SHARE

คัดลอกแล้ว

ประเด็นร้อนจากโลกอินเตอร์เน็ตที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วประเทศ ถึงซีรีส์ แม่หยัว ของช่อง ONE 31 กับฉากวางยาสลบแมว เพื่อให้แมว “แสดง” เป็นแมวที่กินอาหารมีพิษ แสดงอาการชักกระตุก ขย้อนอาหารออกมา สะเทือนใจคนรักสัตว์ จนโดนสอบสวนเพิ่มเติมเรื่องการควบคุมสัตว์ระหว่างถ่ายทำ เป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงเฉพาะคนที่มีสัตว์เลี้ยง แต่ลามไปถึงสัตวแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมปศุสัตว์ ที่เร่งตรวจสอบกับทีมผู้จัดละครโดยด่วน

 

ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนกรมปศุสัตว์ออกมาเดินเรื่องเร็ว แต่ความจริงที่น่าเศร้าจากปากของนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า แม้ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการสวัสดิภาพสัตว์ มาตรา 24  ที่ระบุถึงการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายที่กำหนดชัดเจน ถึงการนำสัตว์มาใช้เพื่อการแสดง ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ กำลังพิจารณาร่างประกาศฉบับใหม่

 

ทางด้าน ผศ. สัตวแพทย์หญิง ดร.ศิริรัตน์ นิยม ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การวางยาสลบสัตว์ ต้องกระทำโดยสัตวแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์เท่านั้น และต้องเป็นไปโดยมีเหตุอันสมควรจริงๆ โดยต้องเป็นการวางยาสลบเพื่อการรักษาโรค หรือเพื่อวินิจฉัยโรคเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นที่น่าวิเคราะห์ต่อไปว่า ระหว่างถ่ายทำได้มีสัตวแพทย์เป็นผู้ดูแลการวางยาสลบสัตว์เพื่อการถ่ายทำจริงหรือไม่ และหากเป็นการวางยาสลบสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร จะถือว่าเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอันตรายให้กับสัตว์ เข้าข่ายผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพ และเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมายหรือไม่

 

คำถามในใจของคนไทยยังคงอยู่ที่ การนำสัตว์มาเข้าฉากเพื่อทำการแสดงละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ต่างๆ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ สามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงในต่างประเทศมีการมาตรฐานการใช้สัตว์ในการถ่ายทำอย่างไรบ้าง

“No Animals Were Harmed”

ในวงการฮอลลีวูด เราอาจจะเคยเห็นเครดิต “No Animals Were Harmed” ในภาพยนตร์หรือซีรีส์ เป็นมาตรฐานจากองค์กรที่ชื่อว่า American Humane Association (AHA) เพื่อการันตีถึงความปลอดภัยของสัตว์ในการผลิตภาพยนตร์ต่างๆ โดยองค์กรจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเฝ้าดูและตรวจสอบกระบวนการถ่ายทำอย่างละเอียด ว่าดาราสัตว์หน้ากล้องทั้งหลาย จะถูกดูแลและปฏิบัติด้วยความปลอดภัยและยุติธรรม

 

โดยจุดเริ่มต้นมาจากการถ่ายทำของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Jesse James ในปี 1939 ที่มีการถ่ายทำฉากสตั๊นท์แมนควบหลังม้าที่ถูกปิดตา แล้วต้องวิ่งตกหน้าผาลงสู่ทะเลด้วยความสูงราว 70 ฟุต แม้ว่าทั้งสตั๊นท์แมนและม้าจะปลอดภัย แต่ม้าเกิดอาการแพนิกจากการตกจากที่สูง และอาการบาดเจ็บจากกระดูกสันหลังหัก จนสุดท้ายก็เสียชีวิตจากการจมน้ำตาย นับจากนั้นจึงมีการเรียกร้องถึงสวัสดิภาพและความเหมาะสมของการใช้สัตว์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ จนเกิดการเจรจาระหว่าง American Humane Association และสมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers) เพื่ออนุญาตให้ AHA สามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานและการใช้สัตว์ของกองถ่ายได้ ตั้งแต่ปี 1940 เป็นต้นมา และเริ่มมีการใช้ประโยค “No Animals Were Harmed” เป็นเครดิตในภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 1972

ในปี 1988 มีการกำหนดแนวทางการถ่ายทำสัตว์อย่างปลอดภัย ที่ครอบคลุมทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ และใช้ในการถ่ายทำทั้งโฆษณา หนังสั้น มิวสิกวิดีโอ และการถ่ายทำอื่นๆ นับจากนั้นเป็นต้นมา และเมื่อผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ที่เครดิตของผลงานต่างๆ เหล่านั้น ก็จะมีตราสัญลักษณ์ รวมถึงข้อความ “No Animals Were Harmed” เพื่อการันตีถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์ต่างๆ ให้ผู้ชมสบายใจในการรับชมได้เต็มที่

 

สัตว์ไม่ถูกทำร้ายระหว่างการถ่ายทำ… จริงหรือ?

อย่างไรก็ตาม ในปี 2013 สื่อดังอย่าง Hollywood Reporter เคยเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของ AHA เคยจงใจหลีกเลี่ยงการรายงานข้อมูลในการใช้สัตว์ถ่ายทำในภาพยนตรเรื่อง Life of Pi ที่เสือในเรื่องเกือบจมน้ำตาย หรือภาพยนตร์เรื่อง A Dog’s Purpose ก็มีฉากที่สุนัขถูกบังคับให้ลงน้ำ ซึ่งภาพยนตร์ที่กล่าวถึงนี้ต่างมีเครดิต “No Animals Were Harmed” อยู่ท้ายหนังทั้งสองเรื่อง นอกจากนี้ทาง AHA ยังไม่มีอำนาจใดๆ ในการเปลี่ยนตัวผู้ฝึกสัตว์ในกองถ่ายด้วย ซึ่งก็เคยมีข่าวว่า Sidney Yost ผู้ฝึกสัตว์ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังๆ หลายเรื่องอย่าง Get Out, Logan และ Ant-Man ก็เคยถูกตั้งข้อหาว่า ทารุณกรรมและคุกคามสัตว์

 

จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงแนวทางในการตรวจสอบการใช้สัตว์ในการกองถ่ายทำของ AHA ที่รัดกุมและเข้มงวดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีองค์กรเพิ่มเติมอย่าง Movie Animals Protected ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของกองถ่ายในการดูแลสัตว์ตั้งแต่ก่อนเริ่มถ่ายทำ ระหว่างถ่ายทำ จนจบการถ่ายทำ หากทุกอย่างราบรื่นดี ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็จะได้รับสัญลักษณ์รูปเหยี่ยวเพื่อการันตีความปลอดภัยของสัตว์ระหว่างถ่ายทำ

มาตรฐานการถ่ายทำกับสัตว์-วางยาสลบสัตว์เพื่อถ่ายทำได้หรือไม่?

แนวทางในการดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของสัตว์ระหว่างการถ่ายทำของ AHA ถูกบันทึกเอาไว้ในเอกสารความยาว 132 หน้า ที่ครอบคลุมทั้งสัตว์เล็กๆ อย่าง สุนัข แมวเลี้ยง นก ปลา แมลง ม้า สัตว์สวยงาม รวมไปถึงสัตว์ใหญ่ๆ อย่างสัตว์ป่า ใจความสำคัญของแนวทางต่างๆ มีดังนี้

  • การถ่ายทำร่วมกับสัตว์ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการดูแลสัตว์ชนิดนั้นๆ โดยเฉพาะอยู่ดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิดตลอด ผู้เชี่ยวชาญนั้นๆ ต้องมีเอกสารรับรองความสามารถในการดูแลสัตว์ และต้องมีจำนวนผู้ฝึกสัตว์หรือผู้ดูแลสัตว์มากพอต่อจำนวนสัตว์ด้วย
  • สภาพแวดล้อมในการถ่ายทำ ต้องเหมาะสมกับสภาพร่างกายของสัตว์ ไม่ร้อนไม่หนาวเกินกว่าที่สัตว์จะทนอยู่ไม่ได้ และต้องใช้เวลาในการถ่ายทำที่จำกัด
  • หากมีฉากใดฉากหนึ่งที่เจ้าหน้าที่จาก AHA ไม่ให้การรับรองด้านความปลอดภัยของสัตว์ ผู้ผลิตต้องหยุดถ่ายทำ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้ถูกต้อง และผ่านมาตรฐานไปได้ หากไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ผู้ผลิตจะไม่ได้รับรองเครดิต “No Animals Were Harmed” จาก AHA

นอกจากนี้ยังมีการระบุอย่างชัดเจนว่า “แม้ว่าสัตวแพทย์จะสามารถทำได้เมื่อจำเป็น แต่การวางยาสลบหรือให้ยาระงับประสาทกับสัตว์ เป็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงสูง จึงไม่อนุญาตให้กระทำการดังกล่าวเพื่อใช้ในการถ่ายทำเพียงอย่างเดียวโดยเด็ดขาด” (Although permitted for necessary veterinary care, general anesthesia and sedation are high-risk procedures and are prohibited for the sole purpose of filmmaking.)

ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่า สำหรับประเทศไทย จะมีการวางแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจนเหมือนกับฮอลลีวูดหรือไม่ ถ้ายังไม่มี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเริ่มใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังกันเสียที รวมถึงการหาวิธีถ่ายทำที่รบกวนการใช้งานสัตว์ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคนิคมุมกล้องเข้าช่วย หรือการใช้กราฟิก CGI สร้างสรรค์ภาพเคลื่อนไหวสวยๆ โดยไม่ต้องให้ความทรมานของสัตว์มาเป็นเรื่องบันเทิงของมนุษย์อีกต่อไป

 

ที่มา:

เรื่องเล่าเช้านี้

Collider

Business Insider

Hollywood Reporter

Humane Hollywood

American Humane

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า