สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเผยว่า ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส อาจจะมีโอกาสชนโลกในอีก 48 ปี

ภาพดาวเคราะห์น้อยอะโฟฟิส (ในวงกลม) กำลังเคลื่อนตัดผ่านหมู่ดาวฤกษ์ (ภาพจาก UH/IA)
วันที่ 30 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. รายงานว่า อีก 48 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส อาจมีโอกาสพุ่งชนโลก นักดาราศาสตร์ต่างจับตามอง “ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส” เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 ดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสพุ่งชนโลกในช่วงหนึ่งร้อยปีต่อจากนี้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายได้เปิดเผยว่า วงโคจรของอะโฟฟิสมีความเปลี่ยนแปลงและอาจพุ่งชนโลกประมาณวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2611 หรืออีก 48 ปีข้างหน้า
Dave Tholen นักดาราศาสตร์ประจำสถาบันดาราศาสตร์ (Institute for Astronomy) ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ผู้ติดตามดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสมากว่า 16 ปี ได้อธิบายถึงผลการสำรวจล่าสุดว่า การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยเกิดจากการดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์เรียกว่า ส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนวงโคจรของอะโพฟิสจากที่คำนวณไว้ปีละ 170 เมตร ซึ่งเพียงพอที่จะมีความเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกในปี พ.ศ. 2611 ปัจจุบันโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดตาม Sentry Risk Table ขององค์การนาซาคือ 1 ใน 150,000 หรือคิดเป็นร้อยละ 0.00067
ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ยังติดตามดาวเคราะห์น้อยอะโฟฟิสอย่างต่อเนื่อง ใช้ข้อมูลล่าสุดและคำนวณอย่างระมัดระวัง ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ซูบารุในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ช่วยให้วัดตำแหน่งของอะโพฟิสได้อย่างแม่นยำ และสามารถประมาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดาวเคราะห์น้อยอะโฟฟิสคือ 370 เมตร การเข้าใกล้โลกมากที่สุด ครั้งถัดไป คือวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2572 ซึ่งอาจทำให้สามารถมองเห็นดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ด้วยตาเปล่า นักดาราศาสตร์ต่างเฝ้ารอการเข้าใกล้ครั้งนี้เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ข้อมูลของวงโคจรที่แม่นยำ ผลของแรงโน้มถ่วงและแสงอาทิตย์ที่มีผลกับวงโคจรของอะโฟฟิส
ดาวเคราะห์น้อยอะโฟฟิสถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2547 โดยหอดูดาวแห่งชาติคิตพีค (Kitt Peak National Observatory) ถ้าการพุ่งชนเกิดขึ้นจะทำให้เกิดแรงระเบิดที่เทียบเท่ากับระเบิด TNT จำนวน 880 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นหายนะของโลกได้
ที่มา
https://www.facebook.com/NARITpage/photos/a.148308931899396/3634294256634162/
https://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/1332-asteroid-apophis-remains-48-years