SHARE

คัดลอกแล้ว

ถือเป็นอีกหนึ่งการจากลาที่เศร้าสร้อย หลังบริษัทขนส่งที่ทำตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากว่า 7 ปีอย่าง ‘AlphaFast’ ประกาศปิดตัวลงไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่อาจไม่ได้สร้างความแปลกใจมากเท่าไรนัก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ‘ตลาดขนส่งเอกชน’ ในประเทศไทย เป็นตลาดที่ ‘Red Ocean’ แล้ว หรือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงแบบน่านน้ำสีแดง

หลายๆ คนอาจเคยได้ยินวิธีการจำแนกประเภทของ ‘ธุรกิจ’ ตามรูปแบบการแข่งขันของธุรกิจที่เรียกว่า ‘กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี’ (Ocean Strategy) ที่แบ่งน่านน้ำออกเป็น 4 สีหลักๆ ได้แก่

น่านน้ำสีแดง – ธุรกิจในตลาดที่มีการแข่งขันสูง โดยสินค้าหรือบริการของแต่ละเจ้ามีความแตกต่างกันแค่เล็กน้อย ทำให้ต้องแข่งขันกันด้วย ‘การตัดราคา’ อย่างดุเดือด

น่านน้ำสีน้ำเงิน – ธุรกิจที่มีความแตกต่างจากธุรกิจเดิมในตลาด หรือทำธุรกิจในตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่ง คู่แข่งน้อย หรือเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียว

น่านน้ำสีเขียว – ธุรกิจที่ทำธุรกิจบนความยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม เน้นความรักษ์โลก

น่านน้ำสีขาว – ธุรกิจที่ทำธุรกิจบนพื้นฐานความดีและยั่งยืน ‘กำไร’ ไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่ต้องคืนกำไรให้กับสังคม

แน่นอนว่า ‘ตลาดขนส่งเอกชน’ ที่ AlphaFast ทำธุรกิจอยู่ย่อมเป็น ‘น่านน้ำสีแดง’ และเป็นหนึ่งในน่านน้ำสีแดงที่เชี่ยวกรากที่สุดในประเทศไทย

เนื่องจากปัจจุบันตลาดขนส่งเอกชนมีผู้เล่นมากมายหลายราย และแต่ละรายไม่ได้มีบริการแตกต่างกันมากนัก ตั้งแต่เจ้าตลาดดั้งเดิมอย่าง ‘ไปรษณีย์ไทย’ ขนส่งรัฐวิสาหกิจ คุณปู่อายุ 138 ปีที่หลายปีมานี้กำไรและส่วนแบ่งในตลาดหดลงทุกที หลังจากการเข้ามาของขนส่งเอกชน

หรือ ‘Kerry Express’ บริษัทขนส่งเอกชนสัญชาติฮ่องกงที่เป็นเจ้าตลาดขนส่งเอกชนรายใหม่ หลังเข้ามาตีตลาดขนส่งเอกชนในไทยเป็นเจ้าแรกๆ และยังมี ‘Flash Express’ ขนส่งเอกชนที่กลายเป็น ‘ยูนิคอร์น’ ตัวแรกของเมืองไทยหลังเปิดให้บริการมาเพียง 3 ปี

พร้อมๆ กันยังมี Lazada Express และ Shopee Express ที่ขยายกิจการมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว J&T Express บริษัทขนส่งเอกชนสัญชาติจีนอินโดนีเซีย SCG Express บริษัทขนส่งเอกชนสัญชาติไทยที่เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของ SCG

รวมถึงเจ้าที่เข้าตลาดมาใหม่และไม่ได้ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงนักอย่าง Best Express, Nim Express และอื่นๆ อีกหลายเจ้า

หากพิจารณาจากสถานการณ์ผลประกอบการของผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด 3 เจ้าในประเทศไทยย้อนหลัง

ไปรษณีย์ไทย
ปี 2561 รายได้ 29,728 ลบ. กำไร 3,827 ลบ.
ปี 2562 รายได้ 27,163 ลบ. กำไร 2,039 ลบ.
ปี 2563 รายได้ 24,211 ลบ. กำไร 385 ลบ.

Kerry Express
ปี 2561 รายได้ 13,668 ลบ. กำไร 1,185 ลบ.
ปี 2562 รายได้ 19,895 ลบ. กำไร 1,329 ลบ.
ปี 2563 รายได้ 19,010 ลบ. กำไร 1,405 ลบ.

Flash Express
ปี 2561 รายได้ 47 ลบ. ขาดทุน 183 ลบ.
ปี 2562 รายได้ 2,123 ลบ. ขาดทุน 1,666 ลบ.
ปี 2563 รายได้ 14,000 ลบ. กำไร N/A ลบ.

จะเห็นว่าทั้ง ‘ไปรษณีย์ไทย’ ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในไทยมีรายได้และกำไรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเทียบปี 2563 กับปี 2561 ที่ห่างกันเพียง 2 ปีมีกำไรลดลงกว่า 10 เท่า เนื่องจากการเข้ามาของขนส่งเอกชนเจ้าใหม่ๆ

ส่วน Kerry Express ที่เข้ามาก่อตั้งกิจการในประเทศไทยเมื่อปี 2549 เป็นผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในกลุ่มเอกชนมีรายได้ปี 2563 ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย และมีอัตราการเติบโตของกำไรไม่สูงมากนัก

ในขณะที่ Flash Express ที่เป็นผู้เล่นที่เข้าตลาดมาทีหลังในปี 2560 ขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่องหลักพันล้านบาท เพื่อที่จะขยายฐานผู้ใช้งาน เพื่อทำกำไรในอนาคตตามรูปแบบที่ ‘สตาร์ทอัป’ นิยมกัน โดยอาศัยการระดมทุน เพื่ออยู่รอด ขยายธุรกิจ และก้าวขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของเมืองไทย

ดังนั้น จะเห็นว่าหากต้องการขยายฐานผู้ใช้งานก่อนเพื่อหวังทำกำไรในอนาคต ในตลาดที่มีผู้เล่นจำนวนมากและมีบริการใกล้เคียงกัน ผู้ประกอบการหน้าใหม่จำเป็นจะต้องรับแรงกระแทกจากการขาดทุนในช่วงแรกของการทำธุรกิจให้ได้

หากย้อนมาดูผลประกอบการของ AlphaFast หลังจากก่อตั้งกิจการในปี 2557 จะเห็นว่ามีสภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี แม้รวมกันทั้งหมดอาจจะยังไม่เท่ากับการขาดทุนในปีเดียวของ Flash Express

ปี 2561 รายได้ 281 ลบ. ขาดทุน 98.9 ลบ.
ปี 2562 รายได้ 297 ลบ. ขาดทุน 87.5 ลบ.
ปี 2563 รายได้ 242 ลบ. ขาดทุน 47.9 ลบ.

โดยแม้ AlphaFast จะขาดทุนลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่จากถ้อยแถลงการณ์ของบริษัทฯ ที่มีต่อพนักงานก็ยืนยันว่า บริษัทฯ ไม่สามารถแบกรับภาวะขาดทุนต่อไปได้ เนื่องจากสภาวะการแข่งขันภายในตลาดที่รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2564 นี้ที่บริษัทฯ เชื่อว่าการตัดราคากลายเป็น “การตัดราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน” และ “เป็นไปในระดับที่ไม่ยั่งยืน”

พร้อมชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ภายในตลาดว่า “ผู้เล่นในอุตสาหกรรมของเราส่วนใหญ่ยังขาดทุนและใช้วิธีแก้ไขการขาดทุนโดยการระดมทุนมากขึ้น”

โดยบริษัทฯ ยอมรับว่าตัว AlphaFast เองไม่สามารถระดมทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุน เพื่อนำเงินมาต่อสู้ในอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูงได้อีก จนนำมาสู่การตัดสินใจหยุดดำเนินธุรกิจและเลิกกิจการในประเทศไทย พร้อมเลิกจ้างพนักงานกว่า 400 คนโดยให้มีผลทันทีในวันรุ่งขึ้น (13 มิ.ย. 2564)

ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ นักคิด นักบริหาร และนักเศรษฐศาสตร์ เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับ Red Ocean ไว้ว่าเกี่ยวพันกับสองแกนหลัก อย่าง ‘ต้นทุน’ และ ‘ความแตกต่าง’

หมายความว่า ถ้าหากต้องการสร้างความได้เปรียบใน Red Ocean จะต้องควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าหรือมีความแตกต่างของสินค้าและบริการเหนือคู่แข่งอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นทั้งสองแกนก็ล้วนนำไปสู่ ‘สงครามราคา’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หาก ‘ความแตกต่าง’ ที่ว่าไม่มากพอ

หากอยากเอาตัวรอดให้ได้ในน่านน้ำนี้จึงต้องเลือกระหว่าง

[1] กัดฟันรับผลประกอบการขาดทุนสะสมในช่วงแรก แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมาให้ได้มากที่สุด ก่อนพลิกโมเดลเร่งสร้างผลกำไรหลังมีฐานลูกค้าจำนวนมากในมือ อันเป็นโมเดลที่ Flash Express และสตาร์ทอัปส่วนใหญ่เลือกใช้

[2] ลดต้นทุนงานดำเนินงานให้ลงต่ำที่สุด เพื่อแย่งชิงพื้นที่ในสงครามราคาที่ดุเดือด โดยรักษาผลประกอบการทำกำไร เหมือนกับที่ Kerry Express สามารถรักษาการเติบโตของผลกำไรมาโดยตลอด

[3] หาความแตกต่างของสินค้าและบริการให้แตกต่าง กลายเป็นสินค้าและบริการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือพลิกโมเดลสู่ ‘น่านน้ำสีน้ำเงิน’ ให้จงได้

แต่แน่นอนว่าพูดย่อมง่ายกว่าทำ เพราะแม้แต่ AlphaFast ที่ถือว่ามี ‘รีวิวดี’ ได้รับคำชื่นชมจากลูกค้าต่อเนื่องจากจุดแข็งด้านการบริการของพนักงานขนส่ง

รวมถึงยังมีจุดเด่นเรื่องระยะเวลาจัดส่งยาวนานถึงช่วงดึก และมีจำนวนครั้งส่งซ้ำค่อนข้างสูง และมีระบบการเก็บเงินปลายทางที่การันตีโอนเงินให้แก่ผู้ส่งสินค้าภายใน 24 ชั่วโมง

แต่ AlphaFast ก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ได้เพียงพอที่จะเปิดดำเนินการต่อไป โดยก่อนหน้าที่จะปิดตัวลงไป AlphaFast มีจำนวนลูกค้าประจำมากกว่า 2,000 ราย อาทิ ศูนย์หนังสือจุฬา เอเชียบุ๊ค อุ๊คบี (Ookbee) ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม AlphaFast คงไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้ายที่ไม่อาจทานแรงอันเชี่ยวกรากของน่านน้ำสีแดงของตลาดขนส่งเอกชนได้ ถ้าหากการแข่งขันยังคงดุเดือดเลือดพล่านในระดับนี้ต่อไป จะต้องมีคนถอยออกจากเกมนี้อีกอย่างแน่นอน

ที่มา 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า