Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังจากที่ออกฉายเพียงวันเดียว ‘Snowdrop’ ซีรีส์เรื่องล่าสุดของ ‘จองแฮอิน’ และเรื่องแรกที่ ‘จีซู’ จากวง Blackpink ได้ขึ้นแท่นนางเอก ก็เจอดราม่าหนัก เพราะมีการยื่นคำร้องออนไลน์ในเว็บไซต์ของ ชองวาแด หรือ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ให้ระงับการฉายและยกเลิกซีรีส์ พร้อมการลงนามมากกว่า 300,000 รายชื่อ

Snowdrop เป็นซีรีส์ย้อนยุคที่เหตุการณ์เกิดในปี 1987 ท่ามกลางบรรยากาศการเรียกร้องการเลือกตั้งในประเทศเกาหลีใต้ เมื่อ อึนยองโร (รับบทโดย จีซู) นักศึกษาวรรณคดีสาวได้พบกับ อิมซูโฮ (รับบทโดย จองแฮอิน) ที่งานนัดบอดกลุ่มและหลงรักเขาในทันที แต่คืนหนึ่งเธอกลับได้พบเขานอนบาดเจ็บเลือดท่วมอยู่ในหอของเธอและช่วยเขาไว้โดยที่ไม่รู้ว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสายลับที่รัฐบาลกำลังตามล่าตัว

การร้องเรียนครั้งแรก

● Snowdrop ถูกยื่นคำร้องเรียนครั้งแรกในเดือนมีนาคมพร้อมการลงนามมากกว่า 200,000 รายชื่อ ขอให้ยุติการถ่ายทำของ Snowdrop เพราะพล็อตเรื่องที่หลุดออกมาส่งสัญญาณของการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในเกาหลีใต้
● พล็อตที่หลุดออกมาระบุว่า นางเอกชื่อ ‘อึนยองโช’ เป็นนักศึกษาหญิงที่ช่วยสายลับเกาหลีเหนือที่แฝงตัวอยู่ในคราบนักศึกษาที่มาประท้วง เขาหนีจากการไล่ล่าของ ‘อีคังมู’ หัวหน้าทีมของสำนักงานวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ ยังมีเรื่องราวรักสามเส้าระหว่าพวกเขาอีกด้วย

ภาพจาก: JTBC

● ในมุมมองของผู้ยื่นคำร้อง การที่ซีรีส์กำหนดให้พระเอกเป็นสายลับเกาหลีเหนือที่มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยเป็นการด้อยค่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน เพราะมันทำให้เหมือนเกาหลีเหนือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
● ส่วนการให้ตัวพระรองเป็นเจ้าหน้าที่ที่ยึดมั่นในความยุติธรรมก็เหมือนเป็นการเชิดชูเจ้าหน้าที่จากหน่วยความมั่นคงแห่งชาติ ขัดกับความจริงที่ว่าพวกเขา ‘ทรมานและฆ่าคนมากมายในนามของรัฐบาล’
● สำหรับเขา Snowdrop จึงเป็น ‘การเหยีดหยามรากฐานของประเทศ’
● นอกจากประเด็นนี้ยังมีคนชี้ว่าชื่อเอก ‘อึนยองโช’ เหมือนกับชื่อของ ‘ชอนยองโช’ นักศึกษามหาวิทยาลัยโครยอที่เข้าร่วมขบวนการเพื่อประชาธิปไตยในยุค 1980s และมีตัวตนอยู่จริง
● ชอนยองโชเป็นผู้รอดชีวิตจากการสอบสวนและทรมานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาตินัมยองดงและมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ ส่วนสามีของเธอเสียชีวิตเพราะขาดสารอาหารหลังการถูกจับกุมและขุมขังด้วยข้อหาว่าเป็นสายลับ และเรื่องราวของเธอก็เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนิยายเรื่อง ‘ยองโชออนนี’ ที่แปลว่าพี่ยองโชอีกด้วย

● ประเด็นทำให้หนึ่งในทีมงานที่จัดทำนวนิยายเรื่องนี้ออกมาให้ความเห็นว่า ‘การที่นำเรื่องสายลับที่ซ่อนตัวในหมู่ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมาทำเป็นละครตลกเสียดสี ควรถูกนับว่าเป็นการทำอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) เพราะเป็นการเยาะหยันผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อประชาธิปไตยในเกาหลีใต้’

ข้อสันนิษฐานและคำวิจารณ์ทำให้สถานี JTBC ออกแถลงการณ์ถึงสองครั้งว่าโดยครั้งแรกอธิบายว่า

● Snowdrop เป็นซีรีส์ black comedy หรือละครตลกเสียดสี ที่เสียดสีการเลือกตั้งใต้ระบบการบอกครองแบบรัฐบาลทหาร ในช่วงที่มีแรงกดดันระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ในคาบสมุทรเกาหลีและมีเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวผู้เป็นเหยื่อของเหตุการณ์เหล่านั้น
● เรื่องย่อที่ไม่สมบูรณ์ที่หลุดออกไปในโลกออนไลน์ถูกตีความและนำออกนอกบริบท ทำให้เกิดคำวิจารณ์ที่อ้างอิงจากความคาดเดา
● ข้อกล่าวหาว่าพล็อตเรื่องนำเสนอว่าสายลับเกาหลีเหนือเป็นผู้นำขบวนการเพื่อประชาธิปไตย ตัวละครถูกสร้างขึ้นมาจากบุคคลจริงที่เป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการนักศึกษา และเชิดชูสำนักงานวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ นั้นไม่เป็นความจริง และต่างกับเรื่องราวจริง ๆ ของ Snowdrop และออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า

● ตลอดเรื่องไม่มีฉากไหนที่พระเอกนางเอกเข้าร่วมหรือเป็นแกนนำขบวนการเพื่อประชาธิปไตย
● นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับจากเกาหลีเหนือ และปฏิบัติอย่างอยุติธรรมจากระบอบทหารในยุค 1980 อีกด้วย
● ฉากหลังของเรื่องเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ล้อมรอบการเลือกตั้งและระบอบการปกครองแบบทหาร เรื่องราวที่สมมุติขึ้นมาใหม่นี้ นำเสนอเรื่องของระบอบทหาร สำนักงานวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ และผู้มีอำนาจต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันเพื่อที่จะยึดครองอำนาจไว้ต่อไป ไม่ใช่การเคลื่อไหวเพื่อประชาธิปไตย
● ในที่เรื่อง ตัวเอกทั้งสอง สายลับเกาหลีเหนือและเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงแห่งชาติที่ไล่ล่าสายลับไม่ได้เป็นผู้แทนองค์กรและรัฐบาลใด แต่เป็นตัวละครที่เน้นให้เห็นมุมมองต่อสำนักงานวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ ที่สนับสนุนความกระหายอำนาจของผู้บริหารประเทศในขณะนั้น ฉะนั้นการเชิดชูสายลับหรือผู้ที่ทำงานให้สำนักงานวางแผนความมั่นคงแห่งชาติ จีงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับ Snowdrop ทั้งสิ้น
● การอธิบายตัวละครที่เป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานวางแผนความมั่นคงแห่งชาติว่าเป็นคนยุติธรรมและตรงไปตรงมา เพราะเขาเป็นเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิเสธตำแหน่งที่สูงกว่าและไปทำงานที่ต่างประเทศ หลังจากที่ผิดหวังกับเพื่อนร่วมงานที่จับแพะสายลับขึ้นมาแทนที่จะไปจับสายลับตัวจริง ตัวละครนี้ก็มีหลักการที่พร้อมหันหลังให้กับองค์กรทุจริตและทำสิ่งที่ถูกต้อง
● ชื่อตัวละครไม่ได้มีการอ้างอิงจากชอนยองโชตัวจริง แต่เนื่องจากชื่อมีความคล้ายซึ่งชวนให้นึกถึง เราจะเปลี่ยนชื่อตัวละคร

นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ตัวนางเอกต้องเปลี่ยนชื่อจาก ‘อึนยองโช’ เป็น ‘อึนยองโร’ ในที่สุด และเมื่อการลงรายชื่อครบถึง 200,000 คน ทำเนียบประธานาธิบดีก็ออกมาให้คำตอบเรื่องคำร้องเรียนว่า

● การแทรกแซงการทำงานสร้างสรรค์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังไม่ให้ขัดต่อ มาตรา 4 ใน พระราชบัญญัติการแพร่ภาพที่รับรองเสรีภาพของออกอากาศของสถานีโทรทัศน์
● รัฐบาลเคารพการแก้ไขตัวเองและการตัดสินใจโดยผู้สร้าง ผู้จัด หรือผู้ชมในเรื่องเนื้อหาในสื่อที่ขัดต่อความรู้สึกของคนในชาติ
● แต่หากมีการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อสังคม หรือจากฝ่าฝืนกฏเช่นการบิดเบือนประวัติศาสตร์จนเกินขอบเขต ต้องถูกพิจารณาโดย Korea Communications Standards Commission (KCSC)

การร้องเรียนครั้งที่สองหลังซีรีส์ออกอากาศได้เพียงตอนเดียว

หลังจากนั้นเรื่องราวก็ซาไป จนซีรีส์ก็ถ่ายทำจนเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฏาคม และออกฉายตอนแรกไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยผู้กำกับก็ให้สัมภาษณ์ ยืนยันว่า นอกจากการปกครองโดยระบอบทหารและการเลือกตั้งแล้ว เรื่องราวใน Snowdrop ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องสมมุติ และนักเขียนยูฮยอนมีได้รับแรงบันดาลใจจากบันทึกชีวิตผู้แปรภักต์ชาวเกาหลีเหนือในค่ายกักกันการเมือง ส่วนการใช้ตัวละครเอกเป็นชาวเกาหลีเหนือก็มีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาตัวละครเท่านั้น

แต่คำร้องให้หยุดการออกอากาศก็ตามมาทันทีหลังจากซี่รีส์ออกฉาย และตอนนี้มีคนร่วมลงนามกว่า 300,000 คน แล้ว โดยในคำร้องระบุว่า

● ก่อนหน้านี้ที่ทางสถานีแจ้งว่าซีรีส์ไม่ได้เซ็นเตอร์เรื่องและตัวเอกไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการเพื่อประชาธิปไตย แต่นางเอกของเรื่องช่วยชีวิตสายลับเกาหลีเหนือไว้เพราะคิดว่าเขาเป็นนักศึกษาที่เข้าร่วมการประท้วงในตอนแรกของซีรีส์

● มีผู้ร่วมชุมนุมหลายคนที่ถูกทรมานและเสียชีวิตหลังจากโดนกล่าวหาว่าเป็นสายลับจากเกาหลีเหนือ และเขาเชื่อว่าเนื้อหาของซีรีส์นั้นลดทอนคุณค่าและทำลายชื่อเสียงของขบวนการเพื่อประชาธิปไตย
● เพลงประกอบ ‘โซลาบลูโซลา’ เป็นเพลงที่ถูกใช้จริงในการชุมนุม และเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเพื่อประชาธิปไตย แต่กลับถูกใช้ในฉากที่พระเอกโดนไล่ล่าโดยเจ้าหน้าที่องค์กรที่เป็นศัตรูของผู้ชุมนุม
● Snowdrop ออกฉายทาง OTT แพลตฟอร์มที่มีการฉายไปทั่วโลกและอาจจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับขบวนการประชาธิปไตยให้กับผู้ชมต่างชาติ ซีรีส์ที่ด้อยค่าขบวนการเพื่อประชาธิปไตยจึงควรจะถูกระงับการออกอากาศ

จากเหตุการณ์นี้ทำให้เริ่มมีสปอนเซอร์สินค้าหลายชิ้นถอนการสนับสนุนและออกจดหมายขอโทษประชาชน และ Snowdrop ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องการอ้างอิงประวัติศาสตร์ผุดขึ้นมาอีกเช่น

● เว็บไซต์ Koreaboo ลงบทความที่มีผู้ชมตั้งข้อสงสัยว่าตัวพ่อของพระเอกในเรื่อง ถูกอ้างอิงจาก ‘ยุนอีซัง’ นักดนตรีชาวเกาหลีใต้ที่ชนะรางวัลมากมายที่ต่างประเทศแต่ไม่สามารถกลับมาเกาหลีใต้ได้ ทำให้เขาต้องใช้ชีวิตเดินทางไปมาระหว่างเบอร์ลินและเกาหลีเหนือ ก่อนจะโดนลักพาตัวกลับมาที่เกาหลีใต้ในปี 1967
● เขาโดนทรมาน บังคับให้สารภาพว่าเป็นหน่วยสืบราชการลับ และคุมขังไว้จนกระทั่งมีนักดนตรีจากหลายประเทศยื่นคำร้องให้ปล่อยตัวเขาได้สำเร็จ และเขาก็เข้าร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 1973
● ชีวิตของเขาคล้ายกับประวัติของพ่อพระเอกที่เล่าให้นางเอกฟังในตอนที่ 2 ว่าเป็นนักดนตรีได้รางวัลที่เบอร์ลิน ส่วนคำอธิบายตัวละครบอกเพิ่มว่าเขาต้องเจอกับการกดขี่จนกลับมาเกาหลีไม่ได้
● เรื่องทั้งหมดนี้ยิ่งสุมไฟให้มีผู้ชมโกรธแค้นและเริ่มโจมดีนักเขียนบทยูฮยอนมีว่าเป็นคนที่มีความคิดน่ารังเกียจ
● และเมื่อไปค้นประวัตินักเขียนแล้วพบว่าเธอเคยเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยหญิงอีฮวาที่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ร่วมขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยควังจูง เมืองที่เคยเกิดเหตุการน่าสลดอย่างการสังหารหมู่ควังจูที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับพันจากการยืนหยัดเรียกร้องประชาธิปไตยก็ยิ่งทำให้คนโกรธแค้นเธอมากขึ้น เพราะเธอควรจะรู้ถึงความสำคัญของเรื่องนี้อยู่แล้ว

แถลงการณ์ล่าสุดจาก JTBC

ล่าสุด ในวันที่ 21 ธันวาคม JTBC ได้ออกแถลงการณ์ที่มีใจความสำคัญว่า

‘ฉากหลังและเหตุการณ์สำคัญในของ Snowdrop เกิดในช่วงเวลาที่มีการปกครองระบอบทหาร ด้วยฉากหลังนี้ทำให้มีเรื่องราวสมมุติของพรรคที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนั้นที่ร่วมมือกับเกาหลีเหนือเพื่อสืบทอดอำนาจของตนต่อไป Snowdrop เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนเรื่องราวของผู้คนที่ถูกใช้และเป็นเหยื่อของผู้ครองอำนาจ

Snowdrop ไม่มีตัวละครสายลับที่นำการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ในตอนที่ 1 และ 2 ตัวเอกทั้งชายและหญิงไม่ได้เข้าร่วมหรือนำขบวนการเพื่อประชาธิปไตย และจะไม่มีการทำเช่นนั้นในบทต่อจากนี้

ความเข้าใจผิดส่วนใหญ่ เรื่องข้อกังวลเรื่องการบิดเบือนประวัติศาสตร์และการบ่อนทำลายขบวนการเพื่อประชาธิปไตย หลายคนวิจารณ์ถึง จะถูกคลี่คลายไปเมื่อเรื่องดำเนินต่อไปในภายหน้า ละครเรื่องนี้บรรจุเจตนารมย์ของทีมงานที่หวังว่าจะไม่มียุคที่ความสุขและเสรีภาพของบุคคลจะถูกกดขี่โดยอำนาจอยุติธรรม’ ตามมาด้วยการแจ้งว่าไม่สามารถเปิดเผยพล็อตในอนาคตได้ล่วงหน้าและขอให้ติดตามเรื่องในตอนหน้า และเพื่อรับฟังคำวิจารณ์อันมีค่าของผู้ชม JTBC จะเปิดหน้าต่างเรียลไทม์แชตและกระดานข่าวอีกด้วย’

ทำไมคนเกาหลีจึงหวงแหนประชาธิปไตย

จากเหตุการณ์ทั้งหมดผู้ชมหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมคนเกาหลีใต้จึงอ่อนไหวกับเรื่องประชาธิปไตย แม้ซีรีส์จะขึ้นข้อความว่า ‘ตัวละครและเหตุการณ์ทั้งหมดในละครเรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติ’ แล้วก็ตาม แต่หากย้อนไปดูเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นก็อาจจะไม่แปลกใจว่าทำไมถึงมีผู้คนที่ออกมาแสดงความกังวลในเรื่องการบิดเบือนประวัติศาสตร์จำนวนมาก เพราะกว่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบได้อย่างทุกวันนี้เกาหลีใต้ต้องผ่านอะไรมามากมาย ทั้งการเรียกร้องที่ยาวนานและมีคนนับร้อยพันที่สละชีวิตไปเพื่ออุดมการณ์นี้

● ฉากหลังของ Snowdrop คือเหตุการณ์การเมืองในปี 1987 ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งโดยประชาชนโดยตรงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หลังจากต้องอยู่ใต้การปกครองระบอบทหารมายาวนานถึง 26 ปี ตั้งแต่ ประธานาธิบดี ‘พัคจุงฮี’ ที่สู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร ในปี 1961
● ต่อดัวยการรัฐประหารอีกรอบโดยนาย ‘ชอนดูฮวาน’ ในปี 1979 เพื่อสืบทอดอำนาจและรักษา ‘ระบอบยูชิน’ ที่มาจากรัฐธรรมมนูญซึ่งเขียนขึ้นโดยรัฐบาลของพัคจุงฮี เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวและพรรคพวกและประกาศใช้กฏอัยการศึกนับตั้งแต่นั้นมา

ภาพนายชอดดูฮวานจาก Al Chang/Department of Defense (Digital Photo ID: DA-SC-86-08943)

● การต่อต้านเริ่มเข้มข้นขึ้นในเดือนมีนาคมของปี 1979 และยกระดับขึ้นอีก เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออกให้นักศึกษาและการระงับใช้กฏอัยการศึก
● จนในวันที่ 15 พฤษภาคมที่มีนักศึกษากว่า 70,000 คนรวมตัวกันประท้วงที่โซล ทำให้ต่อมาในวันที่ 17 มีการจับกุมนักศึกษาและนักการเมือง ประกาศบังคับใช้กฏอัยการศึก สั่งปิด
มหาวิทยาลัยและแบนการทำกิจกรรมทางการเมืองไปทั่วประเทศ
● เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการประท้วงยาวนานถึง 10 วัน ที่เมืองควังจูและรุนแรงขึ้นทุกทีจนถึงขั้นปิดเมือง

ภาพจาก 5.18 Memorial Foundation Photo Archive

● การประท้วงจบลงด้วยการที่กองทัพเกาหลี-สหรัฐฯ ยกกองทหาร 20,000 นาย พร้อมอาวุธ รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ เข้ารุมโจมตีประชาชนในควังจูจากทุกทางและจับกุมคนไปนับพัน รัฐบาลแจ้งว่าเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 200 รายเท่านั้น แต่หลายคนเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 2000 คน
● นอกจากนี้ยังมีคนบาดเจ็บและสูญหายอีกมากมาย โดยหลายคนถูกใส่ร้ายว่าเป็นประชาชนติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีเหนือ

จึงไม่น่าแปลกใจว่าการมีตัวละครเอกเป็นสายลับเกาหลีเหนือที่มาเกี่ยวข้องกับการชุมนุมจึงทำให้ผู้ชมรู้สึกกังวลไปจนถึงโกรธแค้น

เหตุการณ์นองเลือดที่ควังจูเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของของเส้นทางสู่ประชาธิปไตย แม้การปกครองระบอบทหารใต้อำนาจของนายชอนดูฮวานที่ขึ้นรับตำแหน่งจาการเลือกตั้งภายในจะดำเนินไป พร้อมกับการเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคนถูกจับกุมและนำไปทรมานอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเดือนมกราปี 1987 ที่การเสียชีวิตของ ‘พัคจงชอล’ กลายเป็นการจุดชนวนครั้งใหญ่

● พัคจงชอลเป็นนักศึกษา-นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ เขาถูกทรมานจนเสียชีวิตโดยตำรวจขณะสอบสวน
● ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอ้างว่าเขาเสียชีวิตจากอาการช็อค ความจริงเปิดเผยในหลายเดือนให้หลังว่าเขาเสียชีวิตเพราะโดนกดน้ำ
● ทำให้ประชาชนที่โกรธแค้นเรื่องการใช้อำนาจในทางมิชอบของทางการออกมาชุมนุม

● ในเดือนมิถุนายนมีการชุมนุมของนักศึกษาในหลายจุดในกรุงโซลและ ‘อีฮันยอล’ นักศึกษาอายุ 21 โดนระเบิดแก๊สน้ำตากระแทกที่ศีรษะ ทำให้เขาไม่ได้สติอยู่ในโคม่า และเสียชีวิตใน 27 วันถัดมา ส่งผลประชาชนยิ่งโกรธแค้นกับความโหดร้ายของรัฐบาล
● ภาพของอีฮันยอลที่เลือดอาบหน้าล้มพับลงในอ้อมแขนของเพื่อนทำให้เขากลายเป็นสัญญลักษณ์ของเหตุการณ์ June Struggle

ภาพจาก Koreabridge.net

การตายของอีฮันยอลนำมาสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ที่เริ่มขึ้นวันที่ 10 มิถุนายนปี 1987 จากรายงานของสำนักข่างอารีรังการชุมนุมเกิดจึ้นใน 30 เมืองและมีคนเข้าร่วมถึง 5 ล้านคน จนวันที่ 19 ของการเรียกร้องรัฐบาลก็ยอมประกาศแผนการที่จะจัดการเลือกตั้งโดยประชาชนที่เป็นการเปิดศักราชใหม่ของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

เมื่อฟังเรื่องราวทั้งหมดจึงไม่แปลกใจที่ผู้ชมชาวเกาหลีใต้จะโกรธแค้นเมื่อภาพการต่อสู้ของพวกเขาและความเสียสละของเพื่อนร่วมชาติมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกด้อยค่าลงไม่ว่าจะในทางไหน และจากแถลงการณ์จาก JTBC ที่ยืนยันการออกอากาศต่อไปของซีรีส์ทำให้เราได้แต่รอชมว่าเมื่อเรื่องราวคลี่คลายแล้วความโกรธและขับข้องใจของผู้ชมบางส่วนจะเบาบางไปด้วยหรือไม่

อ้างอิง

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า