SHARE

คัดลอกแล้ว

ศึกแห่งศักดิ์ศรี เลือกตั้งซ่อม ชุมพร-สงขลา เสร็จสิ้นไปเมื่อคืนวันที่ 16 ม.ค. 2565 ปรากฏว่า ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ผงาดในภาคใต้ได้อีกครั้ง กำชัยชนะด้วยคะแนนมาเป็นอันดับ 1 ทั้ง เขต 1 ชุมพร และ เขต 6 สงขลา

ทำให้ ‘อิสรพงษ์ มากอำไพ’ หลายชายของลูกหมี ‘ชุมพล จุลใส’ อดีต ส.ส. ในเขตนี้ขึ้นแท่นเป็น ว่าที่ ส.ส. คนใหม่ เช่นเดียวกับ ‘น้ำหอม สุภาพร กำเนิดผล’ ภรรยา ‘นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังจะได้เป็น ส.ส.หญิงคนแรกของ จ.สงขลา ทันทีที่ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

workpointTODAY ได้สัมภาษณ์ นักวิชาการ 2 ท่าน ที่คลุกคลีกับการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้มาโดยตลอด คือ ผศ.ดร.จุลพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ รศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มาวิเคราะห์เหตุผลและปัจจัย ทำไมคนใต้ยังเลือกพรรคประชาธิปัตย์ และถอดบทเรียนเตรียมพร้อมกับการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต

สรุปได้ 5 ปัจจัย ดังนี้ 

1. พลังประชารัฐพลาดเอง โค้งสุดท้ายก่อนวันหย่อนบัตร จากคำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า “เลือก ส.ส. ต้องเลือกคนมีชาติตระกูลและมีตังค์” ถูกมองดูแคลนหรือดูหมิ่นน้ำใจ ไปจนถึงด้อยค่าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

2. นักวิชาการไม่ปฏิเสธเรื่องการใช้เงิน ไม่ใช่ใช้เงินมากหรือเงินน้อย แต่บริหารเงินในการหาเสียงทำได้ดีกว่า

3. เครือข่ายทางการเมืองระดับท้องถิ่นมีมากกว่า

– ชุมพร (เครือข่าย กปปส. ของ ชุมพล จุลใส หรือลูกหมี ที่ส่งหลานชายลงสมัคร)

– สงขลา (เดชอิศม์ ขาวทอง หรือนายกชาย ที่ส่งภรรยาลงสมัคร)

4. ลงพื้นที่แบบกัดไม่ปล่อย คนที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกอีก 30 % เห็นความมุ่งมั่น

5. ความผูกพัน ฟื้นคืน ที่ชุมพรคะแนนชนะขาดลอย ส่วนที่สงขลาคะแนนชนะแบบสูสี แต่คะแนนที่ สุภาพร กำเนิดผล ได้รับกว่า 45,000 คะแนน มากกว่าอดีต ส.ส. ถาวร เสนเนียม ที่ได้จากการเลือกตั้งเมื่อปี 62 28,000 คะแนน นักวิชาการมองได้ว่า ความผูกพันที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์อาจจะกลับมาได้จากการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

(ผศ.ดร.จุลพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

เริ่มที่ อาจารย์จุลพล ชื่นจิตต์ศิริ บอกว่า ก่อนวันลงคะแนนเสียง ประมาณ 2 สัปดาห์ มีโพลของหลายสำนักออกมาว่า “ประชาธิปัตย์ ตาม พลังประชารัฐอยู่ทั้ง 2 สนาม” คือ ทั้งที่เขต 1 ชุมพร และ เขต 6 สงขลา แต่ที่ผลเลือกตั้งออกมาเป็น ประชาธิปัตย์ชนะ เข้าใจว่า มีปัจจัยในโค้งสุดท้าย ของการปราศรัยของผู้นำบนเวทีคิดว่ามีผลมาก เพราะคนใต้เราไม่ชอบให้มาดูถูกกัน ซึ่งถ้าปราศรัยลักษณะดูถูกดูแคลน หรือดูหมิ่นน้ำใจ ตรงนี้ถือว่า คนใต้ไม่ชอบ

“ผมว่าตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้คะแนนโค้งสุดท้ายพลิกมา พูดถึงในเขต 6 สงขลา ตรงนี้มีผลมาก ประกอบกับ พอใช้คำพูดเหล่านี้เสร็จ พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกมาขยี้ต่อ ขยี้เสร็จทำให้บางคนที่ยังไม่ตัดสินใจตัดสินใจไปเลยว่าจะเลือกใคร”

“การปราศรัยในวันนั้น ถ้าจะเงินๆ ทองๆ มาเกี่ยว ถือเป็นการดูถูกกันนะ คนใต้ค่อนข้างซีเรียส มันไม่เกี่ยวว่าใครจนใครรวย ถ้าคุณให้ใจผม ผมให้ใจคุณมัน ก็จบ ต้องมีเงินถึงจะช่วยกัน มันไม่ใช่ ประเด็นตรงนี้ค่อนข้างเป็นประเด็นละเอียดอ่อน คนนอกพื้นที่อาจจะไม่ทราบ แต่คนใต้จะทราบกันว่ามาดูถูกแบบนี้ไม่ได้ ซีเรียส”

“ผมก็มั่นใจว่า เขาอาจจะไม่ได้ดูถูกขนาดนั้น แต่เนื่องจากคำพูดค่อนข้างหมิ่นเหม่นิดนึงที่จะให้คิดไปซ้ายก็ได้ขวาก็ได้ ผมก็ยังคิดว่าท่านไม่ได้ขนาดนั้น แต่คำพูดมันหมิ่นเหม่ซึ่งทำให้คิดไปได้ ไม่ใช่คิดไม่ได้ ถือเป็นการพลาดตรงนี้นิดนึง อาจจะมีส่วนสะเทือนถึงชุมพร แต่เห็นไม่ค่อยชัด เพราะไม่ได้ไปพูดที่ชุมพร แต่อย่างที่บอกประชาธิปัตย์ ขยี้เรื่องนี้ด้วยเก๋า”

ลงพื้นที่แบบกัดไม่ปล่อย

ในการเลือกตั้งทุกครั้งจะมีคนยังไม่ตัดสินใจว่าเลือกใครทุกครั้งประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เท่าที่เคยทำ มอ.โพล จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ประกอบกับตัว ‘นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง’ ถึงลูกถึงคนเป็นตัวจักรสำคัญ ส่วนพลังประชารัฐคนแบบถึงลูกถึงคนยังไม่มี

ซึ่งก่อนหน้านี้ พลังประชารัฐค่อนข้างได้เปรียบจริง แต่พอมาโค้งสุดท้าย 5 วันสุดท้าย เห็นได้ชัดเลยว่า ทางประชาธิปัตย์เขากัดไม่ปล่อย เดินลุยตลอดเช้าเย็น มันทำให้คนส่วนหนึ่งเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ

(ภาพจากพรรคประชาธิปัตย์)

“ตัวบุคคล” เป็นปัจจัยหลักให้เลือก

เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ไม่ใช่นโยบายงานนี้สำคัญที่ตัวบุคคล “ตัวบุคคล” คือ ‘นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง’ สามีของสุภาพร กำเนิดผล ที่มีสโลแกน “ใจถึง พึ่งได้” คิดว่า ตอนหลังได้มากู้สถานการณ์ของประชาธิปัตย์ จาก “อะไรก็ได้ ” ไม่ใช่แล้ว ประชาธิปัตย์ต้องช่วยเหลือประชาชนจริงๆ ตอนนี้คนภาคใต้ไม่ได้เห็นประชาธิปัตย์เป็นเหมือนแต่ก่อน แต่เขาจะมองตัวบุคคลมากกว่า สะท้อนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า ส.ส. ของประชาธิปัตย์ ในปัจจุบัน ถ้าในขณะนี้ หรือหลังจากนี้ มีการลงพื้นที่ ติดตามประชาชนบ่อยๆ ถึงเวลาเลือกตั้งจริง ไม่ได้หนักหนาสาหัสถึงขนาดต้องใช้อะไรมากมาย

ซึ่งการที่บอกว่า “ตัวบุคคล” เป็นตัวนำ มากกว่า พรรคและนโยบายนั้น มาจากข้อมูลทางวิชาการ ที่ได้ให้นักศึกษาปริญญาเอก ออกแบบสำรวจ 4,000-5,000 คน ในช่วงวันที่ 4-6 ม.ค. 2565 ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งซ่อม พบว่า 3 ประเด็นในการตัดสิน คือ ตัวบุคคล, พรรคการเมือง, นโยบายพรรค ซึ่งเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนที่จะดู พรรคการเมือง มาเป็นอันดับแรก  คิดว่าในอนาคตน่าจะเป็นแบบนี้ ตัวบุคคลนำมา ถ้าพรรคการเมือง กับ นโยบายดีด้วยก็จบเลย

 ส่วน ชุมพร เน้นเรื่อง กปปส. ยังคิดเลยว่า จะเกิดพรรคใหม่หรือไม่ เพราะการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ในพื้นที่นั้นประสบความสำเร็จมาก จากที่ฟังการปราศรัยหาเสียงเน้นปกป้องคนดีที่ทำเพื่อประเทศชาติแล้วมาได้รับผลอย่างนี้ ฟังแล้วน่าสนใจ เป็นประเด็นที่ขยายในอนาคตได้ ดังนั้นไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้หรือปีหน้า น่าจะเปลี่ยนหลายหลักคิดของนักการเมืองว่า ไม่ง่าย ใครไม่เคยลงพื้นที่ ไม่ง่ายที่จะได้รับเลือกเหมือนกับสมัยก่อน

เพราะในภาคใต้ไม่มีแลนด์สไลด์ ในลักษณะ พรรคประชาธิปัตย์ ต้องได้หมด หรือพรรคพลังประชารัฐ ต้องได้หมด อาจเป็นการผสมผสาน แล้ว 3 ปัจจัย คือ ตัวบุคคล พรรค นโยบาย อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามสถานการณ์ในจังหวะนั้นๆ นโยบายอาจเป็นประเด็นสูงขึ้นมา ต้องคิดช๊อตต่อช๊อต ต้องดูสถานการณ์ในตอนนั้นด้วย การเลือกตั้งต้องดูวันต่อวัน ส่วนพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย มองว่าในพื้นที่เป็นแบบฉาบฉวย เป็นกระแส ครั้งนี้ตัวผู้สมัครใช้ได้ แต่ได้คะแนนน้อยกว่าเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แสดงว่ากระแสลดลงไปแล้ว

ไม่ปฏิเสธการใช้เงินแต่ครั้งนี้มีพรรคที่บริหารเงินได้ดีกว่า

อาจารย์จุลพล บอกด้วยว่า อย่างที่มีคนบอกว่า ทุกครั้งมีการใช้เงินในการหาเสียง อันนี้ผมไม่ปฏิเสธนะครับ แต่การบริหารเงินอันนี้สำคัญกว่า ไม่ได้หมายความว่ามีเงินมาก มีเงินน้อยแต่การบริหารเงินให้เหมาะสมในการหาเสียง ตรงนี้น่าสนใจ ทางประชาธิปัตย์ทำได้ดีกว่า

(รศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)

อีกมุมมองจาก อาจารย์บูฆอรี ยีหมะ บอกว่า ถ้าเทียบกับการเลือกตั้ง ในปี 62 ถือว่า ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ครั้งใหญ่ ประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส. แค่ 3 คน จาก 8 คน สืบเนื่องจากหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งคือคนใต้มองว่า ตอนนั้นประชาธิปัตย์ไม่มีความชัดเจนว่า จะให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อคุณอภิสิทธิ์ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ประกาศว่า จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำให้คะแนนเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนว่าคนที่เคยสนับสนุน ประชาธิปัตย์ ก็หันมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อเทียบตัวพล.อ.ประยุทธ์ กับ พรรค คนให้น้ำหนักที่พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า ทำให้ พรรคพลังประชารัฐได้ประโยชน์ได้โดยปริยาย เพราะเป็นพรรคที่ให้การสนับสนุน แม้พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ใช่สมาชิกของพรรคก็ตาม เพราะฉะนั้นในเวลานั้น คนใต้จึงสวิงแทนที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยเลือกมาโดยตลอด ก็หันมาเลือกพลังประชารัฐ ทั้งที่ตัวผู้สมัคร ในแง่ของความโดดเด่นทางการเมืองก็สู้ประชาธิปัตย์ไม่ได้ หลายคนก็เป็นคนใหม่

แต่การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ บรรยากาศไม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป เป็นการเลือกตั้งกลางคัน ไม่มีบรรยากาศของภาพรวม เจาะพื้นที่ที่จำกัด ในขณะที่ ประชาธิปัตย์ แพ้การเลือกตั้ง เมื่อปี 62 และแพ้เลือกซ่อมที่ นครศรีธรรมราชให้พลังประชารัฐ ครั้งนี้เขาไม่สามารถแพ้ได้อีก เพราะถ้าแพ้การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้อาจเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งทั่วไป เป็นผลในทางจิตวิทยาว่า คนไม่เอาประชาธิปัตย์อย่างชัดเจนหรือเปล่า ถ้าพลังประชารัฐชนะ จะยิ่งกระหยิ่มยิ้มย่องว่า ตนเองสามารถขยายฐานเพิ่มจำนวน ส.ส. ในภาคใต้

ในพื้นที่ภาคใต้ 2 พรรคจึงมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะใน เขต 6 สงขลา ขณะเดียวกัน ประชาธิปัตย์ ผู้สมัคร เป็นภรรยาของ นายกชาย เดชอิศม์ ขาวทอง ที่เพิ่งได้ตำแหน่ง รองหัวหน้าพรรคคุมภาคใต้ ถ้าแพ้ขึ้นมาจะเสียหายมากกว่าพลังประชารัฐที่แพ้ครั้งนี้ไม่เสียหายมากมาย เพราะประชาธิปัตย์มีผลในแง่ฟื้นความนิยม ถ้าแพ้นี่รองหัวหน้าพรรคคนใหม่ไม่สามารถแสดงบารมี ไม่สามารถใช้เครือข่ายทางการเมือง ที่เติบโตมาจากการนักการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่อายุ 30 ปี เขามีเครือข่ายทางการเมืองระดับท้องถิ่นมากพอสมควร ในบริบท “หัวคะแนน” ถ้าแพ้น่าคิดว่าเครือข่ายเหล่านี้ได้หันเหเปลี่ยนข้างไปยังพลังประชารัฐค่อนข้างชัดเจนหรือเปล่า เลยเกิดการแข่งขันอย่างเข้มข้น

ส่วนที่พลังประชารัฐที่กล้าสู้ เพราะตัวผู้สมัครของประชาธิปัตย์ไม่ได้โดดเด่น เป็นภรรยาของนายกชาย ปราศรัยยังเคอะเขิน ไม่ชำนาญ เหมือนดารานักร้อง เรียกเสียงกรี๊ด เสียงเชียร์เป็นระยะๆ  เมื่อผู้สมัครไม่โดดเด่น พลังประชารัฐเองคิดว่าน่าจะสู้ได้ เพราะว่าเขาส่งลูกชายของหัวคะแนนใหญ่ของคุณถาวร (ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.เขต 6 สงขลา) คาดหวังว่า คุณถาวรจะสนับสนุน เครือข่ายของคุณถาวรจะช่วยเขาได้ ในขณะเดียวกัน มองว่า อาจถือไพ่เหนือกว่าที่จะใช้กลไกของรัฐ ฝ่ายปกครอง ค่ายทหาร ซึ่งมีกองบิน 56 ตั้งอยู่คลองหอยโข่ง แต่ที่นั่นมีผู้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด

สำหรับการเลือกตั้งที่ชุมพร อาจารย์บูฆอรี มองว่า ตัวผู้สมัครของประชาธิปัตย์ เป็นญาติกับ ลูกหมี (ชุมพล จุลใส) เขาจึงมั่นใจว่า น่าจะได้แน่ๆ เป็นในการโอนย้ายคะแนน คนของพลังประชารัฐนั้นมีเครือข่ายทางการเมืองด้อยกว่า

(ภาพจากพรรคพลังประชารัฐ)

อาจารย์บูฆอรี มีความเห็นเช่นเดียวกับนักวิชาการและคอการเมืองหลายคนว่า การขึ้นเวทีปราศรัยที่สงขลาของ ร.อ.ธรรมนัส เมื่อ 11 ม.ค. เพียง 5 วันก่อนหย่อนบัตร คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

ในการหาเสียงครั้งหน้า พลังประชารัฐอาจจะต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ เช่น ร.อ.ธรรมนัส ไม่ขึ้นเวทีพูดลักษณะนั้น การปราศรัยของคุณธรรมนัส มีโอกาสที่คนจะเอาไปตีความว่า เป็นการด้อยค่าของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การสื่อสารทางการเมืองถ้าไม่ชัดเจน มีโอกาสถูกตีความในทางลบได้ก็ไม่ควรเสี่ยง การออกมาพูดในลักษณะของการเป็นลูกพี่ มีสตุ้งสตางค์ สามารถจะช่วยในโอกาสต่างๆ ได้ ก็อาจจะถูกมองว่า เป็นการด้อยค่าคนธรรมดาสามัญ เป็นการด้อยค่าคนจน อาจถูกตีความเช่นนั้น ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นจุดหนึ่งทำให้คะแนนมีการเปลี่ยนแปลงได้

“ก่อนหน้านี้เคยโพสต์เฟซบุ๊กว่าประชาธิปัตย์ชนะ มีคนมาคอมเมนต์ เกินครึ่งว่าวิเคราะห์ผิด ผมว่าหลังจากคุณธรรมนัสขึ้นเวทีพูดในลักษณะนั้น น่าจะเป็นจุดเปลี่ยน เพราะทางนายกชายก็หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาปราศรัยเหมือนกันว่า เราไม่ใช่คนร่ำคนรวย พวกเราไต่เต้าทางการเมือง มาจากการเป็นลูกชาวบ้านธรรมดาเป็นลูกคนจน พยายามปราศรัยหาเสียงทำนองนี้ เหมือนที่ประชาธิปัตย์ใช้สำเร็จ อย่างที่คุณชวนปราศรัยว่า “ผมเป็นลูกแม่ค้าขายพุงปลา” มุกนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ คุณธรรมนัสอาจจะพลาด นิสัยเป็นแบบนี้พูดไม่ทันได้คิด การสื่อสารแบบนี้อาจจะถูกตีค่าในทางลบได้”

สะท้อนความนิยม ‘ประชาธิปัตย์’ ฟื้นคืนภาคใต้

ในอดีตผมวิเคราะห์ว่า การที่คนใต้ที่เลือกประชาธิปัตย์ เพราะมีความผูกพัน แต่เลือกตั้งปี 62 มีการสวิง ซึ่งในทฤษฎีบอกว่า ความผูกพันต่อพรรคการเมือง มีโอกาสพลิกผันเปลี่ยนแปลงได้บางช่วงขณะ ถ้ามีประเด็นที่ส่งผลกระทบ เช่น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งในช่วงการเลือกตั้ง 62 เกิดวิกฤตยางพาราราคาตกอย่างมากเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับหลายปัจจัย ทำให้คนสนับสนุนประชาธิปัตย์สวิงมาสนับสนุนพลังประชารัฐ แต่ทีนี้น่าคิดว่าคนที่เคยเปลี่ยนแปลงไปกลับมาสู่ประชาธิปัตย์อีกครั้งหรือเปล่า เพราะดูจากคะแนนของคุณถาวร ที่ชนะเลือก 26,000 คะแนน ครั้งนี้เขต 6 สงขลาได้กว่า 45,000 คะแนนที่หายไปของประชาธิปัตย์ สมัยเลือกตั้งปี 62 ที่เลือกคุณถาวรได้ 28,000 ตอนนี้คะแนนเกือบเท่าตัวกลับมา

อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้อาจวิเคราะห์ได้ เนื่องจากเลือกตั้ง 62 มีหลายพรรคมาแชร์คะแนนกัน เช่น ก้าวไกล ได้หมื่นต้น ชาติไทยพัฒนา แต่เมื่อรวมกันแล้ว คะแนนประชาธิปัตย์ฟื้นกลับมามากขึ้นทีเดียว อาจจะบอกได้ ตีความได้ว่า ความผูกพันที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์อาจจะกลับมาได้ ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ จะบอกว่าตัวบุคคลก็ไม่ชัดทีเดียว เขาไม่เลือกคุณน้ำหอม และบางคนก็บอกว่าไม่แน่เขาเลือกคุณน้ำหอมจากที่ชูประเด็น ผู้หญิงคนแรก แต่ก็มีข้อน่าสนใจครั้งนี้ชนะกันสูสีมาก เลือกตั้ง 62 พลังประชารัฐได้แค่ 19,000 คะแนน ในเชิงคณิตศาสตร์ พลังประชารัฐมีคะแนนเพิ่ม แพ้ครั้งนี้ไม่เสียหาย แต่ถ้าประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายแพ้เสียหายมากกว่าแน่

2 สนามจากภาคใต้ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดนี้ อาจเป็นเพียงน้ำจิ้ม เพราะสนามใหญ่ๆ ยังรอคอยอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เลือกตั้งซ่อมหลักสี่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รวมถึง เลือกตั้งใหญ่ ที่บรรดานักการเมืองต้องพัฒนากลยุทธ์ให้เท่าทัน

(ผลนับคะแนนเลือกตั้งซ่อมชุมพร อย่างไม่เป็นทางการ)

(ผลนับคะแนนเลือกตั้งซ่อมสงขลา อย่างไม่เป็นทางการ)

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า