Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ทุกวันนี้โลกได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เห็นได้จากที่ฝนตกถี่ขึ้น เกิดน้ำท่วม ที่นำไปสู่ปัญหาการจราจร รถติด กลับบ้านลำบาก ระบบขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ กว่าจะได้กลับบ้านพักผ่อนจากงาน ก็กินเวลาไปไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อลองทบทวนกันอีกทีปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพ ฯ ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเลยทำให้ปัญหาน้ำท่วมใน กทม. ดูจะบ่อยและถี่ขึ้นทุกที

เมื่อเดือนมีนาคม 2564 กรีนพีช ได้ออกรายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลภายใต้สภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชีย ภายในปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 (The Projected Economic Impact of Extreme Sea-Level Rise in Seven Asian Cities in 2030) ซึ่งประกอบไปด้วย ฮ่องกง โตเกียว จาการ์ตา โซล ไทเป มะนิลา และกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพ ฯ กลายเป็นหนึ่งใน 7 เมืองใหญ่ที่กรีนพีชคาดการณ์ถึงวิกฤตน้ำ โดยกรีนพีชได้ระบุว่า กรุงเทพ ฯ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำขนาดใหญ่ แห่งหนึ่งของเอเชีย มีความสูงเฉลี่ย 1.5 เมตรจากระดับน้ำทะเล บวกกับมีการทรุดตัวของดินในอัตรา 30 มม./ปี

ทำให้กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมสูงโดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม และเมื่อคาดเดาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและชายฝั่งในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030 ภายใต้สถานการณ์ RCP8.5 (RCP8.5 ถือเป็น ‘กรณีที่เลวร้ายที่สุด’)

บริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอาจกินพื้นที่ได้ถึง 96 % ของกรุงเทพ ฯ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่แล้ว พื้นที่มีโอกาสน้ำท่วมมีตั้งแต่ใจกลางเมืองที่มีความหนาแน่นสูงอย่าง สีลม สาธร วิทยุ เพลินจิต ไม่เว้นแม้กระทั่งรัฐสภา ไปจนบริเวณที่มีความหนาแน่นน้อยอย่างพื้นที่รอบนอก รวมถึงตลอดแนวสองฝั่งริมน้ำเจ้าพระยา

คาดการณ์กันว่าหากเกิดน้ำท่วมใหญ่ “ในรอบ 10 ปี” ขึ้นจริง จะกินพื้นที่ถึง 1,512.94 ตร.กม. สร้างผลกระทบต่อประชากรราว 10.45 ล้านคน และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ารวมถึง 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 96% ของ GPP ของกรุงเทพฯ เลยทีเดียว ซึ่งสูงสุดในบรรดา 7 เมืองชายฝั่งที่กรีนพีชได้นำเสนอในรายการฉบับนี้

รายงานของกรีนพีชนี้ สอดคล้องกับข้อมูลที่ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาวิจัย คาดการณ์อนาคตและแนวโน้มการอยู่อาศัยในสังคมเมือง ได้นำเสนอแผนคาดการณ์อนาคตของเมืองปี 2050 โดยพิจารณาจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อัตราการใช้พลังงาน และพฤติกรรมของผู้คน

พบว่าโลกในอนาคตจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่ทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าในปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด

โดยอุณหภูมิทุกแห่งจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ส่งผลทำให้มีผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานกว่า 200 ล้านคน และมีผู้ที่ต้องประสบภัยพิบัติกว่า 400 ล้านคน จากการขาดแคลนน้ำและอาหาร รวมถึงภัยแล้งสุดขั้วอีกด้วย

หากลองทบทวนสภาพอากาศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะใน กทม. ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์  ผอ. ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า

สถานการณ์ฝนคาดการณ์ 6 เดือน ตั้งแต่ พ.ค. -ต.ค. ของประเทศไทย ซึ่งประมวลวิเคราะห์จากข้อมูลคาดการณ์ทุกภูมิภาคทั่วโลก อีก 100 ปีข้างหน้า โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) รายงานแนวโน้มค่าเฉลี่ยพบว่าจะมีปริมาณมากกว่า 1,200 มม. นั่นหมายความว่า ในอนาคตกรุงเทพมหานครและลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์น้ำท่วมหลากในปี 2538 และ 2554 ซึ่งเกณฑ์ที่จัดว่าน้ำท่วมหนัก คือ ปริมาณฝนต้องเกิน 1,200 มม.

แม้ว่าสถานการณ์ฝนในปี 2565 นี้ จะดีกว่าปี 2554 เพราะเป็นฝนที่ตกใต้เขื่อน ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ ลดภาระการรับน้ำจากภาคเหนือที่ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปี 54 แต่อย่างไรก็อาจต้องพบเจอกับน้ำท่วมทุ่งในที่ราบภาคกลางได้เช่นกัน เนื่องจากมีปัจจัยบ่งชี้จากปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีที่มากกว่าปกติและมากกว่าปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันนี้ปริมาณน้ำฝนภาคกลางในขณะนี้ก็สามารถเทียบเคียงได้กับปี 54 แล้วด้วย

เมืองเร่งขยาย โลกเร่งละลาย

มองย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2493 เวลาที่ประชากรโลกมากกว่า  2 ใน 3 หรือ 70 % นั้นอาศัยอยู่ในชนบท และประชากรส่วน 1 ใน 3 นับเพียง 30 % เท่านั้น ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเขตเมือง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2557 ประชากรโลกที่อาศัยในเขตเมืองก็เพิ่มขึ้นเป็น 54 %

สำหรับประเทศไทย จากเอกสาร World Urbanization Prospects ประจำปี 2018 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติได้แสดงให้เห็นว่า ประชากรในเขตเมืองเริ่มเติบโตมาเท่ากับประชากรในเขตชนบทแล้ว และมีแนวโน้มที่ประชากรจะหลั่งไหลเข้าสู่เขตเมืองอย่างไม่หยุดยั้งต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งคาดว่าประชากรในเขตเมืองจะเพิ่มจำนวนเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) เช่นเดียวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ถึงแม้ว่าแนวโน้มความเป็นเมืองของประเทศไทยจะขยายตัวขึ้น จนคาดว่าในปี 2573 จะเกิดเมืองที่มีประชาการกว่า 1 – 5 ล้านคน เพิ่มจาก 3 เมือง ในปัจจุบัน เป็น 6 เมือง แต่ถึงอย่างไรเมืองที่มีประชากรถึงระดับ 10 ล้านคนขึ้นไป ยังคงมีเพียงแห่งเดียว นั่นคือ กรุงเทพมหานคร ทำให้ความแออัดหรือปัญหาที่ซับซ้อน ก็ยังคงอยู่และไม่ได้ทุเลาเบาบางลงเท่าไรนัก

เพราะพื้นที่เมืองยังขยายตัวช้าไม่ทันกับจำนวนประชากรและปัญหาของเมืองจะทวีความซับซ้อนขึ้นในทุก อณู ทำให้วิกฤตของเมืองที่เกิดจากความแออัดของประชากรในพื้นที่หนึ่ง จึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทั้งหลาย อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ก็มักเกิดขึ้นจากเขตเมืองมากกว่าเขตชนบท

อย่างประเทศปากีสถานในปัจจุบันที่กำลังประสบกับอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในศตวรรษนี้ ทำให้พื้นที่อย่างน้อย 2 ใน 3 ของประเทศได้รับผลกระทบอย่างสาหัส ซึ่งทำให้มีผู้พลัดถิ่นประมาณ 33 ล้านคน และคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 1,200 คน

จากรายงานดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโลก ปี 2021 (Global Climate Risk Index 2021) โดยGermanwatch ปากีสถานถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 8 ใน 10 อันดับประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศในระยะยาวมากที่สุด สำหรับช่วงปี 2000-2019 ที่ผ่านมา มีค่าดัชนี CRI อยู่ที่ 29.00 ส่วนประเทศ 5 อันดับแรกที่ได้รับผลกระทบมากสุด ได้แก่ เปอร์โตริโก, เมียนมา, เฮติ, ฟิลิปปินส์ และโมซัมบิกส์

แต่ที่น่าให้ความสนใจ และรั้งอยู่อันดับที่ 9 ตามหลังปากีสถานมาแบบติด ๆ  นั่นคือ ประเทศไทย ของเรานี่เอง โดยมีค่าดัชนี CRI อยู่ที่ 29.83

ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก 2021 เป็นค่าที่เกิดจากการวิเคราะห์และจัดลำดับว่าประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather event) มากน้อยแค่ไหน คะแนนยิ่งน้อย ยิ่งมีผลกระทบจากความเสี่ยงสูง โดยใช้ข้อมูลในปี 2019 และข้อมูลในช่วง 2000 – 2019 โดย ข้อมูลที่ใช้มาจาก Munich Reinsurance Company

ตัวชี้วัดที่ใช้ในการคำนวณมี 4 ตัว คือ (1) จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ (2) จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน (3) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (คิดเป็นดอลล่าร์สหรัฐ เทียบกับราคาตามกำลังซื้อของแต่ละประเทศ (PPP) และ (4) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดร้อยละของจีดีพี

ที่จริงแล้วหากนับเฉพาะดัชนีในปี 2019 ซึ่งเป็นการสำรวจปีล่าสุด โดยที่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดอันดับหนึ่งคือ โมซัมบิก (CRI=2.67) และเสี่ยงน้อยที่สุดสิงคโปร์ (CRI = 118.00) ส่วนประเทศไทยเรา มีคะแนน CRI เท่ากับ 43.17 อยู่ในอันดับที่ 34 ของโลก

แต่เมื่อมองย้อนไปในระยะยาวช่วง 20 ปี ระหว่าง 2000 – 2019 ประเทศไทยติดอันดับ 9 เป็นผลมาจากการเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2554  (ค.ศ.2011) ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งประเทศอีกด้วย

Dr. James Hansen นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่มีชื่อเสียง พบว่าอุณหภูมิของอากาศเฉลี่ยทั่วโลกในเดือนมีนาคม 2021 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนเดียวกันของช่วง 1880 -1920 (เริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรม) ถึง 1.16 องศาเซลเซียส

สำหรับในประเทศไทยเอง อ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการ Thai CLIMATE Justice for All ได้กล่าวว่า  ประเทศไทยมีอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่ม 1.5 °C ยิ่งในจังหวัดในภาคเหนือ จะเพิ่มขึ้นถึง 3 °C

วารสารวิทยาศาสตร์ Nature Climate Change ระบุว่าการละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ภายใต้อุณหภูมิปัจจุบันจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 27 เซนติเมตร หรือเกือบหนึ่งไม้บรรทัด แต่หากทุกปีมีอากาศอุ่นเหมือนปี ค.ศ. 2012, 2016 หรือ 2019 ซึ่งเป็นปีที่กรีนแลนด์เผชิญคลื่นอากาศร้อน การละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์จะเพิ่มระดับน้ำทะเลทั่วโลกเกือบ 1 เมตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่าเมืองชายฝั่งของทั่วโลกจะได้รับผลกระทบเป็นด่านแรก ซึ่งกรุงเทพ ฯ ก็คือหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงนั้นด้วยเช่นกัน

ทางรอดโลก ทางรอดเรา

วิกฤตทางสภาพแวดล้อม กำลังเป็นหายนะครั้งใหม่ของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยพิบัติที่กำลังก่อตัวและกัดกินในหลายส่วนของโลก

ประเทศที่จัดการปัญหาน้ำท่วม จนเป็นตัวอย่างที่ดีของโลกได้ คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ เมื่อปี ค.ศ. 1953 ที่มวลน้ำมหาศาล ผสมผสานกับพายุที่มาจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ ยกน้ำทะเลขึ้นสูงผิดปกติ ปริมาณน้ำที่สูงกว่า 4.8 ถาโถมเข้าสู่ที่พักอาศัยของประชาชน  ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ ‘1953 North Sea Flood’ น้ำท่วมในครั้งนั้นคร่าชีวิตชาวดัชท์ไปกว่า 2,000 ราย ทำให้พื้นที่ร้อยละ 9 ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ และคนอีกนับแสนไร้ที่อยู่อาศัยโดยฉับพลัน

เนเธอแลนด์จึงริเริ่มโครงการ “Deltaplan” ซึ่งเป็นโครงการที่เสนอให้มีการปิดปากแม่น้ำฝั่ง Western Schelde, Eastern Schelde, Haringvliet, และ Brouwershavense Gat ทั้งหมด และแผนต่อมาคือการทยอยสร้างเขื่อนในระยะเวลา 10 ปี แต่โชคร้ายที่ในปี 1953 เนเธอร์แลนด์เกิดอุทกภัยรุนแรงจากทะเลเหนือซ้ำเติมจึงต้องยุติโครงการไปโดยปริยาย

ต่อมาโครงการ “Deltaplan” ถูกพัฒนามาเป็นระบบที่เรียกว่า “Delta Works” ประกอบไปด้วยโครงการย่อย 16 โครงการ ตั้งแต่เขื่อน ประตูระบายน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีสูบน้ำ คันกั้นดิน และกำแพงกั้นคลื่นทะเล ทั้งแบบเป็นที่กั้นถาวร และแบบที่สามารถเปิด-ปิดได้ กั้นตั้งแต่บริเวณปากแม่น้ำจนเข้ามาถึงลำน้ำในประเทศ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่มีความเสี่ยงสูง

“Delta Works” ครอบคลุมการบริหารจัดการน้ำทางชายฝั่งของเนเธอแลนด์ทั้งหมด ตลอดจนป้องกันน้ำท่วม การรักษาระดับน้ำ การเปลี่ยนน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืดเพื่อประโยชน์ทางเกษตรกรรม ไปจนถึงการรักษาระดับน้ำเค็มไปพร้อม ๆ กับการเฝ้าระวังปัญหาน้ำทะเลหนุน ใช้งบประมาณกว่า 416,000 ล้านบาท และเปิดใช้งานไปแล้วตั้งแต่ปี 1997

ปัจจุบันถือว่าเป็นโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสมัยใหม่โดย American Society of Civil Engineers อีกด้วย

ส่วนตัวอย่างในเอเชียนั้น สิงคโปร์ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภายใต้กรมโยธาธิการ ในปี ค.ศ. 1951  เพื่อปรับปรุงระบบระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัย ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันครั้งแรกในการต่อสู้กับปัญหาภายใต้เจ้าภาพหน่วยงานเดียว

ต่อมาก็กลายเป็นภารกิจของ Public Utilities Board (PUB) ซึ่งเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางที่มุ่งเน้นนี้ มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยของสิงคโปร์

สิงคโปร์ลงทุนมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบายน้ำ ซึ่งช่วยลดขนาดพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วมในประเทศจาก 3,200 เฮคเตอร์ในปี 1970 เหลือ 30.5 เฮคเตอร์ในปี 2016 โครงการเพิ่มเติมล่าสุดที่เพิ่มเข้ามาในโครงการบรรเทาอุทกภัยคือ  Marina Barrage ซึ่งสร้างเขื่อนกั้นน้ำ  Marina Reservoir ซึ่งเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2008 มีเครื่องสูบน้ำจำนวน 7 เครื่อง ที่สูบได้สูงถึง 40 ลบ.ม. ต่อวินาที ในช่วงที่มีพายุ ปั๊มเหล่านี้จะสูบน้ำส่วนเกินออกสู่ทะเล

นอกเหนือจากการเพิ่มขีดความสามารถของโครงสร้างพื้นฐานการระบายน้ำแล้ว PUB ยังได้พยายามชะลอการไหลบ่าของพื้นผิวที่ไหลเข้าสู่ระบบระบายน้ำ เช่น การติดตั้งถังกักกัน บ่อกักเก็บ หลังคาเขียว (Green Roof) หรือสวนฝน (Rain Garden) ตั้งแต่ปี 2014 PUB ได้กำหนดให้นักพัฒนาที่ดินต้องนำคุณลักษณะดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาที่ดินที่มีตั้งแต่ 0.2 เฮคเตอร์ขึ้นไปด้วย

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการเหล่านี้ช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ท่อระบายน้ำและคลองในช่วงฝนตกหนัก ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี

จากรายงานผลดัชนีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Performance Index – CCPI) ปี 2002 ที่เป็นเครื่องมือในการเพิ่มความโปร่งใสด้านการเมืองเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ และมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงกดดันทางการเมืองและสังคม ให้รัฐบาลแต่ละประเทศดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น

รายงานฉบับนี้ได้กล่าวว่า ในปี 2022 ยังไม่มีประเทศใดที่มีคะแนนโดยรวมโดดเด่น ในระดับที่จะได้รับรางวัล Top 3 ของโลก ทำให้สามอันดับดังกล่าวยังว่างอยู่อย่างนั้น ส่วนอันดับ 4 คือ ประเทศเดนมาร์ก เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในการเป็นผู้นำเรื่องต่อต้านภาวะโลกร้อน

ส่วนประเทศไทย ในปี 2022 ยังคงมีคะแนนปานกลางในหมวดหมู่ CCPI ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงาน และนโยบายสภาพภูมิอากาศ โดยตกจากอันดับที่ 26 ในปีก่อนหน้า มาอยู่ในอันดับที่ 31 ในปีนี้

เมื่อเราพิจารณาข้อมูลความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศโลก หลาย ๆ เมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครที่มีภูมิประเทศไม่ต่างจากประเทศที่เคยประสบวิกฤติน้ำท่วมหนัก ทำให้โอกาสประสบกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมในอนาคตนั้นอาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาตรการที่วางแผนกันเอาไว้ก็อาจจะรับมือไม่ไหว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องจริงจังกันมากขึ้นต่อจากนี้ ก็คือการร่วมมือกันจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ต้องเริ่ม “เอาจริง” กับการลดมลภาวะ ไปจนถึงหาแนวทางป้องกันภัยพิบัติให้ได้มากที่สุด เพราะเห็นกันอยู่แล้วว่าในอนาคตอันใกล้ เมืองที่เราอยู่นั้นต้องเผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง

 

ที่มา :

https://www.nature.com/articles/d41586-022-02813-6

https://www.germanwatch.org/en/19777

https://www.bloomberg.com/graphics/2022-la-nina-weather-risk-global-economies/?leadSource=uverify%20wall

https://www.xinhuathai.com/inter/306905_20220910?fbclid=IwAR3y2Unlyo8okxaH5yoF2Xcng-E-1cvz-oN2Poy3fpkK9jmh67HaC8PsJV8

https://kpi.ac.th/uploads/pdf/UilkIFm5MzNeEUctqvdtwyhmRyOa7VGKpuiT45Tr.pdf

https://urbancreature.co/delta-works/

https://eresources.nlb.gov.sg/infopedia/articles/SIP_2020-03-04_135812.html

https://ccpi.org/country/tha/

https://www.greenpeace.org

https://population.un.org/wup/Country-Profiles/

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า