กรมการแพทย์ เตรียมให้ผู้ที่ตรวจด้วย ATK แล้วผลเป็นบวก เข้าสู่ระบบการกักตัวในชุมชน Community Isolation ได้ จากนั้นให้มีการตรวจ RT-PCR

สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายถึงแนวปฏิบัติสำหรับผู้ที่ซื้อชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) มาตรวจเองแล้วผลเป็นบวก ให้รีบติดต่อสายด่วน สปสช.1330 หรือทางไลน์ เพื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation กรณีไม่มีอาการหรืออาการน้อยเพื่อให้ได้รับการดูแลโดยเร่งด่วน ป้องกันไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง
ส่วนผู้ที่ตรวจด้วย ATK แล้วผลเป็นบวกซึ่งรักษาตัวอยู่ที่บ้านไม่ได้ ได้ออกแนวปฏิบัติให้เข้าสู่ Community Isolation ได้เลยแล้ว จากนั้นตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ที่จุดนี้ แต่ต้องแยกให้ห่างจากผู้ที่มีผลตรวจยืนยันแล้ว รวมทั้งต้องลงนามใบยินยอมเพื่อป้องกันปัญหากรณีผลตรวจ ATK เป็นบวกลวง เช่นเดียวกับกรณีต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลให้แยกวอร์ดกับผู้ที่มีผลยืนยันเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากการตรวจด้วย ATK พบว่า ร้อยละ 3-5 เป็นบวกลวง
นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ระบุว่า ได้เปลี่ยนแนวทางปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยที่ตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยชุดตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก จากเดิมจะถูกแยกกักตัวที่บ้าน มาเป็นเข้ารักษาในศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล หรือโรงพยาบาลหลักได้เลย และจะตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ให้ รวมถึงทำความเข้าใจและทำใบยินยอมรักษา โดยในสัปดาห์หน้า สำนักการแพทย์ จะเปิดให้บริการแลปตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ให้เฉพาะผู้ป่วย ATK ให้ผลเป็นบวกเท่านั้น ภายในศูนย์พักคอย 15 แห่ง โดยขอให้มาตรวจด้วยรถส่วนตัวหรือประสานเขตให้ไปรับผู้ป่วย ATK บวก ในชุมชนมาตรวจทุกคน มีตัวเลขประชาชนใน กทม.ที่ตรวจ ATK แล้วแสดงความจำนงแยกกักตัวที่บ้านโดยผ่านระบบของ สปสช.ประมาณเกือบ 30,000 คนแล้ว
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 23 ก.ค. 2564 มีมติให้เมื่อผู้ที่มีผลการตรวจ Antigen test kit ให้ผลบวกสามารถรับยา รับบริการแบบ Home isolationได้ทันที หรือหากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาแบบ Community isolation หรือในสถานพยาบาล หรือในสถานที่อื่นใดที่จัดไว้เพื่อดูแลผู้ป่วย COVID-19 จะต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR แต่จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการรักษาใดๆ โดยให้ดำเนินการรับผู้ป่วยเข้ารักษา ชี้แจงให้ผู้ป่วยรับทราบถึงความเสี่ยงจากผลบวกปลอม เซ็นใบยินยอมเข้ารับการรักษา พร้อมกับตรวจยืนยันด้วยวิธี RT-PCR เร่งรัดการรายงานผล ดำเนินการแยกผู้ที่ตรวจด้วย Antigen test kit ออกจากผู้ป่วยรายอื่นระหว่างรอผลตรวจยืนยันด้วย RT-PCR การดำเนินการดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบริการได้เร็วขึ้นลดการเจ็บป่วยที่รุนแรงและลดการเสียชีวิต รวมถึงการแยกผู้ป่วยจากครอบครัวและชุมชนเป็นการป้องกันการแพร่กระจายโรคได้อีกทาง