SHARE

คัดลอกแล้ว

“การเรียนปริญญาโทยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า?”

หากถามคำถามนี้เมื่อสักสิบปีก่อนหรือนานกว่านั้น คำตอบคงเป็นแนวทางเดียวกันหมดคือ จำเป็นต้องเรียนปริญญาโทเพื่อยกระดับวัยวุฒิของตนเองและสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาดแรงงาน ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘เรียนสูงกว่า เงินเดือนย่อมเยอะกว่า’ เพราะตำแหน่งงานที่ดีในองค์กรขนาดใหญ่หรือบริษัทข้ามชาติมักจะกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครซึ่งจะต้องจบปริญญาโทสาขานั้นสาขานี้ บรรดามิลเลนเนียลหรือคนเจนวายหลายคนจึงผ่านรั้วมหาวิทยาลัยมาด้วยมุมมองที่ประเมินว่าวุฒิปริญญาตรีนั้นไม่เพียงพอกับการสมัครงาน บางคนอาจมองเป็นเพียงทางผ่านเพื่อจะไปตั้งใจเรียนในระดับปริญญาโทด้วยซ้ำ

ยังเป็นความคิดของคนหนุ่มสาวที่ต้องการเป็นลูกจ้างมืออาชีพรายได้สูงอยู่ 

จนเมื่อ World Economic Forum ได้หยิบยกการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ขึ้นมาและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (Digital Disruption) ครั้งสำคัญในปี 2017 ตั้งแต่การเริ่มใช้งาน Facebook Live อย่างแพร่หลายที่สะเทือนวงการโทรทัศน์ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ออกมายอมรับว่าธุรกิจของพวกเขาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมรวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน การขยายตัวของเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์และทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับบล็อกเชน เกิดระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์มขณะเดียวกันความปลอดภัยด้านไซเบอร์ก็ถูกยกระดับขึ้นเป็นปัจจัยด้านความมั่นคงของมนุษยชาติ และจีนก็โดดเด่นในเวทีโลกอย่างชัดเจนในฐานะเจ้าเทคโนโลยีที่ทุ่มพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แบบสุดตัว นำไปสู่แนวคิดเรื่องเครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่แรงงานคนและการสูญสิ้นของหลายอาชีพที่ไม่สามารถแข่งขันได้อีกทั้งด้านต้นทุน ประสิทธิภาพ หรือมุมไหนก็ตามที

ภาคธุรกิจเองก็ปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ความต้องการแรงงานที่ทำงานซ้ำๆ กระบวนการเดิมๆ คาดเดาได้ ไม่ต้องใช้ทักษะหรือกระบวนการคิดเพื่อตัดสินใจลดลงอย่างชัดเจน กลายเป็นทักษะในการทำงาน (Skill) นั้นสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าการครอบครองปริญญาบัตร (Degree) ไปเสียแล้ว โดยเฉพาะวงการไอทีที่ขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงจากการขยายตัวของธุรกิจรวมทั้งการปรับตัวในยุค Digital Disruption ที่ไม่ว่าธุรกิจไหนต่างก็หันมาทำเรื่องการจัดการข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์และมุ่งผันตัวไปเป็นบริษัทเทคโนโลยีกันหมด    

ผู้บริหารของ IBM ประกาศเมื่อปี 2017 ว่าจะเปิดรับพนักงานที่โดยเน้นทักษะในการทำงาน (Skills-Based hiring) เนื่องจากรูปแบบของงานใหม่ๆในยุคนี้เป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของแรงงานที่ต้องใช้ทักษะใหม่ ซึ่งนำไปสู่กระบวนการสรรหาบุคลากรไปจนถึงรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ด้วย โดย 15% ของพนักงาน IBM ในสหรัฐอเมริกาไม่ได้จบปริญญาตรีด้วยซ้ำและคาดว่าความต้องการแรงงานด้านโปรแกรมมิ่งทั้งโลกจะเพิ่มสูงถึง 1 ล้านตำแหน่งในปีนี้ โดยในช่วง 2017-2021 ทาง IBM ตั้งเป้าจ้างพนักงานเพิ่มราว 2.5 หมื่นตำแหน่งและทุ่มงบประมาณในการฝึกอบรมสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทุกวันนี้ เราจึงได้ยินเรื่องการละทิ้งความรู้เดิม เติมความรู้ใหม่ (Unlearn and Relean) รวมทั้งการฝึกทักษะและต่อยอดความสามารถพนักงาน (Reskill and Upskill) ซึ่งแต่ละองค์กรหันมาใส่ใจการอบรมพนักงานของตนมากยิ่งขึ้น หลายองค์กรหันไปจับมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยกำหนดหลักสูตรใหม่ที่จะผลิตบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการออกมาเองด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันก็เกิดหลักสูตรอบรบระยะสั้นขึ้นจำนวนมากทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อตอบโจทย์ ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบาคือตัวอย่างที่ชัดเจน ไม่เพียงแต่มี Alibaba Business School ในเมืองหังโจว ประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังมีคอร์สอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านการส่งออก นำเข้า ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่านแฟลตฟอร์มที่ทรงพลังของตนเองในทั่วทุกมุมโลกด้วย กลายเป็นการเติมทักษะใหม่ๆที่จำเป็นนั้นเกิดขึ้นในระยะเวลาที่สั้นเพียงไม่กี่เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์ เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะสามารถเรียนรู้ออนไลน์ได้

ถ้าเป็นเช่นนี้ เราจะยังจ่ายเงินหลายแสนบาทและใช้เวลานานนับปีกับการเรียนปริญญาโทอยู่หรือ

รศ.ดร. พสุ เดชะรินทร์ อดีตคณบดีและอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์และนโยบายธุรกิจชี้แจงกับ Workpoint Today โดยตั้งคำถามกลับไปถึงตัวผู้เรียนว่าจะเรียนปริญญาโทไปเพื่ออะไร หากต้องการทำงานในวิชาชีพที่เน้นทักษะการทำงานอย่างเช่นธุรกิจไอที  การเรียนปริญญาโทก็อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นนักเพราะปัจจุบันมีทางเลือกในการพัฒนาทักษะนอกห้องเรียนอยู่เต็มไปหมด แต่สิ่งที่ยังเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาคือการหยุดพักจากภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวันและนำความรู้กับประสบการณ์การทำงานมาเชื่อมโยง ต่อยอดในห้องเรียนผ่านกระบวนการคิดแบบรวบยอดและบูรณาการ (Conceptual Thinking) ต่างหากที่เป็นคำตอบของการเรียนปริญญาโท

มหาวิทยาลัยและธุรกิจด้านการศึกษาทั้งหลายต่างก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมารวทั้งโครงสร้างประชากรที่มีจำนวนคนหนุ่มสาวในตลาดแรงงานลดลง ทั้งสถาบันและอาจารย์ผู้สอนก็ต้องปรับตัวให้ทันด้วย องค์กรเอกชนหลายแห่งที่เคยส่งพนักงานของบริษัทเข้าเรียนปริญญาโทด้านบัญชีหรือหลักสูตรดังเดิม ก็ยกเลิกการสนับสนุนและให้พนักงานไปเรียนต่อด้านการจัดการข้อมูลแทน ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็อ้าแขนรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่จบการศึกษาจากหลักสูตรใหม่ๆที่ยังไม่มีในประเทศไทยเข้าทำงานหรือไม่ก็ไปซื้อตัวคนไทยที่ทำงานในซิลิคอน วัลลีย์หรือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้มาอยู่ด้วยเสียเลย เนื่องจากระบบมหาวิทยาลัยผลิตคนไม่ทันกับความต้องการ

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. พสุเล่าว่าหลักสูตรปริญญาโทอย่างการบริหารธุรกิจหรือ MBA ก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ จำนวนผู้เรียนไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่สอนให้รู้กว้างและรู้รอบ ซึ่งจะแตกต่างจากหลักสูตรที่เน้นรู้ลึกทั้งหลายที่อาจจะถูกแทนที่ด้วยการสอนออนไลน์หรือคอร์สอบรมเฉพาะด้าน ส่วนความเข้าใจเรื่องมหาวิทยาลัยต่างประเทศปิดหลักสูตรกันนั้น ขึ้นกับบริบทของแต่ละประเทศ อย่างประเทศที่มีขนาดใหญ่เช่น สหรัฐอเมริกา การเดินทางไปเรียนมีต้นทุนที่สูง จึงผลักดันเรื่องการเรียนออนไลน์ขึ้นแทนที่ ช่วยให้ผู้เรียนประหยัดต้นทุนได้มาก ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยยังมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพมหานครและการเดินทางไปมหาวิทยาลัยยังไม่เป็นอุปสรรคมากนัก

สำหรับแนวโน้มในอนาคต ก็ไม่จำเป็นที่มหาวิทยาลัยจะต้องลดราคาค่าเล่าเรียนหลักสูตรปริญญาโทลงเพื่อจูงใจให้คนเลือกมาเรียนปริญญาโท เนื่องจากการศึกษาเป็นการยกระดับชีวิต ไม่สามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคาได้แบบสินค้าและบริการอื่นๆ สถาบันต่างๆจึงจะเน้นกันที่เนื้อหาของหลักสูตรที่ชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้น สำหรับค่าใช้าจ่ายการเรียนปริญญาโทของไทยนั้นถือว่าไม่สูงเลยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคหรือกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ โจทย์ที่สำคัญจึงยังเป็นเรื่องจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการศึกษาต่อและหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการ

“เรื่องการพัฒนาทักษะเป็นเรื่องระยะสั้น (Short Term) แต่สำหรับการศึกษาเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ กรอบความคิดที่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว (Long Term) ผู้บริหารทั้งหลายไม่เพียงแต่มีทักษะที่ดี ยังต้องมองภาพธุรกิจแบบองค์รวมและคิดเขื่อมโยงได้” รศ.ดร. พสุกล่าว

ในยุค 4.0 ที่เราพูดกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ทุกคนคงจะยอมรับแต่โดยดีแล้วว่า การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะเรียนคอร์สระยะสั้น เรียนปริญญาโทหรือว่าศึกษาความรู้ใหม่ด้วยตนเองก็ถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทกับชีวิต ส่วนผู้ที่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็มีแต่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังและไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

จริงอย่างที่มีคนกล่าวไว้ว่า ผู้ที่หยุดเรียนรู้ คือผู้ที่ตายไปแล้ว

บทความโดย มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจและเจ้าของเพจ BizKlass

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า