SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังการประท้วงที่ฮ่องกงเป็นประเด็นข่าวร้อนแรงมากว่า 2 เดือน และยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ วันที่ 13 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีพูดคุยในหัวข้อ “ฮ่องกงทำไมต้องประท้วง?” ขึ้น

ผู้เข้าร่วมในการเสวนา ประกอบด้วย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของหนังสือ “China 5.0” ประภาภูมิ เอี่ยมสม ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อหาการพูดคุยอัดแน่นทั้งข้อถกเถียงเรื่องกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ความพิเศษของการปกครองแบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” กลไกการตอบสนองความต้องการของประชาชนในฐานะเครื่องมือช่วยลดความตึงเครียดทางการเมือง บรรยากาศการชุมนุมในช่วงแรกจากการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าว และรูปแบบการประท้วงในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเชื่อมโลกเข้าไว้ด้วยกัน

บรรยากาศการเสวนาเรื่อง “ฮ่องกง : ทำไมต้องประท้วง” ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 13 สิงหาคม 2562

กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน : ความสัมพันธ์จีน ไต้หวัน ฮ่องกงและโลก

 

ในช่วงแรกของการสนทนา ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์พัฒนาการของกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนปี 1997 ซึ่งฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กฎหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในช่วงนั้นจึงใช้กฎหมายภายในของอังกฤษ โดยปกติจะมีการส่งตัวผู้ร้ายเพียงในกลุ่มเครือจักรภพ (Commonwealth) เท่านั้น

 

ต่อมาฮ่องกงกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีน จึงมีการปรับกฎหมายอังกฤษมาเป็นกฎหมายฮ่องกง จนสุดท้ายมีการตกลงว่าจะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเฉพาะกรณีที่มีสนธิสัญญาร่วมกันเท่านั้น โดยปัจจุบันฮ่องกงมีสันธิสัญญาดังกล่าวอยู่กับ 20 ประเทศทั่วโลก มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจำนวนร้อยกว่าคนตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา และส่งตัวกลับมากที่สุดคือส่งไปยังสหรัฐฯ อเมริกา

 

ที่ผ่านมาจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้มีการร้องของให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาตลอดแต่ไม่เคยสำเร็จ เนื่องจากคนฮ่องกงไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของจีน และจีนเองก็ไม่ได้เห็นว่าเรื่องนี้สำคัญจนต้องผลักดันอย่างจริงจัง

 

จนกระทั่งต้นปีที่ผ่านมา มีกรณีการทำความผิดที่ไต้หวัน วัยรุ่นฮ่องกง 2 คนไปเที่ยวไต้หวันและฆาตกรรมกัน เมื่อกลับมาฮ่องกงปรากฎว่าศาลฮ่องกงพิจารณาคดีไม่ได้ จึงต้องการจะทำการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อให้ไต้หวันพิจารณาคดี

 

“ฮ่องกงไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวันหรือกับจีน แล้วก็ระบบกฎหมายของฮ่องกง ไต้หวันก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ทีนี้ก็จะมีคำถามว่าทำอย่างไรที่จะส่งคนนี้กลับไปดำเนินคดีที่ไต้หวัน อันดับแรกก็บอกว่าให้ไปทำสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวันก็ไม่ได้ เพราะว่าฮ่องกงอยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน จีนแผ่นดินใหญ่ไม่ยอมแน่นอน ให้ไปทำสันธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ไม่ได้เพราะว่าก็เจรจากันมาตั้งแต่ 1997 ก็ไม่เคยสำเร็จ” ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อธิบาย

 

ฮ่องกงมีระบบกฎหมายของตนเอง โดยมี “Basic Law” เป็นธรรมนูญการปกครอง

นักกฎหมายจึงหาทางออกว่าให้แก้กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกงเอง เพื่อให้สามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศต่าง ๆ โดยพิจารณาเป็นรายกรณีได้

 

แม้จะฟังดูไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต แต่ไต้หวันก็ไม่พอใจที่มีการสื่อความหมายว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปโดยปริยาย ทำให้ไต้หวันยืนยันว่าแม้ฮ่องกงจะมีกฎหมายนี้ขึ้น ไต้หวันก็จะไม่ขอเรียกตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีเด็ดขาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้ออ้างที่นำมาสู่การแก้กฎหมายการส่งตัวข้ามแดนจึงเป็นอันตกไป แต่ทางการฮ่องกงก็ยืนยันจะแก้กฎหมายนี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีจุดประสงค์แอบแฝงหรือไม่

 

ประเทศในโลกเสรีบางประเทศ ก็ทำสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันด์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ดร.อาร์ม ชี้ว่ากระบวนการยุติธรรมของจีนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนามาตลอด โดยไม่พบปัญหาอะไร ยกเว้นกรณีเดียวคือนักโทษการเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์มีธงชัดเจนว่าจะไม่ปล่อยไว้ และศาลจีนก็ไม่ได้มีอิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์ จึงทำให้เกิดความกังวลขึ้นในสังคมฮ่องกงว่า ถ้าจีนขอผู้ร้ายทางการเมือง ฮ่องกงจะสามารถปฏิเสธจีนได้หรือไม่?

 

สำหรับประเด็นนี้ฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอ้างว่า ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ก็มีกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับจีนและไม่ได้เกิดปัญหาเรื่องรัฐบาลจีนของให้ส่งตัวนักโทษการเมือง อย่างไรก็ดี ข้ออ้างนี้ก็มีจุดอ่อน เนื่องจากล่าสุดสภาออสเตรเลียก็คว่ำการออกกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากออสเตรเลียไปยังจีน เนื่องจากกังวลเรื่องระบบยุติธรรมของจีน

 

นอกจากนี้ฝ่ายสนับสนุนยังอ้างว่า รัฐบาลฮ่องกงจะสามารถใช้ดุลยพินิจพิจารณาได้ว่า หากส่งตัวนักโทษกรณีใดไปแล้วจะเกิดปัญหาเรื่องความไม่ยุติธรรม รัฐบาลฮ่องกงก็สามารถยับยั้งไม่ส่งตัวก็ได้ เนื่องจากกฎหมายจะเปิดช่องให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป

 

ประเด็นนี้เองที่ฝ่ายต่อต้านก็ตั้งข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลฮ่องกงสามารถปฏิเสธรัฐบาลปักกิ่งได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากระบบการเลือกตั้งเอื้อให้จีนเข้ามีอิทธิพลต่อการเลือกรัฐบาลฮ่องกงอยู่แล้ว

 

หลังมีข้อถกเถียงเรื่องนี้เกิดขึ้นจึงมีการรวมตัวกันออกมาประท้วงในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 คนจำนวนหลักล้านที่ออกมาประกอบด้วยคนทั่วไปที่ไม่ใช่จีน และนักธุรกิจที่เกรงว่าเมื่อจีนเข้ามาแล้วฮ่องกงจะสูญเสียความเป็นนิติรัฐ (Rule of Law) ไป แม้คนจะออกมาจำนวนมากแต่รัฐบาลก็ยังเลือกเดินหน้าอยู่

วันที่ 12 มิถุนายน 2562 จึงเกิดการล้อมสภาขึ้น หลังจากนั้นแล้วรัฐบาลถึงได้ยอมโดยกล่าวว่าได้ฆ่าร่างกฎหมายดังกล่าว (Kill the law) ไปแล้ว

 

1 ประเทศ 2 ระบบ : นวัตกรรมการเมืองแห่งความคลุมเคลือเพื่อการประนีประนอม

 

หลังจากพูดถึงกฎหมายเจ้าปัญหาแล้ว ดร.อาร์มก็เปลี่ยนมากล่าวถึงอีกหนึ่งต้นธารของการประท้วงในฮ่องกง โดยเริ่มจากตั้งข้อสังเกตว่าการปกครองแบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” นับเป็นนวัตกรรมด้านการเมืองของจีนที่ต้องการประณีประนอมความต้องการที่หลากหลาย

 

แต่ความพิเศษของการปกครองแบบนี้คือ “ความไม่ชัดเจน” ดังจะเห็นได้จาก

1.เติ้งเสี่ยวผิงบอกว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของฮ่องกงใน 50 ปีนี้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าหลังจากนั้นฮ่องกงจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นอะไร เมื่อพิจารณาจากมุมของพลเมืองจีนก็จะเชื่อได้ว่าฮ่องกงอาจจะกลายเป็นจีนโดยสมบูรณ์หลังพ้น 50 ปีไปแล้ว

 

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้นำจีนในแต่ละยุคด้วย ในสมัยของหูจิ่นเทาซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลปักกิ่งให้เสรีมากกว่าปกติ มีการพูดว่าฮ่องกงเป็นสนามทดลองเรื่องประขาธิปไตยของจีน แต่ในปัจจุบันจีนไม่ได้เปิดกว้างเหมือนก่อนและมีความชาตินิยมสูงขึ้น รัฐบาลจีนมีแนวโน้มที่จะมองว่าชาวฮ่องกงหัวรุนแรง ไม่ได้ต้องการแค่การเลือกตั้ง หากให้มีการเลือกตั้งก็จะจำไปสู่สิ่งอื่นซึ่งจีนไม่พึงประสงค์อย่างการแยกประเทศได้

 

2.ในธรรมนูญการปกครองฮ่องกงมาตรา 45 และ 68 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจุดหมายปลายทางของการคืนสู่จีน คือการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของฮ่องกงให้ถึงจุดที่มีการเลือกตั้ง 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากันทุกคน (Universal Suffrage) ทั้งในการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดและการเลือกสภานิติบัญญัติ แต่ก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้อย่างแน่นอน

 

เมื่อปี 2007 รัฐบาลปักกิ่งกล่าวว่าจะให้ฮ่องกงมีการเลือกตั้งแบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงในปี 2017 แต่เมื่อปี 2014 ก็เกิดการปฏิวัติร่มขึ้น เนื่องจากจีนจะขอให้การเลือกตั้งแบบหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงนี้เป็นไปได้ โดยมีเงื่อนไขว่ารัฐบาลปักกิ่งขอคัดเลือกผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้บริหารจึงให้ประชาชนเลือกจากคนที่ผ่านการคัดเลือกอีกทีหนึ่ง ในครั้งนั้นกฎหมายการเลือกตั้งนี้ไม่ผ่านสภานิติบัญญัติของฮ่องกง ในปี 2017 จึงใช้ระบบการเลือกตั้งเดิม เป็นสาเหตุให้การประท้วงในครั้งนี้มีการพูดถึงการแก้กฎหมายเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งด้วย

 

ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ดำเนินรายการเสริมว่า การปฏิวัติร่มโดยเริ่มแล้ว มาจากการคัดค้านเรื่องการบรรจุหลักสูตรการศึกษาพลเมืองจีนเข้าสู่ระบบการศึกษาของฮ่องกง ก่อนพัฒนาข้อเรียกร้องมาเป็นการเลือกตั้งและเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย ซึ่งอาร์ม ตั้งนิรันดรเสริมว่า การระท้วงร่มเหลืองและการประท้วงครั้งนี้ต่างก็เริ่มมาจาก 2 จุดเล็ก ๆ ที่จุดประเด็นความสัมพันธ์ฮ่องกง-จีน จนนำมาสู่การที่ชาวฮ่องกงทวงสัญญาเรื่องการเลือกตั้งจากจีน

 

กรณีศึกษาสิงคโปร์ : หรือที่แท้ เราอาจไม่ได้ต้องการประชาธิปไตย มากเท่า ๆ กับต้องการกินอิ่มนอนหลับ และมีคนรับฟังปัญหาบ้าง?

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะที่ฮ่องกงอยู่ใต้อังกฤษ ก็ไม่ได้มีการเลือกตั้งมาก่อน แต่มีภาคประชาสังคม เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพสื่อ แทบจะเป็นกึ่งๆประชาธิปไตยเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และจีน แต่ระบบเศรษฐกิจของฮ่องกงก็เป็นระบบทุนนิยมเต็มตัว เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ที่มีระบบสวัสดิการให้ประชาชน

 

“เรามักเข้าใจว่าสิงคโปร์เป็นทุนนิยมมากเหมือนฮ่องกง แต่จริงแล้วสิงคโปร์มมีระบบประกันสังคมพื้นฐานที่ค่อนข้างดี ก็คือทุกคนอย่างน้อยก็ต้องมีบ้าน มีระบบประกันสุขภาพ ขณะที่ฮ่องกงตอนนี้เราบอกว่าเรื่องบ้านเรื่องอสังหาริมทรัพย์เป็นความกดดัน ความกดดันเรื่องเศรษฐกิจสุดท้ายมันสะท้อนออกมา เพราะว่าการเมืองไม่ได้มีกลไกที่ให้คนพวกนี้ใช้เสียงออกมา ถ้ามีกลไกว่าชุมนุมได้ แสดงความเห็นได้ ร้องสื่อได้ แต่ว่าจุดหนึ่งไม่ได้มีการเลือกตั้งตรงนี้ก็เลยเป็นจุดที่ความตึงเครียดเกิดขึ้น”

 

การประท้วงแนวใหม่ ไร้แกนนำ – ใช้สงครามความคิด

 

ประภาภูมิ เอี่ยมสม ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี แบ่งปันประสบการณ์การลงพื้นที่ของเธอระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2562 โดยกล่าวว่าขณะที่เธอลงพื้นที่ บรรยากาศของผู้ประท้วงหล่อเลี้ยงด้วยความหวัง แต่ความหวังเหล่านั้นก็หายไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ที่แม้กลุ่มผู้ประท้วงบุกเข้าไปในรัฐสภา แต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับใดใดจากรัฐบาล หลังจากนั้นการประท้วงขับเคลื่อนด้วยความสิ้นหวัง

ประภาภูมิ เอี่ยมสม ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี

เธอพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงมีการถอดบทเรียนจากการปฏิวัติร่มเหลืองในปี 2014 ทำให้เลือกที่จะนัดประชุมเป็นครั้ง ๆ ไป ไม่ได้ปักหลักยาวอย่างที่เคย

 

นอกจากนี้การชุมนุมครั้งนี้ยังมีลักษณะ “ไม่มีแกนนำ” โดยใช้การเคลื่อนไหวในสิ่งที่ตนถนัด และมีการกระจายข่าวสารความรู้รวมถึงยุทธวิธีพื้นฐานในการชุมนุมผ่านใบปลิว แต่ก็มีผลเสียคือไม่สามารถควบคุมฝูงชนได้ โดยเฉพาะเมื่อเหตุเริ่มรุนแรง

 

ดร.อาร์ม ยังแสดงความคิดเห็นว่าการประท้วงของฮ่องกงครั้งนี้ยังเป็นการประท้วงแบบไฮเทคซึ่งใหม่มาก มีการต่อสู้ทางข้อมูลข่าวสาร นำมาสู่ข้อกังวลเรื่องความเป็นกลางของสื่อ โดยเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้การประท้วงครั้งนี้ยืดเยื้อ คือการรับสื่อที่แบ่งข้างชัดเจนทำให้ไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

 

นอกจากนี้ความยืดเยื้อของการชุมนุมยังเกิดมาากการที่รัฐบาลจีนไม่คุ้นเคยกับผู้ประท้วงชาวฮ่องกงทำให้มีความรู้สึกว่ากลุ่มผู้ประท้วงมีเบื้องลึกแอบแฝงโดยต้องการจะเป็นปฏิปักษ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะเดียวกัยชาวฮ่องกงก็หมดความไว้เนื้อเชื่อใจในตำรวจของตน ต่างฝ่ายจึงฉายภาพสุดขั้วของกันและกันเพื่อเยื้อแย่งคนตรงกลางมาอยู่ข้างตน

 

ปลุกกระแสชาตินิยม – ข่มขู่ : หรือจีนกำลังแก้ปัญหาผิดวิธี?

 

หลังการเสวนาวิชาการจบลง ผู้สื่อข่าวเวิร์คพอยท์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ถึงความเป็นไปได้ในการสลายความตึงเครียดนี้ลง

ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.วาสนา เปิดเผยว่า ตนเชื่อว่าหากมีทางเลือกอื่นจีนก็ไม่น่าจะใช้กำลังทางทหาร แต่สิ่งที่เผยแพร่ในปัจจุบันเป็นไปเพื่อการข่มขู่คนฮ่องกง

 

“มีการปลุกปั่นกระแสชาตินิยมและตราหน้าคนฮ่องกงว่าเป็นคนขายชาติ กระแสข่าวภายในแผ่นดินใหญ่เป็นกระแสที่สร้างความเกลียดชังให้คนฮ่องกงเป็นอย่างมาก เพราะว่าไม่ต้องการให้เป็นเยี่ยงอย่างด้วย”

 

จีนมีปัญหาพื้นที่ต่าง ๆ ต้องการแยกตัวออกเป็นอิสระมานาน นับตั้งแต่มิเบตและซินเจียง ซึ่งปัจจุบันก็กำลังดำเนินนโยบาย “ทำให้เป็นชาวฮั่น” อย่างเข้มข้น

 

“วิธีที่จะแก้ไขก็ต้องไม่ทำให้คนในแผ่นดินใหญ่รู้สึกว่าถ้าเราประท้วง ยึดสนามบินและทำลายข้าวของในสภาแล้วเราจะได้สิ่งที่ต้องการ ในขณะเดียวกันถ้าไม่ให้อะไรเลยก็จะจบลำบาก”

 

อย่างไรก็ดีท่าทีเช่นนี้ไม่ทำให้ชาวฮ่องกงรู้สึกสงบได้ ดร.วาสนาเชื่อว่าจีน้องยอมรับข้อเสนอของผู้ประท้วงบ้าง

 

“โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าใน 4-5 ข้อที่เขาขอมา ไม่ต้องให้ทุกข้อหรอก แต่ให้มากกว่านี้บ้างก็ดี”

5 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมฮ่องกง

 

นอกจากนี้ เธอยังชี้ว่า ตัวแปรหลักสำคัญที่ทำให้คนฮ่องกงเกลียดแค้นชิงชังจีนที่สุดก็คือ “แคร์รี่ แลม” ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ที่มีวิธีการในการออกมาสื่อสารกับประชาชนเรื่องกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่าง “ไม่น่ารัก” เสียเท่าไหนา

 

“ภาพของแคร์รี แลมที่บอกว่าฉันเป็นแม่นะ ฉันจะไม่ตามใจลูก อันนี้ก็ผิดมาก ไม่ควรใช้อันนี้ เหมือนไม่ให้เกียรติผู้ประท้วง แล้วก็ทำตัว แม้ว่าผู้ประท้วงจะออกมาเป็นล้านคนแต่ก็ทำราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ตรงนี้ส่วนหนึ่งเป็นอารมณ์แล้ว”

แคร์รี แลม ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงแถลงต่อสื่อเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 (Photo by Anthony WALLACE / AFP)

วาสนามองว่าเรื่องนี้เป็นการทำร้ายจิตใจผู้ประท้วง หากเธอลาออกหรือออกมาขอโทษ หรือถูกปักกิ่งติเตียนจนต้องลาออก เรื่องนี้จะทำให้ลดความตึงเครียดของผู้ประท้วงลง

ที่ผ่านมาจีนก็เคยถอดผู้นำฮ่องกงเนื่องจากไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนฮ่องกงมาก่อน ในสมัย “ตงจิ้นหวา” ซึ่งเป็นผู้บริหารฮ่องกงคนแรก

 

อาจแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีเดียวกับ “เทียนอันเหมิน” ที่ไม่ใช่การใช้ความรุนแรง

 

ดร.วาสนากล่าวว่าการประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้กับการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในอดีตคล้ายกันตรงที่เป็นปัญหาปากท้อง คนรุ่นใหม่ซึ่งเรียนจบออกมาต้องพบกับภาวะว่างงาน การใช้เส้นสาย ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

“เราก็จะเห็นว่าหลังจากเกิดความวินาศสันตะโรที่เทียนอันใหม่ในปี 1989 แล้ว ปักกิ่งในขณะนั้นอย่างน้อยมีความแสดงให้เห็นและเชือดไก่ให้ลิงดูหลายเคสมากในแง่ของการคอร์รัปชั่น ในแง่ของการใช้คอนเน็กชั่นระบบลูกท่านหลานเธอในพรรคต่างๆนาๆ”

ชาวจีนถือภาพญาติสนิทของตนที่เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์เทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 (Photo by HANDOUT / Tiananmen Mothers via Human Rights in China / AFP)

“จริง ๆ รัฐบาลจีนก็ทำตัวเป็นตัวอย่าง เป็นข้ออ้างให้เผด็จการหลาย ๆ ประเทศบอกว่า ดูสิไม่ต้องมีประชาธิปไตยเศรษฐกิจก็ดี นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลจีนทำหลังเทียนอันเหมิน ดังนั้นรัฐบาลจีนปักกิ่งเขาก็รู้ว่าจะทำยังไงให้มันแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ ก็ทำไมเขาไม่ไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ในฮ่องกง”

 

นอกจากนี้ เธอยังชี้ว่ารัฐบาลจีนยังเชื่อว่าหากตนสามารถโน้มน้าวจิตใจของกลุ่มทุนใหญ่ในฮ่องกงแล้วจะปกครองฮ่องกงสำเร็จ จึงละเลยหลงลืมชนชั้นกลาง ชนชั้นกรรมาชีพ ชนชั้นล่าง และคนรุ่นใหม่ไป

 

“ตรงนี้มันแก้ไขได้ถ้าเขาบอกว่า เราสามารถมีเศรษฐกิจที่ดีได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย เรามีสังคมเสมอภาคได้โดยที่ไม่ต้องมีประชาธิปไตย เขาก็ไปทำตรงนั้นแล้วมันจะแก้ไขปัญหาตรงนี้”

 

“อีกเรื่องหนึ่งที่บอกกับทุกคนเสมอมาคือ คนฮ่องกงเป็นอาณานิคมอังกฤษ 99 ปีไม่เคยได้เลือกตั้ง เป็นอาณานิคมไม่มีสิทธิแบบระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่ฮ่องกงได้ภายใต้อังกฤษคือเสรีภาพตามกฎหมาย มาตรฐานกฎหมายที่นานาชาติยอมรับได้ แล้วพอมีรากฐานของสิทธิเสรีภาพที่รับรองตรงนี้ มันก็ทำให้ทุนต่างประเทศก็เข้ามาทำให้ฮ่องกงเฟื่องฟูกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งตรงนี้ถ้าจีนจะบอกว่าไม่ต้องมีประชาธิปไตยก็ทำให้มันเฟื่องฟูได้จริง ๆ ก็ต้องมาทำ แล้วก็อาจจะทำได้ด้วย”

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า