กลางดึกต่อเนื่องถึง ช่วงเช้าตรู่วันนี้ (30 พ.ค. 67) กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ติดสติกเกอร์ “กรุงเทพฯ Bangkok” ดีไซต์อัตลักษณ์ของกทม. บนคานรางรถไฟฟ้า สี่แยกปทุมวัน ฝั่งที่หันไปทางหอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) เป็นสติกเกอร์พื้นสีชมพู หนึ่งในระบบสีรอง สะท้อนความหลากหลาย หลังจากเมื่อวานนี้ที่ติดสติกเกอร์อีกฝั่ง เป็นพื้นสีเขียวมรกต ไปแล้ว
เมื่อคืนนี้ กทม. ยังได้เปิดให้ประชาชน โหลดใช้ฟอนต์อัตลักษณ์ ‘เสาชิงช้า’ ที่เหมือนสติกเกอร์ใหม่ได้ฟรีอีกด้วย
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฟอนต์ใหม่ที่ กทม. จัดทำขึ้น ภายใต้ CI (Corporate Identity) ของกรุงเทพมหานคร ชื่อว่า ฟอนต์ ‘เสาชิงช้า’ มีต้นแบบมาจากตัวอักษร ‘ไทยนริศ’ ที่อยู่ในตราสัญลักษณ์ของกทม. ดั้งเดิม คือภาพสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่อาศัยภาพวาดของกรมพระยานริศรานิวัดติวงศ์ เป็นต้นแบบ
กทม. ได้ออกแบบและเริ่มนำฟอนต์เสาชิงช้ามาใช้ในการสื่อสารผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ตั้งแต่ปลายปี 2566 โดยทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ทั้ง 23 สำนัก และ 50 สำนักงานเขต ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่เป็นอัตลักษณ์ รวมถึงการใช้สีหลักคือ สีเขียวมรกต ที่นำมาใช้บ่อยที่สุด และสีรองอีกหลากหลายสีที่ใช้ในการออกแบบตกแต่ง การวางโลโก้ กราฟิก การออกแบบภาพ ซึ่งได้กำหนดไว้ในคู่มือการใช้อัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และนำไปปรับให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชิ้นงาน
โดยประชาชน จะได้เห็นตัวอักษรเสาชิงช้าบ่อยขึ้นตามสื่อต่างๆ ของกทม. ไม่ว่าจะเป็น ป้าย สื่อวิดีทัศน์ สิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ รวมทั้งของที่ระลึกต่างๆ ด้วย
ดาวน์โหลด ฟอนต์เสาชิงช้า ได้ฟรี คลิกที่นี่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกกทม. ชี้แจง งบ 3 ล้านบาท ไม่เกี่ยวติด ‘สติกเกอร์’ บนคานรางรถไฟฟ้า
บอกลาป้ายเก่า… ต้อนรับป้ายใหม่ สติกเกอร์ ‘Bangkok’ ที่จุดเช็กอินกลางเมือง
ในรอบ 20 ปี แปลงโฉมจุดเช็กอินฮิต ดีไซน์อัตลักษณ์ กทม. สะท้อนถึงความสุขของผู้คน
ภาพ : ประชาสัมพันธ์ กทม.