กรณีเหตุเครนถล่มใส่ ร.ร.อัสสัมชัญ คอนแวนต์ จนเด็กนักเรียนจนได้รับบาดเจ็บถึง 10 ราย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เข้าตรวจสอบพื้นที่ เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจากความประมาทระหว่างคนขับเครนกับคนให้สัญญาณ ส่วนตัวแทนโครงการฯ แถลงข่าวชี้แจงว่าไม่ใช่การลักลอบเข้าไปก่อสร้าง แต่เข้าไปเพื่อปรับปรุงระบบป้องกันอันตรายเท่านั้น
วันที่ 20 มิ.ย. เวลา 14.00 น. นายวรพล อุดมโชคปิติ ผู้บริหารบริษัท แบงค์ค็อก ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด เจ้าของโครงการโรงแรมริเวอร์การ์เด้น ที่เครนก่อสร้างถล่มจนทำให้เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะรายของ “น้องพิงค์” ด.ญ.พรทิพย์ สิริรุ่งตระกูล นักเรียนชั้น ม.3 ที่เจ็บสาหัส แถลงข่าวชี้แจง โดยบอกว่ารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นจะเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะรายของน้องพิงค์ที่มีอาการกะโหลกศีรษะร้าว ทางโครงการจะดูแลให้ถึงที่สุด
ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่การลักลอบต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารแต่อย่างใด เนื่องจาก ทาง กทม.ได้มีหนังสือปิดประกาศสั่งระงับมาตั้งแต่วัน 1 เมษายนที่ผ่านมา โดยในวันเกิดเหตุเป็นการเข้าไปเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมระบบ Protection หรือมาตรการป้องกันอันตราย ไม่ใช่การลักลอบเข้าไปก่อสร้างอย่างแน่นอน ทางโครงการจะให้ผู้รับเหมาเร่งดำเนินการรื้อถอนเครนที่พังเสียหาย และเศษวัสดุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยออกจากโรงเรียนโดยเร่งด่วน
ส่วนความคืบหน้าของคดี พนักงานสอบสวน สน.บางรัก ได้ขอศาลออกหมายจับคนขับเครนชาวกัมพูชา ในข้อหากระทำการโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย โดยเบื้องต้นพบว่า เพิ่งเข้ามาทำงานไม่มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างมาก่อน
ขณะที่ช่วงเช้าบริเวณเขตก่อสร้างโครงการ “ริเวอร์ กาเด้น” ภายในซอยเจริญกรุง 42/1 เจ้าหน้าที่จากกรมโยธาธิการได้เข้าไปดำเนินการรื้อถอนเครนปั้นจั่น ที่พังถล่มลงมา เมื่อป้องกันความเสี่ยงจากกรณีที่มีเศษชิ้นส่วนร่วงหล่นลงมาจนสร้างความเสียหายและอันตรายกับประชาชน
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ฯ (วสท) ลงพื้นที่เกิดตรวจสอบเขตก่อสร้างดังกล่าวอีกด้วย ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.เพื่อเข้าไปสำรวจและวิเคราะห์ตัวสภาพอาคารเพื่อประเมินถึงสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้

อ.หฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วสท.
หลังจากนั้น อ.หฤษฏ์ ศรีนุกูล คณะอนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย ประจำวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ว่าจากการตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างเบื้องต้นไม่มีความผิดปกติหรือชำรุดของตัวเครน และพบว่าอุปกรณ์ควบคุมและป้องกันการก่อสร้างทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมาย แต่จุดที่น่าสังเกตุก็คือสภาพอาคารมีร่องรอยความเสียหายจากแรงกระแทก จึงคาดว่าอาจเกิดจังหวะที่มีคนบังคับเครนกำลังยกวัสดุขึ้นไป ไม่มีการสื่อสารกับพนักงานส่งสัญญาณที่อยู่ด้านล่าง จนทำให้วัสดุเหล่านั้นถูกยกไปติดกับซอกอาคาร และเกิดการเหวี่ยงตัวผิดจังหวะ นำไปสู่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องตรวจสอบข้อมูลจากคนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท.
ขณะที่ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา ของ วสท. บอกว่าหากเจ้าของโครงการปฏิบัติตามกฏกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2561 เรื่อง บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการก่อสร้าง อย่างเคร่งครัด ซึ่งระบุว่าแต่ละฝ่ายจะต้องมีความชัดเจน และรายงานผลการก่อสร้างให้กับหน่วยงานได้ทราบทุกวัน จะมีไม่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จึงอยากให้กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ผู้รับเหมาและเจ้าของโครงการทั่งกรุงเทพฯมีจิตสำนึกให้มากขึ้น
ด้าน ศ.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย ได้ 4 มาตรการเพื่อป้องกันปัญหาเครนถล่มในอนาคต ประกอบด้วย
1.กำหนดให้เครนหรือปั้นจั่นเข้าข่ายเป็นโครงสร้างอาคารตามความหมายของ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร 2522 เพื่อให้ต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการติดตั้งและการใช้งานเครน กฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้การขออนุญาตเฉพาะส่วนที่เป็นตัวอาคารเท่านั้น แต่ทาวเวอร์เครนถือว่าเป็นเครื่องจักรในการก่อสร้าง จึงมิต้องขออนุญาต แต่ในความเป็นจริงทาวเวอร์เครนมีลักษณะเป็นโครงสร้างเหล็ก จึงควรกำหนดให้เข้าข่ายเป็นอาคารด้วยเพื่อที่จะต้องขออนุญาตก่อสร้างเช่นเดียวกับอาคารทั่วไป
2.เครนที่ใช้ในการก่อสร้างมี 2 ลักษณะได้แก่ ทาวเวอร์เครนชนิดแขนราบ (hammer crane) และ ทาวเวอร์เครนชนิดแขนกระดก (Lufting crane) เนื่องจากทาวเวอร์เครนชนิดแขนราบมีพื้นที่ทำการกว้างตามแนวรัศมี ซึ่งอาจยื่นล้ำออกไปนอกขอบเขตไปพื้นที่ข้างเคียง จึงควรจำกัดการใช้งานในเขตที่มีอาคารข้างเคียงและควรพิจารณาใช้งานทาวเวอร์เครนชนิดแขนกระดกซึ่งมีพื้นที่ทำการแคบภายในอาคารที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากกว่า
3.ควรมีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการตรวจสภาพเครนตามอายุการใช้งาน เนื่องจากเครนที่ใช้ส่วนใหญ่มักผ่านการใช้งานมาแล้วหลายครั้ง ทำให้สภาพไม่สมบูรณ์ เป็นสนิม น็อตและสลิงยึดไม่ครบถ้วน ดังนั้น จึงควรออกกฎหมายให้มีการตรวจสภาพเครนก่อนอนุญาตให้ใช้งานได้
4.เจ้าพนักงานท้องถิ่นควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะต้องจัดให้มีนายตรวจ ตรวจตราสถานที่ก่อสร้างเป็นประจำ เช่น มีวิศวกรที่มีใบอนุญาตกำกับการก่อสร้างหรือไม่ มาตรการในการป้องกันสิ่งของตกหล่นพื้นที่ข้างเคียง เป็นต้น