Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

‘เขาไม่อยากถูกทรีตเป็นแค่นัมเบอร์จากแบงก์’ พร้อม สิริสันต์ ผู้จัดการใหญ่และหัวหน้าฝ่ายการบริการบัตรระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย ของอเมริกัน เอ็กซ์เพรส (American Express: Amex) เล่าให้ TODAY Bizview ฟัง

แม้ American Express จะไม่ใช่บัตรที่แมสที่สุดในไทย แต่ถ้าเป็นเรื่องของความพรีเมียม ดูเหมือนว่าบัตร Amex จะไม่แพ้ใครแน่นอน เพราะนอกจากสิทธิประโยชน์ท่ีเข้ากับไลฟ์สไตล์คนมีรายได้สูงแล้ว ยังถูกขนานนามว่าเป็นบัตรที่สมัครยากที่สุดอีกด้วย

บัตร Amex สมัครยากจริงไหม รายได้ขั้นต่ำเท่าไหร่

สำหรับรายได้เฉลี่ยของลูกค้า แน่นอนว่าสูงกว่าตลาด เพราะเราเจาะเซกเมนต์พรีเมียม รายได้และการใช้จ่ายจึงค่อนข้างสูง เรามีขั้นต่ำของการสมัครบัตรชาร์จการ์ด (Charge Card) ว่าต้องมีรายได้ 1.2 ล้านบาทต่อปี ส่วนบัตรเครดิค (Credit Card) ก็แล้วแต่เซกเมนต์ เพราะเรามีบัตรหลายใบ ก็จะมีเทียร์และรายได้ขั้นต่ำที่แตกต่างกันไป

ซึ่งก่อนที่จะสมัครเราก็เช็คเครดิตบูโรปกติเหมือนทุกๆ แบงก์ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดกำหนด เราก็ทำตามนโยบายของแบงก์ชาติ

เราอาจจะแชร์ยอดปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) ไม่ได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง Charge Card กับ Credit Card มันก็แตกต่างกันแล้ว เราต้องเมคชัวร์ว่า คนที่เข้ามาถือ Charge Card พฤติกรรมของเขาต้องเหมาะกับโปรดักต์แบบนี้ด้วย

คนที่มีคุณสมบัติหรือโปรไฟล์ที่เหมาะกับเซกเมนต์นี้ ไม่ได้ยากที่จะสมัครบัตรเลย เหมือนเราช่วยเขาเลือกด้วยซ้ำว่าควรสมัครบัตรไหน บัตรไหนเหมาะกับเขา ถ้าเขาเลือกมาไม่เหมาะสมกับเขา เราก็จะบอกว่ามันไม่เหมาะสมกับเขา แบบนั้นมากกว่า

จริงไหมว่าบัตร Amex รูดแล้วต้องจ่ายเต็มเท่านั้น

เรามีบัตรอยู่ 2 ส่วน คือ 1. บัตรชาร์จการ์ด (Charge Card) และ 2. บัตรเครดิตการ์ด (Credit Card) สำหรับ Charge Card เป็นแบบนั้น คือจ่าย 100% ในทุกๆ สิ้นเดือน ส่วนฝั่ง Credit Card ก็จะมีเรื่องของการกู้ยืม (Lending) ที่สามารถทำได้

แต่สิ่งที่เราโฟกัสตอนนี้คือฝั่ง Charge Card ตามนโยบายของ American Express ต่างประเทศ โดย Charge Card จะเหมาะกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อน แต่อยากได้สิทธิประโยชน์ที่มากับบัตร จุดประสงค์ในการใช้บัตรคนละจุดประสงค์กับ Credit Card ที่เอาไว้จัดการกระแสเงินสด (Cash Flow)

Charge Card เป็นเซกเมนต์ที่เห็นโอกาสเติบโตค่อนข้างชัดเจน ที่จริงเมืองไทยไม่มีเจ้าไหนทำ แต่ที่เรามาโฟกัสเรื่องของ Charge Card คือเราพยายามโฟกัสเรื่องการให้ประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ลูกค้า

อย่างที่บอกว่าคนกลุ่มนี้เขาไม่ได้มีจุดประสงค์การใช้บัตรเพื่อจะบริหาร Cashflow ของตัวเอง เขาต้องการประสบการณ์ ส่วนใหญ่ Charge Card จะมากับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพราะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ลูกค้าก็ต้องมีความคาดหวังว่าเขาต้องได้อะไรกลับคืนไป

เทรนด์ลูกค้าตอนนี้เป็นยังไง อายุเฉลี่ยเท่าไหร่

เมื่อก่อนน้อยมากที่เราจะเห็นลูกค้าอายุน้อยกว่า 35 ปี ในกลุ่มของพรีเมียมเซกเมนต์ แต่ว่าตอนนี้เริ่มเห็นสัดส่วนลูกค้าที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีค่อนข้างเยอะในกลุ่มลูกค้าที่เราเพิ่งรับเข้ามา คนอายุน้อยมักจะทำธุรกิจของตัวเอง เป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneur) ค่อนข้างเยอะ อันนี้เป็นเทรนด์ที่ชัดเจนทั้งต่างประเทศและเมืองไทย

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา American Express มีลูกค้าใหม่ประมาณ 12 ล้านบัญชี กว่า 60% มาจากกลุ่มมิลเลนเนียลส์ (Millenial) และเจนซี (Gen Z) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ เพราะเป็นกลุ่มผู้บริโภคในอนาคต

ในเมืองไทยเองก็เช่นกัน เราเริ่มเห็นเทรนด์ว่า คนที่อยู่ในเซกเมนต์พรีเมียมเริ่มมีอายุน้อยลงกว่าเมื่อก่อน คือคนที่มีกำลังซื้อสูง ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มคนสูงอายุแล้ว เราเริ่มเห็นว่าคนอายุน้อยก็มีกำลังซื้อสูงเช่นกัน

ค่าธรรมเนียมบัตรต่อปีเท่าไหร่ ลูกค้าเวฟได้ไหม

สำหรับค่าธรรมเนียม แม้จะมีบัตรหลายเซกเมนต์ แต่บัตรที่บริษัทฯ โฟกัสมากที่สุด คือ บัตรแพลทินัม (The Platinum Card) ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 35,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีบัตรเทียร์อื่นๆ เช่น บัตรเครดิตที่ทำร่วมกับแบรนด์ (Co-branded Credit Card) อย่างบัตรเครดิตที่ทำร่วมกับการบินไทย ค่าธรรมเนียมประมาณ 4,200 บาทต่อปี

สำหรับการเวฟค่าธรรมเนียม ถ้าเราสร้างโปรดักต์ของเราให้มีมูลค่า (Value) จริงๆ ลูกค้าก็ไม่มายด์ที่จะจ่ายค่าธรรมเนียม แต่ตรงนี้ทีมมาร์เก็ตติ้งและทีมโปรดักต์ของเราก็ต้องทำงานหนัก เพราะชีวิตและไลฟ์สไลด์ของลูกค้าก็เปลี่ยนปีต่อปี เราต้องรีเฟรชโปรดักต์ของเราตลอดเวลา ให้โปรดักต์ของเรามันสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของลูกค้าของเรา

แล้วไลฟ์สไลต์ของลูกค้าเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

เราเริ่มเห็นลูกค้า (Card Member) ใช้ชีวิตที่แตกต่างจากช่วงโควิด-19 เริ่มออกเดินทางต่างประเทศมากขึ้น และออกไปใช้ชีวิตหาประสบการณ์มากขึ้น หมวดการใช้จ่ายที่เติบโตก็จะมาจากการท่องเที่ยว (Travel) ความบันเทิง (Entertainment) และการซื้อของ (Shopping)

นอกจากนี้ เริ่มเห็นการโยกไปซื้อเสื้อผ้าออกงานและสินค้าหรูหรามากขึ้น จากเดิมในช่วงโควิด-19 จะเป็นการซื้อของเข้าบ้านซะเยอะ เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน (Home Improvement) ในช่วงที่ทำงานจากบ้าน (Work from Home) 

สำหรับเศรษฐกิจ แม้เห็นสัญญาณของการชะลอตัว แต่เซกเมนต์ของ American Express ยังไม่ชะลอ แต่อย่างไรก็ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะเมื่อดูสัญญาณมหภาคต่างๆ จะเริ่มเห็นโอกาสว่า แม้แต่ลูกค้ากลุ่มที่  อยู่ชั้นบนสุด (Top Tier) ก็อาจะใช้จ่ายชะลอลงได้เหมือนกัน

ครึ่งหลังถึงปีหน้า เทรนด์การใช้จ่ายไปทางไหน

ยกตัวอย่างเร็วๆ คือ สเตเคชั่น (Staycation) ตอนที่คนส่วนใหญ่เดินทางต่างประเทศไม่ได้ เราก็กระตุ้น (encourage) ลูกค้าให้ไป Staycation ในประเทศ เขาได้ประสบการณ์ใหม่ๆ และเราพยายามมองว่า เทรนด์นี้มันจะปรับเปลี่ยนไปในทิศทางไหน หลังโควิด-19 คนจะไม่นอนโรงแรมในกรุงเทพแล้ว ต้องการต่างประเทศเท่านั้นหรือเปล่า

สรุปว่ามันไม่ได้เปลี่ยนไปขนาดนั้น พอคนเริ่มได้ไปเที่ยวในโรงแรม 5 ดาวในประเทศไทยในกรุงเทพแล้ว ก็ยังชอบที่จะไปตามสถานที่ต่างๆ อยู่ กลับกลายเป็นว่า มันเปิดหูเปิดตาให้ลูกค้าของเราเห็นว่า เที่ยวในประเทศมันก็มีประสบการณ์ใหม่ๆ ได้นะ ไม่จำเป็นต้องเดินทางต่างประเทศเท่านั้น นี่คือเทรนด์หนึ่ง

อีกเทรนด์หนึ่งที่เรามองเห็นและอยากกระตุ้นให้ลูกค้าเราได้รับประสบการณ์ คือ การออกไปทานร้านอาหารอะไรใหม่ๆ เรามีโปรแกรม Global Dining Credit คือ เราให้เครดิตเงินคืนกับลูกค้า ถ้าเขาไปใช้จ่ายในร้านอาหารต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,200 ร้าน

ส่วนใหญ่เป็นร้าน Michelin Star เราให้เครดิตเงินคืน 7,000 บาท เพราะเราอยากกระตุ้นให้ลูกค้าออกไปเดินทางต่างประเทศและไปลองร้านอาหารใหม่ๆ เพื่อจะได้สร้างประสบการณ์ให้กับตัวเอง นี่คือ Value ที่เรามองว่า เราผลิตให้กับลูกค้า

กลยุทธ์การเติบโตของ American Express ต่อจากนี้

แน่นอนว่าการขยายจุดรับบัตรเครดิตเป็นกลยุทธ์ของ American Express อยู่แล้ว หากมองย้อนกลับไปประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา เราพยายามให้ร้านค้ารับบัตร American Express ได้เพิ่มขึ้นทั่วโลกประมาณ 130% โดยตอนนี้มีจุดรับอยู่ประมาณ 37 ล้านแห่งแล้ว

ทั้งนี้ กลยุทธ์หลักของเราอยู่แล้วที่จะให้ American Express ได้รับมากขึ้นในทุกๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยว ก่อนโควิด-19 กรุงเทพฯ เป็นเมืองชั้นนำของโลกที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาก 4 ปีซ้อน

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไม American Express ถึงต้องโฟกัสกับคุณภาพร้านค้าที่รับบัตรในเมืองไทย เพราะเมื่อชาวต่างชาติเข้ามาในไทย เขาต้องใช้งานได้ นั่นคือโอกาสของเรา อาจไม่ได้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่เรากลับมาเปิดจุดรับบัตรใหม่เฉยๆ แต่เราอยากให้ประเทศอื่นๆ นอกจากอเมริการับบัตร American Express ได้มากขึ้นอยู่แล้ว ยิ่งไทย ยิ่งเป็นจุดสำคัญ

เมื่อไม่นานมานี้ American Express เพิ่งจับมือกับธนาคารกรุงเทพเพื่อเพิ่มจำนวนให้ร้านค้าสามารถรับบัตร American Express ได้เร็วขึ้น

เรามีลูกค้าทั่วโลก 122 ล้านราย คนกลุ่มนี้มาเมืองไทยเยอะมาก และส่วนใหญ่เป็นเซกเมนต์นักท่องเที่ยวศักยภาพสูง (High-Value Tourists) หรือมีการใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตรงนี้เราก็เห็นโฟลว์คนเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้นตั้งแต่กลางปีที่แล้ว (2565)

กลยุทธ์ขยายฐานลูกค้า Millennial กับ Gen Z

จริงๆ มันมีความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Requirment) คล้ายกัน แต่ก็มีสิ่งที่แตกต่างกัน สิ่งที่เหมือนกัน คือ แน่นอน การที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม สิทธิประโยชน์ที่ได้คืนคืออะไร จะเป็นคนกลุ่มอายุไหนก็ต้องมองว่าคุ้มค่าหรือไม่ เป็นเรื่องธรรมดา

แต่อายุที่ต่ำลงมา จะเป็นเรื่องช่องทางที่เข้าถึงลูกค้ามากกว่า แน่นอนว่าคนที่อายุน้อยหน่อยก็จะเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มากขึ้น คอนเทนต์ที่จะตอบรับก็แตกต่างกับคนที่อายุเยอะ

แต่อีกอันที่ชัดเจนว่าพรีเมียมเซกเมนต์ต้องการอะไรในทุกๆ อายุ คือ เรื่องของบริการ ว่าจ่ายค่าธรรมเนียมเท่านี้ เขาคาดหวังอะไรบ้าง ซึ่งเขาคาดหวังว่า เขาไม่อยากถูกทรีตเป็นแค่ตัวเลข (Number) จากแบงก์

เขาต้องการให้เราเข้าใจ เข้าใจพฤติกรรม มีความคาดหวังที่สูง ถ้าโทรมาหาต้องช่วยเหลือได้ทุกๆ เรื่อง และต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่มีทุกช่องทาง (Touch Point) กับเรา เรื่องของบริการส่วนนี้เป็นความคาดหวังที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการ จากโปรดักต์แบบนี้ อันนี้ใช้ได้กับทุกอายุ

พอจะยกตัวอย่างความช่วยเหลือที่เขาต้องการได้ไหม

ผมให้ตัวอย่างอันจริงเลยก็ได้ ที่ลูกค้าเขาเล่าให้ผมฟัง ที่เขาประทับใจกับสิ่งที่เราทำ คือ ลูกค้าคนนี้เขาถือบัตรของเราอยู่และไปเที่ยวสิงคโปร์ เขาไปประชุมที่สิงคโปร์ และเขาบอกว่า เขาไปเข้าห้องน้ำที่ออฟฟิศตึกหนึ่ง

พอเข้าไปในห้องน้ำแล้วเนี่ย พอจะออกแล้วล็อคมันเสีย เขาออกไม่ได้ แล้วเขาอยู่ที่สิงคโปร์ เขาไม่รู้จักคนที่นู่นเลย เขาไม่รู้จะทำยังไง เขามีกระเป๋าตังค์ของเขาและมีบัตร Amex เขาบอกว่า เขารู้ว่า Amex ช่วยเหลือเขาได้ในทุกๆ เรื่อง

เขาก็เลยโทรเบอร์หลังบัตรของ Amex กลับมาที่เมืองไทย และก็บอกว่า เขาอยู่ตึกนี้ ติดอยู่ในห้องน้ำนี้ แปปเดียวเราก็ช่วยหาคนที่เข้าไปเปิดประตูออกมาให้เขาได้ เรามีเซอร์วิสที่พอรู้แล้วว่าตึกไหน เราก็โทรเข้าไปได้

เราก็มีคอนเซนเตอร์ (Call Center) อยู่ที่สิงคโปร์เหมือนกัน ก็ให้ Call Center ช่วยเหลือในการเอาออกมาจากห้องน้ำ นี่คือเรื่องของการที่เราดูแลลูกค้าให้ทั่วถึงในทุกๆ เรื่อง ไม่เฉพาะแค่การบริการของบัตรเท่านั้น

พูดถึงตัวเลขบ้าง คาดว่ายอดใช้จ่ายปีนี้จะเติบโตเท่าไหร่

เราคาดว่าเติบโตแน่นอนในระดับเลขสองหลัก (Double Digits) เมื่อเทียบกับปีทีผ่านมา (2565) โดยในปี 2565 American Express ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ปีหนึ่ง โดยเพิ่มขึ้น 25% ในส่วนของ American Express Global คาดว่าปีนี้เราจะเติบโตอย่างน้อย 15-17% สำหรับคาดการณ์รายได้ทั่วโลก

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า เรามอร์นิเตอร์เรื่องนี้อยู่ตลอด ที่จริงความเสี่ยงคงหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจมหภาค (Macro Economic) เราก็ดูเรื่องของแพทเทิร์นการใช้จ่าย (Spending Pattern) ของลูกค้าตลอดเวลา ถ้าเกิดมีภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร จะกระทบเซกเมนต์ลูกค้าของเรามากน้อยเท่าไหร่

ทั้งนี้ รายได้ของ Amex มาจาก 3 ส่วนหลัก คือ 1. รายได้จากการที่ลูกค้าใช้บัตร 2. ค่าธรรมเนียมของบัตร และ 3. สินเชื่อของบัตรเครดิตซึ่งมีลักษณะเป็นสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน (Revolving Loan) โดย American Express พยายามบาลานซ์ทั้ง 3 ส่วน

การแข่งขันในตลาดกับแบงก์ เซกเมนต์พรีเมียมดุเดือดไหม

เราอยากทำให้บัตรของเราดีที่สุดในเซกเมนต์ของเรา สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องเข้าใจว่าลูกค้าเราใช้ชีวิตแบบไหน เพราะเรื่องนี้สำคัญ อย่างที่บอกเมื่อครู่ว่า ลูกค้าจ่ายค่าธรรมเนียม เขาก็ต้องมาว่ามันมี Value กลับคืนไปมั้ย เราต้องเมคชัวร์ว่า Value ตรงนี้มันชัดเจน

เราแข่งกับตัวเราเองมากกว่า เพราะเราดูแพทเทิร์นการใช้ชีวิตของลูกค้าเรา เราเข้าใจว่าลูกค้ามีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า หรือไม่เปลี่ยนแปลงไป เขาใช้อะไรกันอยู่ เราต้องเมคชัวร์ว่า เราออฟเฟอร์อะไรที่ช่วยให้เขาไปใช้ชีวิตได้มากขึ้น

สำหรับคู่แข่งทางตรงก็น่าจะเป็นบัตรเครดิตไฮเอนด์ (High-end) ซึ่งทุกธนาคารก็จะมีหลายเซกเมนต์ บางธนาคารก็มีการธนาคารแบบส่วนตัว (Private Banking) เซกเมนต์ ลูกค้าที่มีเงินฝากเยอะก็จะได้บัตรไป เรามองว่า แบงก์ในประเทศที่มี Credit Card ในเซกเมนต์นี้ก็เป็นคู่แข่งในเซกเมนต์เดียวกับเรา

สำหรับภาวะการแข่งขัน เชื่อว่าตอนนี้เป็นการแข่งขันแบบสร้างสรรค์ (Healthy Competition) ซึ่งดีกับผู้บริโภค เพราะทุกแบงก์จะหาวิธีในการเซิร์ฟลูกค้าให้ได้ดีที่สุด สำหรับ American Express เราโฟกัสเรื่องบริการมาก เพราะเรารู้ว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นคนที่มีกำลังซื้อสูง เขามีความคาดหวังที่มาพร้อมกับการจ่ายค่าธรรมเนียม

ทั้งนี้ เราเชื่อว่า เราทำเรื่องการบริการได้ดีมาโดยตลอด หมายถึงว่า เราก็อยู่นิ่งไม่ได้ เราต้องพัฒนาทีมของเราอยู่ตลอดเวลา เราไม่ได้ให้แค่บริการธุรกรรม Credit Card ที่เขามีอยู่กับเราเท่านั้น เราต้องดูองค์ประกอบทั้งหมดว่าลูกค้าต้องการให้ช่วยเหลืออะไรมากไปกว่านี้ไหม เราต้องบรรลุความคาดหวังเรื่องของการบริการให้ได้

อะไรที่เขาจะได้ แต่คนอื่นไม่ได้ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าเรา

เรามีแผนกหนึ่งในออฟฟิศที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวและการบริการ ถ้าลูกค้าถือบัตรของเรา เช่น คุณ A อยากเดินทางไปญี่ปุ่น แต่ไม่รู้ว่า ถ้าจองพื้นที่ตรงนี้จะดีไหม มีร้านอาหารอะไรให้ไปบ้าง ก็แค่บอกทีมเรา เราก็จะทำตารางมาให้ชัดเจนเลยว่า ซื้อตั๋วไปกลับมีทั้งหมดกี่สายการบิน เวลาเป็นแบบนี้ ราคาเป็นแบบนี้

ถ้าไปถึงอยุ่ 4 วันเราแนะนำให้ทำอะไรบ้าง ถ้ามีลูกเราก็จะแนะนำแบบหนึ่ง มีลูกเราก็จะแนะนำอีกแบบหนึ่ง เหมือนเป็นที่ปรึกษาเรื่องการท่องเที่ยว เป็นสิทธิประโยชน์ที่มากับ Charge Card เป็นบริการฟรี ถ้าจองผ่านเรา เราจะบริหารให้

เพราะเรามีองค์ความรู้ (Know-how) เรื่องการท่องเที่ยว เราก็พยายามจะเพิ่ม Value แนะนำให้ลูกค้าใช้ชีวิต ใช้เวลาที่ดีที่สุดเมื่ออยู่ที่ญี่ปุ่น ว่าเราแนะนำให้ทำอะไร 1 2 3 และหากต้องการให้เราจองร้านอาหารให้ เราก็จะจองร้านอาหารให้ด้วย ร้านไหนที่จองยากๆ เราก็จะมีบริการช่วยจอง

พูดถึงการบริหารงานบ้าง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาอะไรยากที่สุด

‘จริงๆ อยู่ที่นี่มา 5 ปีแล้วก่อนมารับตำแหน่งล่าสุด 1 ปี ก็รู้จักกับทีมดีอยู่แล้ว เรื่องการปรับตัวไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ผมมีแพชชั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจของเรา คือเป้าหมายของเรามันชัดเจนมากว่าเราอยากไปที่ไหน สำคัญที่สุดคือ การให้คนในบริษัททุกคนมองไปในทางเดียวกัน อยากให้ทุกคนมีเป้าหมายที่เหมือนกัน และมุ่งหน้าไปทางนั้น

ผมชอบสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำงานแล้วสนุก ผมอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในเส้นทางที่เราไปด้วยกันตอนนี้ เพราะความสำเร็จเป็นความสำเร็จของทุกทีม ไม่ใช่ความสำเร็จของทีมใดทีมหนึ่ง ไม่ใช่ความสำเร็จของผม แต่เป็นความสำเร็จของทุกคนร่วมกัน

เราอยากสร้างแพลตฟอร์มให้ทุกคนได้ออกไอเดียต่างๆ เพราะไม่มีไอเดียไหนที่ไม่ดีเลย เป็นไปไม่ได้ที่ผู้บริหารเท่านั้นที่จะคิดอะไรออกมาได้ มันคือทุกคนที่เป็นพนักงานเรา มีคอนแทคกับลูกค้า บางคนก็จะรู้จักลูกค้ามากว่าผมด้วยซ้ำ เพราะเป็นคนที่รับคอลจากลูกค้าอยู่แล้ว เราก็ต้องรับฟีดแบคจากเขา

ผมสนุกและตื่นเต้นกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้ พอเราเห็นผลกับอะไรที่เราทำลงไป มันก็กลับมาเป็นกำลังให้กับทุกคนต่อ จึงไม่ได้มองเป็นความท้าทาย แต่เป็นความสนุกในการสร้างองค์กรในทิศทางที่เราอยากไปและมันไปทางนั้นจริงๆ’

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า