SHARE

คัดลอกแล้ว

ทุกครั้งที่การเมืองไทยเข้าสู่โหมดการรวมตัวจัดตั้งรัฐบาล นอกจากปรากฏการณ์พรรคการเมืองจับขั้วเจรจาต่อรองกันแล้ว มักจะมีการอ้างคำพูดซึ่งเป็นที่จดจำกันได้ดีในแวดวงการเมืองคือ

“เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง” โดยระบุว่าผู้พูดคือ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย

ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ให้ความหมายของวลี “อดอยากปากแห้ง” ว่า เป็นคำที่ล้อเลียนกระทบกระเทียบเปรียบเปรยสมาชิกพรรคการเมืองของพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่เคยเป็นรัฐบาลมาก่อนเพราะย่อมเข้าใจดีว่าในระหว่างที่พรรคการเมืองเป็นรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลในรัฐบาลผสมอยู่นั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรครัฐบาลมักจะได้รับผลประโยชน์จากการกำหนดและการกำกับดูแลนโยบายของรัฐบาลเป็นอย่างมาก อาทิ เงินอุดหนุนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปพัฒนาจังหวัดที่ตนเป็นผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกกันว่า “งบ ส.ส.” ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผลประโยชน์อื่น ๆ อีกมาก ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลมีความสุขสำราญหรือที่เรียกว่า “อิ่มหมีพลีมัน” แต่เมื่อต้องมาเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับผลประโยชน์ต่าง ๆ ลดน้อยลงไปมากหรือแทบไม่ได้เลย จึงทำให้เกิดภาวะการขัดสนหรือที่เรียกว่า “อดอยากปากแห้ง” นั่นเอง จึงเป็นคำกล่าวล้อเลียนในพรรคการเมืองไทยว่า “เป็นพรรครัฐบาลอิ่มหมีพลีมัน เป็นพรรคฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง”

และระบุที่มาของคำว่า “อดอยากปากแห้ง” มาจากการที่นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้กล่าวถึงสมาชิกฝ่ายค้านทั้งหลายที่ได้รับผลประโยชน์สนับสนุนทางการเงินและอื่น ๆ จากงบประมาณแผ่นดินน้อยกว่าสมาชิกพรรคฝ่ายรัฐบาล ต่อมาคำนี้ได้ใช้กันแพร่หลายและมีลักษณะล้อเลียนนักการเมืองฝ่ายค้านโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยชุดการจัดการ “ความจริง” ในสังคมไทย เรื่อง “พูดไปสองไพเบี้ย ทำความเข้าใจกับสิ่งที่นักการเมืองไทย (ไม่) พูด)” โดย ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ให้ข้อมูลที่ต่างออกไป โดยอธิบายว่า คำนี้เกิดจากการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชน ไม่ใช่ประโยคที่นายบรรหารพูดเอง

โดยระบุข้อมูลจากการสืบค้นว่า หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่กล่าวถึงข่าวนี้ คือ สยามรัฐ ฉบับวันที่ 31 มกราคม 2530 โดยเนื้อข่าวกล่าวว่า นายบรรหาร ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการพรรคชาติไทย กล่าวในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรค ที่จัดที่ห้องวิภาวดี โรงแรมไฮแอทเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 30 มกราคม ว่า ตนเองต้องเล่นทุกรูปแบบเพื่อให้พรรคได้เป็นรัฐบาล ต้องยกมือไหว้วอน บางเรื่องไม่อยากทำก็ต้องทำ สังคมการเมืองเป็นเช่นนี้ ตนยอมได้ทุกอย่างต้องฝืนใจอย่างนี้ และยังจะถูกซ้ำเติมอีก

และอีกตอนว่า ทุกพรรคการเมือง เมื่อเลือกตั้งเข้ามาก็มีความต้องการจะเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น ลูกพรรคต้องกอดคอกันวิ่งเข้าหาเลขาธิการพรรค ขอให้พรรคชาติไทยได้เป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง และภาระนี้ก็ตกอยู่กับตนเอง

“การเข้าเป็นรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย การเลือกตั้งก็ต้องใช้เงินใช้ทอง สมาชิกพรรคก็รู้ๆ กันอยู่” “ผมต้องปกป้องและประคองรัฐบาลอย่างหนัก แม้จะไม่ถูกใจใคร แต่ผมต้องทำเพื่อให้พรรคชาติไทยอยู่รอด”

ศ.ดร.สมบัติ ชี้ว่า สื่อมวลชนในเวลาต่อมาได้สรุปว่านายบรรหารออกมาสารภาพว่าขณะที่เป็นฝ่ายค้านต้องลำบากถึงขนาด “อดอยากปากแห้ง” จนวลีนี้ติดตัวนายบรรหารและพรรคชาติไทยเรื่อยมาตลอด

นิกร จำนง

ขณะที่ นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา คนใกล้ชิดนายกฯ บรรหาร เล่าถึงเรื่องนี้กับทีมข่าวเวิร์คพอยท์ว่า ตนเองเข้าสังกัดพรรคหลังจากเหตุการณ์ที่ถูกอ้าง 1 ปี และได้มีโอกาสถามนายบรรหารถึงเรื่องนี้เอง ซึ่งท่านยืนยันว่า “ผมไม่ได้พูดซักคำเลย” โดยที่มาคือมีคนอ้างว่าไปแอบฟังที่ประตูแล้วมาบอกว่าท่านพูดอย่างนั้น

เมื่อถามต่อว่าแล้วพรรคได้พยายามแก้ไหม นิกร กล่าวว่า เราแก้ไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะเขาเชื่อไปแบบนั้นแล้ว เหมือนคำว่า “ปลาไหล” ซึ่งจริงๆ หมายถึง “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ คนก็มาคิดว่าหมายถึงท่านบรรหาร

ตั้งแต่สมัยนั้นหัวหน้าท่านบรรหารท่านก็พูดให้ฟังว่าเบื่อที่จะแก้ แล้วตอนหลังสมัยท่านเป็นนายกรัฐมนตรี มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็มีการมาขยายต่อว่า ปากมันอย่างโน้นอย่างนี้ จนเชื่อกันเองไปหมด

อย่างไรก็ตาม บางเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ นายกฯ บรรหาร จะไม่ปล่อยผ่านและต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า อีกฝ่ายใช้ข้อมูลไม่จริงมากล่าวหา

นิกร เล่าว่า ตอนถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจตนได้แนะนำท่านให้ยุบสภาไปเสีย แต่ท่านบอกว่าคุณไม่ต้องห่วงหรอก ให้ผมได้มีโอกาสตอบโต้บ้างเรื่องมันยาวนานมากแล้ว ให้ไปเตรียมประเด็นสู้กัน แล้วท่านก็ชี้แจงได้ทั้งเรื่อง สัญชาติไทย ที่ปล่อยให้ฝ่ายค้านพูดไปแต่หลักฐานทั้งหมดทางเรามีอยู่แล้ว ขณะที่ผู้อภิปรายไม่มีหลักฐานใดๆ ทำเป็นว่ามีซองเอกสารอยู่ในสูท แต่หลักฐานตัวที่มีอยู่ที่เรา ซึ่งพอพูดไปแล้วตนก็ลงไปแถลงข่าวว่าเป็นเรื่องไม่จริง เพราะเอกสารมีอยู่  รวมถึงเรื่องเรียนไม่จบ ม.5 ท่านก็ชี้แจงได้

“ท่านโดนใส่ร้ายเยอะ แต่ท่านไม่ค่อยแก้ เหมือนท่านจะทนได้ กลับเป็นผมเสียอีกที่ทนไม่ได้”

เมื่อถามว่า วลี “เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง” ยังติดกับ พรรคชาติไทยที่กลายมาเป็น พรรคชาติไทยพัฒนาในวันนี้ด้วย

นิกร จำนง กล่าวถึงมุมมองถึงเรื่องนี้ว่า “สังคมไทยจริงๆ ไม่ได้มีปัญหาที่ Hate Speech มันมีปัญหาที่ชอบฟัง Hate Speech คือจะเชื่อในสิ่งที่ไม่มีการพิสูจน์ เชื่อในสิ่งที่อยากจะเชื่อ ก็เลยถ้ามีการว่ากล่าวกันไปแล้ว การแก้มันจะยากมาก
บางจังหวะถ้าไม่จำเป็นก็เหมือนปล่อยเลยตามเลย มันย้อนไม่ได้ เราเป็นสังคมที่ไม่ชอบพิสูจน์ ชอบเชื่อแล้วก็อยู่กับความเชื่อนั้นไป Hate Speech ในสังคมไทยถึงงอกงาม “

คำกล่าวที่ว่า อดอยากปากแห้ง อาจจะทำร้ายท่าน แต่ความยึดมั่นในคำพูดเป็นที่เชื่อถือในแวดวงการเมือง สัจจะและกตัญญู เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับท่านมาตลอด  ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวทิ้งท้าย

ถึงที่สุดแล้วเรื่อง “เป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง” คงยากที่จะพิสูจน์ว่านายบรรหารได้มีการพูดประโยคนี้จริงหรือไม่ เพราะนับจากต้นทางที่ถูกกล่าวอ้าง จนถึงวันนี้กว่า 30 ปี ไม่มีหลักฐานใดๆ พิสูจน์ได้

จึงขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่าจะเชื่อหรือไม่ และถ้าเชื่อ เชื่อเพราะอะไร

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า