจัน, TIME, UNDP Thailand, The Momentum, PrideatWork, MIC, The Potential

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า