Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

คณะทำงานฯ อัยการสูงสุด แถลงผลตรวจสอบคดีบอส อยู่วิทยา เสนออัยการสูงสุดรื้อสอบปมความเร็วรถใหม่ เพราะพบสำนวนคดีไม่มีความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ลงตรวจที่เกิดเหตุพร้อมระบุความเร็วรถ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีข้อยาเสพโคเคน ยืนยันคดียังไม่สิ้นสุดเพราะยังไม่มีหมดอายุความ

วันที่ 4 ส.ค. 2563 คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ชนตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบ หลังครบ 7 วัน ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วยนายสมศักดิ์ ติยะวานิช   รองอัยการสูงสุด (หัวหน้าคณะทำงาน) นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน   อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายชาติพงษ์ จีระพันธุ   อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 และรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด

สำหรับรายละเอียดความเห็นของคณะทำงานฯ อัยการสูงสุด มีดังนี้

  1. คดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจทองหล่อ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 คดีระหว่าง พ.ต.ท.วิรดล  ทับทิมดี ผู้กล่าวหา นายวรยุทธ  หรือบอส  อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ด.ต.วิเชียร  กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2

– นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ถูกกล่าวหาว่า

(1) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย

(2) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

(3) ขับรถในทางก่อความเสียหายแก่บุคคล ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที

(4) ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

(5) ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

– ด.ต.วิเชียร  กลั่นประเสริฐ  ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกกล่าวหาว่า ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย

เหตุเกิด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เวลา 05.20 น. ที่ แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

  1. พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีดังกล่าวให้พนักงานอัยการพร้อมสรุปสำนวนเสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหา

(1) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย

(2) ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

(3) ขับรถไปในทางเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและ

ไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที

และเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส  อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหา

(1) ขับรถขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย

(2) ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

สำหรับ ด.ต.วิเชียร  กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 เสนอเห็นควรสั่งไม่ฟ้องในข้อหาขับรถ     โดยประมาทชนรถอื่นได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย

  1. ความเห็นและคำสั่งของพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้

3.1 สั่งฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหา 1 .ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย 2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย 3. ขับรถไปในทางเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและ 4. ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (แย้งความเห็นพนักงานสอบสวน) สั่งไม่ฟ้องข้อหาขับรถขณะเมาสุรา เป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย (ตามพนักงานสอบสวนเสนอและผบ.ตร. เห็นชอบแล้ว)

3.2 สั่งยุติดำเนินคดี ด.ต.วิเชียร  กลั่นประเสริฐ ผู้ต้องหาที่ 2 เสนอเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ในข้อหาขับรถโดยประมาทชนรถอื่นได้รับความเสียหาย เนื่องจากผู้ต้องหาที่ 2 ถึงแก่ความตาย

  1. ภายหลังจากพนักงานอัยการมีคำสั่งตามข้อ 3 แล้ว นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ไม่มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัด ทำให้ไม่สามารถยื่นฟ้องได้ และต่อมาทำให้ข้อหา ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนรถอื่นเสียหาย ขับรถไปในทางเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรและ  ขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ขาดอายุความ
  2. ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้อื่นถึงแก่ ความตาย ซึ่งเสนอ ผบ.ตร. แล้ว ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง เป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้อง เสร็จเด็ดขาด
  3. ผลการตรวจสอบของคณะทำงาน มีดังนี้

6.1 การพิจารณาสั่งสำนวนคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร

คณะทำงาน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 วรรค 4 กำหนดให้มีการแบ่งหน่วยงานราชการและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการภายในสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กร ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีประกาศของคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานและกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. 2554 โดยแบ่งหน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุดแยกตามภารกิจรวม 60 ประเภทสำนักงาน เช่น สำนักงานคดีอาญา สำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานคดีศาลแขวง สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด เป็นต้น ซึ่งในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานของสำนักงานอัยการสูงสุดดังกล่าว อัยการสูงสุดจะมีคำสั่งมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบและมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งการออกคำสั่งมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้ รองอัยการสูงสุดดังกล่าว อัยการสูงสุดทุกคนถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เมื่อปี 2562 ถึงปี 2563 ได้มีคำสั่งสำนักงานสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 1515/2562 เรื่อง การมอบหมายและมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุดปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 โดยมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุดทั้ง 8 คน ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด เช่น มอบอำนาจและมอบหมายให้นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบงานคดีอาญา  นายสมโภชน์  ลิ้มประยูร รองอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบงานชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการ ภาค 1, 2, 3, 4, 5 และ 6  นายไพบูลย์ ถาวรวิจิตร รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบงานชี้ขาดความเห็นแย้งของพนักงานอัยการภาค 7, 8 และ 9 และนายเนตร  นาคสุข รองอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบงานคดีอัยการสูงสุด งานคดีกิจการอัยการสูงสุด เฉพาะงานคดีร้องขอความเป็นธรรม และงานคดีศาลสูง เป็นต้น และตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 27 กำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และรับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งอาจมอบหมายให้รองอัยการสูงสุด หรือข้าราชการฝ่ายอัยการปฏิบัติแทนก็ได้ ซึ่งการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้รองอัยการสูงสุดแต่ละท่านปฏิบัติราชการแทนดังกล่าวเป็นไปตามกรอบและบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และตามมาตรา 15 ของ   พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ยังบัญญัติให้อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีในทุกศาล ทั่วราชอาณาจักร นอกจากนี้ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 ข้อ 51, 52 ยังได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการแต่ละชั้นให้มีอำนาจหน้าที่สั่งคดีไว้โดยชัดเจนซึ่งพนักงานอัยการแต่ละคนจะมีความเป็นอิสระในการสั่งคดีภายใต้ระเบียบ ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้เป็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2560 มาตรา 248 ที่บัญญัติรับรองให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง

เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ร้องขอความเป็นธรรมซึ่งมีข้อเท็จจริงและพยานบุคคลที่ระบุแจ้งชัด กรณีจึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ซึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อที่จะรู้ตัวผู้ที่กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และยังเป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 48 ที่ให้ผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ พนักงานอัยการจึงมีการสอบสวนเพิ่มเติมตามที่ร้องขอความเป็นธรรม และการที่นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดในการกำกับดูแลและรับผิดชอบงานคดีร้องขอความเป็นธรรม การพิจารณาสั่งสำนวนคดีนี้ของนายเนตร นาคสุข จึงเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

6.2 ผู้สั่งคดีมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร

คณะทำงานพิจารณาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวน จากนั้นได้พิจารณาความเห็นและคำสั่งของนายเนตร นาคสุข แล้วมีความเห็นว่า นายเนตร นาคสุข ได้มีความเห็นและคำสั่งคดีนี้     ไปตามพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติมซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวน ไม่ได้นำพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือที่ไม่ได้ปรากฏในสำนวนการสอบสวนมาสั่งคดี หรือเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคดีไปตามอำเภอใจรวมทั้งมีเหตุผลประกอบตามสมควร และภายหลังที่มีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ได้มีการเสนอสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อพิจารณาอันเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการ ซึ่งต่อมาผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว คณะทำงานเห็นว่า การสั่งคดีของนายเนตร  นาคสุข  รองอัยการสูงสุด เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว

  1. ข้อเสนอแนะของคณะทำงาน

แม้คดีนี้จะมีคำสั่งเสร็จเด็ดขาดไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าจะไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว คณะทำงานตรวจพบว่า คดียังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือ เมื่อมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนต่อไปได้ โดยคณะทำงานมีความเห็นว่า

7.1 คณะทำงานตรวจพบว่า ในสำนวนการสอบสวนมีการตรวจเลือดของนายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 ในวันเกิดเหตุ และพบสารประเภท Cocaine (โคเคน) ในเลือด แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1 ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 Cocaine (โคเคน) ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 58 ประกอบกับมาตรา 91 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี (อายุความตามกฎหมาย 10 ปี)

7.2 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่ 1 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว     อันเป็นผลให้คำสั่งไม่ฟ้องเสร็จเด็ดขาดตามกฎหมาย และห้ามมิให้ทำการสอบสวนอีกก็ตาม แต่ปรากฏพยานหลักฐานสำคัญ คือ ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า ขณะเกิดเหตุ ดร.สธนฯ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ได้รับการประสานงานจาก พ.ต.ท.ธนสิทธิ  แตงจั่น ให้ไปร่วมตรวจที่เกิดเหตุ และดูกล้องวงจรปิด
วัตถุพยาน ที่บันทึกภาพรถของผู้ต้องหาที่ 1 พร้อมกับคิดคำนวณความเร็วของรถที่แล่นไปขณะเกิดเหตุ โดย ดร.สธนฯ  ได้ทำรายงานการคิดคำนวณส่งให้กับกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อใช้ประกอบคดีโดยยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุรถของผู้ต้องหาที่ 1 แล่นไปด้วยความเร็วประมาณ 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงผ่านสื่อ จากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ให้ข้อเท็จจริงผ่านสื่อว่า เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน คิด คำนวณ หาความเร็วของรถและตนได้คิด คำนวณ พร้อมกับให้ความเห็นทางวิชาการว่า ขณะเกิดเหตุ รถที่ผู้ต้องหาขับขี่ไปน่าจะมีความเร็วไม่ตำกว่า 126 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ และเป็นพยานสำคัญที่จะทำให้ศาลลงโทษ ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

ทั้งสองประเด็นดังกล่าว คณะทำงานจึงมีความเห็นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ต่อไป

(คลิปไฮไลต์แถลงข่าว)

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า