Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หากสถานการณ์การเมืองปกติ การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเกิดขึ้นตามคำยืนยันของแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน หลังเว้นว่างไปถึง 6 ปี ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ทั้ง กทม., องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.),เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  และเมืองพัทยา

เมื่อถึงวาระอันสมควรและอยู่ในครรลองการเมือง ซึ่ง 3 ป. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ,พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ,พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะประคองเกมไว้ได้ การเตรียมรันเวย์ให้การเลือกตั้งท้องถิ่นได้ฟื้นตัวในเร็ววันนี้จึงเกิดขึ้น และมีความเชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบปฏิเสธไม่ได้

เกิดกระแสข่าว “บิ๊กเนม” หลายวงการสนใจจะชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และเริ่มทยอยเปิดตัวกันมาเรื่อยๆ ลองมาสำรวจความเคลื่อนไหวล่าสุดของพรรคชั้นนำและกลุ่มการเมืองกันว่า ใครบ้างที่จะลงชิงเก้าอี้ประมุขเสาชิงช้าตัวนี้ และโอกาสจะตกเป็นของใคร

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์/ พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง

“พรรคพลังประชารัฐ” พรรคแกนนำรัฐบาลที่เพิ่งยุติความขัดแย้งภายในไปได้ ยังไม่แน่ชัดว่าจะส่งใครลงสมัคร จากการที่มีหลายมุ้งที่ต้องตกลงกันให้ได้ก่อน

ก่อนหน้านี้มีการทาบทาม “ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่ทราบว่า “ดร.สุชัชวีร์” มีการเดินสายหารือกับหลายพรรค ตัวเลือกนี้จึงน่าจะตกไป

โอกาสตอนนี้น่าจะเป็นของ “พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง” ที่ทำหน้าที่พ่อเมืองหลวงยุค คสช.มาหลายปีและมีสัญญาใจกับแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ทยา ทีปสุวรรณ/ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

นอกจากนี้ยังมีชื่อของ “ทยา ทีปสุวรรณ” คู่ชีวิตของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับเลือกให้ลงชิงชัยเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากเคยนั่งเป็นรองผู้ว่าฯ มาก่อนและ “ณัฏฐพล” กับ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดีอีเอส ก็ดูแลพื้นที่อยู่แล้ว

แม้ว่าก่อนหน้านี้ “ทยา” ออกตัวว่า ยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเลย และก็ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเห็นว่าทางพรรคเอง คงต้องพิจารณาหลายอย่างประกอบกัน

สกลธี ภัททิยกุล

และอีกคนที่มีชื่อติดโผ ผู้ชิงเก้าอี้ประมุขเสาชิงช้า ของพรรคพลังประชารัฐ มาโดยตลอดคือ “สกลธี ภัททิยกุล” อดีต แกนนำ กปปส.ที่ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อมารับตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กทม.จนถึงปัจจุบัน

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา

“พรรคประชาธิปัตย์”  มีกระแสว่า “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ผบ.ตร. สนใจที่จะลงสนามในนามพรรคสีฟ้า หลังเกษียณอายุราชการในปีนี้ แต่ต้องตีความทางกฎหมายว่า การที่ ผบ.ตร. ดำรงตำแหน่ง ส.ว.ควบคู่ไปด้วย จะติดล็อกเงื่อนไขต้องเว้นวรรคก่อนเข้ามาทำงานการเมืองต่อเลยหรือไม่

หาก “พล.ต.อ.จักรทิพย์” ได้รับไฟเขียวลงสมัครได้ นอกจากลงในนามพรรคยังมีตัวเลือกอีกทางคือลงสมัครแบบอิสระแต่ใช้ฐานเสียงของประชาธิปัตย์และบางพรรคใน กทม.หนุน แต่หากเลือกสูตรนี้ ย่อมเกิดคำถามว่า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค ปชป.คนปัจจุบันจะตอบคำถามลูกพรรคในการฟื้นภาค กทม.อย่างไร หลังการเลือกตั้งล่าสุดไม่มีส.ส.เมืองหลวงแม้แต่คนเดียว

อริยะ พนมยงค์

“พรรคก้าวไกล กับ คณะก้าวหน้า”  มวลสารเนื้อเดียวกันจากพรรคอนาคตใหม่ที่สลายสสารทางการเมืองไป แต่อุดมการณ์ยังเคลื่อนต่อ ตอนนี้ คณะก้าวหน้า โดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, กรรณิการ์ วานิช ,ปิยบุตร แสงกนกกุล ลุยสนามท้องถิ่นหนักหน่วงและหวังแจ้งเกิดในหลายจังหวัด

ส่วน กทม.ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพรรคก้าวไกล ที่นำโดย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” มีกระแสข่าวการทาบทาม “อริยะ พนมยงค์” อดีตกรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย และช่อง 3 ลงสมัครด้วยการชูภาพคนรุ่นใหม่เข้าใจคนยุคดิจิตอลเป็นจุดขาย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

“พรรคเพื่อไทย” มีกระแสความขัดแย้งหลายวาระในพรรค โดยเฉพาะการไม่ยอมรับ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์พรรค แต่ล่าสุดยังได้รับบทนำทีมคัดคนสู้ศึกสนาม กทม. โดยเฉพาะผู้ว่า กทม.ที่ยืนยันจะส่งคนลงแน่นอน เป้าหมายแรกคือ การกลับไปเจรจากับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคที่ประกาศจะลงผู้ว่าฯ แบบอิสระอีกครั้ง แต่ถ้าไม่สำเร็จมีคนในภาคเอกชนที่เตรียมไว้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามมีข่าวลือว่า  “คุณหญิงสุดารัตน์” อาจจะตัดสินใจลงสมัครชิงเก้าอี้ประมุขเสาชิงช้าเป็นครั้งที่สองเอง หลังเคยแข่งขันในสนามนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนและพ่ายต่อนายสมัคร สุนทรเวช แต่เจ้าตัวยืนยันขณะนี้ยังไม่สนใจ

และเมื่อประเมินแล้ว “คุณหญิงสุดารัตน์”  ไม่น่าเสี่ยงแน่กับเกมนี้ เพราะหากลงแข่งขันในสนาม กทม.แล้วพ่ายแพ้  ก็จะหมดแต้มต่อและแทบจะหมดสิทธิเดินต่อบนเวทีหลักการเมืองเลยทีเดียว

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตแคนดิเดตนายกฯและอดีตรมว.คมนาคมของพรรคเพื่อไทย ลาออกมาจากพรรคต้นสังกัดมาระยะหนึ่งและเปิดตัวว่าจะลงสมัครอิสระ  กระแสตอบรับช่วงต้นดีมากจากคนรุ่นใหม่และคนที่หน่ายการเมือง  แต่จุดอ่อนคือฐานเสียงหลักที่จะเป็นปัจจัยหนึ่งว่าจะชนะหรือไม่อยู่ที่พรรคเพื่อไทย  หากพรรคเพื่อไทยส่งคนลงแข่งขันในสนามนี้จริงจะเป็นการตัดแต้มหรือไม่ หรือควรจะกลับไปสังกัดพรรคเพื่อการันตีเสียงส่วนหนึ่งไว้แน่ๆ

ทอม เครือโสภณ/รสนา โตสิตระกูล

“ทอม เครือโสภณ” นักธุรกิจหลากแขนง เคยไปช่วยงานพรรคภูมิใจไทยช่วงสั้นๆ และประกาศตัวลงแข่งขันในครั้งนี้ด้วย แต่แนวโน้มแล้วคงจะเอามันส์มากกว่าเอาชัย

“รสนา โตสิตระกูล” อดีต ส.ว.กทม.และอดีตแกนนำคนเสื้อเหลือง ประกาศตัวมานานแล้วว่า สนใจลงชิงชัยในสนามนี้ แต่โอกาสน่าจะน้อยกว่าเมื่อหลายปีก่อนที่เคยได้คะแนนเลือกตั้ง ส.ว.สูงสุดในสนามกทม.

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์

“ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียที่เคยมีข่าวว่าไปร่วมหนุนตั้งพรรคกล้าของ“กรณ์ จาติกวณิช“และมีข่าวว่าอยากลงสนามเมืองหลวงมาระยะหนึ่งก่อนกระแสจางหายไป ต้องรอดูว่าเจ้าของฉายา“หล่อโย่ง“จะขยับพรรคไปเช่นใดกับโอกาสลงสนามครั้งแรกของพรรคกล้า

หากใช้สมการการเมือง (ฐานเสียงและความนิยมของพรรค,กลุ่มการเมืองและผู้สมัครหลัก) จะพบว่า

พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า รวมทั้ง “ชัชชาติ” คือกลุ่มคะแนนเสียงหลักในฐานเดียวกัน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์,พรรคพลังประชารัฐ,พรรคกล้า รวมทั้ง “รสนา” คือกลุ่มคะแนนเสียงฐานเดียวกันทั้งนั้น

สมการการเมืองข้อนี้แต่ละฝ่ายต้องวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองและฝ่ายตรงข้ามให้สะเด็ดน้ำ รวมทั้งการเจรจาลับหลังฉากของบางกลุ่มที่อย่างไรเสียต้องเกิดขึ้นแน่

มิเช่นนั้นจะเป็นการลงแข่งขันและตัดแต้มกันเอง..ประเคนชัยชนะให้ขั้วตรงข้ามแบบน่าเจ็บใจ

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า