SHARE

คัดลอกแล้ว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นกรณีคำพิพากษาตัดสินจำคุก จตุพร แซ่อึง (นิว) เป็นเวลา 2 ปีจากการเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์

วันที่ 13 กันยายน 2565 ไคลด์ วอร์ด รองเลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นในคำพิพากษาล่าสุดว่ากิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์นั้นเป็นการตีความสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศในเชิงเสียดสี โดยเป็นงานสาธารณะซึ่งจัดขึ้นโดยสงบ ไม่ต่างจากงานเทศกาลตามท้องถนนทั่วๆ ไปที่มีการแสดงดนตรี ออกร้านขายอาหาร และการเต้นรำ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่ควรต้องถูกตัดสินลงโทษ เพียงเพราะการมีส่วนร่วมในการรวมกลุ่มกันโดยสงบเช่นนี้

คำพิพากษาในคดีนี้ นับเป็นการตัดสินลงโทษในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นคดีที่ 10 ตั้งแต่ปี 2564 การตัดสินลงโทษครั้งนี้เป็นปฐมบทอันน่ากลัวของทิศทางการบังคับใช้กฎหมายในอนาคตอันใกล้ ตั้งแต่การชุมนุมโดยสงบเป็นส่วนใหญ่ที่เริ่มขึ้นในปี 2563 มีนักกิจกรรมและผู้ชุมนุม 210 คนถูกฟ้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงเป็นประวัติการณ์ไคลด์ วอร์ดกล่าว

เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการดำเนินคดีทั้งหมดต่อบุคคลผู้เพียงใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบโดยทันที พร้อมปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังอย่างไม่ชอบธรรม

จากการที่กระแสการชุมนุมประท้วงในประเทศไทยมีความเข้มข้นขึ้น คำตัดสินลงโทษในคดีล่าสุดนี้สะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการปราบปรามผู้เห็นต่างที่ไม่ใช้ความรุนแรง

แม้ว่ารัฐไทยมีหน้าที่ในการคุ้มครองการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ แต่เจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง โดยหลายรายเป็นเยาวชนหรือแม้แต่เด็ก พวกเขาควรมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนในการสร้างประโยชน์แก่สังคม โดยไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงในการถูกจำคุกและถูกบันทึกประวัติอาชญากรรมอย่างไม่เป็นธรรม

ศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกผู้ชุมนุมชื่อ จตุพร แซ่อึง (นิว) เป็นเวลา 2 ปีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 หลังจากเจ้าหน้าที่รัฐได้ฟ้องดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ตามมาตรา 112 ต่อนิว กฎหมายมาตราดังกล่าวกำหนดโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 3 ถึง 15 ปี สำหรับบุคคลใดที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ศาลได้ลดโทษของนิวเป็นจำนวน 1 ใน 3 เนื่องจากนิวให้การเป็นประโยชน์ จึงเหลือโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในคดีเดียวกันนี้ นิวก็ถูกตัดสินลงโทษในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ โดยถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 1,500 บาท ภายหลัง ศาลได้ลดค่าปรับเหลือ 1,000 บาท ปัจจุบัน นิวถูกควบคุมตัวอยู่ ณ ทัณฑสถานหญิง กรุงเทพฯ ขณะที่กำลังรอศาลอุทธรณ์พิจารณาคำขอประกันตัว

ในหลากหลายโอกาส ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้นและผลในการสร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบหลายต่อหลายครั้ง ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ รวมทั้งประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติต่างๆ ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าว หรือแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยอีกด้วย

นิวได้เข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ ณ ถนนสีลม ที่กรุงเทพฯ วันที่ 29 ตุลาคม 2563 นิวถูกกล่าวหาว่าแต่งกายเลียนแบบและล้อเลียนสมเด็จพระราชินีด้วยการแต่งชุดไทย

การชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม 2563 นี้เป็นหนึ่งในการชุมนุมกว่าสิบการชุมนุมที่เกิดขึ้นในปี 2563 และต้นปี 2564 ซึ่งมีผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่รวมทั้งเด็กจำนวนหลายหมื่นหรือแม้แต่หลายแสนคนออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นไปโดยปราศจากความรุนแรง อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีอาญากับประชาชนเหล่านี้จำนวนกว่า 1,800 คน รวมไปถึงเด็กและผู้เยาว์กว่า 280 คน จากการเข้าร่วมการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น

จากการรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา มีประชาชนอย่างน้อย 210 คน ที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยตั้งแต่ปี 2564-2565 มี 10 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินว่ามีความผิด

เอกสารของแอมเนสตี้ระบุว่า “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ขอให้ความเห็นต่อเนื้อหาของประเภทคำพูดต่างๆ ที่ถูกตีความว่าเป็นการละเมิดมาตรา 112  แต่ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกโดยสงบ”

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ข้อ 19 และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบภายใต้ข้อ 21 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรติดตามการนำ ICCPR ไปปฏิบัติ ได้ระบุถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ เกี่ยวกับกฏหมายว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ทั่วโลก โดยกล่าวว่า บุคคลสาธารณะทุกคน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ล้วนเป็นผู้ที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างชอบธรรม และการต่อต้านคัดค้านทางการเมือง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของรัฐนั้นไม่ควรเป็นเรื่องต้องห้าม แม้ในกรณีที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นอาจถูกมองว่าเป็นโทษที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท คณะกรรมการฯ ได้ลงความเห็นว่าโทษจำคุกไม่ใช่เป็นการลงโทษที่เหมาะสมในทุกกรณี     

ประเทศสมาชิกสหประชาชาติต่างๆ ได้เสนอแนะให้ประเทศไทยยกเลิกมาตราว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประมวลกฎหมายอาญาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review) ของประเทศไทยที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะรับรองข้อเสนอแนะเหล่านั้น

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า