พันธมิตร Aukus ทำข้อตกลงอาวุธไฮเปอร์โซนิกและสงครามอิเล็กทรอนิกส์ จีนรีบค้านอ้างไม่อยากเห็นวิกฤตแบบยูเครนเกิดขึ้นอีก
วันที่ 5 เม.ย. 2565 สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ทำข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกและความสามารถในด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ข้อตกลงพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ชื่อว่า Aukus
พันธมิตร Aukus ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนก.ย. ปีที่แล้ว เป็นความร่วมมือไตรภาคีที่มีขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการขยายอำนาจของจีน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ที่กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
ก่อนหน้านี้ พันธมิตร Aukus ได้สร้างความไม่พอใจให้กับฝรั่งเศสมาแล้ว เนื่องจากออสเตรเลียได้ยกเลิกข้อตกลงเรือดำน้ำนิวเคลียร์กับฝรั่งเศส และเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ แทน
ที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐฯ และออสเตรเลียได้มีการพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกร่วมกันอยู่แล้วในโครงการที่ชื่อว่า SCIFiRE (Southern Cross Integrated Flight Research Experiment) ขณะที่สหราชอาณาจักรเผยว่า จะยังไม่เข้าร่วมโครงการในตอนนี้ แต่ทั้ง 3 ประเทศจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อขยายตัวเลือกให้มากขึ้น
ทั้ง 3 ชาติออกแถลงการณ์ร่วมว่า จากกรณีที่รัสเซียทำการบุกรุกยูเครน โดยปราศจากการยั่วยุ ไร้ซึ่งเหตุผล และขัดต่อกฎหมาย เรายังคงย้ำเตือนถึงความมุ่งมั่นในระบบของนานาชาติที่เคารพสิทธิมนุษยชน ตัวบทกฎหมาย และแนวทางสันติภาพ เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งโดยปราศจากการบังคับขู่เข็ญ และยังคงมุ่งมั่นในนโยบายอินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างต่อไป
ในเวลาต่อมา จาง จวิน ผู้แทนถาวรจีนประจำสหประชาชาติได้ออกมาเตือนว่า มาตรการดังกล่าวอาจทำให้ความขัดแย้งแบบในยูเครน เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลก
นายจางกล่าว่า ใครก็ตามที่ไม่อยากเห็นวิกฤตแบบยูเครน ควรหลีกเลี่ยงในการทำสิ่งที่จะนำไปสู่การเกิดวิกฤตเช่นนั้นในส่วนอื่นๆ ของโลก พร้อมกับยกสำนวนจีนขึ้นมากล่าวว่า ถ้าคุณไม่ชอบสิ่งใด ก็จงอย่าทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น