SHARE

คัดลอกแล้ว

รีวิว ‘All of Us Are Dead มัธยมซอมบี้’ สะท้อนชีวิตเด็กมัธยมเกาหลีกลายเป็นซอมบี้เพราะสังคมกดทับ

‘All of Us Are Dead’ หรือ ‘มัธยมซอมบี้’ เป็น Netflix Original Series ที่ติดอันดับ Netflix top 10 ใน 91 ประเทศทั่วโลกหลังจากออกฉาย ด้วยเรื่องราวที่สนุกชวนลุ้น ซึ่งมีทั้งการหนีตาย ความรักวัยรุ่น ปมปัญหาชีวิตของแต่ละตัวละคร ถึงจะมีบางจุดที่ชวนให้ขัดใจกับตัวละครและทิศทางของเรื่องอยู่บ้างแต่ก็อดไม่ได้ที่จะต้องกดดูตอนต่อไปต่อจนจบ เพราะความสนุกชวนให้อินของเรื่องไม่ได้ผูกอยู่แค่ที่ตัวละครและการตัดสินใจของพวกเขา แต่การที่เรื่องสะท้อนให้เห็นชีวิตของนักเรียนและสังคมเกาหลีได้อย่างน่าสนใจ ว่าซอมบี้ในเรื่องไม่ได้เกิดจากวิทยาศาสตร์และการทดลองเท่านั้น แต่เกิดจากสภาพสังคมที่มีความรุนแรง กดดันและกัดกินวิญญาณของเยาวชน จนเหลือแค่เพียงความกลัวและการดิ้นรนเอาตัวรอด และผู้ใหญ่ที่เพิกเฉยต่อปัญหาก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจอีกเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการใช้สัญญลักษณ์ที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์เรือเซวอลล่ม ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ลากไส้ให้เห็นความล้มเหลวของการบริหาร และผลกระทบตกหนักอยู่ที่เยาวชน

บทความต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง

เนื้อหาของ ‘All of Us Are Dead’ มัธยมซอมบี้ ก็ตรงกับชื่อเรื่อง คือเป็นเรื่องราวของนักเรียนในโรงเรียนมัธยมปลาย ที่ต้องหนีจากเพื่อนที่กลายเป็นซอมบี้หลังจากมีนักเรียนผู้ติดเชื้อคนที่หนึ่งโดนหนูในห้องวิทยาศาสตร์กัดทำให้มีการแพร่เชื้อในโรงเรียนไปจนถึงนอกโรงเรียน ทำให้ผู้ที่เหลืออยู่ต้องหาทางเอาตัวรอดเมื่อไม่มีโทรศัพท์ หรือแม้แต่อาหาร และผู้ใหญ่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของพวกเขาได้เลย และผู้ชมก็ต้องคอยลุ้นว่าพวกเขาจะผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้อย่างไร

เมื่อซีรีส์ออกฉากมีหลายเสียงใน social media ที่ได้พูดถึงการที่องค์ประกอบบางอย่างในซีรีส์ชวนนึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเรือเซวอล และเมื่อเราคิดกลับไปและอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพสะท้อนนั้นชัดเจนขึ้นในเหตุการณ์และตัวละคร อย่างครู และ ผู้ใหญ่ที่ทอดทิ้งเยาวชนเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไปจนถึงริบบิ้นที่ใช้ไว้อาลัย ซึ่งอาจจะกำลังสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองโศกนาฏกรรมมีเหตุมาจากเรื่องเดียวกันคือ

ผลประโยชน์และความเห็นแก่ตัวที่มาก่อนชีวิตเยาวชน
การเลือกให้จุดเริ่มต้นของเรื่องที่ทุกคนในเมืองกลายเป็นซอมบี้เกิดขึ้นจากเรื่องที่ดูเหมือนจะเล็ก ๆ ที่ผู้ที่อยู่ในอำนาจมองข้าม ซุกไว้ใต้พรมเพื่อรักษาหน้าและตำแหน่งของตัวเอง คล้ายกับเหตุการณ์เรือเซวอลล่มตรงที่มันเร่ิมต้นมาจากความเพิกเฉยเช่นกัน เร่ิมมาตั้งแต่การผ่านใบอนุญาตทั้งที่เรือได้ถูกนำมาดัดแปลงอย่างผิดกฏหมาย เพื่อสามารถขนส่งสินค้าได้มากขึ้น และก็เรือไม่ได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ความเพิกเฉยที่เป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมเรือเซวอลก็เหมือนกับที่ตอนครูวิทยศาสตร์พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกของตนที่โดนทำร้าย แต่กลับโดนเมิน หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาเล็กน้อยกลับส่งผลมหาศาล

ตัวละครครูใหญ่ที่ห้ามไม่ให้แจ้งบุคคลภายนอกตั้งแต่เหตุการณ์เริ่มและให้นักเรียนกลับไปอยู่ในห้องเรียน ซ้ำหลังจากที่เหตุการณ์บานปลายเกินควบคุม เขายังสั่งให้นักเรียนเสี่ยงไปเอารถเพื่อให้เขาหนี ก็ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ในเรือเซวอลที่ทั้งที่มีเวลาที่จะอพยบผู้โดยสารออกมาได้แต่กัปตันเรือก็ไม่ได้สั่งให้อพยบ จนมีนักเรียนมากมายที่รอคำสั่งต้องเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า และถึงแม้จะมีการอ้างว่าระบบกระจายเสียงเสีย แต่การที่กัปตันและลูกเรือหนีเอาตัวรอดออกมาก่อนเป็นกลุ่มแรก โดยไม่เตือนแม้แต่นักเรียนที่อยู่ชั้นบนและเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในห้องซึ่งพวกเขาต้องเดินผ่านก่อนหนีออกจากเรือ ก็สะท้อนให้เห็นการละทิ้งหน้าที่ความเห็นแก่ตัวถึงขีดสุดของผู้นำที่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างมาถึงจุดนี้ เช่นเดียวกับในซีรีส์

● ครูผู้สละตน
แต่ในหมู่ผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัวก็ยังมีครูที่สละตน ในเรือเซวอลมีครูหลายคนที่ทำหน้าทีจนวินาทีสุดท้ายจนร่างของพวกเขาจมหายไปโดยหลายคนไม่ได้หวนคืนจากทะเลจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับครูพัคในเรื่องที่สละชีวิตตัวเองเพื่อช่วยเหลือนักเรียน

● ความล่าช้าของทางการและการละทิ้งเยาวชน
ในซีรีส์เหล่านักเรียนได้พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือทุกทาง แต่ก็ไม่มีใครตอบรับ หรือมีหลายครั้งที่มีคนเข้ามาช่วยเหลือแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทิ้งพวกเขาด้วยเหตุผลต่าง ๆ อาจจะกำลังสะท้อนความล่าช้าของทางการที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกว่าทีควรของเหตุการณ์บนเรือเซวอล เช่นการที่หน่วยยามชายฝั่งไม่ได้พร้อมให้ความช่วยเหลือทันที จนผ่านโกลเด้นไทม์หรือช่วงนาทีทองที่ผู้ประสพภัยจะมีสิทธิ์รอดชีวิตมากที่สุดไป หรือการที่ยามชายฝั่งเลือกช่วยแต่นักเรียนที่กระโดดลงมาในน้ำจนมีเสียงวิพากย์วิจารณ์จากทั้งประชาชนและผู้รอดชีวิตถึงการช่วยเหลือที่ล่าช้าและทำไม่เต็มที่

ทำให้มีหลายคนที่เชื่อคำสั่งแรกให้รอความช่วยเหลือจมไปพร้อมเรือ เช่น ผู้รอดชีวิตด้วยการกู้ภัยทางเฮลิคอปเตอร์ ที่ออกมาพูดว่าหากมีแค่สักคนหย่อนเชือกไปให้เด็กที่ติดอยู่ในเรือเกาะปีนออกมาคงจะมีผู้รอดชีวิตมากกว่านี้ ก็ชวนในนึกถึงฉากที่มีเฮลิคอปเตอร์เข้ามาถึงโรงเรียน แต่กลับทิ้งกลุ่มนักเรียนไว้เพราะกลัวการติดเชื้อ เหตุการณ์ในเรื่องมีผู้เสียชีวิตเป็นนักเรียนมากมาย เช่นเดียวกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมรือเซวอลมีผู้เสียชีวิต 250 จาก 304 คน ที่เป็นนักเรียนมัธยม

● ข้อความสุดท้าย และริบบิ้นไว้อาลัยสีเหลือง
วิดีโอที่นักเรียนอัดกันและริบบิ้นสีเหลืองที่ผูกไว้เพื่อไว้อาลัยในเรื่อง ก็ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์จริงที่นักเรียนอัดข้อความสุดท้ายไว้ก่อนจะเสียชีวิตในเรือ และริบบิ้นสีเหลืองที่ผูกไว้ข้างรั้วเพื่อระลึกถึงผู้ที่สูญหายและจากไปจากเหตุการณ์ก็พาให้นึกถึงริบบิ้นเหลือที่ถูกผูกไว้ที่รั้วใกล้เรียนมัธยมดาวอนซึ่งเป็นโรงเรียนของเด็ก ๆ ในเหตุการณ์เรือเซวอล ริบบิ้นเหลืองนี้เป็นสัญญลักษณ์ของความหวังว่าจะมีผู้รอดชีวิต แต่ความเศร้ากลายเป็นความโกรธแค้น และในภายหลังริบบิ้นเหลืองก็ได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ที่ใช้ในการต่อต้านประธานาธิบดีพัคกึนฮเยทีครองอำนาจอยู่ในขณะนั้น และส่งผลให้เธอโดนเปิดโปง ปลดจากตำแหน่ง และถูกดำเนินคดีในที่สุด

● ผลกระทบหลังโศกนาฏกรรมและโลกที่ไม่ได้เปลี่ยนไป
ในเรื่องเหตุการณ์ค่อย ๆ คลี่คลายไปโดยที่สาเหตุไม่ได้ถูกสอบสวนให้ดีและแน่ชัด เช่นเดียวกับโศกนาฏกรรมเรือเซวอล ที่แม้จะมีการเปิดเผยถึงสาเหตุบางส่วน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องถูกลงโทษ แต่เหมือนจะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก บทความจาก New York Times เปิดเผยว่าหลังเหตุการณ์มีการตรวจสอบและบทลงโทษที่เข้มงวดขึ้น สำหรับการโกงน้ำหนักคลังสินค้าบนเรือ แต่การตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ และการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ถูกปฏิเสธด้วยปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ทำให้ยังมีของโหว่สำหรับการคอรัปชั่น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำอยู่ นอกจากนี้ยังไม่มีบทลงโทษสำหรับหน่วยงานด้านกู้ภัยที่ทำงานล่าช้าจนมีผู้เสียชีวิต เช่นเดียวกับในซีรีส์ที่ข่าวออกมาบอกว่ายังไม่สามารถสืบหาต้นตอของเชื้อโรคได้ทั้งที่สาเหตุที่แท้จริงแล้วจุดกำเนิดนั้นอยู่ที่ความอ่อนแอของกฏหมายและผู้บังคับใช้อำนาจจนเยาวชนต้องมารับกรรม

‘ใครเป็นคนสร้างโลกแบบนี้ล่ะ ถ้าเมินเฉยกับการใช้ความรุนแรงเล็กน้อยสุดท้ายโลกก็จะถูกความรุนแรงครอบงำ ผมเตือนเป็นร้อยหนแล้ว แต่ไม่มีใครฟังเลย’

นอกจากการเสียดสีสังคม All of Us Are Dead ยังสะท้อนปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนที่ทำให้ชีวิต การเป็นเด็กเกาหลีทรหดไม่แพ้ในหนังซอมบี้ อย่างเรื่องปัญหาการเหยียดชนชั้น ปัญหาท้องในวัยเรียน ความกดดันในการสร้างอนาคตและเข้ามหาวิทยาลัย แต่ประเด็นที่เด่นที่สุดแน่นอนว่าต้องเป็นการการบูลลี่ที่เป็นกระแสในเกาหลีตั้งแต่ครั้งข่าวเรื่องนักวอลเลย์แฝดหญิงใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และยังคงเป็นประเด็นที่ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องด้วยกระแสแบนดาราเพราะเรื่องการใช้ความรุนแรงในอดีต จนถึงล่าสุดที่มีนักวอลลเลย์บอลชาย ‘คิมอินฮยอก’ ฆ่าตัวตายเพราะเสียงวิพากย์วิจารณ์ในอินเตอร์เน็ต

ปัญหานี้ถูกนำเสนอตั้งแต่ต้นเรื่อง ผ่านทางตัวละคร ‘จินซู’ ลูกของครูวิทยาศาสตร์โดนทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซ้ำยังถูกตอกย้ำด้วยการเมินเฉยจากผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจ เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง เมื่อพึ่งใครไม่ได้พ่อของเขาที่เป็นครูวิทยศาสตร์อัจริยะจึงคิดค้นและทดลองฉีดยาเพิ่มความกล้ากับลูกตัวเอง เพื่อให้ลูกคิดจะสู้แทนที่จะคิดหนีด้วยการฆ่าตัวตาย จนลูกชายกลายเป็นซอมบี้ การที่สารตั้งต้นของซอมบี้ที่เป็นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่กำลังพุ่งด้วยความกลัวถึงขีดสุด อาจจะเป็นสัญญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าการที่เด็กคนหนึ่งกลายเป็นซอมบี้ที่กัดกิน ทำร้ายผู้อื่นไม่เลือกหน้า เป็นเพราะความกลัวและการดิ้นรนเพื่อที่จะเอาตัวรอดเท่านั้นเอง และสิ่งที่จินซูและนักเรียนอีกหลายคนในเรื่องต้องเผชิญก็ไม่ต่างกับนักเรียนจำนวนมากในเกาหลีใต้

บทความจาก Korea Herald เมื่อปี 2019 เปิดเผยว่าสถิติการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนนั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากปีก่อน ๆ โดยในปี 2019 มีนักเรียก 1.6% (ประมาณ 60,000 คน) จากนักเรียน 3.72 ล้านคนที่ตอบแบบสอบถาม ที่ระบุว่าพวกเขาเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับนักเรียนในวัยประถมศึกษา โดยผู้ใช้ความรุนแรงเป็นเพื่อนร่วมห้อง (48.7%) ตามมาด้วย เพื่อนร่วมชั้นแต่ต่างห้อง (30.1%) และสถานที่เกินเหตุอันดับ 1 และ 2 คือห้องเรียนและทางเดิน แต่สำหรับนักเรียนมัธยม อันดับสามจะอยู่บนโลกออนไลน์ในรูปแบบ cyberbullying ส่วนการกลั่นแกล้งที่เป็นที่พบเจอได้มากที่สุด คือการละเมิดทางวาจา (verbal abuse) รุมกลั่นแกล้ง (group bullying) กลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (cyberbullying) สะกดรอยตาม (stalking) ทำร้ายร่างกาย (physical abuse)

นอกจากนี้ยังมีอย่างอื่นที่รองลงมาอย่าง การขู่กรรโชก บังคับให้ทำธุระให้ และการล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย แม้การรุมกลั่นแกล้งจะมาเป็นเบอร์สอง แต่เป็นการกลั่นแกล้งที่มีสถิติเติบโตมากที่สุด โดยมีมากขึ้นจากปีก่อนถึง 6% ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลเนื่องจากการรุมกลั่นแกล้งอาจนำไปสู่การกลั่นแกล้งรูปแบบอื่น ๆ รวมกัน เพราะ 41.4% ของนักเรียนที่เคยโดนรุมกลั่นแกล้งระบุว่าพวกเขาเคยโดยล่วงละเมิดทางวาจา และ 14.7% ยังโดนกลั่นแกล้งทางออนไลน์อีกด้วย

‘มันก็เหมือนที่ใคร ๆ พูดถึงนักเรียนว่าไม่ใช่ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ฉันเองก็เหมือนกัน ฉันไม่ใช่ทั้งมนุษย์ และสัตว์ประหลาด’

ซอมบี้ในเรื่องจึงอาจจะเป็นตัวแทนของวัยกึ่งกลาง ทางแยกของชีวิตที่จะกำหนดชะตาว่าพวกเขาจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวพวกเขาเอง และหากมีผู้ใหญ่ที่ดีคอยช่วยเหลือชี้แนะ ปกป้องพวกเขาเหมือนกับที่พ่อของอนโจปกป้องลูกสาว พวกเขาก็อาจจะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้

‘บางประเทศจะรู้สึกเศร้ายิ่งกว่าเวลาที่ผู้ใหญ่ตาย บางประเทศจะเศร้ายิ่งกว่าเวลาที่เด็กตาย คิดว่าเกาหลีเป็นประเทศแบบไหนเหรอ’
‘การที่เด็กตายแปลว่าความหวังหายไป ส่วนการที่ผู้ใหญ่ตายแปลว่าความรู้หายไป ความหวังกับความรู้เราให้คุณค่าอะไรมากกว่ากัน’

บทสนทนาระหว่างสองตัวละครในเรื่องและการที่ตอนจบ ปิดท้ายด้วยตัวละครที่เป็น ‘เสี้ยวบี้’ หรือลูกครึ่งคนกับซอมบี้ จึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการดูแลหัวใจของเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ เพราะพวกเขาจะเติบโตกลายร่างเป็นปีศาจหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่และสังคมที่ล้อมรอบเขาไว้นั่นเอง

อ้างอิง

https://workpointtoday.com/all-of-us-are-dead-netflix-top-10/
https://www.insider.com/netflix-all-of-us-are-dead-sewol-ferry-disaster-memories-2022-2#:~:text=The%20MV%20Sewol%20ferry%20sank,to%20remain%20in%20their%20cabins.
https://www.bbc.com/news/world-asia-28205785
https://www.bbc.com/news/world-asia-27045924
https://news.jtbc.joins.com/article/article.aspx?news_id=NB10479076
https://thediplomat.com/2021/04/7-years-after-sewol-ferry-disaster-bereaved-families-still-urge-government-to-reveal-the-truth/
https://news.jtbc.joins.com/article/article.aspx?news_id=NB10479078
https://edition.cnn.com/2014/04/24/world/asia/south-korea-yellow-ribbons/index.html
https://apjjf.org/2017/14/Kim.html
https://www.nytimes.com/2019/06/10/world/asia/sewol-ferry-accident.html#:~:text=The%20Sewol%20sank%20because%20of,badly%20when%20loading%20or%20unloading.
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2020/11/181_274614.html

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า